xs
xsm
sm
md
lg

สอน.จับมือสถาบันพลาสติก GO GREEN มอบถุงพลาสติกชีวภาพที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ร่วมกับสถาบันพลาสติก กระทรวงอุตสาหกรรม จัดกิจกรรม “Go Green ไปกับถุงพลาสติกชีวภาพ” เปิดตัวผลิตภัณฑ์ชีวภาพที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม นำร่องมอบถุงพลาสติกชีวภาพให้แก่ร้าน Home Fresh Hydrofarm เพื่อสร้างการรับรู้และส่งเสริมการใช้ผลิตภัณฑ์ชีวภาพ เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2564 ณ Home Fresh Hydrofarm ซ.รามคำแหง 167 ถ.รามคำแหง เขตสะพานสูง กรุงเทพฯ

จากการส่งเสริมของภาครัฐที่ต้องการผลักดันให้ประเทศไทยก้าวสู่อุตสาหกรรม 4.0 โดยส่งเสริมให้เกิดการยกระดับอุตสาหกรรมในทุกภาคส่วน โดยใช้เศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไทยให้ตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลงของโลกอุตสาหกรรม โดยสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลได้ริเริ่มดำเนินงานโครงการการพัฒนาและส่งเสริมผลิตภัณฑ์ชีวภาพ โดยร่วมมือกับสถาบันพลาสติกทำการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชีวภาพจากพืชเศรษฐกิจของไทยอย่าง “อ้อยหรือผลผลิตจากอ้อย” นำมาเป็นวัตถุดิบนำร่องของอุตสาหกรรมชีวภาพของประเทศไทย สร้างผลิตภัณฑ์ชีวภาพที่มีมูลค่าเพิ่มจากวัตถุดิบดังกล่าว ภายในโครงการได้มีการนำผลผลิตจากอ้อยและน้ำตาลมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในรูปแบบต่างๆ

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการตอกย้ำในอีกหนึ่งความสำเร็จที่เกิดขึ้นจากการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชีวภาพ จากเดิมที่อ้อยสามารถผลิตได้เพียงน้ำตาลเท่านั้น ให้สามารถพัฒนาและต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ ได้ จึงได้จัดกิจกรรมเปิดตัวและส่งเสริมการใช้งานถุงพลาสติกชีวภาพที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม


นายศิวะ โพธิตาปนะ ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายและพัฒนาอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) กล่าวว่า “ในวันนี้เราต้องการสร้างการรับรู้ให้เกิดขึ้นในวงกว้าง จึงนำถุงพลาสติกชีวภาพที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมที่ผ่านการออกแบบมาพร้อมใช้งาน นำมามอบแก่ทางร้าน Home Fresh Hydrofarm และบางส่วนได้นำไปมอบแก่กลุ่มพ่อค้าแม่ค้าทั่วไป เพื่อสร้างการรับรู้และส่งเสริมการใช้ผลิตภัณฑ์ชีวภาพที่สามารถย่อยสลายได้”

ด้าน นายวีระ ขวัญเลิศจิตต์ ผู้อำนวยการสถาบันพลาสติก กล่าวเพิ่มเติมว่า จากความร่วมมือของทั้งสองหน่วยงานทำให้เกิดการพัฒนาต่อยอดอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย จากเดิมที่อ้อยสามารถผลิตได้เพียงน้ำตาลให้สามารถพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ ได้ สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้เกิดขึ้น ซึ่งภายในโครงการฯ ได้มีการนำผลผลิตจากอ้อยและน้ำตาลมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในรูปแบบต่างๆ 

เช่น ถุงพลาสติกใช้สำหรับบรรจุอาหารสด ถุงซองน้ำตาล ยูเอสบีแฟลชไดรฟ์ เซิร์ฟสเกต เหล้ารัม ลิปบาล์มที่มีส่วนผสมจากไขอ้อย สบู่เหลวผสมสควาเลนและเยื่อสกัดจากชานอ้อย เป็นต้น เพื่อตอบสนองการใช้งานที่หลากหลาย ภายใต้การผลักดันของภาครัฐที่ต้องการให้อุตสาหกรรมของไทยมุ่งไปสู่อุตสาหกรรมชีวภาพสอดรับกับการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมโลก และยังเป็นการยกระดับศักยภาพของการพัฒนาอุตสาหกรรมไทยให้สูงขึ้นอีกด้วย รวมถึงปัจจุบันทิศทางของผลิตภัณฑ์ชีวภาพ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจสีเขียวที่เริ่มเป็นกติกาสากลของโลก ส่งผลให้ในหลายๆ ประเทศต่างกำหนดมาตรการต่างๆ ออกมาเพื่อลดปัญหาเรือนกระจกและปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ทำให้ผลิตภัณฑ์ชีวภาพที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเป็นที่ต้องการของตลาดและผู้บริโภคเพิ่มมากขึ้น


กำลังโหลดความคิดเห็น