ไขปริศนา “ลักลอบทิ้งถังขยะพิษ” ที่ อ.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี ทำไมของเสียอันตราย ถูกนำออกจากระบบได้ง่ายดาย ใครต้องรับผิดบ้าง
รายงานพิเศษ
ภาพกองเศษซากของเสียอันตรายจำนวนมากหลากหลายชนิด ถูกนำมาลักลอบทิ้งบนที่ดินแปลงหนึ่งใน อ.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี ถือว่าเป็นภาพที่ “เหลือเชื่อ” อย่างมาก จนน่าสงสัยว่า ผ่านหูผ่านตา ผ่านระบบการตรวจสอบของหน่วยงานที่รับผิดชอบอย่าง “กรมโรงงานอุตสาหกรรม” ออกมาได้อย่างไร
ที่สำคัญคือ นี่เป็นรูปแบบการทิ้งที่โจ่งแจ้ง เย้ยกฎหมาย ราวกับว่าผู้กระทำความผิด ไม่มีความเกรงกลัวต่อกฎหมายแม้แต่น้อย
เหตุที่ระบุว่า การลักลอบทิ้งของเสียอันตรายครั้งนี้ เป็นภาพที่ “เหลื่อเชื่อ” เพราะที่ผ่านมา แม้โรงงานในกลุ่ม “ผู้รับของเสียอันตราย” ไม่ว่าจะเป็นโรงงานคัดแยก ลำดับที่ 105 หรือโรงงานรีไซเคิล ลำดับที่ 106 จะเคยลักลอบทิ้งเช่นกัน แต่ก็ไม่เคยพบการกระทำอย่างโจ่งแจ้งเช่นนี้
ส่วนใหญ่จะใช้รูปแบบการเก็บของเสียไว้ในพื้นที่ของโรงงาน โดยไม่นำไปคัดแยก รีไซเคิล หรือไม่นำไปกำจัดจริงทั้งที่รับเงินมาแล้ว เพราะต้องการทำกำไรเพิ่มขึ้น หรือใช้วิธีฝังกลบของเสียอันตรายไว้ในบ่อฝังกลบของโรงงานเอง บางแห่งแอบฝังลงไปในบ่อฝังกลบของเสียไม่อันตราย
ส่วนที่แย่ที่สุดที่เคยพบเห็นกัน ก็คือ การแอบนำของเสียอันตรายที่เป็นของเหลวไปปล่อยลงไปในบ่อน้ำของชาวบ้าน อย่างที่ อ.หนองแหน จ.ฉะเชิงเทรา เมื่อหลายปีก่อน
แต่ที่ลพบุรี คือการใช้รถบรรทุกขนถังบรรจุของเสียอันตราย ขนาด 200 ลิตร หลายร้อยถัง มาเททิ้งลงไปทั้งถัง มีรถแบ็คโฮซึ่งเป็นคนงานของเจ้าของที่ดิน มาเจาะถังให้ของเหลวไหลออกซึมลงสู่ผืนดิน แหล่งน้ำ แถมยังกล้าหาญถึงขนาดไปเรียกกลุ่มธุรกิจรับซื้อของเก่ามาซื้อถังต่อไปในราคาใบละ 100 บาท
“กล้าหาญ” แบบไม่กลัวกฎหมาย เป็นการกระทำที่แสดงให้เห็นความมั่นอกมั่นใจราวกับมี “องครักษ์” คอยคุ้มครอง ทั้งที่ไปทิ้งเหยียบจมูก “เมืองทหารลพบุรี”
ปริศนามีอยู่ 3 ข้อ คือ
1. ของเสียอันตราย ออกจากระบบการตรวจสอบของกรมโรงงานอุตสาหกรรมได้อย่างไร
2. ทำไมต้องเอาไปทิ้งอย่างโจ่งแจ้งเช่นนั้น
3. มีใครบ้างที่รู้เห็นหรือเกี่ยวข้อง
ตามหลักการการขนย้ายของเสียอันตรายไปกำจัด จะมีผู้ที่เกี่ยวข้อง 3 ฝ่าย คือ
- กรมโรงงานอุตสาหกรรม ในฐานะผู้กำกับดูแล
- โรงงานผู้ก่อกำเนิดของเสีย สมมติว่าชื่อ โรงงาน A
- โรงงานที่รับกำจัดกากของเสีย สมมติว่าชื่อ โรงงาน B
เมื่อโรงงาน A ต้องการหาผู้รับกำจัดการกของเสียอันตรายที่เหลือจากการผลิตในโรงงาน จึงติดต่อกับโรงงาน B โดยโรงงาน B มี “เซลล์” เช่นเดียวกับสินค้าอื่นๆ แต่สำหรับวงการ “กากอุตสาหกรรม” หรือ “ของเสียอันตราย” สิ่งที่เซลล์เสนอต่อลูกค้า คือ “ราคาค่ากำจัด” ที่แข่งขันด้วยการเสนอค่ากำจัดที่ถูกกว่าที่อื่น เพราะจะช่วยลดต้นทุนของโรงงาน A ได้
ดังนั้น โรงงานผู้ก่อกำเนิดของเสีย (A) จึงมีสถานะเป็น “ลูกค้า” ของโรงงานรับกำจัดของเสีย (B)
เมื่อตกลงทำการค้ากันได้ โรงงาน A ก็ทำสัญญากับโรงงาน B ว่าจะส่งของเสียให้ไปกำจัดในปริมาณเท่าไหร่ เป็นของเสียชนิดใดบ้าง (แต่ละชนิดมีราคาค่ากำจัดแตกต่างกัน) โดยข้อมูลในสัญญานี้ จะไปปรากฎอยู่ในฐานข้อมูลของ “กรมโรงงานอุตสาหกรรม” เช่น โรงงาน A จะส่งน้ำปนเปื้อนน้ำมัน ไปให้โรงงาน B กำจัด ปริมาณ 100 ตัน ในปี 2564
เมื่อถึงการขนส่งสินค้า โรงงาน B ก็จะส่งรถบรรทุกวัตถุอันตราย ไปที่โรงงาน A เพื่อรับสินค้าไปกำจัด เมื่อรับสินค้าแล้ว ก็จะ “ตัดน้ำหนักออก” จากที่ตกลงกันไว้ในสัญญา เช่น ...
รอบที่ 1 รับน้ำปนเปื้อนน้ำมันมา 10 ตัน โรงงานก็จะคีย์ข้อมูลเข้าระบบของกรมโรงงานฯ ให้ตัดน้ำหนักออก 10 ตัน ส่วนโรงงาน B ก็คีย์ว่าได้รับของมากำจัดแล้ว 10 ตัน ดังนั้นก็เหลือของที่ต้องรับส่งกันอีก 90 ตันในสัญญา โดยในขั้นตอนนี้จะมีหลักฐาน คือ “ใบกำกับการขนส่งของเสียอันตราย” หรือที่เรียกว่า “เมนิเฟส” เพื่อให้ข้อมูลการขนย้ายของเสียอันตรายทุกครั้ง อยู่ในสายตาของกรมโรงงานฯ
ถ้าเป็นเช่นนั้น ก็ไม่น่าจะมีของเสียอันตรายหลุดรอดออกไปกองทิ้งที่ลพบุรี เพราะของจากต้นทาง ต้องไปถึงปลายทางครบตามที่รับมา ส่วนรถที่จะนำมาวิ่งขนส่งของเสียอันตราย ต้องเป็นรถที่ผ่านการขึ้นทะเบียนได้รับอนุญาตจากกรมโรงงานฯเท่านั้น และสามารถขออนุญาตได้ในนามบริษัทเท่านั้น มีชื่อบริษัท ทะเบียนรถ ชื่อคนขับรถคนที่ 1 2 3 และทุกคันถูกติดตามด้วย GPS ตลอดเวลา เมื่อเริ่มกระบวนการขนย้าย ก็จะออกนอกเส้นทางไม่ได้เด็ดขาด
มาดูเหตุที่ จ.ลพบุรี ข้อมูลของกรมควบคุมมลพิษ ระบุว่า “ได้ติดตามจนทราบทะเบียนรถบรรทุก 2 คัน ที่ต้องสงสัยว่าเป็นรถที่ขนของเสียอันตรายเหล่านี้มาทิ้ง และพบว่าเป็นรถที่ขึ้นทะเบียนอยู่ในระบบของกรมโรงงานอุตสาหกรรม จึงทราบแล้วว่า โรงงาน B ที่นำของเสียอันตรายมาทิ้งเป็นใคร โดยมีข้อมูลเชิงลึกด้วยว่า เป็นโรงงานที่มีปัญหาถูกตรวจสอบอยู่ก่อนหน้านี้”
เมื่อมีคำถาม คือ เมื่อการขนย้าย ถูกบันทึกข้อมูลในระบบทั้งหมด จะนำรถซึ่งถูกระบบติดตามตลอดเวลา นำของเสียอันตรายมาทิ้งนอกเส้นทางได้อย่างไร ??
ตอบปริศนาข้อที่ 2
ก่อนจะไปต่อ ... มีข้อสังเกตที่สำคัญคือ โรงงาน B ที่เป็นผู้ลักลอบทิ้ง มีความจำเป็นต้องนำไปทิ้งอย้างโจ่งแจ้งเช่นนี้ อาจเป็นเพราะไม่มีสถานที่เก็บ ไม่มีสถานที่กำจัด ไม่ว่าจะเป็นเตาเผา หรือหลุมฝังกลบ เมื่อประกอบกับข้อมูลของกรมควบคุมมลพิษที่บอกว่า เป็นโรงงานที่ถูกตรวจสอบ นั่นอาจหมายความว่า โรงงาน B เป็นโรงงานที่อยู่ระหว่างการถูกร้องเรียน ถูกตรวจพบการกระทำความผิด หรือ ถูกสั่งปิดชั่วคราว
ตอบปริศนาข้อที่ 1 ของเสียอันตราย ออกจากระบบการตรวจสอบของกรมโรงงานอุตสาหกรรมได้อย่างไร
แหล่งข่าวในวงการรับกำจัดของเสียอันตราย วิเคราะห์ความเป็นไปได้ว่า โรงงาน B ที่ก่อเหตุลักลอบทิ้ง สามารถทำได้ 2 ทาง คือ
1. ตกลงกับโรงงาน A ว่า ขอขนย้ายของเสียไปก่อน เพื่อให้มีรายได้เข้าสู่บริษัท แต่ทั้งสองฝ่ายจะยังไม่คีย์ข้อมูลเพื่อตัดน้ำหนักของเสียเข้าไปในระบบ ทำให้กรมโรงงานฯ ไม่เห็นข้อมูลการขนย้าย ... หากเป็นกรณีนี้ มีความหมายแฝง คือ โรงงาน B อยู่ระหว่างถูกสั่งปิด จึงคีย์ข้อมูลเข้าระบบไม่ได้ เพราะหากนำข้อมูลเข้าระบบ ระบบจะแจ้งเตือนสถานะของโรงงาน B ทันที และไม่สามารถดำเนินการได้
2. โรงงาน B ตกลงกับโรงงาน A ตรงๆเลยว่า การขนย้ายของเสียอันตรายในช่วงนี้ จะไม่คีย์ข้อมูลเข้าระบบ ใช้วิธีเก็บเงินกันโดยตรง
แต่ไม่ว่าจะใช้วิธีไหน ก็จะเจอปัญหาอยู่ดี เพราะ “รถ” ถูกติดตามอยู่ตลอดเวลา แต่ก็อธิบายได้ว่า เมื่อไม่คีย์ข้อมูลการรับส่งจากโรงงาน B เข้าสู่ระบบ รถที่อยู่ในบัญชีของโรงงาน B ก็จะไม่อยู่ในสถานะที่เจ้าหน้าที่กรมโรงงานฯ จะต้องคอยติดตาม
ในเมื่อ “ตำแหน่งของรถ” ยังสร้างความกังวลใจให้โรงงาน A แหล่งข่าวผู้เชี่ยวชาญ จึงเชื่อว่า ในกรณีนี้ โรงงาน A จะต้องการความมั่นใจว่าหากของเสียจาก A ไปถูกพบทิ้งอยู่ที่ใดที่หนึ่ง ทางโรงงาน A จะไม่ต้องรับผิดชอบไปด้วย ดังนั้นจึงมีข้อตกลงว่า โรงงาน B จะต้องขนย้ายของเสียอันตรายทั้งหมดไปที่โรงงาน B ก่อน พร้อมถ่ายภาพรถ ภาพการลงสินค้าว่าไปถึงที่หมายถูกต้องแล้วเก็บไว้เป็นหลักฐาน สิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากนั้น ก็จะไม่เกี่ยวข้องกับโรงงาน A
ตัวอย่างสมมติ เช่น โรงงาน A อยู่ที่ จ.สมุทรสาคร ส่วนโรงงาน B อยู่ที่ จ.เพชรบูรณ์ เมื่อไปรับของเสียจากสมุทรสาครแล้ว ก็ต้องวิ่งตรงไปที่ จ.เพชรบูรณ์ ก่อน เพื่อให้กระบวนการขนย้ายสิ้นสุดลง จากนั้นโรงงาน B จึงนำของเสียออกจาก จ.เพชรบูรณ์ ไปทิ้งที่ จ.ลพบุรี (ชื่อจังหวัดเป็นการสมมติขึ้น ไม่มีนัยยะอะไร)
ตอบปริศนาข้อที่ 3 มีใครบ้างที่รู้เห็นหรือเกี่ยวข้อง
แท้จริงแล้ว โรงงาน A ถือว่า มีส่วนร่วมกระทำความผิดตั้งแต่แรกแล้ว นั่นก็คือ การยอมให้ขนย้ายของเสียอันตรายออกไปโดยไม่มีใบกำกับการขนย้าย ไม่คีย์ข้อมูลเข้าระบบ เพียงแต่จะอ้างได้ว่า ไม่รู้เห็นว่า โรงงาน B นำของเสียไปลักลอบทิ้งนอกโรงงาน
ในกติกาของกรมโรงงานอุตสาหกรรม จะมีเอกสารที่เรียกว่า “หนังสือประกันความรับผิดชอบร่วมกัน” หรือ กอ.1 ที่มีเนื้อหาว่า หากเกิดปัญหาการปนเปื้อนของเสียอันตราย ทั้งผู้ก่อกำเนิดของเสีย (A) ผู้ขนส่ง ผู้รับกำจัด (B) จะต้องมีความรับผิดชอบร่วมกัน เพื่อให้โรงงาน A เป็นส่วนหนึ่งที่ต้องกำกับการขนส่งอย่างเข้มงวดให้ถูกต้องด้วย
“ทุกอาชญากรรมย่อมทิ้งร่องรอย” สิ่งที่น่าเหลือเชื่อยิ่งกว่าขยะอันตรายปริมาณมหาศาลที่ถูกนำมาทิ้ง คือ “ความมั่นใจ ของโรงงาน B” เพราะการที่กรมควบคุมมลพิษ มีหลักฐานภาพถ่ายทะเบียนรถบรรทุกของเสียอันตราย 2 คัน ตรงกับในฐานข้อมูลของกรมโรงงานอุตสาหกรรมว่าเป็น “รถขนส่งวัตถุอันตรายของโรงงาน B”
นั่นย่อมหมายความว่า โรงงาน B มีความกล้า ถึงขนาดใช้รถของบริษัทตัวเอง มีชื่อบริษัทติดข้างรถ และเป็นรถที่อยู่ในระบบฐานข้อมูลของกรมโรงงานฯ วิ่งมาทิ้งถังของเสียอันตรายหลายร้อยถัง บนที่ดินกลางแจ้งอย่างไม่เกรงกลัวกฎหมาย
ร่องรอยนี้ จึงอาจไม่ได้บอกเพียงว่า ขยะพิษ เป็นของใคร
แต่อาจบอกได้ด้วยว่า เจ้าของขยะพิษรายนี้ มีความมั่นใจในกำลังภายในของตัวเองไม่ใช่น้อย