xs
xsm
sm
md
lg

อาจารย์ ม.เกษตรฯ โวยทวิตเตอร์บิดเบือน แอบอ้างทุบเขื่อน ยันไม่เคยพูดเรื่องนี้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมทรัพยากรน้ำ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เจอผู้ใช้ทวิตเตอร์บิดเบือน ลั่นไม่เคยพูดเรื่องทุบเขื่อนเลยสักครั้ง หลังถูกแอบอ้างหนุนให้ทุบเขื่อนทิ้งเพื่อโจมตีทางการเมืองให้ฝ่ายที่สนับสนุน

วันนี้ (29 ก.ย.) จากกรณีที่มีผู้ใช้ทวิตเตอร์ @litreality โพสต์ข้อความระบุว่า “คุยกับ อ.สิตางคุ์ คือทึ่งมาก ระบบท่อหลักๆ ของกรุงเทพเก่าเท่าเมืองรัตนโกสินทร์ ไม่เคยมีการวางผัง วางระบบใหม่เลย ไม่นับระบบจัดการน้ำภาพรวมที่เราเน้นเขื่อน เน้นอ่างเก็บน้ำซึ่งหลายประเทศไม่ทำแล้ว ทุบเขื่อนทิ้ง แต่นั่นแหละ เขื่อนมันเป็นของใคร ใครบิดาแห่งเขื่อน นางอนุรักษ์คือเงียบเลยน้า” โดยมีคนรีทวีตจำนวนมาก

ขณะที่ชาวเน็ตอีกส่วนหนึ่งสอบถามไปยัง ผศ.ดร.สิตางศุ์ พิลัยหล้า อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมทรัพยากรน้ำ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ปรากฏว่าอาจารย์สิตางศุ์ระบุว่า ไม่เคยพูดเรื่องทุบเขื่อนเลยสักครั้ง ตนคงไปตามแก้ข่าวไม่ไหวเหมือนกัน เพราะไม่ได้ตามข่าวอะไรของตัวเองเท่าไหร่ด้วย ทำให้ชาวเน็ตตั้งข้อสงสัยว่า ผู้ใช้ทวิตเตอร์รายนี้นำ อ.สิตางศุ์มาแอบอ้างเพื่อโจมตีทางการเมืองให้ฝ่ายการเมืองที่ตนสนับสนุน

ล่าสุดเฟซบุ๊ก Sitang Pilailar โพสต์ข้อความระบุว่า “โดนเอาไปแอบอ้างใน Twitter เรื่องเขื่อน / การทุบเขื่อน

ไม่เคยพูดเรื่องนี้กับสื่อเลยสักครั้ง ไม่ว่าสื่อไหน ยิ่งเรื่องบิดาของเขื่อนอะไรนั่น ยิ่งไปกันใหญ่

ดิฉันเป็นอาจารย์สอนวิศวกรรมทรัพยากรน้ำ ตัวเองไม่เคยสอนนิสิตออกแบบเขื่อนก็จริง เพราะเชี่ยวชาญอีกด้าน คือ environmental hydrodynamics_ ชลศาสตร์สิ่งแวดล้อม ครอบคลุมทั้งเรื่องการไหล เรื่อง คุณภาพน้ำ เรื่องตะกอน รวมถึงวิศวกรรมการจัดการน้ำ แต่ก็เคยเรียนออกแบบเขื่อนค่ะ

เขื่อนทุกเขื่อน และโครงสร้างทางชลศาสตร์ทั้งหลายล้วนมีประโยชน์ในการเป็นเครื่องมือช่วยให้จัดการน้ำ บังคับน้ำ จัดสรรน้ำได้ เพื่ออะไร ก็เพื่อตอบสนองการใช้ประโยชน์ของมนุษย์ ไม่ว่าจะเอามาดื่มกิน ใช้เพื่อการเกษตร หรือรักษาระบบนิเวศ

แน่นอนว่า วันหนึ่งเมื่อยุคสมัยเปลี่ยน บริบทต่างๆ เปลี่ยน ความเห็น ความจำเป็นต่อการก่อสร้างสิ่งเหล่านี้ก็เปลี่ยน ไม่ใช่ว่ามันไม่จำเป็น แต่ข้อจำกัด เงื่อนไขของการที่จะสร้าง หรือไม่สร้าง มันเปลี่ยนไป ทั้ง ข้อจำกัดเรื่องพื้นที่ที่จะสร้าง ผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตอื่นๆ งบประมาณ ดังนั้น เราจึงต้องพิจารณาทางเลือกในการจัดการน้ำอย่างเข้มข้น บนเงื่อนไขข้อจำกัดที่มี

ส่วนการจะทุบ / ไม่ทุบ ก็ต้องย้อนกลับไปพิจารณาที่จุดเริ่มต้นของการจะทุบไม่ทุบ คือ .. มันมีปัญหาอะไรเกิดขึ้น สาเหตุของปัญหาคืออะไร เขื่อนมันหมดสภาพ หมดอายุการใช้งาน ตะกอนมันเยอะ กินความจุอ่างจนประสิทธิภาพเหลือน้อย หรือการมีอยู่ของเขื่อนมันขัดขวางประโยชน์ด้านอื่น .. ซึ่งก็ต้องแก้ไขไปตามเงื่อนไขที่มี การทุบเขื่อนนั้นไม่ได้ง่าย ต้องใช้งบใช้เงิน ต้องประเมินผลกระทบ ทำกระบวนการมีส่วนร่วม ทำนองเดียวกับการทำ EIA ตอนก่อนจะสร้างเขื่อนนั่นแหละค่ะ

การแก้ปัญหาอะไรต่างๆ มันมีทางเลือกเสมอ เปรียบเทียบข้อดี / ข้อเสีย พิจารณาผลกระทบให้รอบด้าน คิดเยอะๆ เพราะอะไรต่างๆ มันมีความเชื่อมโยงกันหมด น้ำ ป่า สัตว์ คน สิ่งมีชีวิตต่างๆ เชื่อมโยงด้วยสายใยอาหาร มีความเกื้อกูลกัน เกี่ยวข้องกัน เป็นสิ่งที่เราเรียกว่าระบบนิเวศ ดังนั้น การเปลี่ยนไปของสิ่งใดสิ่งหนึ่ง แม้จะเป็นแค่มดตัวเล็กๆ ผึ้งตัวน้อยๆ หรือต้นไม้ต้นหญ้าสักต้น ล้วนส่งผลที่เราคาดไม่ถึง

ย้ำอีกครั้งว่า … ‘เด็ดดอกไม้ สะเทือนถึงดวงดาว’ ค่ะ

#อาจารย์สาวสวยมหาวิทยาลัยชื่อดังย่านบางเขนผู้อ่อนต่อโลก

หมายเหตุ ขอบคุณเพื่อน พี่ น้อง ที่เป็นหูเป็นตา แก้ต่างให้ เวลาเกิดเหตุการณ์อะไรแบบนี้ค่ะ”
กำลังโหลดความคิดเห็น