ไม่เพียงแต่ประจักษ์ต่อสายตาคนไทย แต่ยังเป็นที่รับรู้ของชาวโลกทั้งหลายว่า พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมราชบพิตร ทรงทุ่มเทพระราชหฤทัยและตรากตรำพระวรกายอย่างหนัก เพื่อ “ประโยชน์สุขของชาวสยาม” ด้วยความรัก ความห่วงใย ที่ทรงมีต่อประชาชนและประเทศชาติ จนเกิดโครงการพระราชดำริกระจายไปทั่วแผ่นดินไทย แต่ละโครงการนั้นได้เสด็จพระราชดำเนินฝ่าแดดฝ่าลมไปในชนบททุรกันดาร ย่ำพระบาทไปตามคันนา ตามพื้นที่เฉอะแฉะ บางครั้งก็ประทับบนพื้นดิน กางแผนที่ลงและทรงรับฟังความเห็นจากชาวไร่ชาวนาในพื้นที่ เพื่อทรงทราบปัญหาเพื่อแก้ไขให้ตรงจุด ยกระดับความเป็นอยู่ของราษฎรให้ดีขึ้น
พระองค์จึงทรงเป็นกษัตริย์ที่ราษฎรได้เห็นพระเสโท และโลกได้รับรู้ว่าพระองค์เป็นกษัตริย์ที่ทรงงานหนักที่สุด มีพระราชหฤทัยที่เปี่ยมล้นด้วยพระเมตตาต่อพสกนิกรโดยไม่แบ่งแยกสถานะ ศาสนา ชาติพันธุ์ หรือหมู่เหล่า และทรงพระอัจฉริยภาพในการเป็นนักคิดนักประดิษฐ์สร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆออกมา องค์การสำคัญของโลกหลายองค์การ ตลอดถึงองค์การสหประชาชาติ ต่างทูลเกล้าฯถวายรางวัลเทิดพระเกียรติ อย่างที่ไม่เคยมีกษัตริย์พระองค์ใดได้รับเช่นนี้ และทรงสร้างสถิติจารึกไว้ในโลกอย่างที่ไม่มีใครเคยทำได้อีกเช่นกัน
“กษัตริย์นักพัฒนา”
โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ๔,๖๘๕ โครงการ ทรงให้ความสำคัญกับการเกษตรและเกี่ยวข้องกับการเกษตรมากที่สุด ทั้งครอบคลุมไปถึงด้านแหล่งน้ำ สิ่งแวดล้อม ส่งเสริมอาชีพ สวัสดิการสังคมและการศึกษา ด้านสาธารณสุข ด้านคมนาคม และการสื่อสาร ตลอดจนโครงการพัฒนาอื่นๆ ด้วยเหตุนี้ พระตำหนักสวนจิตรลดาจึงเป็นพระราชวังที่มีนาข้าว มีบ่อเลี้ยงปลา มีคอกวัว มีสวนป่า มีโรงเพาะเห็ด มีโรงสี มีโรงงานทดลองต่างๆ เป็นงานทดลองด้านการเกษตร อันเป็นอาชีพพื้นฐานของราษฎรไทย เมื่อได้ผลแล้วจึงกระจายไปทั่วประเทศ
“ปลาพระราชทาน”
ในวันที่ ๒๕ มีนาคม ๒๕๐๘ สมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโต แห่งประเทศญี่ปุ่น ขณะดำรงพระยศเป็นมกุฎราชกุมาร ได้ถวายพันธุ์ปลาจากประเทศญี่ปุ่นจำนวน ๕๐ ตัว ทรงทดลองเลี้ยงปลานั้นในบ่อดินขนาด ๑๐ ตารางเมตร ต่อมาในเดือนกันยายนทรงย้ายไปเลี้ยงในบ่อขนาด ๗๐ ตารางเมตรถึง ๖ บ่อ เนื่องจากปลาขยายพันธุ์เพิ่มขึ้นมาก
ในปี ๒๔๐๘ พระราชทานลูกปลาให้กรมประมงถึง ๑๐,๐๐๐ ตัว เพื่อให้แจกจ่ายไปยังสถานีประมงประจำจังหวัด นำลูกปลาที่ขยายพันธุ์ได้แจกจ่ายแก่เกษตรกรต่อไป
ปี ๒๕๑๐ องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ได้ขอพระราชทานพันธุ์ปลาที่อุดมด้วยโปรตีนนี้ ซึ่งพระราชทานชื่อว่า “ปลานิล” เพื่อบริจาคให้แก่ชาวบังคลาเทศที่กำลังประสบภาวะขาดแคลนอาหาร พระราชทานพันธุ์ปลานิลแก่รัฐบาลบังคลาเทศถึง ๕๐๐,๐๐๐ ตัว
ขณะนี้ปลานิลเป็นอาหารและแพร่พันธุ์อยู่ในแหล่งน้ำทั่วประเทศไทยและอีกหลายประเทศ
“โครงการหลวง”
โครงการหลวงนับเป็นโครงการที่ประสบความสำเร็จอย่างสูง เป็นที่รู้จักกันทั่วโลก ส่งผลให้ชาวเขาในภาคเหนือเลิกปลูกฝิ่น หันมาปลูกพืชเมืองหนาวที่ทำรายได้สูงกว่าฝิ่น ทั้งยังเลิกทำไร่เลื่อนลอย หยุดยั้งการทำลายป่าต้นน้ำลำธาร มีผู้มาขอศึกษาและดูงานอย่างต่อเนื่อง เป็นแบบฉบับให้อีกหลายประเทศ
ปัจจุบันพื้นที่ซึ่งเคยเป็นไร่เลื่อนลอย มีดอกฝิ่นบานสะพรั่ง ได้กลายเป็นแหล่งผลิตผลไม้พืชผักและไม้ดอกเมืองหนาว เช่น บ๊วย พลัม พีช สาลี สตรอเบอรี่ อะโวกาโด เสาวรส กาแฟพันธุ์อะราบิกา รวมทั้งผักและไม้ดอกเมืองหนาวหลายชนิด มีพืช “พันธุ์พระราชทาน” ออกมามากมาย ทำให้ทุ่นเงินที่ต้องสั่งมาจากต่างประเทศ ที่สำคัญไม่มีชาวเขาคนใดหันไปปลูกฝิ่นพืชที่ทำรายได้ต่ำกว่าอีก และไม่มีใครคิดทิ้งที่ทำกินไปหักร้างถางพงทำไร่เลื่อนลอย แม้มีคนมาขอซื้อที่ยังไม่ยอมขาย
“เกษตรทฤษฎีใหม่”
เมื่อวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน ๒๕๓๕ เสด็จพระราชดำเนินไปเยี่ยมราษฎรที่บ้านกุดตอแก่น ตำบลกุดสิมคุ้มใหญ่ อำเภอเขาวง จังหวัดกาฬสินธุ์ ซึ่งมีปัญหาปลูกข้าวแล้วไม่มีเมล็ดเพราะขาดฝน ทรงนำปัญหานี้มาครุ่นคิด จากนั้นก็ทรงพระราชทาน “ทฤษฎีใหม่” เกี่ยวกับการจัดการที่ดินและแหล่งน้ำ โดยแบ่งที่ดินเป็น ๔ ส่วนคือ
๓๐ เปอร์เซ็นต์แรก ขุดเป็นสระสำหรับกักเก็บน้ำฝนไว้ใช้เพาะปลูกได้ตลอดปี ทั้งยังเลี้ยงปลา ปลูกพืชน้ำเป็นอาหาร และเพิ่มรายให้เกษตรกรได้ด้วย
๓๐ เปอร์เซ็นต์ที่สอง ใช้สำหรับทำนาปลูกข้าว ซึ่งผลผลิตจะทำให้ครอบครัวไม่ต้องซื้อข้าวกินตลอดทั้งปี
๓๐ เปอร์เซ็นต์ที่สาม ใช้ปลูกพืชไร่และพืชสวนตามสภาพของท้องถิ่นและการตลาด
ส่วนอีก ๑๐ เปอร์เซ็นต์ จัดเป็นที่อยู่อาศัย ถนน ตลอดจนปลูกพืชสวนครัวและเลี้ยงสัตว์
จากแนวพระราชดำริที่ทรงคิดค้นนี้ นับเป็นแนวคิดใหม่ เกษตรกรรายย่อยสามารถนำไปใช้ ทำให้ผลิตข้าวปลาอาหารกินเองได้ตลอดปี มีภูมิคุ้มกันที่ดี เหลือกินก็นำไปขายสร้างรายได้ ถ้าใครมีพื้นที่มากกว่านี้และมีกำลังในครอบครัวที่จะดูแลได้ ก็สามารถขยายเป็นแปลงใหญ่ ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของครอบครัวดียิ่งขึ้น
“ฝนหลวง”
ในการเสด็จพระราชดำเนินไปเยี่ยมราษฎรในภาคอีสานเมื่อปี ๒๔๙๘ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรฯทอดพระเนตรความแห้งแล้งเนื่องจากฝนทิ้งช่วงมาเป็นเวลานาน แต่บนท้องฟ้ามีเมฆอยู่ทั่วไป และระหว่างเสด็จพระราชดำเนินโดยเครื่องบินพระที่นั่งผ่านเทือกเขาภูพาน ทรงสังเกตว่าท้องฟ้าบริเวณนั้นก็มีเมฆมาก แต่ไม่อาจก่อตัวเป็นหยดน้ำได้ จึงมีพระราชดำริที่จะหาวิธีบังคับเมฆให้เป็นฝนตกลงมาในพื้นที่ต้องการ ทรงศึกษาอุตุนิยมวิทยาและการดัดแปรสภาพอากาศ จนมั่นพระราชหฤทัยแล้ว ในวันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๕๑๒ จึงมีปฏิบัติการบนท้องฟ้า ทดลองทำฝนเทียมครั้งแรกที่บริเวณอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ พบว่ามีฝนตกลงสู่พื้นที่ทดลอง
ในวันที่ ๑๙ ตุลาคม ๒๕๑๕ ทรงบัญชาการปฏิบัติการฝนหลวง สาธิตแก่ผู้แทนจากสิงคโปร์ ทรงควบคุมให้เมฆตกเป็นฝนลงสู่พื้นที่เป้าหมาย คือแก่งกระจานภายใน ๕ ชั่วโมง เป็นที่มาของ “วันเทคโนโลยีของไทย”ในวันที่ ๑๙ ตุลาคมของทุกปี
“กังหันน้ำชัยพัฒนา”
ภาวะน้ำเน่าเสียเป็นปัญหาที่มีความรุนแรงยิ่งขึ้นตามความเจริญของเมือง จนการกำจัดด้วยวิธีธรรมชาติไม่อาจยับยั้งได้ทันท่วงที จึงทรงคิดค้นหาวิธีที่ได้ผลรวดเร็วกว่าวิธีเก่าที่ใช้มา ที่สำคัญต้องประหยัดและทำได้เองไม่ต้องสั่งมาจากต่างประเทศ ในที่สุดก็ทรงได้ความคิดแรกเริ่มมาจาก “หลุก” อุปกรณ์วิดน้ำเข้านาจากภูมิปัญญาพื้นบ้านของภาคเหนือ ในวันที่ ๒๔ ธันวาคม ๒๕๓๑ ได้พระราชทานแนวพระราชดำริเรื่องการแก้ไขปัญหาน้ำเสียโดยเติมออกซิเจนลงในน้ำ ให้มูลนิธิชัยพัฒนาศึกษาวิจัยและสนับสนุนงบประมาณร่วมกับสำนักเครื่องกลของกรมชลประทานสร้างเครื่องต้นแบบ เป็นเครื่องกลหมุนช้าแบบทุ่นลอย มีใบพัดวิดน้ำขึ้นมาสาดกระจายเป็นฝอย เพื่อสัมผัสอากาศได้ทั่วถึง เป็นผลให้ออกซิเจนสามารถละลายเข้าไปในน้ำอย่างรวดเร็ว และเมื่อตกกลับลงไปที่ผิวน้ำ ก็ทำให้ฟองอากาศจมตามลงไป ทำให้จุลินทรีในน้ำเติบโต ย่อยสลายของเสียในน้ำ ซึ่งปัจจุบันเครื่องกลเติมอากาศลงในน้ำนี้เป็นที่รู้จักกันในชื่อ “กังหันน้ำชัยพัฒนา”
วันที่ ๒ มิถุนายน ๒๕๓๕ มูลนิธิชัยพัฒนาดำเนินการขอสิทธิบัตรในพระปรมาภิไธย จากกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ หลังจากส่งรายละเอียดสิ่งประดิษฐ์ไปตรวจสอบกับสำนักงานสิทธิบัตรสากล ณ ประเทศออสเตรเลียแล้ว ปรากฏว่ากังหันน้ำชัยพัฒนาเป็นประดิษฐ์กรรมที่มีการประดิษฐ์สูง และเป็นไปตามเงื่อนไขกฎหมายสิทธิบัตรสากล สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในงานอุตสาหกรรมและเกษตรกรรมได้ กระทรวงพาณิชย์จึงทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายการจดสิทธิบัตรการประดิษฐ์เมื่อวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๖ ชื่อที่แสดงการประดิษฐ์คือ “เครื่องกลเติมอากาศที่ผิวน้ำ” และคณะรัฐมนตรีได้มีมติให้วันที่ ๒ กุมภาพันธ์ เป็น “วันนักประดิษฐ์ไทย”
ปี ๒๕๔๓ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ได้ขอพระราชทานนำกังหันน้ำชัยพัฒนาไปร่วมงานแสดงนวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์ของทวีปยุโรป “บรัสเซลล์ ยูเรกา” ที่ประเทศเบลเยี่ยม ในงานดังกล่าว สมาคมส่งเสริมและคุ้มครองนักประดิษฐ์แห่งเบลเยี่ยม ซึ่งมีอายุเก่าแก่ที่สุดในโลก ได้ทูลเกล้าฯถวายรางวัลในฐานะที่ทรงสร้างนวัตกรรมอันเป็นประโยชน์ต่อการรักษาสิ่งแวดล้อมถึง ๕ รางวัล และต่อมาในปี ๒๕๔๔ ยังทรงได้รับอีก ๕ รางวัลในงานนี้ จากทฤษฎีใหม่ ฝนหลวง และไบโอดีเซล
ปี ๒๕๕๑ สมาพันธ์นักประดิษฐ์นานาชาติ ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่ประเทศฮังการี ขอพระราชทานทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายถ้วยรางวัลนักประดิษฐ์นานาชาติ
กังหันน้ำชัยพัฒนา เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คนไทยตื่นตัวในเรื่องสิ่งแวดล้อม และต่างชาติตระหนักว่า พระมหากษัตริย์ไทยทรงร่วมคิดค้นทดลองเพื่อแสวงหาแนวทางบรรเทาปัญหาสิ่งแวดล้อมของโลก
“โครงการแก้มลิง”
จากที่ทรงสังเกตลักษณะอาการเก็บอาหารของลิง เมื่อคนส่งกล้วยให้ ลิงจะปอกเปลือกแล้วเก็บไว้ในกระพุ้งแก้ม จนเมื่อกล้วยหมดหวีหรือเต็มกระพุ้งแก้มแล้ว จึงค่อยนำออกมาเคี้ยวแล้วกลืนกินภายหลัง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงทรงนำวิธีเก็บอาหารของลิงมาเป็นแนวทางในการบรรเทาปัญหาน้ำท่วม โดยจัดหาพื้นที่รองรับและเก็บกักน้ำในช่วงฝนตกมีน้ำมาก และระบายออกในช่วงที่น้ำลด แนวพระราชดำรินี้เกิดขึ้นในช่วงที่กรุงเทพมหานครเผชิญปัญหาน้ำท่วมเมื่อปี ๒๕๓๘
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชปรารภว่า “แก้มลิง” หรือแหล่งกักเก็บน้ำตามธรรมชาติในกรุงเทพฯลดลงมาก เพราะการปลูกสร้างอาคารเพิ่มมากขึ้น บางแห่งสร้างขวางทางน้ำ ทำให้ระบายออกได้ลำบากจึงเกิดน้ำท่วมขัง การเตรียมแก้มลิงหรือคลองขุดและบ่อพักเพื่อชักน้ำมารวมไว้ จะช่วยลดปริมาณน้ำท่วมชุมชนที่พักอาศัยและย่านการค้าได้ เมื่อระดับน้ำลดแล้วจึงค่อยปล่อยลงทะเล
นอกจากนี้แก้มลิงยังช่วยทำหน้าที่เป็นบ่อพักน้ำ และบำบัดเสียก่อนที่จะผันสู่ทางระบายน้ำสาธารณะ
ปัจจุบันมีโครงการแก้มลิงกระจายอยู่หลายแห่งทั่วประเทศ ในกรุงเทพมหานครมีบึงรับน้ำในลักษณะแก้มลิง ๒๑ แห่ง บางแห่งอยู่ในความดูแลของกรุงเทพมหานคร บางแห่งอยู่ในความดูแลของหน่วยราชการอื่นๆหรือเอกชน
“เศรษฐกิจพอเพียง”
เป็นปรัชญาที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงมีพระราชดำรัสชี้แนะแนวทางการดำเนินชีวิตแก่พสกนิกรไทยในปี ๒๕๑๗ เป็นปรัชญาชี้ถึงแนวทางการดำรงอยู่และการปฏิบัติตนของประชาชนทุกระดับ ตั้งแต่ระดับครอบครัว ระดับชุมชน จนถึงระดับรัฐ ให้ดำเนินไปในทางสายกลาง มีความพอเพียง มีเหตุผล รวมถึงความจำเป็นที่จะต้องมีระบบภูมิคุ้มกันในตัวที่ดีพอต่อการมีผลกระทบใดๆ อันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทั้งภายนอกภายใน
ทรงชี้ให้เห็นว่า เศรษฐกิจพอเพียงสามารถยืนหยัดอยู่ได้ด้วยหลัก ๓ ประการ คือ
๑. ความพอประมาณ มีการประเมินกำลังของประเทศ มิใช่ลดพื้นที่ทำการเกษตรเพื่อปรับปรุงไปสู่การเป็นประเทศอุตสาหกรรม ทั้งๆที่กำลังสำคัญของประเทศยังคงเป็นด้านการเกษตร
๒. การใช้เหตุใช้ผล ต้องคำนึงถึงความเป็นจริงว่า ทุกประเทศมิใช่ต้องเติบโตเหมือนกัน ถ้าประเทศเล็กๆสามารถเลือกพัฒนาได้อย่างเหมาะสม ก็สามารถเป็นที่ ๑ ของโลกได้ อย่างที่คนไทยเคยเป็นแชมป์มวยโลกในบางรุ่นมาแล้ว
๓. การมีภูมิคุ้มกัน โดยการส่งเสริมให้มีการออม ทั้งทรัพย์สินและทรัพยากร เช่น น้ำ ซึ่งในอนาคตมีแนวโน้มว่าจะเกิดสงครามแย่งน้ำ ประเทศไทยจึงต้องออมน้ำไว้ในเขื่อน
ส่วนผู้ที่อยู่นอกภาคเกษตรกรรมไม่ว่าจะอาชีพใด ก็สามารถนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นหลักในการดำเนินชีวิตได้อย่างดีเช่นกัน โดยดำเนินชีวิตแบบไทยๆที่อยู่พอดี ไม่ฟุ่มเฟือยอย่างไร้ประโยชน์ ไม่ยึดวัตถุเป็นที่ตั้ง ยึดทางสายกลาง อยู่กินตามฐานะ ใช้สติปัญญาในการดำเนินชีวิต เจริญเติบโตอย่างค่อยเป็นค่อยไป ไม่หลงไปกับกระแสโลกาภิวัตน์โดยไม่คำนึงถึงเหตุและผล
ทรงเน้นในเรื่องความสุขที่เกิดจากความพอมีพอกินของทุกคน มิได้ทรงเน้นที่เงินรายได้ ซึ่งปัจจุบันสังคมโลกกำลังหันมาให้ความสนใจวัดผลการพัฒนาประเทศจาก GNH (Gross National Product) หรือ “ดัชนีความสุขแห่งชาติ”
เศรษฐกิจพอเพียงจึงมิใช่เป็นทางออกของประเทศไทยเท่านั้น หากยังเป็นทางออกของชาวโลกด้วย องค์การสหประชาชาติได้เดินหน้าเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงอย่างจริงจัง โดยแปลแนวพระราชดำริหลักเศรษฐกิจพอเพียงเป็นภาษาอังกฤษ แจกจ่ายให้ประเทศสมาชิก ทั้งยังได้เชิญ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา ไปบรรยายหลายครั้ง
ในโอกาสที่เดินทางมาทูลเกล้าฯถวายรางวัล ความสำเร็จสูงสุดด้านการพัฒนามนุษย์” นายโคฟี อันนัน เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ ได้ประกาศราชสดุดีเฉลิมพระเกียรติคุณพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตอนหนึ่งว่า
“ด้วยพระปรีชาสามารถในการเป็นนักคิดของใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท และคุณูปการต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ทำให้นานาประเทศตื่นตัวในการปรับรูปการพัฒนาอย่างยั่งยืนภายใต้แนวความคิดใหม่ ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทที่มีต่อประชาราษฎร์ที่ได้พระราชทานปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งชี้ถึงแนวทางพัฒนาที่เน้นความสมดุล ความพอประมาณ ความมีเหตุผล สำนึกในคุณธรรม และการมีภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี พอที่จะต้านทานและลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงต่างๆจากกระแสโลกาภิวัตน์ ด้วยปรัชญาดังกล่าวนี้ องค์การสหประชาชาติจึงมุ่งเน้นเพียรพยายาม และส่งเสริมการพัฒนาคน ให้ความสำคัญต่อความอยู่ดีมีสุขของประชาชน เป็นเป้าหมายศูนย์กลางในการพัฒนา”
ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง จึงไม่เพียงเป็นแนวทางดำเนินชีวิของคนไทย และแนวทางพัฒนาประเทศของไทยเท่านั้น แต่ยังเป็นแนวทางของชาวโลกอีกด้วย
“พระเกียรติกึกก้องโลก”
จากการที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงอุทิศพระองค์ทรงงานเพื่อพสกนิการอย่างหนักตลอดระยะเวลากว่า ๗๐ ปี ๔ เดือนกับอีก ๔ วันที่ครองสิริราชสมบัติ ทรงพระวิริยอุตสาหะในการคิดค้นทดลองสร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์ และพระราชทานแนวพระราชดำริออกมามากมาย เพื่อยกระดับชีวิตของราษฎรให้ดีขึ้น พระอัจฉริยภาพนี้ไม่เพียงแต่เป็นที่สดุดีสรรเสริญและซาบซึ้งในหมู่ประชาชนชาวไทย ยังเป็นที่ประจักษ์แก่นานาประเทศและองค์กรที่มีบทบาทสำคัญของโลกอีกหลายองค์กร ได้ขอพระราชทานทูลเกล้าฯถวายรางวัลและปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์มากมาย เพื่อเทิดพระเกียรติ นอกจากนี้ยังทรงเป็นผู้ถือครองสิทธิบัตรในพระปรมาภิไธยหลายฉบับ ในประดิษฐ์กรรมที่ทรงคิดค้น
“สิทธิบัตรในพระปรมาภิไธย”
ประดิษฐ์กรรมและงานออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ทรงคิดค้นและมีสิทธิบัตรคุ้มครอง กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายการจดสิทธิบัตรและอนุสิทธิบัตรแล้ว ๘ รายการ คือ
๑. “เครื่องกลเติมอากาศที่ผิวน้ำ” หรือ เครื่องกลเติมอากาศที่ผิวน้ำหมุนช้าแบบทุ่นลอย หรือ กังหันน้ำชัยพัฒนา สิทธิบัตรการประดิษฐ์เลขที่ ๓๑๒๗ วันที่ ๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๖
๒. “เครื่องกลเติมอากาศแบบอัดอากาศและดูดน้ำ” สิทธิบัตรการประดิษฐ์เลขที่ ๑๐๓๐๔ วันที่ ๑๙ เมษายน ๒๕๔๔
๓. “การใช้น้ำมันปาล์มกลั่นบริสุทธิ์เป็นเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องยนต์ดีเซล” ใช้บรรเทาปัญหามลพิษในอากาศ และปัญหาพลังงาน สิทธิบัตรการประดิษฐ์เลขที่ ๑๐๗๖๔ วันที่ ๒๖ กรกฎาคม ๒๕๔๔
๔. “การดัดแปรสภาพอากาศเพื่อให้เกิดฝน” หรือ ฝนหลวง พระราชทานชื่อวิธีการว่า “ซุปเปอร์แซนวิช” สิทธิบัตรการประดิษฐ์เลขที่ ๑๓๘๙๘ วันที่ ๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๔๕
ต่อมาเมื่อปี ๒๕๔๙ สำนักสิทธิบัตรยุโรปได้ทูลเกล้าฯถวายการจดสิทธิบัตรการประดิษฐ์เลขที่ ๑๔๙๑๐๘๘ มีผลคุ้มครองสิทธิ์ใน ๓๐ ประเทศทวีปยุโรปที่เป็นภาคีสมาชิก และเขตปกครองพิเศษฮ่องกง
๕. “อุปกรณ์ควบคุมการผลักดันของเหลว” หรือ เรือหางกุด เป็นอุปกรณ์ที่ติดตั้งท้ายเรือ เพื่อผลักดันน้ำให้เรือขับเคลื่อน หรือเพื่อใช้สูบน้ำ สิทธิบัตรการประดิษฐ์เลขที่ ๑๖๑๐๐ วันที่ ๒๗ มกราคม ๒๕๔๗
๖. “กระบวนการปรับปรุงดินเปรี้ยวเพื่อให้เหมาะแก่การเพาะปลูก” (โครงการแกล้งดิน) สิทธิบัตรการประดิษฐ์เลขที่ ๒๒๖๓๗ วันที่ ๕ ตุลาคม ๒๕๕๐
๗. “การใช้น้ำมันปาล์มกลั่นบริสุทธิ์ เป็นน้ำมันหล่อเลื่อนสำหรับเครื่องยนต์ ๒ จังหวะ” แทนน้ำมันหล่อลื่นทั่วไป อนุสิทธิบัตรการประดิษฐ์เลขที่ ๘๔๑ วันที่ ๑๑ ตุลาคม ๒๕๔๕
๘. “ภาชนะรองรับของเสียที่ออกจากร่างกาย” ทรงออกแบบขณะทรงประชวร เกิดเป็นภาชนะที่ประยุกต์ใช้ได้ทั้งผู้ป่วยและผู้ที่เดินทาง หรือติดการจราจรอยู่ในท้องถนน สิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์เลขที่ ๑๔๘๕๙ วันที่ ๑๐ มิถุนายน ๒๕๔๖
นอกจากนี้ ทรงมีพระราชดำริให้โครงการหลวง ขอจดสิทธิบัตรการใช้หญ้าแฝกรูปแบบต่างๆ เพื่อคุ้มครองและปกป้องรักษาภูมิปัญญาที่คนไทยคิดค้นขึ้นใช้แก้ปัญหาของประเทศไทย และนอกจากสิทธิบัตร ยังทรงถือครองสิทธิในเครื่องหมายการค้าและเครื่องหมายบริการในพระปรมาภิไธย รวมทั้งลิขสิทธิ์ในพระปรมาภิไธย ในงานวรรณกรรม ดนตรี และศิลปกรรมที่ทรงสร้างสรรค์เช่นกัน
“รางวัลเทิดพระเกียรติ”
องค์กรต่างๆของโลกได้สดุดีเทิดพระเกียรติ โดยทูลเกล้าฯถวายรางวัลมากมาย อาทิ
๐ เหรียญทองเฉลิมพระเกียรติคุณในการนำชนบทให้วัฒนา (The Gold Medal of Outstanding Leadership in Rural Development) ทูลเกล้าฯถวายโดย The Asian Institute of Technology เมื่อวันที่ ๒๑ กรกฎาคม ๒๕๓๐ เพื่อเทิดพระเกียรติพระปรีชาสามารถในการริเริ่มโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนที่อาศัยอยู่ในถิ่นทุรกันดาร
๐ เหรียญสดุดีขององค์กรโรตารีสากล (The Award of Honor) ทูลเกล้าฯถวายโดย องค์กรโรตารีสากล (The Rotary International) เมื่อวันที่ ๑๗ สิงหาคม ๒๕๓๔ เพื่อเทิดพระเกียรติที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมุ่งมั่นในการพัฒนาประเทศอย่างจริงจัง ตลอดจนพระองค์ได้พยายามสรรค์สร้างสัมพันธภาพอันดีระหว่างประเทศไทยและนานาประเทศ เหรียญสดุดีนี้เป็นเหรียญสูงสุดขององค์กรโรตารีสากลที่มอบให้แก่ประมุขหรือผู้นำของประเทศ ที่มีผลงานดีเด่นเกี่ยวกับการพัฒนาประเทศ
๐ เหรียญฟีแล (Philae Medal) ทูลเกล้าฯถวายโดย องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) เมื่อวันที่ ๒ ธันวาคม ๒๕๓๔ เพื่อเทิดพระเกียรติพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการพัฒนาชนบทถิ่นทุรกันดาร และยกคุณภาพชีวิตของปวงชนชาวไทยให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
๐ เหรียญทองประกาศเกียรติคุณด้านสิ่งแวดล้อม (UNEP Gold Medal of Distinction) ทูลเกล้าฯถวายโดยโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) เมื่อวันที่ ๔ พฤศจิกายน ๒๕๓๕ เพื่อเฉลิมพระเกียรติที่ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจดีเด่นเป็นที่ยอมรับของนานาประเทศ เกี่ยวกับการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
๐ เหรียญทองสาธารณสุขเพื่อมวลชน (Health-for All) ทูลเกล้าฯถวายโดย องค์การอนามัยโลก (WHO) เมื่อวันที่ ๒๔ พฤศจิกายน ๒๕๓๕ ด้วยตระหนักในพระราชปณิธานอันแน่วแน่ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการปฏิบัติพระราชกรณียกิจนานัปการ เพื่อประโยชน์ทางด้านการสาธารณสุขของประเทศ และเพื่อสุขภาพ ความอยู่ดีกินดีของพสกนิกรชาวไทย
๐ เหรียญรางวัลเทิดพระเกียรติในด้านการสงวนรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ (The Natura Pro Futura) ทูลเกล้าฯถวายโดย The International Society of Chemical Ecology (ISCE) เมื่อวันที่ ๒๖ มกราคม ๒๕๓๖ เพื่อประกาศเกียรติคุณด้านการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ
๐ รางวัล The National Merit Award ทูลเกล้าฯถวายโดย The International Erosion Control Association (IECA) เมื่อวันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๖ เพื่อเทิดพระเกียรติในฐานะที่ทรงเป็นแบบอย่างสำหรับการพัฒนา ให้ประเทศอื่นๆได้ปฏิบัติตามในเรื่องการอนุรักษ์ดินโดยใช้หญ้าแฝกในการปรับปรุงคุณภาพสิ่งแวดล้อม
๐ รางวัลหญ้าแฝกชุบสำริด (The Bronze Vetiver Sculpture Award) ทูลเกล้าฯถวายโดย ธนาคารโลก (World Bank) เมื่อวันที่ ๓๐ ตุลาคม ๒๕๓๖ เพื่อเทิดพระเกียรติในฐานะที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นนักอนุรักษ์ทรัพยากรดินและน้ำ เป็นรางวัลสดุดีพระเกียรติคุณสำหรับความสำเร็จทางด้านวิชาการและการพัฒนา ในการส่งเสริมเทคโนโลยีหญ้าแฝกระหว่างประเทศ
๐ รางวัลสดุดีพระเกียรติคุณด้านการป้องกันแก้ไขปัญหายาเสพติด (Award of Appreciation in Recognition of Outstanding Contributions in the Field of International Drug Control) ทูลเกล้าฯถวายโดยโครงการควบคุมยาเสพติดระหว่างประเทศ (The United Nation International Drug Control Program-UNDCP) เมื่อวันที่ ๑๒ ธันวาคม ๒๕๓๗ เพื่อเทิดพระเกียรติและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ในด้านการแก้ไขปัญหายาเสพติด
๐ เหรียญสดุดีพระเกียรติด้านการพัฒนามนุษย์ (Agricola) ทูลเกล้าฯถวายโดยองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ เมื่อวันที่ ๖ ธันวาคม ๒๕๓๘ ในฐานะที่ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจอุทิศพระองค์เพื่อประโยชน์สุขของชาวไทยผู้ซึ่งประกอบอาชีพเพาะปลูก ทรงบำรุงรักษาน้ำและรักษาป่า ซึ่งทรงยึดหลัก “สนับสนุนการพัฒนาแบบยั่งยืนเพื่อความมั่นคงในอนาคต” มาเป็นหลักปฏิบัติ
๐ เหรียญทองเทิดพระเกียรติเนื่องในโอกาสฉลองสิริราชสมบัติครบ ๕๐ ปี (The International Rice Award) ทูลเกล้าฯถวายโดย สถาบันวิจัยข้าวระหว่างประเทศ (The International Rice Research Institute – IRRI) เมื่อวันที่ ๕ มิถุนายน ๒๕๓๙ เพื่อเทิดพระเกียรติที่ทรงมุ่งมั่นพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกรไทย ด้วยการส่งเสริมให้มีการศึกษาและวิจัยการปลูกข้าว และเพื่อเป็นการสดุดีและระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงห่วงใยและอุทิศพระวรกายในการพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกร
๐ รางวัล The Partnering for World Health Award ทูลเกล้าฯถวายโดย วิทยาลัยแพทย์รักษาทรวงอกแห่งสหรัฐอเมริกา (The American College of Chest Physicians) เมื่อวันที่ ๑๓ พฤศจิกายน ๒๕๓๙ เพื่อแสดงความชื่นชมและสำนึกในพระวิริยอุตสาหะ ที่ทรงสนับสนุนให้มีการป้องกันและรักษาโรคทรวงอกในประเทศไทย และเพื่อเทิดพระเกียรติที่ทรงงานอย่างอุทิศพระวรกายเพื่อสุขภาพและพลานามัยของปวงชนชาวไทย
๐ โล่เกียรติคุณในการบำเพ็ญประโยชน์เพื่อเพื่อนมนุษย์ในระดับผู้นำประเทศ (The Presidential Award for Humanitarian Service) ทูลเกล้าฯถวายโดย องค์กรโรตารีสากล (The Rotary International) เมื่อวันที่ ๒๔ ตุลาคม ๒๕๓๙ เพื่อเทิดพระเกียรติการทรงงานพัฒนาประเทศ เพื่อบำบัดทุกข์บำรุงสุขแก่พสกนิกร และเพื่อธำรงไว้ซึ่งสันติสุข ความเจริญก้าวหน้า ความเจริญรุ่งเรืองของประเทศชาติ ตลอดจนความเป็นเอกภาพแก่มวลมนุษย์ทั่วโลก
๐ เหรียญทองเทิดพระเกียรติในฐานะที่ทรงเป็นทั้งผู้นำ ผู้บุกเบิก และผู้ดำเนินงานโครงการควบคุมปัญหาการขาดสารไอโอดีนในประเทศไทย (โครงการเส้นทางเกลือ) ทูลเกล้าฯถวายโดย The International Council for Control of Iodine Deficiency Disorders – ICCIDD เมื่อวันที่ ๒๕ มิถุนายน ๒๕๔๐
๐ เหรียญทองสดุดีเฉลิมพระเกียรติคุณที่ทรงห่วงใยต่อสุขภาพปอดของประชาคมโลก ทูลเกล้าฯถวายโดย สหพันธ์องค์การต่อต้านวัณโรคและโรคปอดนานาชาติ เมื่อวันที่ ๒๔ พฤศจิกายน ๒๕๔๑
๐ รางวัล International Humanitarian Award ทูลเกล้าถวายโดย สโมสรไลออน (Lions Clubs International) เมื่อวันที่ ๓ มีนาคม ๒๕๔๒ เพื่อเทิดพระเกียรติที่ทรงสนพระราชหฤทัยเป็นอย่างยิ่ง ที่จะปรับปรุงพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนชาวไทยให้ดีขึ้น
๐ เหรียญเทเลฟู้ด (Telefoof Award)ซึ่งเป็นเหรียญที่ทำขึ้นเป็นครั้งแรกของโลก ทูลเกล้าฯถวายโดย องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) เมื่อวันที่ ๘ ธันวาคม ๒๕๔๒ เพื่อเทิดพระเกียรติที่ทรงอุทิศพระองค์เพื่อความผาสุกของอาณาประชาราษฎร์ในถิ่นชนบทไทย ให้ยืนหยัดต่อสู้เพิ่มผลผลิตทางการเกษตรและพึ่งพาตนเองได้
๐ รางวัล “ความสำเร็จสูงสุด ด้านการพัฒนามนุษย์” (Human Development Lifetime Achievement Award - UNDP ) ทูลเกล้าฯถวายโดย สำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ เมื่อวันที่ ๒๖ พฤษภาคม ๒๕๔๙ เนื่องในโอกาสแห่งการเฉลิมฉลองสิริราชสมบัติรบ ๖๐ ปี
นายโคฟี อันนัน เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ ได้เดินทางมาทูลเกล้าฯถวายถ้วยรางวัลด้วยตัวเอง ซึ่งรางวัลนี้นับว่ามีความหมายสำคัญยิ่ง เนื่องจากเป็นรางวัลชิ้นแรกของ “โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ”จัดทำขึ้นเพื่อมอบให้แก่บุคคลดีเด่นที่อุทิศตนตลอดชั่วชีวิต และสร้างคุณค่าของผลงานอันเป็นที่ประจักษ์ และเป็นคุณูปการในการผลักดันความก้าวหน้าในการพัฒนาคน ซึ่งเป็นการพัฒนาที่ให้คนเป็นเป้าหมายในการพัฒนา โดยมุ่งเน้นการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน มีความมั่นคงในชีวิต มีความเท่าเทียมกัน และมีส่วนร่วมทางการเมือง โดยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงได้รับการทูลเกล้าฯถวายรางวัลนี้ เนื่องจากผลงานในการพัฒนาชนบทของพระองค์ ซึ่งมีอยู่มากมายทั่วทั้งภูมิภาคของประเทศ
นายโคฟี อันนัน ได้กล่าวสดุดีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในโอกาสทูลเกล้าฯถวายรางวัลครั้งนี้ด้วยว่า
“ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท ได้ทรงมุ่งมั่นบำเพ็ญพระราชกรณียกิจนานัปการ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีของปวงชนชาวไทยอยู่เป็นนิจศีล เป็นที่ประจักษ์แก่สายตาชาวโลก จึงต่างกล่าวขานพระนามพระองค์ว่าทรงเป็น พระมหากษัตริย์นักพัฒนา ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทมีพระราชหฤทัยเปี่ยมล้นด้วยพระเมตตาต่อพสกนิกรผู้ยากไร้ และผู้ด้อยโอกาส โดยไม่แบ่งแยกสถานะ ศาสนา ชาติพันธุ์ หรือหมู่เหล่า ทรงสดับรับฟังปัญหาความทุกข์ยากของราษฎร และพระราชทานแนวทางการดำรงชีวิต เพื่อให้ประชาชนของพระองค์สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างเข้มแข็งและยั่งยืน
รางวัลความสำเร็จด้านการพัฒนามนุษย์นี้ ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายมีปณิธานที่จะส่งเสริมประสบการณ์ และนำแนวทางปฏิบัติในการนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง อันทรงคุณค่าอย่างหาที่สุดมิได้ของพระองค์ท่าน มาช่วยจุดประกายแนวความคิดในปรัชญาดังกล่าวสู่นานาประเทศต่อไป ในโอกาสนี้ ข้าพระพุทธเจ้ามีความปลื้มปีติและภาคภูมิใจ ที่ได้ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายรางวัลความสำเร็จสูงสุดด้านการพัฒนามนุษย์แด่ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท”
นี่คือพระเกียรติคุณที่โลกยอมรับและยกย่องพระมหากษัตริย์ไทยพระองค์หนึ่ง