วันที่ ๑๕ ตุลาคมนี้เป็น “วันล้างมือโลก” (Global Hand Washing Day) ซึ่งองค์การสหประชาชาติกำหนดขึ้นมาเมื่อ ๑๓ ปีมาแล้ว ก่อนที่จะมีการรณรงค์ให้ล้างมือบ่อยๆ เพื่อป้องกันโควิด ๑๙ ในวันนี้เสียอีก
ทั้งนี้ในงาน “สัปดาห์น้ำโลก” ประจำปี ค.ศ. ๒๐๐๘ ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงสต๊อกโฮล์ม ประเทศสวีเดน ระหว่างวันที่ ๑๗-๒๓ สิงหาคมนั้น มีการริเริ่มจัด “Public Private Partnership for Handwashing” ขึ้นด้วย ต่อมา สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติได้กำหนดให้วันที่ ๑๕ ตุลาคมของทุกปีเป็น “วันล้างมือโลก” และจัดขึ้นครั้งแรกในปีนั้นที่กรุงสต๊อดโฮล์มเช่นกัน เป็นการรณรงค์เพื่อกระตุ้นให้ประชากรของโลกล้างมือด้วยสบู่เป็นประจำ ซึ่งการเปลี่ยนนิสัยอย่างง่ายๆเช่นนี้ จะช่วยลดโอกาสติดเชื้อโรคหลายโรค จากการศึกษาพบว่า การล้างมือสามารถลดจำนวนผู้เสียชีวิตจากโรคท้องร่วงได้ถึง ๕๐ เปอร์เซ็นต์ และโรคที่เกี่ยวกับทางเดินหายใจได้ ๒๕ เปอร์เซ็นต์ ช่วยชีวิตผู้คนได้มากกว่าการฉีดวัคซีนหรือกินยารักษาเสียอีก
สำหรับประเทศไทย กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ได้รณรงค์ใน “วันล้างมือโลก” มาเป็นประจำทุกปี โดยเฉพาะในช่วงโควิด ๑๙ ระบาด สร้างพฤติกรรมด้านสุขอนามัยให้ประชาชนล้างมืออย่างถูกวิธี และตระหนักถึงความสำคัญของการล้างมือบ่อยๆ โดยเฉพาะเมื่ออยู่ในที่สาธารณะ เช่น โรงพยาบาล ห้างสรรพสินค้า สถานีขนส่ง ท่าอากาศยาน ตลาดสด ศูนย์อาหาร โรงเรียน ศูนย์เด็กเล็ก หรือสถานที่อื่นๆ ซึ่งจะช่วยป้องกันและลดอัตราเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่างๆ เช่น โรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ และโรคติดเชื้อทางเดินอาหารได้มาก
โรงเรียนเป็นสถานที่พบการแพร่ระบาดของโรคติดต่อได้ง่าย เพราะเด็กอยู่รวมกันเป็นจำนวนมาก นั่งเรียนติดกัน ทำกิจกรรมและเล่นคลุกคลีกัน ทำให้เชื้อโรคแพร่กระจายจากเด็กคนหนึ่งไปยังอีกคนหนึ่งได้ง่าย ผ่านการสัมผัสมือและอุปกรณ์หรือสิ่งของที่มีเชื้อโรคอยู่ เช่น โต๊ะเขียนหนังสือ เก้าอี้ ราวบันได การใช้แก้วน้ำและช้อนส้อมร่วมกัน โดยโรคติดต่อที่พบบ่อยในเด็กเล็ก ได้แก่ โรคไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ โรคท้องร่วง โดยเฉพาะโรคมือเท้าปาก ซึ่งพบการแพร่ระบาดมากขึ้นในช่วงฤดูฝน
จากการสำรวจของกรมอนามัยในการจัดกิจกรรมรณณรงค์วันล้างมือโรค ประจำปี ๒๕๖๑ จำนวน ๓๑๑ ราย พบว่าประชาชนมีการล้างมือทุกครั้งหลังออกจากห้องน้ำมากที่สุดถึงร้อยละ ๙๕.๒๔ รองลงมาคือหลังสัมผัสสิ่งสกปรก เช่น น้ำมูก น้ำลาย ขยะ ร้อยละ ๙๐.๒๐ และหลังกลับจากนอกบ้าน ร้อยละ ๗๐.๘๙ ส่วนใหญ่ล้างมือด้วยสบู่มากที่สุด ร้อยละ ๘๖.๓๖ แต่มีเพียงร้อยละ ๒๘.๑๑ เท่านั้นที่ทราบวิธีล้งมือที่ถูกต้องว่ามี ๗ ขั้นตอน
แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า การล้างมือที่ถูกวิธีด้วยน้ำและสบู่ ให้ยึดหลัก “๒ ก่อน - ๕ หลัง” คือ ก่อนทำอาหาร และก่อนรับประทานอาหาร ส่วนหลัง ๕ คือ หลังเข้าห้องส้วม หลังจับสิ่งสกปรก หลังเยี่ยมผู้ป่วย หลังสัมผัสหรือเล่นกับสัตว์ และหลังกลับจากนอกบ้าน
สำหรับ ๗ ขั้นตอนของการล้างมือ คือ
๑.ฝ่ามือถูกัน
๒.ฝ่ามือถูหลังมือและนิ้วถูซอกนิ้ว
๓.ฝ่ามือถูฝ่ามือและนิ้วถูซอกนิ้ว
๔.หลังนิ้วมือถูฝ่ามือ
๕.ถูนิ้วหัวแม่มือโดยรอบด้วยฝ่ามือ
๖.ปลายนิ้วมือถูขวางฝ่ามือ
๗.ถูรอบข้อมือ
ทุกขั้นตอนทำ ๕ ครั้ง สลับกันทั้ง ๒ ข้าง
การล้างมือข้างต้นนี้ ถือเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพ และสามารถป้องกันกรระบาดของเชื้อโรคได้ดี ยิ่งในยุคที่โควิด ๑๙ ระบาดหนักในขณะนี้ คนที่ฉีดวัคซีน ๒ เข็ม ๓ เข็ม ก็ยังมีตาย ล้างมือง่ายๆแค่นี้ เพียงแค่ใส่ใจและขยันหน่อย ก็จะช่วยให้ชีวิตปลอดภัยขึ้นอีกมาก
การล้างมือของเราเองจึงไม่ใช่เรื่องเล็ก แต่เป็นเรื่องใหญ่ระดับโลก จนถึงสมัชชาแห่งสหประชาชาติต้องเอาไปประชุมพิจารณากัน กระตุ้นให้คนทั้งโลกตระหนักในการล้างมือด้วย “วันล้างมือโลก”