เมื่อสงครามโลกครั้งที่ ๒ มีชื่อรุ่นนักเรียนไทยในตอนนั้นรุ่นหนึ่ง เรียกกันว่า “รุ่นโตโจ” ซึ่งแน่นอนว่า จอมพลฮิเดกิ โตโจ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ไม่ได้มาร่วมเรียนรุ่นนี้แน่
ตอนนั้นกรุงเทพฯและอีกหลายจังหวัด ตกเป็นเป้าถูกโจมตีทางอากาศจากเครื่องบินฝ่ายสัมพันธมิตรเป็นประจำ กำลังเรียนหนังสืออยู่ดีๆ ก็มีเสียง “หวอ” หรือสัญญาณภัยทางอากาศดังขึ้น ทั้งครูและนักเรียนต้องวิ่งไปลงหลุมหลบภัย หรือไม่ทางโรงเรียนก็ปล่อยนักเรียนกลับบ้าน และหวอก็ดังขึ้นเกือบทุกวันจนไม่เป็นอันการเรียนกัน ซ้ำในปี ๒๔๘๕ เกิดน้ำท่วมครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์
กระทรวงศึกษาธิการต้องประกาศปิดการเรียนเป็นเดือนๆ
หลายโรงเรียนก็ใช้วิธีย้ายโรงเรียนออกไปให้ห่างไกลจากจุดยุทธศาสตร์ หรือออกไปต่างจังหวัดที่ไม่อยู่ในกลุ่มเป้าหมายของฝ่ายสัมพันธมิตร จำได้เลาๆว่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยก็ย้ายไปเรียนที่ผักไห่ อยุธยา
โรงเรียนเพาะช่างที่อยู่ใกล้สะพานพระพุทธยอดฟ้าและโรงไฟฟ้าวัดเลียบที่เป็นจุดยุทธศาสตร์ ได้ย้ายไปเรียนที่วัดนางนอง เขตจอมเทียน ธนบุรี ในเดือนมิถุนายน ๒๔๘๖ อาคารหลังที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จมาทำพิธีเปิดไว้ ก็ถูกระเบิดพังราบ ในเดือนพฤศจิกายน ๒๔๘๗ อาคารที่อยู่ริมถนนตรีเพชรก็ถูกระเบิดอีก เมื่อสงครามสงบในปี ๒๔๘๘ กลับมาเรียนที่เดิม จึงต้องปลูกเพิงมุงหลังคาจากเป็นที่เรียนชั่วคราว
โรงเรียนแรกที่ต้องรับความเดือดร้อนจากสงครามโลกครั้งที่ ๒ ก็คือ โรงเรียนก่อสร้างอุเทนถวาย ที่ถนนพญาไทย เพราะในวันที่ ๘ ธันวาคม ๒๔๘๔ ที่ญี่ปุ่นบุกประเทศไทยเพื่อขอเดินทัพผ่านนั้น ได้ขอเข้ามายึดเอาเป็นที่พักทหาร
ตอนนั้นอยู่ระหว่างปิดภาคเรียนพอดี พอถึงเวลาเปิดเรียนเลยต้องย้ายบางส่วนไปขออาศัยเรียนที่โรงเรียนสวนกุหลาบ อีกส่วนหนึ่งยังเรียนอยู่ที่เก่าในโรงฝึกงานที่ญี่ปุ่นไม่ได้ใช้ แต่โรงเรียนสวนกุหลาบซึ่งอยู่ติดกับโรงเรียนเพาะช่างซึ่งอยู่ใกล้จุดยุทธศาสตร์ เลยต้องย้ายอีกทีไปเรียนที่โรงเรียนพาณิชยการวัดแก้วฟ้าล่าง ถนนสี่พระยา ต่อมาระเบิดได้ลงที่อาคารโรงเรียนซึ่งเป็นค่ายทหารญี่ปุ่น ส่วนที่เรียนที่โรงฝึกจึงต้องอพยพไปเรียนที่โรงเรียนช่างไม้สามโคก ปทุมธานี
หลายโรงเรียนได้ย้ายออกไปต่างจังหวัด อย่างโรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย ได้หอบหิ้วนักเรียนไปเรียนกันที่พระราชวังบางปะอิน ซึ่งตอนนั้นทั้งประปาและไฟฟ้าก็ไม่มี ต้องใช้ตะเกียงทั้งที่น้ำมันก๊าดก็หายาก แต่ทนลำบากเรียนกันได้เพียง ๔-๕ เดือน แต่วันหนึ่งก็ไม่รู้สาเหตุว่าการข่าวคราดเคลื่อนหรืออย่างไร เครื่องบินฝ่ายข้าศึกก็มายิงปืนกลกราดไปทั่วบางปะอิน ชาวบ้านต้องหลบกันจ้าระหวั่น ทางโรงเรียนจึงตัดสินใจปิดโรงเรียนส่งนักเรียนกลับบ้าน
ในปี ๒๔๗๘ ช่วงปลายสงคราม ญี่ปุ่นส่ออาการไม่ดีแล้ว ภัยทางอากาศรุนแรงยิ่งขึ้น กระทรวงศึกษาธิการจึงสั่งปิดโรงเรียนทั่วประเทศ ไม่มีการเรียนการสอนและการสอบ แต่ให้นักเรียนทุกคนได้เลื่อนชั้นโดยอัตโนมัติ นักเรียนรุ่นนั้นจึงได้ฉายากันว่า “รุ่นโตโจ” ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีที่ญี่ปุ่นที่ร่วมรบกับไทย แต่ตอนสงครามสงบ จอมพลโตโจตกเป็นอาชญากรสงครามและถูกประหารชีวิต เพราะเป็นผู้ก่อสงคราม สั่งถล่มฐานทัพอเมริกันเพิร์ลฮาร์เบอร์ที่ฮาวายโดยไม่ประกาศสงคราม
ตอนนี้นักเรียนรุ่นโตโจหรือยุวชนทหารรุ่นนั้นคงเหลืออยู่ไม่กี่คน ไม่เห็นมีใครออกมาเล่าความหลังกันให้รุ่นหลานเหลนฟังบ้างเลย และหวังว่าตอนนี้เราคงไม่ต้องมี “รุ่นโควิด ๑๙” เพราะเรียนออนไลน์กันได้ทั่วไป และไม่ต้องวิ่งหลบไปไหน อยู่แต่ในบ้านก็ปลอดภัยมากขึ้นแล้ว