ในสมัยรัชกาลที่ ๔ มีคนหนุ่มหัวก้าวหน้าอยู่กลุ่มหนึ่งเรียนรู้ภาษาอังกฤษกันอย่างแตกฉาน จากนั้นแต่ละท่านก็สั่งซื้อหนังสือภาษาอังกฤษจากสิงคโปร์เข้ามาอ่านตามความนิยมของตน ความจริงก็ศึกษากันมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๓ แล้ว ในกลุ่มนี้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงแตกฉานมากกว่าใคร และในกลุ่มนี้ยังมี “เจ้าฟ้าน้อย” กรมขุนอิศเรศรังสรรค์ ซึ่งได้ขึ้นครองราชย์เป็น พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว กษัตริย์คู่ในรัชกาลที่ ๔ ซึ่งก็ทรงแตกฉานไม่น้อยไปกว่าพระเชษฐา ทรงสนพระทัยในเรื่องปืนใหญ่และเครื่องยนต์กลไกเรือเดินทะเล ทรงสั่งหนังสือและเครื่องมือต่างๆเข้ามาหลายอย่าง นอกจากนี้ยังทรงนิยมอ่านนวนิยายของอังกฤษ และเข้าใจในเรื่องราวของนิยายนั้นไม่แพ้คนอังกฤษ จนทำให้ราชทูตอังกฤษเข้ามาเห็นกับตาตัวเองจนเกิดความแปลกใจ
เซอร์ จอห์น เบาริ่ง ราชทูตจากพระนางวิกตอเรียที่เข้ามาเจริญสัมพันธไมตรีในรัชกาลที่ ๔ได้เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวที่พระราชวังบวรด้วยหลายครั้ง ได้บันทึกไว้ในหนังสือ “The Kingdom and People of Siam” มีข้อความตอนหนึ่งว่า
“...เข้าเฝ้าพระเจ้าแผ่นดินองค์ที่สอง พระองค์ทรงเป็นผู้มีเหตุมีผล เงียบขรึม และน่ารัก ด้วยความสุขุมรอบคอบและนโยบาย พระองค์จึงทรงมีส่วนร่วมน้อยมากในกิจการบ้านเมือง ที่ประทับของพระองค์สะดวกสบาย ตกแต่งอย่างมีรสนิยม เครื่องเรือนและเครื่องประดับพระราชวัง จะทำให้คุณคิดว่ากำลังอยู่ในบ้านของคนอังกฤษ การสนทนาของพระองค์เป็นอย่างผู้มีการศึกษาและน่ารับฟัง ภาษาอังกฤษของพระองค์นั้นอยู่ในขั้นยอดเยี่ยม ห้องสมุดของพระองค์มีหนังสือภาษาอังกฤษที่เลือกเฟ้นอย่างดี ส่วนในพิพิธภัณฑ์ของพระองค์ก็มีเครื่องกลไกต่างๆ พร้อมด้วยหุ่นจำลองในสาขาต่างๆของวิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นรุ่นที่ได้รับการปรับปรุงรุ่นล่าสุด มีเครื่องวัดแดดและเครื่องวัดมุมยอดเยี่ยม หุ่นจำลองเรือกลไฟแบบย่อส่วนและอาวุธใหม่ๆหลากหลายชนิด มีดนตรีบรรเลงตลอดเย็นนั้น ข้าพเจ้าหลงใหลในความไพเราะของเครื่องดนตรีที่ประกอบด้วยไม้ซางสูงกว่า ๗ ฟุต
พระองค์ทรงจะได้นายเรือที่มีความสามารถสักคนหนึ่ง แต่ก็ช่างหายากเหลือประมาณ เพราะไม่มีใครสักคนที่จะยอมออกจากเปลือกมาให้ขัดเกลาเหมือนอย่างพระองค์ ที่ในขณะนี้กลายเป็นผู้คงแก่เรียนและเป็นสุภาพบุรุษเต็มตัว ความใฝ่รู้ในวิชาวรรณคดีของพระองค์ในขณะนั้นก็มากเสียเป็นที่สุด บรรดาหนังสือต่างๆที่พิมพ์ออกมาจำหน่ายล่าสุด พระองค์ก็ให้ตัวแทนซื้อเอามาให้จากสิงคโปร์ ข้าพเจ้เองเคยได้เห็นกับตาตัวเองว่า พระองค์สรวลอย่างเบิกบานเต็มที่เมื่อได้อ่านหนังสือ Pichrick ของ ชาร์ลส์ ดิกเกนส์ เหมือนกับว่าพระองค์เคยชินกับฉากต่างๆที่พรรณนาอยู่ในหนังสือมาตั้งแต่ยังเด็กๆ
แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าทรงละทิ้งความสนใจในด้านอื่นและมาทุ่มให้กับเรื่องๆเดียว เวลาของพระองค์แบ่งออกให้กับเรื่องอื่นๆได้เป็นส่วนสัด งานในช่วงเช้าก็คือฝึกหัดกองทหารปืนใหญ่กองเล็กๆของพระองค์ มีการจัดแบ่งที่เพื่อการฝึกอยู่ใกล้ๆกับที่ประทับ ที่ตรงนี้ขนานไปตามฝั่งแม่น้ำ พระองค์จะต้องไปฝึกทุกเช้า ซึ่งก็ได้เรียกคะแนนนิยมให้พระองค์มาก เมื่อการฝึกเสร็จสิ้นลงกองทหารก็เดินแถวกลับที่พัก โดยทรงเดินนำหน้าเป็นหัวแถว ที่พักทหารนี้อยู่ภายในบริเวณป้อมเล็กๆ สีขาวสะอาด ที่อยู่รอบที่ประทับของพระองค์ ใกล้กับส่วนที่ท่านเจ้าฟ้าสร้างคลังอาวุธเล็กๆเอาไว้ สะอาดเรียบร้อย ปืนและดาบจัดเก็บเข้าที่อย่างเรียบร้อยน่าดูยิ่ง”
ความจริงแล้ว มุขตลกของไทยกับฝรั่งต่างกันมาก มุขที่คนไทยขำกลิ้ง ฝรั่งอาจไม่ขำเลย และมุขตลกที่ฝรั่งฮากันลั่น ไทยเราก็ไม่ขำเหมือนกัน แต่ก็แปลกมุขตลกของฝรั่งเศสกับเซนส์ของคนไทยนั้นใกล้เคียงกันกว่าฝรั่งชาติอื่น หนังตลกของฝรั่งเศสจึงขายได้ในเมืองไทย ส่วนมุขตลกของอังกฤษไกลกันมาก ที่พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯอ่านนิยายตลกของอังกฤษแล้วทรงพระสรวล แสดงว่าทรงลึกซึ้งกับภาษาและวัฒนธรรมของอังกฤษมาก
นี่ก็เป็นเจ้านายพระองค์หนึ่งที่ทรงศึกษาใฝ่รู้ ปรับพระองค์ให้ทันยุคทันสมัยเพื่อเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติและประชาชน ที่เซอร์จอห์น เบาริ่งนำไปเขียนนี้ก็เป็นความจริงอย่างที่รู้ๆกัน แต่ที่เชียร์อย่างสุดลิ่มทิ่มประตูนี้ อย่าหาว่าอคติเลย เป็นแนวเดียวกันกับที่นายโทมัส ยอร์ช น็อกซ์ อัครราชทูตอังกฤษสมัยนั้นเขียนส่งไปลงหนังสือในยุโรป รายนี้เขียนเชียร์ถึงขนาดว่า “พระปิ่นเกล้าหล่อกว่าพระจอมเกล้า” ทั้งนี้ก็เป็นไปตามนโยบายของอังกฤษ “divide and rule” แบ่งแยกเพื่อปกครอง ยุให้พี่น้องเขาแตกกันไม่ได้ผลหรอก