xs
xsm
sm
md
lg

“หมอธีระวัฒน์” แนะฉีดวัคซีนใต้ผิวหนังลดอาการหัวใจอักเสบ แบ่งฉีดได้เยอะขึ้น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



หมอธีระวัฒน์แนะประเทศไทยฉีดเชื้อตาย 2 เข็มในเด็ก 3 ขวบขึ้นไป และบูสต์ต่อด้วย “ไฟเซอร์-โมเดอร์นา” ชี้โมเดอร์นาเสี่ยงกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบมากกว่าไฟเซอร์ พร้อมถามประเทศไทยฉีดวัคซีนเข้าชั้นผิวหนังได้หรือไม่ เพราะจะทำให้เกิดหัวใจอักเสบได้น้อยกว่า ปลอดภัยกว่า และสามารถเจือจางให้คนได้มากขึ้น

วันนี้ (13 ต.ค.) นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ออกมาโพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊กส่วนตัว “ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha” ระบุถึงอาการหัวใจอักเสบจากวัคซีน โดยได้ระบุข้อความว่า

“หัวใจอักเสบจากวัคซีน แม้จะเกิดไม่มาก จะมีทางเลือกเป็นการฉีดเข้าชั้นผิวหนังได้หรือไม่?

ซึ่งปริมาณวัคซีนที่ได้รับจะน้อยกว่า และผ่านกลไกที่กระตุ้นการอักเสบน้อยกว่า และยังสามารถเจือจานให้คนได้มากขึ้น ปลอดภัยควรสูงสุด ประโยชน์ยังได้คนเข้าถึงได้มากขึ้น การฉีดเข้าชั้นผิวหนังทดสอบในต่างประเทศเช่นประเทศเนเธอร์แลนด์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต กลุ่มทำงานของเราประมาณ 400 คนแล้ว

การฉีดแบบนี้ประเทศไทยกลุ่มเราเริ่มตั้งแต่ปี 1987 องค์การอนามัยโลกยอมรับจนถึงปัจจุบันและเป็นการฉีดใช้กับวัคซีนได้ทุกชนิด แม้กระทั่งวัคซีนไข้หวัดใหญ่ที่ใช้กันอยู่ทุกวันนี้ก็เป็นการฉีดเข้าชั้นผิวหนัง ฉีดให้คนได้เยอะกว่า บริษัทขายได้น้อยลงคงไม่เป็นไร

กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบภายใน 42 วันหลังจากที่ได้รับวัคซีนนั้นไม่ปรากฏในรายงานที่ใช้วัคซีนหัด คางทูม หัดเยอรมัน อีสุกอีใส โปลิโอ หรือไข้เหลือง (vaccine safety data link) มีรายงานสองสามรายในวัคซีนไข้หวัดใหญ่แต่ความเชื่อมโยงไม่ชัดเจน

แต่สำหรับวัคซีน mRNA ไฟเซอร์ โมเดอร์นา รายงานแรกๆ เช่น ที่สถาบัน Duke cardiovascular magnetic resonance center, NC ในช่วงสามเดือนระหว่างวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ถึง 30 เมษายน 2564 พบผู้ป่วยเจ็ดราย และยืนยันด้วยการตรวจด้วยคอมพิวเตอร์สนามแม่เหล็กไฟฟ้าอายุ 23 ถึง 36 ปี และมีผู้ป่วยหนึ่งรายอายุ 70 ปี ไม่มีใครติดเชื้อโควิด

อัตราการฉีดวัคซีนที่รัฐนี้ ในช่วงเวลานั้นคือ 561,197 ราย (วารสาร JAMA cardiol 28 มิถุนายน 2564) ในทหาร รายงานในวารสารเดียวกันวันที่ 29 มิถุนายน พบทหารหนุ่มแข็งแรง 23 ราย จาก 1.4 ล้านคน ในการรวบรวมข้อมูลจากศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐฯ หรือ CDC ความเสี่ยง

ในการเกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ภายในเจ็ดวันจากไฟเซอร์ โมเดอร์นา (23 มิถุนายน 2564) ช่วงอายุ 12 ถึง 17 ปี ผู้ชาย 62.75 ต่อ 1 ล้านโดส ผู้หญิง 8.68 ต่อ 1 ล้านโดส...ช่วงอายุ 18 ถึง 24 ปี ผู้ชาย 50.49 ต่อผู้หญิง 4.39...ช่วงอายุ 25 ถึง 29 ปี ผู้ชาย 16.27 ต่อผู้หญิง 1.69

ช่วงอายุ 30 ถึง 39 ปี 7.34 ต่อ 1.18...ช่วงอายุ 40 ถึง 49 ปี 3.96 ต่อ 1.81...ช่วงอายุ 50 ถึง 64 ปี 1.11 ต่อ 0.96...อายุ 65 ปีขึ้นไป 0.61 ต่อ 0.46

หัวใจผิดปกติในเด็กชายหลังฉีดวัคซีนไฟเซอร์สูงมาก (162.2 คน ใน 1 ล้านคน) การวิเคราะห์ข้อมูลโดยคุณหมอ Tracy Hoeg และคณะจาก University of California, Davis ภาควิชา Physical Medicine and Rehabilitation ทั้งนี้โดยใช้ข้อมูลที่มีการรายงานมาในระบบ เหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ที่เกิดจากวัคซีนของชาติ (VAERS) โดยใช้ข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึง 18 มิถุนายน 2564 เด็กอายุ 12 ถึง 17 ปีที่ไม่มีโรคประจำตัวที่ได้รับวัคซีน mRNA ที่มีอาการและลักษณะเข้าได้กับกล้ามเนื้อหัวใจและเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ เด็กผู้ชายอายุ 12 ถึง 15 ปี เกิดหัวใจอักเสบ 162.2 ต่อล้าน...เด็กผู้ชายอายุ 16 ถึง 17 ปี = 94 ต่อล้าน...เด็กผู้หญิง อายุ 12 ถึง 15 ปี เกิดหัวใจอักเสบ 13.0 ต่อล้าน...เด็กผู้หญิงอายุ 16 ถึง 17 ปี = 13.4 ต่อล้าน ในจำนวนนี้ ซึ่งเกือบ 86% เป็นเด็กชายต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล

ข้อมูลตรงกับที่ CDC สหรัฐฯ รายงาน คือมักเกิดหลังเข็มที่สองในผู้ชายอายุ 12 ถึง 17 ปี แต่อุบัติการณ์จากการวิเคราะห์นี้สูงกว่าที่ได้เคยมีรายงานไว้คือที่ 62.5 ในผู้ชาย และ 8.68 ในผู้หญิงที่อายุ 12 ถึง 17 ปี ต่อล้าน

CDC สรุปในวันที่ (8 กันยายน 2564) มักเกิดในผู้ชายอายุไม่มาก มักเกิดตามหลังเข็มที่สอง เกิดขึ้นภายในไม่กี่วันหลังได้รับวัคซีน ตอบสนองต่อการรักษาดีแต่ต้องปรึกษาหมอหัวใจในเรื่องการออกกำลังและการเล่นกีฬาหลังจากที่ออกจากโรงพยาบาลแล้ว

นอกจากนี้ งานวิจัยจากแคนาดาพบความเสี่ยงจากกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบจากวัคซีน mRNA อยู่ที่ 1 ต่อ 1 พัน เป็นชายถึง 90% และโมเดอร์นามากกว่าไฟเซอร์ 4 เท่า ทั้งนี้อาจจะเกิดจากเนื้อวัคซีนที่มากกว่าและชนิดของสารที่ใช้กระตุ้นคู่กับวัคซีน

ดังนั้นจะเห็นได้ว่าความเสี่ยงของหัวใจอักเสบจะอยู่ในช่วงตั้งแต่ประมาณหนึ่งใน 1,000 ถึงหนึ่งใน 10,000 และแม้แต่จะเกิดในผู้ชายอายุน้อยมากกว่าผู้หญิงก็ตาม แต่เมื่อนำมาใช้ในอายุที่น้อยลงเรื่อยๆ เช่นจนถึงอายุสามขวบจะมีความปลอดภัยและคุ้มกับอันตรายที่จะเกิดขึ้นในระยะเฉียบพลันและในระยะยาวหรือไม่ ทั้งนี้ ตัวเลขของการเข้าโรงพยาบาลเนื่องจากหัวใจอักเสบในบางพื้นที่จากรายงานจะสูงกว่าที่ต้องเข้าโรงพยาบาลเนื่องจากติดเชื้อโควิด ในกลุ่มอายุน้อยโดยเฉพาะอายุ 12 ถึง 17 ปี และไม่มีโรคประจำตัวด้วยซ้ำ

ทางเลือกสำหรับประเทศไทย ในเด็กตั้งแต่อายุ 3 ขวบขึ้นไป เพื่อความปลอดภัยสูงสุดอาจจะเป็นวัคซีนเชื้อตายสองเข็ม แต่เนื่องจากไม่สามารถคุมเดลตาได้จึงต้องตามด้วยไฟเซอร์ หรือโมเดอร์นา ในปริมาณน้อยที่สุดคือหนึ่งส่วนสี่โดสเข้ากล้าม ซึ่งพิสูจน์แล้วว่าได้ผล หรือจะใช้ขนาดหนึ่งในห้า หรือหนึ่งใน 10 ทางชั้นผิวหนังก็ได้ผลเช่นกัน และแท้จริงแล้วมีความเป็นไปได้ที่จะเป็นการฉีดเข้าชั้นผิวหนังทั้งหมดตั้งแต่เข็มแรก โดยเข็มแรกและเข็มที่สองนั้นห่างกัน 7 วัน ทั้งนี้ จะทำให้ภูมิคุ้มกันสูงขึ้นได้ภายในวันที่ 14 ถึง 30 ดังที่พิสูจน์แล้วในวัคซีนเชื้อตายโรคพิษสุนัขบ้า และหลังจากนั้นอีกประมาณเดือนครึ่งถึงสามเดือนจึงฉีดเข็มที่สามด้วยวัคซีนเทคโนโลยีอื่นตามข้างต้น”



กำลังโหลดความคิดเห็น