xs
xsm
sm
md
lg

เผยภาพจำลอง สถานีหัวหินใหม่รถไฟทางคู่ เน้นสถาปัตยกรรมสีครีมตัดกับแดง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



โลกโซเชียลฯ แชร์ภาพจำลองสถานีรถไฟหัวหินแห่งใหม่ ในโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่สายใต้ ช่วงนครปฐม-ชุมพร ออกแบบคงเอกลักษณ์ความสวยงามของสถานีเดิมตามสถาปัตยกรรมวิกตอเรีย ทาสีด้วยโทนครีมตัดกับสีแดง

วันนี้ (10 ต.ค.) ในโซเชียลมีเดียมีการแชร์ภาพจำลองสถานีรถไฟหัวหินจากเฟซบุ๊กของ บริษัท เอ็ม เอ เอ คอนซัลแตนท์ จำกัด ระบุว่า "ภาพ prospect สถานีรถไฟหัวหิน (ใหม่) ที่กำลังทำการก่อสร้างอยู่ครับ เพื่อเป็นการอนุรักษ์สถานีรถไฟหัวหินเดิมที่มีความสำคัญต่อประวัติศาสตร์ของการรถไฟแห่งประเทศไทย จึงมีการออกแบบที่ยังคงเอกลักษณ์ความสวยงามเดิมของสถานีรถไฟหัวหินเดิม มาในสถานีใหม่นี้ด้วยครับ"


ทั้งนี้ พบว่าสถานีหัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งเป็นโครงสร้างยกระดับ 2 ชั้น ประกอบด้วยที่ทำการสถานีและที่นั่งพักคอยบริเวณชั้นล่าง และชานชาลาขึ้น-ลงบริเวณชั้นบน ได้ออกแบบโดยล้อจากอาคารสถานีรถไฟหัวหินเดิม ออกแบบตามสถาปัตยกรรมวิกตอเรีย แต่โครงสร้างประกอบด้วยเหล็กกับคอนกรีต ทาสีด้วยโทนครีมตัดกับสีแดง

อย่างไรก็ตาม สำหรับทางวิ่งเดิมยังคงมีอยู่สำหรับขบวนรถสินค้า ขบวนรถพิเศษนำเที่ยว และขบวนรถพิเศษในโอกาสสำคัญ โดยมีทางลอดเข้า-ออกสถานี ไม่ได้ขึ้นไปบนทางยกระดับปะปนกับรถไฟโดยสารแต่อย่างใด

สำหรับโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่สายใต้ ช่วงนครปฐม-ชุมพร ระยะทาง 421 กิโลเมตร ก่อสร้างขึ้นเนื่องจากเดิมเส้นทางรถไฟจากสถานีนครปฐมถึงสถานีชุมพรเป็นทางเดี่ยว ใช้เวลาเดินทางจากสถานีกรุงเทพประมาณ 8 ชั่วโมง ทำให้เกิดขบวนรถล่าช้าบ่อยครั้ง จึงได้ดำเนินงานก่อสร้างโดยใช้งบประมาณ 33,982 ล้านบาท แบ่งออกเป็น 5 สัญญา ได้แก่

1. ช่วงนครปฐม-หัวหิน สัญญาที่ 1 (นครปฐม-หนองปลาไหล) ระยะทาง 93 กิโลเมตร งบประมาณก่อสร้าง 8,198 ล้านบาท โดยมี บริษัท เอ.เอส.แอสโซซิเอท เอนยิเนี่ยริ่ง 1964 จำกัด เป็นผู้รับจ้างดำเนินงาน

2. ช่วงนครปฐม-หัวหิน สัญญาที่ 2 (หนองปลาไหล-หัวหิน) ระยะทาง 76 กิโลเมตร งบประมาณก่อสร้าง 7,520 ล้านบาท โดยมี บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) เป็นผู้รับจ้างดำเนินงาน

3. ช่วงหัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์ ระยะทาง 84 กิโลเมตร งบประมาณก่อสร้าง 5,807 ล้านบาท โดยมี บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้รับจ้างดำเนินงาน

4. ช่วงประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร สัญญาที่ 1 (ประจวบคีรีขันธ์-บางสะพานน้อย) ระยะทาง 88 กิโลเมตร งบประมาณก่อสร้าง 6,465 ล้านบาท โดยมี กิจการร่วมค้า เคเอส-ซี เป็นผู้รับจ้างดำเนินงาน

5. ช่วงประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร สัญญาที่ 2 (บางสะพานน้อย-ชุมพร) ระยะทาง 79 กิโลเมตร งบประมาณก่อสร้าง 5,992 ล้านบาท โดยมี กิจการร่วมค้า เอสทีทีพี เป็นผู้รับจ้างดำเนินงาน

หากก่อสร้างแล้วเสร็จ การเดินรถไฟจากสถานีกรุงเทพ ถึงสถานีชุมพรจะใช้เวลาเหลือเพียง 6 ชั่วโมง โดยรองรับขบวนรถเพิ่มขึ้นได้ไม่น้อยกว่า 2 เท่าตัว เชื่อมต่อระบบการขนส่งเส้นทางท่องเที่ยวของจังหวัดชุมพร เช่น รถเช่า เรือท่องเที่ยว และธุรกิจอื่นๆ เพื่ออำนวยความสะดวกนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติได้เป็นอย่างดี

นอกจากนี้ ยังแก้ไขปัญหาจุดตัดทางรถไฟ โดยก่อสร้างสะพานรถยนต์ข้ามทางรถไฟ (Overpass) หรือทางลอดใต้ทางรถไฟ (Underpass) ทดแทน ช่วยเพิ่มความเร็วและความปลอดภัยในการขนส่งผู้โดยสารและสินค้าเพิ่มขึ้น เพิ่มความรวดเร็วและความตรงต่อเวลาในการเดินขบวนรถไฟ แก้ไขปัญหาจราจร และลดอุบัติเหตุบริเวณจุดตัดทางรถไฟได้อย่างมีประสิทธิภาพ

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันการก่อสร้างยังเป็นไปอย่างล่าช้า การรถไฟแห่งประเทศไทยได้ขยายสัญญาการก่อสร้างบางสัญญาออกไปเป็นวันที่ 30 ก.ย. 2565 หลังจากนั้นจะติดตั้งงานระบบ โดยบริษัท ไชน่า เรลเวย์ ซิกแนล แอนด์ คอมมิวนิเคชันส์ หรือ CRSC จากประเทศจีน มีกำหนดก่อสร้างแล้วเสร็จในเดือน ม.ค. 2566

สำหรับประวัติสถานีรถไฟหัวหิน ถือเป็นแลนด์มาร์กของ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2469 โดยพระเจ้าพี่ยาเธอ กรมพระกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน เมื่อครั้งทรงดำรงตำแหน่งเป็น ผู้บังคับบัญชาการรถไฟแห่งกรุงสยามในสมัยนั้น อาคารหลังนี้ได้รับอิทธิพลจากสถาปัตยกรรมวิกตอเรีย ด้วยสถาปัตยกรรมสีครีมตัดแดง มีการสร้างลวดลายให้สวยงามประดับเสาค้ำยัน ถือเป็นสถานีรถไฟที่มีความคลาสสิกและสวยงามแห่งหนึ่งของเมืองไทย

สิ่งที่เป็นเอกลักษณ์ของสถานีรถไฟแห่งนี้ คือ พลับพลาพระมงกุฎเกล้าฯ เป็นพลับพลาทรงจตุรมุข สร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ เดิมมีชื่อว่า พลับพลาสนามจันทร์ เคยตั้งอยู่ในบริเวณพระราชวังสนามจันทร์ จ.นครปฐม ซึ่งเป็นพลับพลาที่ประทับทอดพระเนตรกองเสือป่าและลูกเสือทั่วประเทศ ทำการฝึกซ้อมยุทธวิธีเป็นประจำทุกปี

หลังจากสิ้นรัชสมัยของพระองค์ พ.อ.แสง จุลจาริตต์ ผู้ว่าการการรถไฟฯ ในขณะนั้น จึงได้รื้อถอนมาเก็บไว้เมื่อปี 2511 เพื่อเป็นการรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ เมื่อสร้างเสร็จสมบูรณ์ ได้มีพิธีเปิดเมื่อวันที่ 6 เม.ย. 2517 โดยสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี เสด็จฯ เป็นองค์ประธานเปิดงาน

นอกจากนี้ ยังเป็นสถานที่เก็บหัวรถจักรไอน้ำโบราณ ที่การรถไฟฯ ได้สั่งซื้อมาจากประเทศอังกฤษ ซึ่งหัวรถจักรนี้เคยวิ่งให้บริการในไทยก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 บริเวณด้านหน้าสถานีเดิมอีกด้วย สำหรับการก่อสร้างสถานีรถไฟหัวหินแห่งใหม่ จะอยู่ถัดจากสถานีรถไฟเดิมลงไปทางทิศใต้เล็กน้อย ส่วนอาคารสถานีเดิมจะยังคงอยู่ โดยมีแผนจะพัฒนาให้เป็นพิพิธภัณฑ์ โดยมีหัวรถจักรไอน้ำ Baldwin 305 จะนำมาตั้งไว้ฝั่งตรงข้ามกับอาคารสถานีเดิมอีกด้วย










ภาพเมื่อเดือนพฤษภาคม 2564

ภาพเมื่อเดือนพฤษภาคม 2564
กำลังโหลดความคิดเห็น