ฟังดูเผินๆก็ดูเป็นเรื่องแปลก ที่บนดาดฟ้าชั้น ๔ ของสถานีตำรวจพลับพลาไชย ซึ่งเป็นที่ตั้งของสถานีตำรวจพลับพลาไชยเขต ๑ และพลับพลาไชยเขต ๒ มีศาลเจ้าจีนแห่งหนึ่งตั้งอยู่ มีชื่อว่า “ศาลพ่อปู่ยี่กอฮง” เป็นที่ร่ำลือว่าให้โชคลาภแก่นักเสี่ยงโชคจนร่ำรวยกันมาหลายคน มีแฟนหวยแฟนลอตเตอรี่ไปขอเลขเด็ดกันไม่ขาดสาย ทั้งยังเป็นที่ท่องเที่ยวของเขตป้อมปราบศัตรูพ่ายด้วย
“พ่อปู่ยี่กอเฮง” มีนามเดิมว่า เตี่ยง แซ่แต้ เป็นต้นตระกูล “เตชะวณิช” แต่ประวัตินั้นสับสน บ้างก็ว่าพ่อเป็นชาวจีน แม่เป็นคนไทย เปิดร้านขายผ้าอยู่ถนนบำรุงเมือง เมื่ออายุราว ๗ ขวบพ่อแม่เสียชีวิต ญาติฝ่ายพ่อจึงพาไปอยู่เมืองจีนจนกระทั่งอายุ ๑๖ ปีจึงกลับมาเมืองไทยในต้นสมัยรัชกาลที่ ๕ บ้างก็ว่าเกิดที่เมืองจีน จนอายุ ๑๖ จึงอพยพมาอยู่เมืองไทย
ส่วนประวัติทางจีนกล่าวว่า ยี่กอฮงเป็นชาวแต้จิ๋วเกิดเมืองไทยที่จังหวัดสมุทรปราการเมื่อ พ.ศ.๒๓๙๔ มีชื่อว่า แต้หงี่ฮง เป็นบุตรของนายแต้ซี่เซ็ง ที่อพยพมาจากมณฑลกวางตุ้ง อายุได้ ๙ ขวบพ่อก็เสียชีวิต แม่จึงพากลับไปอยู่เมืองจีนและแต่งงานใหม่ แต่แต้งี่ฮงไม่ถูกกับพ่อเลี้ยงอย่างรุนแรง พออายุ ๑๓ จึงตัดสินใจหนีออกจากบ้านกลับมาเมืองไทยในปลายสมัยรัชกาลที่ ๔
ประวัติมาตรงกันว่า แต้หงี่ฮงทำงานเป็นเด็กรับใช้อยู่แถวท่าเรือริมแม่น้ำเจ้าพระยาย่านสำเพ็ง ต่อมามีชาวจีนกลุ่มหนึ่งที่เป็นกบฏที่เมืองจีนได้พาบริวารหนีการจับกุมมาเมืองไทย ตั้งสมาคมอั้งยี่ขึ้น และได้ชวนแต้หงี่ฮงซึ่งตอนนั้นอายุ ๑๖ เข้าร่วมด้วย เมื่อหัวหน้าเสียชีวิต แต้หงี่ฮงจึงได้ขึ้นเป็นหัวหน้าแทน
ต่อมายี่กอฮงได้เป็นนายอารบ่อนเบี้ย คุมการออกหวย ก.ข. และทำการค้าหลายอย่าง รวมทั้งการเดินเรือกลไฟจีน-สยาม และได้สร้างคฤหาสน์ใหญ่โตขึ้นที่พลับพลาไชย
ยี่กอฮงเป็นคนที่จิตกุศล บริจาคทรัพย์สินสร้างสาธารณประโยชน์ไว้มากมายหลายแห่ง รวมทั้งเป็นผู้ริเริ่มสร้างโรงพยายาลเทียนฟ้า ที่ถนนเจริญกรุง ริเริ่มก่อตั้งมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง รวมทั้งชักชวนผู้คนให้มาร่วมกันสร้างมูลนิธิช่วยเหลือผู้ยากไร้ สนับสนุนการศึกษาเด็กนักเรียนเรียนดีที่ยากจน อีกทั้งยังร่วมรณรงค์หาเงินเข้า
สภากาชาดไทย และร่วมบริจาค ๑๐,๐๐๐ บาทในการก่อสร้างโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ได้เป็นสมาชิกหมายเลข ๙ และเมื่อเกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ในเมืองจีน พ.ศ.๒๔๖๑ ยี่กอฮงก็ได้ระดมเงินบริจาคไปช่วยเป็นจำนวนมาก
เมื่อครั้งที่ ดร.ซุนยัดเซ็น เดินทางมาเมืองไทยในเดือนพฤศจิกายน ๒๔๕๑ เพื่อชักชวนคนสนับสนุนการปฏิวัติในจีน ได้มาเยี่ยมยี่กอฮงถึงคฤหาสน์ ยี่กอฮงจึงตัดสินใจตัดเปียทิ้ง ซึ่งหมายความว่าเป็นฝ่ายปฏิปักษ์ต่อราชวงศ์ชิง และอาสาก่อตั้งสมาคมลับถงเหมิงฮุ่ย ประจำประเทศไทย ทั้งยังมอบเงินสนับสนุนให้ซุนยัดเซ็นถึง ๑ แสนหยวน แล้วสาบานเป็นพี่น้องกับ ดร.ซุนยัดเซ็นซึ่งได้ตั้งชื่อให้ยี่กอฮงว่า ตี้ย้ง หมายถึงผู้ที่มีพร้อมทั้งปัญญาและความกล้าหาญ ส่วนยี่กอฮงก็เรียกซุนยัดเซ็นว่า แต้ตี้ย้ง ด้วย
นอกจากนี้ทางฝ่ายเมืองจีน ยี่กอฮงยังได้พระราชทานตำแหน่งขุนนางจีนฝ่ายสยามระดับสูงสุด จากราชวงศ์ชิงด้วย
ในสมัยรัชกาลที่ ๖ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานบรรดาศักดิ์ยี่กอฮงเป็น พระอนุวัตน์ราชนิยม รองหัวหมื่นกรมมหาดเล็ก ตำแหน่งนายอากร และพระราชทานนามสกุล “เตะวณิช” ให้
พระอนุวัตน์ราชนิยมได้เสียชีวิตอย่างสงบในวัย ๘๗ ปีที่คฤหาสน์พลับพลาไชยเมื่อวันที่ ๕ มีนาคม ๒๔๗๙ ในสมัยรัชกาลที่ ๘ ศพได้นำไปฝังที่ประเทศจีน
ต่อมาในปี ๒๔๙๙ ได้เกิดไฟไหม้สถานีตำรวจนครบาลสามแยก กรมตำรวจในสมัย พ.ต.อ.หลวงอดุลเดชจรัส เป็นอธิบดี จึงได้จึงให้ย้ายมาใช้คฤหาสน์ของพระอนุวัตน์ราชนิยม (ฮง เตชะวณิช) เป็นที่กว้างขวางถึง ๓ ไร่ ๑๕๖ ตารางวา ซึ่งบริจาคไว้ตั้งแต่ปี ๒๔๘๒ แล้วให้ย้ายสถานีตำรวจนครบาลป้อมปราบศัตรูพ่ายมารวมกัน เปลี่ยนชื่อเป็นสถานีตำรวจนครบาลพลับพลาไชย เขต ๒ และสถานีตำรวจนครบาลพลับพลาไชย เขต ๑
ต่อมาในปี ๒๕๓๕ สถานีตำรวจนครบาลทั้ง ๒ เขตแออัดมาก ทั้งอาคารเก่าก็ทรุดโทรม จึงทุบรื้อทั้งหมดสร้างใหม่เป็นอาคาร ๑๓ ชั้น และได้สร้างศาลพ่อปู่ยี่กอฮงไว้ที่ดาดฟ้าชั้น ๔ เพื่อเป็นที่ระลึกถึงท่านผู้บริจาคสถานที่ให้ ศาลนี้เป็นที่นับถือจากแฟนหวยและแฟนลอตเตอรี่และมีนักท่องเที่ยวไปชมกันมาก ทุกวันที่ ๕ มีนาคมของทุกปี ทายาทในตระกูลเตชะวณิชและผู้เคารพนับถือ รวมทั้งตำรวจพลับพลาไชย จะจัดทำบุญเพื่อระลึกถึงพ่อปู่ยี่กอฮงที่ศาล
สถานีตำรวจพลับพลาไชยได้เปิดให้ผู้ที่เคารพเลื่อมใสและนักท่องเที่ยวขึ้นลิฟท์ไปไหว้และขอเลขเด็ดได้ทุกวัน ตั้งแต่เวลา ๐๙.๐๐-๑๗.๐๐ น.
นี่ก็คือความเป็นมาที่เจ้าพ่อหวยกับตำรวจอยู่ร่วมกันได้ ซึ่งหวยในสมัยที่พ่อปู่ยี่กอฮงทำธุรกิจอยู่นั้น ก็เป็นหวยที่ถูกกฎหมายเสียด้วย