xs
xsm
sm
md
lg

เผยเส้นทางน้ำลุ่มเจ้าพระยา และช่องทางติดตามสถานการณ์ ลุ้นน้ำจะท่วมหรือไม่?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รายงาน

เป็นประจำในช่วงฤดูน้ำหลาก ที่ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ กรมชลประทาน จะรายงานสถานการณ์น้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยาประจำวัน ผ่านเฟซบุ๊กที่ชื่อ “ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ กรมชลประทาน” (https://www.facebook.com/Wmsc.Irri) แน่นอนว่าในช่วงสถานการณ์น้ำท่วม หลายคนอาจจะเกิดความวิตกกังวล เข้ามาตรวจสอบข้อมูลน้ำท่วมบ่อยครั้ง

สำหรับการติดตามสถานการณ์น้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยา แม้จะมีข้อมูลตัวเลข แต่ก็มีคนไม่เข้าใจว่าระดับน้ำที่ปล่อยลงมาขนาดนี้จะทำให้เกิดน้ำท่วมมากน้อยขนาดไหน ซ้ำรอยวิกฤตมหาอุทกภัยปี 2554 หรือไม่ จะมาอธิบายการอ่านข้อมูลให้เห็นภาพดังนี้

แม่น้ำเจ้าพระยาเป็นการบรรจบกันของแม่น้ำ 2 สาย คือ แม่น้ำปิง บรรจบกับแม่น้ำวัง ที่ อ.บ้านตาก จ.ตาก กับแม่น้ำน่าน บรรจบกับแม่น้ำยม ที่ อ.ชุมแสง จ.นครสวรรค์ ก่อนไหลมารวมกันที่แหลมเกาะยม อ.เมือง จ.นครสวรรค์ ซึ่งมีสถาปัตยกรรมต้นแม่น้ำเจ้าพระยาที่เรียกว่า “พาสาน” โดยการอ่านค่าของแม่น้ำทั้งสองสาย อ่านได้ดังนี้

- แม่น้ำปิง จะใช้ข้อมูลจากสถานีสำรวจปริมาณน้ำท่า P.17 บ้านท่างิ้ว (ใกล้สะพาน) ต.ท่างิ้ว อ.บรรพตพิสัย จ.นครสวรรค์ ลำน้ำจุดนี้มีความจุสูงสุด 2,990 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที (ลบ.ม./วินาที) หากเกินกว่านี้เท่ากับว่ามีน้ำล้นตลิ่ง

- แม่น้ำน่าน จะใช้ข้อมูลจากสถานีสำรวจปริมาณน้ำท่า N.67 สะพานบ้านเกยไชย ต.เกยไชย อ.ชุมแสง จ.นครสวรรค์ ลำน้ำจุดนี้มีความจุสูงสุด 1,579 ลบ.ม./วินาที หากเกินกว่านี้เท่ากับว่ามีน้ำล้นตลิ่ง

เมื่อบรรจบกับแม่น้ำเจ้าพระยา จะใช้ข้อมูลจากสถานีสำรวจปริมาณน้ำท่า C.2 ค่ายจิรประวัติ ต.กลางแดด อ.เมือง จ.นครสวรรค์ ลำน้ำจุดนี้มีความจุสูงสุด 3,590 ลบ.ม./วินาที หากเกินกว่านี้เท่ากับว่ามีน้ำล้นตลิ่ง

ระหว่างทางจะมีมวลน้ำจากแม่น้ำสะแกกรังมาสมทบ ที่สะพานมโนรมย์ รอยต่อระหว่าง ต.ท่าซุง อ.เมือง จ.อุทัยธานี กับ ต.คุ้งสำเภา อ.มโนรมย์ จ.ชัยนาท

ก่อนที่จะไปรวมตัวกันที่เขื่อนเจ้าพระยา ต.บางหลวง อ.สรรพยา จ.ชัยนาท จะใช้ข้อมูลจากสถานีสำรวจปริมาณน้ำท่า C.13 เขื่อนเจ้าพระยา ลำน้ำจุดนี้มีความจุสูงสุด 2,840 ลบ.ม./วินาที หากเกินกว่านี้เท่ากับว่ามีน้ำล้นตลิ่ง

เขื่อนเจ้าพระยา
อย่างไรก็ตาม ระหว่างจังหวัดนครสวรรค์ ถึงจังหวัดพระนครศรีอยุธยา จะมีการส่งน้ำไปยังริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตก แบ่งออกเป็นดังนี้

ฝั่งตะวันออก (นับจาก จ.นครสวรรค์ลงมา)

- คลองชัยนาท-ป่าสัก (คลองอนุศาสนนันท์) รับน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยา ที่ประตูระบายน้ำมโนรมย์ ต.วัดโคก อ.มโนรมย์ จ.ชัยนาท ผ่านประตูระบายน้ำช่องแค อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์, ประตูระบายน้ำโคกกระเทียม อ.บ้านหมี่ จ.ลพบุรี, ประตูระบายน้ำเริงราง อ.บ้านหมอ จ.สระบุรี ก่อนไหลเข้าสู่แม่น้ำป่าสัก บริเวณเหนือเขื่อนพระรามหก อ.ท่าเรือ จ.พระนครศรีอยุธยา ระยะทาง 134 กิโลเมตร ลำน้ำจุดนี้มีความจุสูงสุด 210 ลบ.ม./วินาที

- คลองชัยนาท-อยุธยา (คลองมหาราช) รับน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาที่เหนือเขื่อนเจ้าพระยา ต.ตลุก อ.สรรพยา จ.ชัยนาท ผ่าน จ.สิงห์บุรี อ่างทอง สิ้นสุดที่บริเวณภูเขาทอง จ.พระนครศรีอยุธยา ระยะทาง 120 กิโลเมตร ลำน้ำจุดนี้มีความจุสูงสุด 65 ลบ.ม./วินาที

- คลองบางโฉมศรี รับน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาที่ประตูระบายน้ำบางโฉมศรี ต.ชีน้ำร้าย อ.อินทร์บุรี จ.สิงห์บุรี มีคลองแยกลงสู่พื้นที่เพาะปลูก ทุ่งฝั่งซ้ายคลองชัยนาท-ป่าสัก รอยต่อระหว่าง อ.อินทร์บุรี, อ.สรรพยา จ.ชัยนาท และ อ.ตาคลี จ.นครสวรรรค์

- แม่น้ำลพบุรี รับน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาที่ ต.ม่วงหมู่ อ.เมือง จ.สิงห์บุรี ผ่าน จ.ลพบุรี ไหลลงสู่แม่น้ำป่าสักที่ ต.หัวรอ อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา ระยะทาง 85 กิโลเมตร ลำน้ำนี้มีความจุสูงสุด 150 ลบ.ม./วินาที

- คลองบางแก้ว รับน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาที่ ต.ตลาดกรวด อ.เมือง จ.อ่างทอง ไหลลงสู่แม่น้ำลพบุรีที่ อ.มหาราช จ.พระนครศรีอยุธยา ลำน้ำนี้มีความจุสูงสุด 100 ลบ.ม./วินาที เมื่อไหลรวมกันแล้วจะมีความจุลำน้ำ 200 ลบ.ม./วินาที

ฝั่งตะวันตก (นับจาก จ.นครสวรรค์ลงมา)

- คลองมะขามเฒ่า-อู่ทอง รับน้ำมาจากคลองมะขามเฒ่า ที่รับน้ำมาจากแม่น้ำเจ้าพระยาที่ ต.มะขามเฒ่า อ.วัดสิงห์ จ.ชัยนาท สิ้นสุดที่ อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี ระยะทาง 107 กิโลเมตร ลำน้ำนี้มีความจุสูงสุด 35 ลบ.ม./วินาที

- แม่น้ำท่าจีน รับน้ำมาจากแม่น้ำเจ้าพระยาที่ประตูระบายน้ำพลเทพ ต.หาดท่าเสา อ.เมือง จ.ชัยนาท ไหลผ่านจังหวัดสุพรรณบุรี นครปฐม ลงสู่แม่น้ำท่าจีนที่ จ.สมุทรสาคร ระยะทางประมาณ 325 กิโลเมตร มีความจุลำน้ำ 320 ลบ.ม./วินาที

หลังจากนั้นผ่านประตูระบายน้ำโพธิ์พระยา ต.โพธิ์พระยา อ.เมืองฯ จ.สุพรรณบุรี ลดลงมาเหลือ 200 ลบ.ม./วินาที หากเกินกว่านี้เท่ากับว่ามีน้ำล้นตลิ่ง

- แม่น้ำน้อย รับน้ำมาจากแม่น้ำเจ้าพระยา ที่ประตูระบายน้ำบรมธาตุ ต.ชัยนาท อ.เมือง จ.ชัยนาท ก่อนถึงเขื่อนเจ้าพระยา ไหลผ่านจังหวัดสิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ระยะทาง 145 กิโลเมตร ลำน้ำนี้มีความจุสูงสุด 230 ลบ.ม./วินาที

แยกออกเป็นสองสาย ที่ประตูระบายน้ำผักไห่-เจ้าเจ็ด ต.บ้านใหญ่ อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา ออกสู่คลองเจ้าเจ็ด ต.รางจระเข้ อ.เสนา จ.พระนครศรีอยุธยา อีกเส้นหนึ่งตรงผ่าน อ.เสนา ไปออกแม่น้ำเจ้าพระยาที่ อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา

- คลองโผงเผง รับน้ำมาจากแม่น้ำเจ้าพระยา ที่ ต.โผงเผง อ.ป่าโมก จ.อ่างทอง ไหลออกสู่แม่น้ำน้อยที่ ต.หัวเวียง อ.เสนา จ.พระนครศรีอยุธยา ลำน้ำนี้มีความจุสูงสุด 420 ลบ.ม./วินาที หากเกินกว่านี้เท่ากับว่ามีน้ำล้นตลิ่ง

- คลองบางบาล รับน้ำมาจากแม่น้ำเจ้าพระยา ที่ ต.บางชะนี และ ต.ไทรน้อย อ.บางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา ไหลออกสู่แม่น้ำน้อยที่ ต.พระขาว อ.บางบาล ลำน้ำนี้มีความจุสูงสุด 148 ลบ.ม./วินาที หากเกินกว่านี้เท่ากับว่ามีน้ำล้นตลิ่ง

สำหรับแม่น้ำป่าสัก จะไหลจาก เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ผ่านประตูระบายน้ำพระนารายน์ และประตูระบายน้ำปากคลองระพีพัฒน์ ลงไปยังโครงการทุ่งรังสิต อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี ซึ่งคลองระพีพัฒน์มีความจุสูงสุด 210 ลบ.ม./วินาที

เมื่อผ่าน เขื่อนพระรามหก ไปแล้วจะมีความจุสูงสุด 700 ลบ.ม./วินาที และเมื่อบรรจบกับแม่น้ำลพบุรี ที่ ต.ไผ่ลิง อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา จะมีความจุสูงสุด 1,400 ลบ.ม./วินาที ก่อนไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาที่วัดพนัญเชิงวรวิหาร ต.หอรัตนไชย อ.พระนครศรีอยุธยา

ที่สถานีสำรวจปริมาณน้ำท่า C.29A วัดบางไทร อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา ลำน้ำนี้มีความจุสูงสุด 3,500 ลบ.ม./วินาที หากเกินกว่านี้เท่ากับว่ามีน้ำล้นตลิ่ง

อย่างไรก็ตาม กรมชลประทานยังมี พื้นที่ลุ่มต่ำ 12 ทุ่งลุ่มเจ้าพระยา ตั้งแต่จังหวัดนครสวรรค์ลงมา ที่จะสามารถรองรับน้ำจากตอนเหนือของประเทศ ครอบคลุมพื้นที่ 10 จังหวัดท้ายเขื่อนเจ้าพระยา ประกอบไปด้วย นครสวรรค์ ชัยนาท ลพบุรี สระบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา สุพรรณบุรี ปทุมธานี และนนทบุรี รวมพื้นที่ 1.15 ล้านไร่ ได้แก่

1. ทุ่งเชียงราก
2. ทุ่งท่าวุ้ง
3. ทุ่งฝั่งซ้ายคลองชัยนาท-ป่าสัก
4. ทุ่งบางกุ่ม
5. ทุ่งบางกุ้ง
6. ทุ่งบางบาล-บ้านแพน
7. ทุ่งป่าโมก
8. ทุ่งผักไห่
9. ทุ่งเจ้าเจ็ด
10. ทุ่งโพธิ์พระยา
11. ทุ่งพระยาบรรลือ
12. ทุ่งรังสิตใต้


สำหรับช่องทางในการติดตามสถานการณ์น้ำด้วยตัวเอง ปัจจุบันมีหลายช่องทาง ได้แก่

1. ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ กรมชลประทาน http://water.rid.go.th

2. คลังข้อมูลน้ำแห่งชาติ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) http://www.thaiwater.net/water/wl

3. ระบบโทรมาตรเพื่อการพยากรณ์น้ำและเตือนภัย 25 ลุ่มน้ำ http://www.ridtele.com

4. ระบบฐานข้อมูลเพื่อการบริหารจัดการน้ำ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) http://water.egat.co.th

5. รายงานสภาพน้ำและการระบายน้ำ ศูนย์ข้อมูลโรงไฟฟ้าพลังน้ำ กฟผ. http://ichpp.egat.co.th/statusdam_report_internet.php

6. เว็บไซต์ติดตามสถานการณ์ลุ่มน้ำเจ้าพระยา https://tiwrm.hii.or.th/DATA/REPORT/php/chart/chaopraya/small/chaopraya.php

7. ระบบตรวจวัดระดับน้ำ สำนักการระบายน้ำ กรุงเทพมหานคร http://weather.bangkok.go.th/water

8. สรุปข้อมูลระดับน้ำ สำนักการระบายน้ำ กรุงเทพมหานคร http://weather.bangkok.go.th/water/summary

9. ระบบตรวจวัดปริมาณน้ำฝน สำนักการระบายน้ำ กรุงเทพมหานคร http://weather.bangkok.go.th/rain

10. ระบบตรวจวัดน้ำท่วมถนน สำนักการระบายน้ำ กรุงเทพมหานคร http://weather.bangkok.go.th/Flood

11. เรดาร์ฝน สถานีเรดาร์หนองจอก กรุงเทพมหานคร http://weather.bangkok.go.th/radar/

12. เรดาร์ฝน กรมอุตุนิยมวิทยา https://weather.tmd.go.th

13. ติดตามสถานการณ์น้ำฝนราย 3 ชั่วโมง กรมอุตุนิยมวิทยา http://hydromet.tmd.go.th/Monitor/Forecast.aspx

14. กองปฏิบัติการฝนหลวง กรมฝนหลวงและการบินเกษตร http://rainmaking.royalrain.go.th

15. สภาวะระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา โดย กรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ http://www.hydro.navy.mi.th/chaophraya/rtnhq.htm

16. กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย https://www.disaster.go.th/th/home/

17. ระบบบริหารจัดการงานอุทกภัย กรมทางหลวงชนบท http://fms2.drr.go.th

18. ข้อมูลน้ำท่วม กรมทางหลวง http://www.doh.go.th/content/index/page?g=114353


กำลังโหลดความคิดเห็น