xs
xsm
sm
md
lg

‘แคลร์เอียแยง เทเลอร์’ จากแอร์โฮสเตส สู่ ‘นางฟ้า’ แห่งไร่ชา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

แคลร์เอียแยง เทเลอร์ (Clare iayang Taylor) หรือ ‘แคลร์’ มีแม่เป็นคนไทย ส่วนพ่อเป็นอเมริกันเชื้อสายไอริช ที่ชื่นชอบชาเป็นอย่างยิ่ง ไร่ของครอบครัวเธอ ปลูกชามาตั้งแต่เมื่อครั้งที่เธอมีอายุเพียง 8 ขวบ นับถึงปัจจุบันนี้ไร่ชาก็มีอายุ 20 ปีแล้ว อีกทั้งยังมีผลิตผลอื่นๆ นอกจากชาคือเลม่อน ที่ออกผลตลอดทั้งปี ไร่ชาของครอบครัวเธอชื่อว่า ไร่ชาดอยอินทนนท์ Doi Inthanon Tea Partnership โดยมีแฟนเพจเฟซบุ๊คในชื่อเดียวกัน


แคลร์บอกเล่าถึงการเรียนรู้ในเรื่องชาที่ได้รับการถ่ายทอดมาจากพ่อและแม่ตั้งแต่เด็กๆ กระทั่งเติบโตขึ้นเป็นหญิงสาวหน้าหวาน บุคลิกดี คุณสมบัติเพียบพร้อม ผลักดันให้เธอก้าวเข้าสู่อาชีพที่ผู้คนเรียกขานและตั้งฉายาว่า ‘นางฟ้า’ แคลร์เป็นแอร์โฮสเตสนับแต่เรียนจบปริญญาตรี

แต่ทว่า เมื่อเกิดภาวะวิกฤติโควิด-19 สายการบินระงับเที่ยวบิน หรือบินน้อยลง ตัวเธอเองแม้ว่าทางสายการบินยังคงสถานภาพแอร์โฮสเตสไว้ให้ แต่เธอก็ไม่มีเที่ยวบิน นำมาสู่ความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เมื่อเธอตัดสินใจกลับสู่บ้านเกิดเมืองนอน กลับสู่ไร่ชาที่ จ.เชียงใหม่ กลับไปเป็นชาวสวนอีกครั้งเหมือนเมื่อคราวยังเด็ก ไร่ชาของครอบครัว จึงมิเพียงเยียวยาเธอจากความเปลี่ยนแปลงกะทันหันในชีวิต แต่ยังโอบรับเธอสู่ผืนแผ่นดินทั้งช่วยพยุงให้กลับมายืนหยัดอย่างแข็งแกร่งได้อีกครั้ง

‘ผู้จัดการออนไลน์’ สัมภาษ์พิเศษ แคลร์เอียแยง เทเลอร์ (Clare iayang Taylor) หรือ ‘แคลร์’ แอร์โฮสเตส ผู้ผันตัวมาเป็น ‘นางฟ้า’ แห่งไร่ชา ได้อย่างสง่างามและน่าชื่นชม ผ่านคำบอกเล่าถึงเรื่องราวนับแต่เมื่อครั้งเป็นแอร์โฮสเตส การปรับตัวเมื่อเกิดวิกฤติโควิด-19 การตัดสินใจกลับสู่บ้านเกิดด้วยพลังของความเชื่อมั่น การทุ่มเทแรงกายแรงใจเพื่อไร่ชา ทั้งหลายทั้งปวงคือประสบการณ์อันล้ำค่าที่แคลร์แบ่งปันและเล่าสู่กันฟังได้อย่างน่าสนใจ


>>> ชีวิต ‘นางฟ้า’ ก่อนวิกฤติโควิด-19

เมื่อถามว่า เริ่มต้นเป็นแอร์โฮสเตสเมื่อไหร่ และทำอยู่กี่ปีจึงเกิดวิกฤติโควิด-19 แคลร์ตอบว่าเธอเป็นแอร์โฮสเตสของสายการบินแห่งหนึ่งตั้งแต่เรียนจบประมาณช่วงปี พ.ศ.2558-2559 และทำงานเป็นแอร์โฮสเตสเรื่อยมา รวมระยะเวลาประมาณ 5 ปีจึงเกิดวิกฤติโควิด-19 งานของเธอส่วนใหญ่บินต่างประเทศทั้งสิ้น อาทิ ญี่ปุ่น เกาหลี จีน โอมาน เป็นต้น

แคลร์เล่าว่าเธอเรียนจบคณะมนุษยศาสตร์ เอกภาษาจีน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ดังนั้น เธอจึงพูดได้ถึงสามภาษาคือ ไทย จีน อังกฤษ แต่ตอนนี้ไม่ค่อยได้ใช้ภาษาจีนมากนัก

ถามว่า ประทับใจไฟลท์ใดที่สุด
แคลร์ตอบว่า เธอประทับใจไฟลท์หนึ่งที่ต้องบินจาก จ.กระบี่ไปยังเมืองจีนในช่วงตรุษจีน เธอได้นั่งหน้าผู้โดยสาร ขณะที่เครื่องกำลังจะ Take off เป็นช่วงที่แอร์โฮสเตสกำลังจะสาธิตวิธีการใช้อุปกรณ์ความปลอดภัยบนเครื่องบินใกล้จะจบ แล้วเธอก็มานั่งเฝ้าประตู แคลร์เล่าว่าเมื่อต้องนั่งเฝ้าประตู ใบหน้าของเธอก็จะหันไปเจอผู้โดยสารโดยตรงเลย แล้วเมื่อพูดคุยกันแค่ไม่กี่ประโยค ผู้โดยสารซึ่งเป็นคุณป้าชาวจีนก็ยื่นเงินให้เธอ 200 หยวน บอกว่าให้ทิป

แคลร์เล่าพร้อมเสียงหัวเราะแห่งความทรงจำประทับใจ เธอบอกว่าผู้โดยสารหรือคุณป้าท่านนี้ตรงมาก ทำให้เหตุการณ์ในครั้งนั้น เธอเป็นคนเดียวในไฟลท์ที่ได้ทิป เพราะปกติแอร์โฮสเตสจะไม่ค่อยได้ทิป แล้วเธอพูดคุยกับคุณป้าเพียงแค่ไม่กี่ประโยคเท่านั้น คุณป้ารายนี้ก็บอกว่า ‘ฉันชอบเธอ’ และให้ทิป แคลร์คิดว่า สาเหตุอาจเป็นเพราะเธอพูดคุยด้วยภาษาจีน คุณป้าจึงประทับใจ แม้ว่าบทสนทนาจะธรรมดาก็ตาม เช่น คุณป้าถามเธอว่า เป็นยังไง ทำงานนี้มานานหรือยัง และอาจเป็นเพราะเธอยิ้มแย้มด้วยก็เป็นได้

เมื่อได้พูดคุยไม่กี่ประโยค คุณป้าก็ถามว่ารับทิปได้ไหม แต่เมื่อได้ทิปมาแล้ว แคลร์เล่าว่าเธอก็นำไปซื้ออาหารแบ่งกันทานกับเพื่อนๆ ในไฟลท์ เพราะเป็นช่วงที่ได้พักที่จีนเนื่องจาก Layover หรือเที่ยวบินซึ่งมีการแวะพักนั่นเอง

แคลร์เล่าว่าเมื่อแต่ละเที่ยวบินไปถึงปลายทาง เธอและเพื่อนๆ แอร์โฮสเตท ก็ได้เที่ยว บางช่วง Layover 24 ชั่วโมง แต่บางช่วงที่เป็นโลว์ซีซั่น (Low Season) บางเที่ยวบินก็ Layover 3 วันถึง 5 วัน ทำให้เธอมีเวลาเที่ยวมากขึ้น แคลร์ยอมรับว่าการเป็นแอร์โฮสเตสนับเป็นชีวิตที่สนุกและมีสีสันพอสมควร



>>> เมื่อ ‘นางฟ้า’ ต้องมาขายของ

ถามว่า เมื่อเกิดภาวะวิกฤติโควิด-19 ต้องเผชิญกับอะไรบ้าง จึงต้องกลับมาทำไร่ชาที่บ้านเกิดที่ จ.เชียงใหม่ แคลร์ตอบว่า เธอเผชิญวิกฤติโควิด-19 ตั้งแต่ระลอกแรก เพียงแต่เธอยังไม่ได้กลับบ้านทันที

“ช่วงแรกทุกอย่างชะงัก เรายังไม่รู้ว่าจะทำยังไง รับมือไม่ทัน แต่พอจากนั้น เมื่อดูเหมือนการแพร่ระบาดเริ่มซา ที่ต่างๆ เขาก็เริ่มมีอีเวนท์ เช่นมีอีเวนท์ให้แอร์โฮสเตสขายของ เราก็เลยนำผลิตภัณฑ์ของที่บ้านมาขาย เราก็ไปขายตามงานเหล่านี้”แคลร์ระบุและเล่าว่าเธอนำสินค้าไปวางขายยัง Community shopping Mall แห่งหนึ่ง ซึ่งเจ้าของพื้นที่ให้วางขายฟรีโดยไม่คิดค่าเช่าที่ แต่ในโซนที่คิดค่าเช่าที่ ก็จะได้ทำเลที่ดีกว่า

“โซนที่ไม่คิดเงินก็อยู่ด้านนอก เราก็อยู่โซนด้านนอก หนูอยู่กับกลุ่มเกษตรกร เพราะหนูเข้ากลุ่มกรุ๊ปไลน์เกษตรกรกับคุณป้าคนหนึ่งที่เราเคยเจอกันในงานๆ หนึ่ง ขายของอยู่ใกล้ๆ กัน คุณป้าก็ชวนเข้ากลุ่มและจะคอยแนะนำว่าไปขายตรงไหนบ้าง มีตรงไหนให้ไปขาย แต่หนูยอมรับว่าเหนื่อยมาก เราต้องไปนู่นไปนี่ ต้องจัดของ จัดบูท ทำเองทั้งหมด”
แคลร์ถ่ายทอดประสบการณ์ ช่วยให้เห็นภาพชัดเจนว่าในห้วงเวลาหนึ่ง เมื่อนางฟ้าอย่างเธอไม่มีเที่ยวบินและต้องตระเวนขายของตามสถานที่ต่างๆ นับเป็นเรื่องที่เหน็ดเหนื่อยไม่น้อย

แล้วจุดพลิกผันไม่คาดคิดก็มาถึง
แคลร์เล่าว่า บรรยากาศบ้านเมืองในช่วงนั้น เป็นช่วงที่คนอัดอั้น อยากไปเที่ยวเต็มที

“แล้วเผอิญมีรุ่นพี่คนหนึ่ง เขามียอด Follow Instagram เยอะมาก แล้วเขาแค่มาถ่ายรูปไร่ชาของเรา ตอนนั้นไร่ยังรกๆ อยู่เลย เขาก็มาถ่ายรูปเลมอน แล้วเขาก็อัพรูปลงไอจี แล้วคนก็ทักมาเต็มเลยว่าอยากมา เราก็เลยตัดสินใจว่า กลับบ้านดีกว่า ไม่ไปขายของแล้ว ให้คนมาหาเราดีกว่า เราไม่ต้องไปหาคนแล้ว (หัวเราะ) นั่นเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้กลับบ้านค่ะ” แคลร์บอกเล่าพร้อมเสียงหัวเราะสดใส เมื่อมองเห็นทางออกของชีวิตที่ไม่ได้อยู่ไกลเกินเอื้อมคว้า


>>> โบยบินไปเป็น ‘นางฟ้า’ แห่งไร่ชา

ถามว่า จากประสบการณ์ที่เป็นแอร์โฮสเตส มา 5 ปี คนเรียกว่าเป็น ‘นางฟ้า’ กระทั่งเผชิญวิกฤติต้องมาขายของ และกลับคืนสู่ไร่ชาของครอบครัว กลับคืนสู่ไร่ที่บ้าน มีความรู้สึกท้อบ้างไหมกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น

แคลร์ตอบว่า “แน่นอนค่ะ มีอยู่แล้ว รู้สึกว่าชีวิตดีๆ เราหายไปไหน เราก็อาจจะคิดถึง แต่ในมุมนึง อาจเป็นเพราะว่าด้วยความที่เราโตมาบนดอย เราคุ้นเคยกับสิ่งแวดล้อม เราชิน แล้วการที่เรากลับมา ไม่ได้ทำให้เราอยู่ยาก ไม่ต้องปรับตัวอะไรเลย เราก็แค่ Back to basic น่ะค่ะ ก็กลับมาเหมือนเดิมแค่นั้น แทบไม่ต้องปรับตัวอะไร แค่กลับมาใช้ชีวิตแบบเดิม อารมณ์เหมือนกับว่า เราไปหลงระเริงสนุกสนาน แล้วในที่สุดก็ได้กลับมาเหมือนเดิม” แคลร์เปรยบเทียบได้อย่างเห็นภาพของการคืนสู่วิถีชีวิตที่ยั่งยืน

ขณะที่งานแอร์โฮสเตส แคลร์เล่าว่า ทางสายการบินบริหารจัดการได้อย่างใจดีกับพนักงานรวมถึงตัวเธอด้วย เพราะแม้ช่วงที่เธอไม่มีบินแต่ทางสายการบินก็ยังรักษาสถานภาพพนักงานของเธอเอาไว้ อีกทั้งแคลร์ไม่ได้ลาออก จึงรักษาสภาพพนักงานอยู่ กล่าวให้ชัดคือ เธอยังคงมีสถานภาพของความเป็นแอร์โฮสเตสอยู่นั่นเอง

เมื่อถามว่า ณ ขณะนี้ เธอเปลี่ยนมาเป็นนางฟ้าในไร่ชาเท่านั้น จนกว่าจะมีเที่ยวบินกลับสู่ภาวะปกติใช่หรือไม่ แคลร์ยอมรับว่าใช่

>>> มนต์เสน่ห์และชีวิตใน ‘ไร่ชา’

ถามไถ่ถึงชีวิตในไร่ชา แคลร์เล่าว่าเธอกลับมาที่ไร่ที่ จ.เชียงใหม่ เมื่อราวกรกฎาคม พ.ศ. 2563 นับถึงปัจจุบันก็ถือว่าอยู่ที่ไร่มาไม่น้อยกว่า 1 ปีแล้ว

ถามถึงมนต์เสน่ห์และความเป็นมาของไร่ชาแห่งนี้ว่ามีอะไรบ้าง
แคลร์ย้อนความทรงจำให้ฟังว่า เธอจำได้ว่าที่ไร่ ปลูกชามาตั้งแต่เมื่อครั้งที่เธอเรียนอยู่ชั้นประถามศึกษาปีที่ 2 ตอนนั้นเธออายุเพียง 8 ขวบ นับถึงปัจจุบันนี้ไร่ชาก็มีอายุ 20 ปีแล้ว ส่วนที่มา หรือสาเหตุที่ครอบครัวของเธอปลูกไร่ชาก็เนื่องจาก

“สาเหตุแรกเริ่มเป็นเพราะคุณพ่อชอบชาล้วนๆ เลยค่ะ แล้วก็ด้วยความที่ไร่ของเรา เป็นไร่หิน มีหินเยอะมากทั้งไร่ ไม่รู้ว่าถ้าทำการเกษตรอื่นๆ จะปลูกอะไรได้ดีหรือเปล่า เพราะหินเยอะมาก เราก็เลยเริ่มต้นจากเก็บหินมาสร้างบ้านไร่ก่อน เป็นบ้านหิน สร้างจากหินที่เราเก็บในไร่ จากนั้นเราก็ปลูกชาและปลูกเลม่อน จุดเริ่มต้น เราได้เลม่อนจากโครงการหลวงมา 3 ต้น ก็เริ่มปลูกจากสามต้น แล้วค่อยๆ ขยายพันธุ์เรื่อยมา

“สำหรับมนต์เสน่ห์ของไร่ชาที่นี่ หนูคิดว่าเป็นเพราะอยู่หน้าผาแง่มหรือผาสองฤดู เพราะฉะนั้นที่ไร่ก็จะมีหมอกตลอด อากาศหนาวเย็นตลอดทั้งปี แม้แต่หน้าร้อนก็ยังเย็นสบาย ดังนั้น มนต์เสน่ห์ก็น่าจะอยู่ที่อากาศและเจ้าของสวน ( หัวเราะ )”

แคลร์บอกเล่าอย่างอารมณ์ดีพร้อมเสียงหัวเราะสดใสที่เป็นเอกลักษณ์ประจำตัว

เมื่อถามถึงความผูกพันกับไร่ชาแห่งนี้ แคลร์เล่าว่าเธอโตมากับที่นี่ ตอนเป็นเด็กเธอเรียนโรงเรียนบนดอย วันจันทร์ถึงวันศุกร์ก็ไปเรียนตามปกติ บางวันตอนเย็น เลิกเรียนมาก็ต้องขึ้นไปไร่ ที่ห่างจากบ้านประมาณ 2 กิโลเมตร แล้วในวันเสาร์แม่ก็จะเกณฑ์ทุกคนให้ไปทำไร่ ในความทรงจำของเธอนับแต่เด็ก แม่จะให้ทำไร่ทุกวันเสาร์ ดังนั้นหากถามว่าคุ้นเคยกับไร่แห่งนี้มากน้อยแค่ไหน แคลร์บอกอย่างชัดถ้อยชัดคำว่าเธอคุ้นเคยกับไร่อย่างมาก

ถามว่า ปัจจุบันนี้ งานในไร่ ตั้งแต่ตื่นจนถึงค่ำมีอะไรบ้างในแต่ละวัน
แคลร์ตอบว่า โดยปกติแล้ว เธอไม่ได้นอนในไร่โดยตรง แต่นอนที่บ้าน ซึ่งบ้านห่างจากในไร่ 2 กิโลเมตร ตื่นเช้าขึ้นมาก็ให้อาหารเลี้ยงหมูเลี้ยงไก่ แต่เมื่อเกิดมีโรคระบาดหมู ที่ไร่ก็ไม่ได้เลี้ยงหมูแล้ว เลี้ยงเฉพาะไก่เท่านั้น เมื่อให้อาหารไก่เสร็จแล้วเธอก็จะทานอาหารแล้วค่อยไปไร่


>>> วิถีชาวไร่ รู้ลึกเรื่อง ‘ชา’ และ ‘เลม่อน’

แคลร์เล่าว่าเมื่อไปถึงไร่ก็ใช้เวลาไปกับการทำสวน ในแต่ละวันขึ้นอยู่กับสภาพสวนในช่วงนั้นๆ ไม่ได้ stick หรือทำแบบ routine แต่จะคอยดูว่า วันนี้ ต้นชาเป็นยังไง ต้นหญ้าขึ้นเยอะแล้วหรือยัง หากหญ้าขึ้นเยอะก็ต้องก็ถอนหญ้า หรือถ้าหากต้นเลม่อนมีหญ้าขึ้นเยอะแล้วก็ต้องถอนหญ้าให้ต้นเลม่อนด้วย หรือหากวันนี้ มีชายอดอ่อนแล้ว ก็ต้องเก็บ

“ชีวิตในไร่ก็จะเป็นไปตามฤดูกาลไปเรื่อยๆ แบบนี้มากกว่า ชาจะไม่ออกตลอดทั้งปี ส่วนใหญ่จะออก มีนาคม-เมษายน แต่ที่ไร่หนูปลูก 2พันธุ์ เบอร์ที่ออกเยอะที่สุดคือชาเบอร์ 12 สามารถเก็บได้เรื่อยๆ ปีนี้ก็เก็บได้เกินสิบรอบแล้ว แต่อย่างตัวชาก้านอ่อนเบอร์ 17 ก็เพิ่งได้เก็บแค่หนึ่งถึงสองรอบ เก็บได้น้อย เพราะดูแลยาก”

แคลร์ระบุและเล่าเพิ่มเติมว่า ชื่อพันธุ์ชา จะเรียกเป็นเบอร์ ซึ่งมีเป็นร้อยเป็นพันชนิด ส่วนชาอู่หลง กับชาเขียว ที่คนเรียกกันนั้น จริงๆ แล้วเป็นชื่อเรียกที่ขึ้นอยู่กับกรรมวิธีการผลิต

“การทำชาเขียว คือ เมื่อเก็บใบชามาปุ๊บ จะต้องรีบเอามาคั่วให้แห้งทันที แบบนั้นคือชาเขียว แต่ว่าถ้าเป็นชาอู่หลงต้องไปหมักก่อนแล้วเอามาคั่ว จึงเป็นอู่หลง ซึ่งที่ไร่หนูก็จะมีทั้งชาเขียวและชาอู่หลงค่ะ อย่างชาก้านอ่อนเบอร์ 17 ก็ทำได้ทั้งชาเขียวและชาอู่หลงเลยแต่เขาจะไม่นิยมทำชาเขียวกัน เพราะเหมือนเราไปลดคุณค่าของชาลง เขาก็นิยมทำชาอู่หลง จะได้ราคาดีกว่า” แคลร์บอกเล่าอย่างคนทำไร่ชาที่รู้ลึกรู้จริง เธอย้ำด้วยว่า เนื่องจากกรรมวิธี หรือเห็นวิธีการผลิตมาตลอด ทุกครั้งที่พ่อกับแม่เก็บชา เธอก็เก็บด้วยตลอดมานับแต่ยังเด็กและช่วยทำทุกกรรมวิธี

เมื่อถามถึงผลิตผลอื่นๆ ในไร่อย่างเลม่อน

แคลร์เล่าว่าสำหรับเลม่อน ตอนปลูก 3 ปีแรกจะไม่เก็บผลเลย เหมือนเด็ดทิ้ง กล่าวคือถ้าเลม่อนออกดอกออกผล เราจะเด็ดทิ้งหมดเลย เพื่อไม่ให้สารอาหารมาเลี้ยงที่ดอกและผล แต่เพื่อให้ไปเลี้ยงลำต้นและใบให้แข็งแรงก่อน

หลังจากนั้น สามปีให้หลังจึงค่อยเก็บผล ซึ่งเลม่อน ถ้ามีน้ำเพียงพอก็สามารถออกผลได้ตลอดเรื่อยๆ

“ยิ่งอากาศเย็นด้วยยิ่งออกผล ตอนนี้เก็บไม่ทันเลยค่ะ ถ้ามีโอกาสมาช่วยกันเก็บนะคะ” แคลร์บอกเล่าอย่างอารมณ์ดีและสะท้อนถึงความสุขสดใสในวิถีชาวไร่ที่เยียวยาเธอจากผลกระทบของภาวะวิกฤติโควิด-19 มานานนับปี

แคลร์กล่าวว่า ที่ไร่ นอกจากมีชาที่แปรรูปเป็นชาเขียวกับชาอู่หลงแล้ว ก็ยังมีเลม่อนที่แปรรูปเป็นขนม ช่วงที่เปิดไร่ แคลร์จะนำทั้งเปลือกและน้ำเลม่อนมาทำเป็นขนมชื่อเลม่อนบาร์ คนชอบกันมาก เพราะกินแล้วสดชื่น นอกจากนี้ก็มีทำน้ำเลม่อน ทำเลม่อนอบแห้ง รวมทั้งมีการนำเลม่อนมาตากแห้งเพื่อใช้ทำการ์ด ทำของตกแต่ง ทุกคนที่ได้รับก็ล้วนชื่นชอบ

ถามว่า การจิบชาร่วมกันในครอบครัวเกิดขึ้นบ่อยไหม
แคลร์ตอบว่า “จิบชาแทนน้ำเลยค่ะ บนโต๊ะอาหารจะต้องมีชาของคุณพ่อ ต้องมีกาน้ำชาตลอด น้ำร้อนต้อง Stand by เลย แล้วชาก็เป็นสิ่งที่ใช้รับแขกด้วยค่ะ”

แคลร์บอกเล่าถึงบรรยากาศในครอบครัวที่ผูกพันกับชา

เมื่อถามว่า ชาที่แคลร์ชอบคือแบบไหน เธอบอกว่า ชาอู่หลง ก้านอ่อนเบอร์ 12 ซึ่งช่วยลดคลอเลสเตอรอลด้วย เห็นได้ว่าพ่อของเธอไม่เคยอ้วนเลย เพราะมีเคล็ดลับนี้เอง กินข้าวเสร็จ หรือกินอะไรก็ตามจะจิบชาตามด้วยเสมอ เป็นการลดความอ้วนได้ทางอ้อม



>>> ‘บทเรียนแห่งชีวิต’ ระหว่างสิ่งที่เอื้อมคว้า กับสิ่งที่อยู่เคียงข้าง

ถามว่าได้รับประสบการณ์ หรือได้เรียนรู้สิ่งใดจากการเป็นนางฟ้าในไร่ชา หลังจากเป็นนางฟ้าที่โบยบินหรือเป็นแอร์โฮสเตสมาถึงห้าปี แคลร์ตอบว่า “เหมือนเราเคยมองแต่สิ่งที่อยู่รอบๆ เป็นตัวที่เราอยากจะไปเอื้อมให้ถึงสิ่งนั้น แต่เราลืมมองสิ่งที่อยู่ใกล้เราที่สุด จริงๆ แล้วถ้าเราตั้งใจทำสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวให้มีคุณค่า เราก็ทำให้ดีได้เหมือนกัน เพียงแต่ว่า มันต้องใช้ความอดทนมากๆ เหมือนกันค่ะ

“ความอดทนต่างจากแอร์โฮสเตส เพราะตอนเป็นแอร์ฯ เราได้แต่งตัวสวยๆ แต่งหน้าสวยๆ ลากกระเป๋า คือทุกคนเชิดชูเรา แต่พอเรามาเป็นชาวสวน เหมือนเราเป็นคนตัวเล็กๆ ไปเลย แล้วเราก็ต้องอดทน เพราะต้องหนักเอาเบาสู้ เราต้องสู้ แล้วงานในไร่ไม่จบไม่สิ้น ต่างจากเป็นแอร์ฯ เราลงเครื่องแล้วเราก็ไปเที่ยว ไปสนุกได้ หาอะไรอร่อยกิน แต่งานสวนงานไร่เป็นสิ่งที่ต้องทำไปเรื่อยๆ ค่ะ”

แคลร์บอกถึงสิ่งที่เธอได้รับจากการหวนคืนกลับมาทำไร่แห่งนี้ แม่ในความเป็นจริงเธอจะยังมีสถานภาพแอร์โฮสเตทอยู่ก็ตาม แต่เธอกลับสามารถทุ่มเทให้แก่วิถีชีวิตชาวสวนได้อย่างเต็มภาคภูมิเช่นกัน

เมื่อถามว่านักท่องเที่ยวสามารถมาเที่ยวที่ไร่ได้หรือไม่ในช่วงนี้

แคลร์ตอบว่า ขอรอเปิดพร้อมอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ ในเดือนพฤศจิกายน 2564 นี้ จะได้คุ้มค่ากับนักท่องเที่ยวด้วย เพื่อที่เขาจะได้มาเที่ยวทั้งอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์และไร่ชาดอยอินทนนท์ของเธอและครอบครัว


แคลร์บอกกล่าวแก่ผู้สนใจว่าสามารถติดตามได้ตามหน้าแฟนเพจเฟซบุ๊ค

ไร่ชาดอยอินทนนท์ Doi Inthanon Tea Partnership และสามารถสอบถามข้อมูลต่าๆ จากทางเพจได้ ไร่ชาของแคลร์อยู่กิโลเมตรที่ 31 จากนั้นให้เลี้ยวขวา เข้ามาอีกประมาณ 16 กิโลเมตร์ จึงเป็นหมู่บ้านขุนวางซึ่งเป็นที่ตั้งของไร่ชา หรือกล่าวให้เห็นภาพชัดขึ้นคือ ไร่ของแคลร์อยู่เลยน้ำตกวชิรธารขึ้นมา ซึ่งไร่ของแคลร์อยู่ทางเดียวกันกับโครงการหลวงหรือสถานีเกษตรหลวง ดอยอินทนนท์ เชียงใหม่ แต่ต้องเลยไปอีก 16 กิโลเมตร มีที่ตั้งอยู่ ณ บ้านขุนวาง อ.แม่วาง จ.เชียงใหม่

แคลร์เล่าว่านักท่องเที่ยวส่วนใหญ่มักมาเที่ยวที่ไร่ช่วงธันวาคม-มกราคม เพราะระหว่างทางจะมีดอกซากุระเมืองไทยหรือนางพญาเสือโคร่งบานสะพรั่งเต็มสองข้างทาง

ถามไถ่มาพอสมควร สุดท้าย มีสิ่งใดที่อยากบอกกล่าวแก่ผู้ที่กำลังทดท้อจากผลกระทบของวิกฤติโควิด-19 ทั้ง 4 ระลอก ซึ่งยังไม่มีทีท่าว่าจะยุติลง

แคลร์ตอบว่า “จริงๆ ทุกคนก็ท้อได้หมด เป็นปกติของมนุษย์ที่จะท้อ ถ้าท้อแล้วก็ท้อให้มันสุดแล้วลุกขึ้นมาสู้ต่อ เพราะว่าถ้าเราท้อถึงที่สุดแล้ว เราจะไม่อยากอยู่ในจุดที่เราท้ออีกแล้ว เราจะอยากก้าวไปข้างหน้า เพื่อให้ชีวิตเราดีขึ้นค่ะ เราอยากเห็นชีวิตตัวเองดีขึ้น ถ้าท้อก็ท้อให้สุดแล้วหยุดไว้แค่นั้น แล้วก็ไปต่อ ให้ชีวิตพัฒนาขึ้น ดีขึ้น เหมือนคนอกหักค่ะ คิดถึง ร้องไห้ ร้องจนสุด แล้วก็ตั้งสติว่าเราแก้ไขอะไรตรงไหนได้บ้าง ใช้เหตุผลแก้ปัญหา ยังไงมันต้องมีทางออกอยู่ดี”

คือคำตอบจาก แคลร์เอียแยง เทเลอร์ ที่เคยเผชิญและประสบปัญหาไม่ต่างไปจากผู้คนอีกมากมายในสังคม เป็นกำลังใจทิ้งท้ายจากนางฟ้าหน้าหวานแต่ใจแกร่งคนนี้

…..........................
Text by รพีพรรณ สายัณห์ตระกูล




กำลังโหลดความคิดเห็น