xs
xsm
sm
md
lg

เฝ้าระวังลุ่มน้ำเจ้าพระยาระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้น เหตุฝนตกหนักทางตอนบน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ฝนที่ตกชุกและตกหนักในหลายพื้นที่ทางตอนบนส่งผลให้มีน้ำท่าไหลหลากลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้น กรมชลประทานปรับแผนการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยา ด้าน รมว.มหาดไทยสั่งการเตรียมความพร้อมรับน้ำท่วมปีนี้ เฝ้าระวังใกล้ชิด เตรียมพร้อมเครื่องจักรกลช่วยเหลือประชาชน

วันนี้ (6 ก.ย.) นายบุญธรรม เลิศสุขีเกษม อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ระบุว่า ตามที่ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ในฐานะผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ ได้มีข้อสั่งการเมื่อวันที่ 5 พ.ค. ให้กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์อุทกภัยในช่วงฤดูฝนปี 2564 นั้น

จากการติดตามการคาดหมายลักษณะอากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยาพบว่า ช่วงปลายเดือนกรกฎาคมถึงเดือนกันยายน 2564 บริเวณประเทศไทยจะได้รับอิทธิพลจากมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมประเทศไทย และอาจมีพายุหมุนเขตร้อนเคลื่อนเข้ามาใกล้พาดผ่านประเทศไทยตอนบน ส่งผลให้บริเวณประเทศไทยจะมีฝนตกหนาแน่น กับมีฝนตกหนักมากบางพื้นที่อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำล้นตลิ่ง และดินถล่ม ดังนั้น เพื่อให้การแจ้งเตือนภัยล่วงหน้าให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และทันต่อเหตุการณ์ จึงให้กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดดำเนินการ ดังนี้

1. ให้คณะทำงานติดตามสถานการณ์ของจังหวัด เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์สภาวะอากาศและปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ในพื้นที่ เช่น ปริมาณฝนสะสม ระดับน้ำในแม่น้ำ ลำคลอง การระบายน้ำของอ่างเก็บน้ำ และสถานการณ์น้ำของจังหวัดต้นน้ำ ฯลฯ รวมถึงติดตามข้อมูลข่าวสารการพยากรณ์อากาศ การแจ้งเตือนภัยจากหน่วยงานต่างๆ อย่างใกล้ชิด

2. วิเคราะห์ประเมินสถานการณ์และผลกระทบจากภัยพิบัติที่อาจเกิดขึ้น โดยหากประเมินสถานการณ์แล้วมีความเสี่ยงที่จะเกิดสถานการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินถล่ม ให้ดำเนินการแจ้งเตือนภัยไปยังกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในแต่ละระดับให้ปฏิบัติตามแผนเผชิญเหตุ พร้อมทั้งสร้างการรับรู้ให้ประชาชน โดยให้ติดตามสถานการณ์และการแจ้งเตือนภัยจากหน่วยงานราชการอย่างต่อเนื่อง

3. แจ้งเตือนประชาชน/อาสาสมัครเครือข่ายแจ้งเตือนภัย ผู้นำชุมชน ผู้ปกครองท้องที่ ในทุกช่องทาง ทั้งรูปแบบที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ เช่น หอเตือนภัย หอกระจายข่าวประจำหมู่บ้าน สื่อสังคมออนไลน์ วิทยุชุมชน เสียงตามสาย รถประชาสัมพันธ์ เป็นต้น เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องรวดเร็ว

4. ให้ผู้อำนวยการจังหวัด/อำเภอ/ท้องถิ่น พิจารณาใช้อุปกรณ์เตือนภัยในพื้นที่ เช่น หอเตือนภัย หอกระจายข่าว หอกระจายข่าวประจำหมู่บ้าน เสียงตามสาย โดยหากจังหวัดร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่วิเคราะห์และประเมินสถานการณ์แล้ว คาดว่าจะเกิดภัยพิบัติให้ใช้อุปกรณ์เตือนภัยในพื้นที่เพื่อแจ้งเตือนประชาชน

5. ให้ผู้อำนวยการจังหวัด/อำเภอ/ท้องถิ่น เตรียมความพร้อมบุคลากร ทรัพยากร เครื่องจักรกลสาธารณภัย เพื่อให้ความช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบภัยเป็นไปอย่างรวดเร็ว และทันท่วงที

ก่อนหน้านี้ นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลางตอนบน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณอ่าวตังเกี๋ย ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนตกชุกหนาแน่น โดยเฉพาะบริเวณภาคกลางและภาคตะวันออก ส่งผลให้มีน้ำหลากจากพื้นที่ตอนบนของลุ่มน้ำเจ้าพระยาไหลลงสู่บริเวณเหนือเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง

โดย ณ วันที่ 5 ก.ย. ที่สถานี C.2 อ.เมือง จ.นครสวรรค์ มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 841 ลูกบาศก์เมตร/วินาที (ลบ.ม./วินาที) สมทบกับแม่น้ำสะแกกรังอีกประมาณ 55 ลบ.ม./วินาที ก่อนจะไหลลงสู่บริเวณเขื่อนเจ้าพระยา ที่ขณะนี้มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 563 ลบ.ม./วินาที คาดว่าปริมาณน้ำจะมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในเกณฑ์ประมาณ 600-700 ลบ.ม./วินาที ซึ่งจะส่งผลให้ระดับน้ำบริเวณด้านท้ายเขื่อนเจ้าพระยา อ.สรรพยา จ.ชัยนาท ไปจนถึงบริเวณ ต.กระทุ่ม ต.หัวเวียง อ.เสนา และ ต.ท่าดินแดง อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา มีระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้น

กรมชลประทานได้ประสานไปยังจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยอยู่ริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ให้ทราบถึงสถานการณ์น้ำและการเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดแล้ว

สำหรับสถานการณ์น้ำใน 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) ปัจจุบันมีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 8,725 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 35 ของความจุอ่างฯ เป็นน้ำใช้การได้ประมาณ 2,029 ล้าน ลบ.ม. ยังสามารถรองรับน้ำได้อีกกว่า 16,100 ล้าน ลบ.ม. โดยในช่วงวันที่ 29 ส.ค.-4 ก.ย. 64 ที่ผ่านมามีปริมาณน้ำไหลลง 4 เขื่อนหลัก รวมกันประมาณ 369 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งกรมชลประทานยังคงเดินหน้าเก็บกักน้ำอย่างต่อเนื่องเพื่อสำรองน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้งหน้าให้ได้มากที่สุดก่อนจะสิ้นสุดฤดูฝน ในส่วนของการเพาะปลูกข้าวนาปีพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยามีการทำนาปีไปแล้ว 6.67 ล้านไร่ หรือร้อยละ 84 ของแผนฯ (แผนวางไว้ 7.97 ล้านไร่) มีการเก็บเกี่ยวไปแล้ว 2.41 ล้านไร่

ทั้งนี้ กรมชลประทานได้กำชับให้ทุกโครงการชลประทานเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์น้ำและสภาพอากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิด พร้อมบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อวางแผนในการป้องกันและเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำให้กระทบต่อประชาชนในพื้นที่ต่างๆ ให้น้อยที่สุดจนกว่าจะสิ้นสุดฤดูฝน จึงขอให้ประชาชนติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด หากต้องการความช่วยเหลือ สามารถติดต่อได้ที่โครงการชลประทานใกล้บ้าน หรือโทร.สายด่วนกรมชลประทาน 1460 ได้ตลอดเวลา
กำลังโหลดความคิดเห็น