วันที่ 14 กันยายน 2564 สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา หรือ สมศ. พบการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือ COVID-19 เป็นอุปสรรคต่อการเรียนการสอน และการจัดกิจกรรมสำหรับการส่งเสริมพัฒนาการให้เด็กระดับการศึกษาปฐมวัย ด้วยการจัดกิจกรรมและบทเรียนให้สอดคล้องกับบริบทของผู้เรียน และผู้ปกครองผ่านการนำผลการประเมินไปปรับใช้ พร้อมเปิดผลการประเมินคุณภาพภายนอกครึ่งปีแรกของปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 การศึกษาปฐมวัย พบว่ามีศูนย์พัฒนาเด็กกว่า 73% อยู่ในระดับดี โดยจากการประเมินคุณภาพภายนอกพบศูนย์พัฒนาเด็กปรับตัวได้ค่อนข้างดี สำหรับการพัฒนารูปแบบการสอนที่เหมาะสมและปรับใช้ให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงได้นั้นมีดังนี้ การประสานงานกับผู้ปกครองและชุมชนอย่างต่อเนื่อง พร้อมให้คำแนะนำกับผู้ปกครองเกี่ยวกับพัฒนาการทางด้านร่างกาย ทดสอบความจำของเด็กด้วยการกำหนดหัวข้อประจำสัปดาห์ และจัดกิจกรรมผ่านการให้ความรู้แก่ผู้ปกครองโดยจะต้องพยายามหาวิธีการที่จะช่วยให้ผู้ปกครองสอนเด็ก ๆ ได้ง่ายและสะดวกที่สุด เช่น ฝึกให้เด็กทำกิจวัตรประจำวันด้วยตัวเอง เป็นต้น
ดร.นันทา หงวนตัด รักษาการผู้อำนวยการ สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา หรือ สมศ. กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือ COVID-19 ได้ส่งผลกระทบต่อการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนของศูนย์พัฒนาเด็ก (ศพด.) ทั่วประเทศ ทำให้ต้องงดกิจกรรมการเรียนการสอน เนื่องจากทุกภาคส่วนต้องปฏิบัติตามมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) โดยประเด็นดังกล่าวได้ส่งผลกระทบอย่างมากต่อการเรียนรู้ และพัฒนาการตามวัยของเด็ก อีกทั้งเด็กในวัยนี้ไม่สามารถเรียนออนไลน์ หรือทำกิจกรรมออนไลน์ได้เหมือนกับผู้เรียนในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน และภายใต้วิกฤตที่เกิดขึ้นอาจเป็นตัวแปรที่ทำให้เด็กหลุดออกจากระบบการศึกษา รวมถึงปัญหาอื่น ๆ ที่จะตามมา เช่น ความรู้และทักษะตามที่กำหนดไว้ในหลักสูตร พัฒนาการทางด้านจิตใจ อารมณ์ สังคมและสติปัญญา เป็นต้น
สำหรับประเด็นดังกล่าว สมศ. ได้มีการติดตามอย่างใกล้ชิด โดยจากการประเมินคุณภาพภายนอกในปีงบประมาณ พ.ศ.2564 นี้ สมศ. พบว่าศูนย์พัฒนาเด็กได้พยายามปรับตัว และปรับรูปแบบการจัดกิจกรรมให้เหมาะสมกับสถานการณ์ในระยะนี้มากยิ่งขึ้น เพื่อไม่ให้การเรียนรู้ของเด็กในวัยนี้หยุดชะงักไป โดยเบื้องต้นกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ดูแลและกำกับศูนย์พัฒนาเด็ก ได้กำหนดแนวทางที่ชัดเจนโดยการปรับรูปแบบการทำกิจกรรม ให้หน่วยงานต้นสังกัดและชุมชนเข้ามามีบทบาทในการร่วมจัดกิจกรรมเพื่อการเรียนรู้ของเด็ก โดยที่ครูประจำศูนย์พัฒนาเด็กจะทำหน้าที่แนะนำและเป็นผู้ช่วยให้ผู้ปกครองเรียนรู้วิธีการที่จะช่วยสอนเด็กเมื่อเด็กอยู่ที่บ้าน อย่างไรก็ตามจากการประเมินคุณภาพภายนอก ทำให้ สมศ. พบ 3 แนวทางสำหรับพัฒนาการเรียนการสอนของศูนย์พัฒนาเด็กที่เหมาะสม และสามารถเป็นแบบอย่างให้ศูนย์พัฒนาเด็กอื่นๆ นำไปใช้ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า ในปัจจุบัน
•การประสานงานกับผู้ปกครองและชุมชนอย่างต่อเนื่อง เพราะปัจจุบันรูปแบบการเรียนรู้ของเด็กเกิดขึ้นภายในชุมชนและครอบครัว โดยเฉพาะการมีส่วนร่วมในการแนะนำแนวทางการเรียนรู้ และการเล่นให้กับผู้ปกครองหลาย ๆ รูปแบบ รวมทั้งควรแบ่งปันเทคนิคการเรียนการสอนที่เคยใช้ในช่วงเวลาปกติให้ผู้ปกครองนำไปใช้ในการสอนหรือทบทวนบทเรียนผ่านทางไลน์กลุ่ม โทรศัพท์ หรือคลิป VDO
•ให้คำแนะนำกับผู้ปกครองเกี่ยวกับการส่งเสริมพัฒนาการทางด้านร่างกายเนื่องจากเด็กในวัยนี้ เป็นวัยที่ควรสร้างเสริมพัฒนาการด้านร่างกาย เพื่อให้เกิดความพร้อมต่อการเรียนรู้ ไม่ว่าจะเป็นการให้คำแนะนำด้านโภชนาการ วิธีในการบริหารกล้ามเนื้อมัดต่างๆ รวมถึงการเคลื่อนไหวให้ได้ในระยะเวลาที่เหมาะสม
•การปรับกระบวนการจัดกิจกรรมผ่านการให้ความรู้แก่ผู้ปกครองได้นำความรู้ไปประยุกต์ใช้เพื่อสอนเด็ก ๆ เพื่อให้การเรียนรู้เกิดความต่อเนื่อง และช่วยให้เด็กทุกคนได้ทำกิจกรรมเหมือนกับการไปเรียนรู้ที่ศูนย์พัฒนาเด็ก โดยจะต้องพยายามหาวิธีการที่จะช่วยให้ผู้ปกครองสอนเด็ก ๆ ได้ง่ายและสะดวกที่สุด ในการฝึกให้เด็กทำกิจวัตรประจำวันด้วยตัวเอง เช่นการช่วยหยิบของ การรดน้ำต้นไม้ เป็นต้น
ดร.นันทา กล่าวต่อว่า นอกจากการเข้ามามีส่วนร่วมของผู้ปกครอง ชุมชน และหน่วยงานต้นสังกัดแล้ว การปรับรูปแบบการเรียนการสอน และการทำกิจกรรมของศูนย์พัฒนาเด็กในช่วงที่ผ่านมานั้นถือว่าประสบความสำเร็จอย่างมาก โดยจากการวิเคราะห์ผลการประเมินคุณภาพภายนอกในระยะที่ 1 จากรายงานผลการประเมินตนเอง (SAR) ของศูนย์พัฒนาเด็กภายใต้การประเมินรูปแบบใหม่ ปี 2564 ตามหลักเกณฑ์การประกันคุณภาพภายนอกภายใต้สถานการณ์จำเป็นและเร่งด่วนเนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา พบว่า ศูนย์พัฒนาเด็กเข้ารับการประเมินจำนวนทั้งสิ้น 4,540 แห่ง ผลการประเมินด้านคุณภาพของเด็กปฐมวัย อยู่ในระดับดีจำนวน 3,307 แห่ง คิดเป็น 73% ของจำนวนศูนย์พัฒนาเด็กที่เข้ารับการประเมิน
นอกจากนี้ ยังพบว่ามีศูนย์พัฒนาเด็กที่จัดการเรียนได้อย่างน่าสนใจ อย่างเช่น ศูนย์พัฒนาเด็กภายใต้การดูแลของเทศบาลตำบลบ่อตรุ อ.ระโนด จ.สงขลา ที่ได้นำข้อเสนอแนะของ สมศ. ไปวางแผนและพัฒนาในการปรับรูปแบบการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน ในช่วงการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ COVID-19 โดยการให้ครูปร-ะจำศูนย์พัฒนาเด็กประสานกับผู้ปกครองและแนะนำกิจกรรมง่าย ๆ เช่น การเล่านิทาน การพาเด็ก ๆ ออกไปทำกิจกรรมในสวน สอนให้เด็กทำงานบ้านเล็ก ๆ น้อย ๆ สอนวิธีการช่วยเหลือตนเองในเบื้องต้น ซึ่งวิธีการนี้ช่วยให้เด็กเกิดพัฒนาการด้านการเรียนรู้เกี่ยวกับชีวิตประจำวัน นอกจากนี้ครูประจำศูนย์พัฒนาเด็กจะช่วยเสริมจัดกิจกรรมที่นอกเหนือไปจากนี้ให้แก่ผู้ปกครองและเด็กเล็กอย่างเหมาะสม เช่น การส่งดินน้ำมันและอุปกรณ์ทดลองทางวิทยาศาสตร์ง่าย ๆ ไปให้เด็ก ๆ ทำที่บ้านเพื่อฝึกกล้ามเนื้อมัดเล็ก การส่งหนังสือนิทานให้ผู้ปกครองอ่านให้ลูกฟังเพื่อเป็นการส่งเสริมความสัมพันธ์ในครอบครัว
นอกจากนี้ยังได้มีการบันทึกวีดีโอวิธีการสอนเด็ก ๆ ให้ทำกิจกรรมและส่งให้ผู้ปกครอง เพื่อให้ผู้ปกครองสามารถเข้ามาศึกษาและดูวิธีการในการดูแลเด็กเมื่อทำกิจกรรมที่บ้าน และสามารถทบทวนแนวการทางทำกิจกรรมได้ตลอดเวลา ทั้งนี้จากการปรับรูปแบบการสอนทางเทศบาลก็ได้รับผลตอบรับและได้รับความร่วมมือกับทางผู้ปกครองเป็นอย่างดี เพราะเด็กเกิดการเรียนรู้ที่เหมาะสมและต่อเนื่องแม้ว่าจะต้องหยุดเรียนเพราะการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ COVID-19 จะยังไม่คลี่คลาย
สำหรับผู้ที่สนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา(องค์การมหาชน) โทรศัพท์ 0-2216-3955 หรือเข้าไปที่ www.onesqa.or.th