วันที่ 3 กันยายน 2564 ศ. ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ รองประธานกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา เร่งผลักดันแผนปฏิรูปการศึกษาไทยใน 5 บิ๊กร็อค (Big Rock) โดยเฉพาะบิ๊กร็อคด้านการปฏิรูปบทบาทการวิจัยในสถาบันอุดมศึกษา แนะสถาบันอุดมศึกษาปรับตัวรับนโยบายขับเคลื่อนการศึกษาวิจัย-การเปลี่ยนแปลงของโลก ใน 2 กลไกสำคัญ ได้แก่ 1.คณาจารย์วิจัยที่สามารถทำงานวิจัยระดับสูง 2. การกำหนดมาตรฐานงานวิจัยโดยอิงมาตรฐานมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก เพื่อเป้าหมายการพัฒนางานวิจัยอุดมศึกษาไทย สู่การขยายผลในการยกระดับคุณภาพชีวิตผู้คนทุกช่วงวัยและขับเคลื่อนสังคมและเศรษฐกิจประเทศ
ศ. ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ รองประธานกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา เปิดเผยว่า ‘ประเทศไทย’ ถือเป็นประเทศที่พบความเหลื่อมล้ำทางรายได้อันดับ 3 ของโลก อีกทั้งยังพบความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาสูง อันเนื่องมาจากกับดักทางรายได้ ดังนั้น เพื่อพาประเทศไทยก้าวข้ามกับดักดังกล่าว คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา จึงเร่งรัดแผนปฏิรูปประเทศด้านศึกษา เพื่อสร้างความเสมอภาคตลอดช่วงวัย ตั้งแต่ระดับปฐมวัยไปจนถึงวัยแรงงาน เสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพครูและระบบการศึกษาตั้งแต่การศึกษาขั้นพื้นฐาน อาชีวศึกษาไปจนถึงอุดมศึกษา ผ่านการปฏิรูปใน 5 เป้าหมายหลัก (Big Rock) ดังนี้ 1. ปฏิรูปความเสมอภาคทางการศึกษา 2. ปฏิรูปการจัดการเรียนการสอนรับศตวรรษที่ 21 3. ปฏิรูปการผลิตพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา 4. ปฏิรูประบบการอาชีวศึกษา 5. ปฏิรูปบทบาทการวิจัยในสถาบันอุดมศึกษา
โดย 1 ในเป้าหมายสำคัญที่จำเป็นต้องเร่งรัดดำเนินการ คือ ปฏิรูปบทบาทการวิจัยของสถาบันอุดมศึกษา เนื่องจาก ‘ผลงานวิจัย’ นับเป็นรากฐานสำคัญต่อการยกระดับคุณภาพชีวิตผู้คนทุกช่วงวัย ขับเคลื่อนสังคมและเศรษฐกิจประเทศในเชิงบวก นอกจากนี้ ยังส่งผลต่อการผลิตทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพในทุกวิชาชีพ อีกทั้งการผลิตผลงานวิจัยยังเป็นฐานสำคัญที่นำไปสู่การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของกิจกรรมปฏิรูปการศึกษาที่ต้องการยกระดับคุณภาพการจัดการศึกษา พัฒนาผู้เรียนทุกกลุ่มทุกวัยให้ได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพและมีทักษะที่สามารถตอบโจทย์การพัฒนาของโลกอนาคต ทั้งนี้ สถาบันอุดมศึกษาจำเป็นต้องปรับตัวในการพัฒนางานวิจัยและขีดความสามารถของระบบวิจัยให้สอดรับนโยบายขับเคลื่อนการศึกษาดังกล่าว ด้วยการยกระดับคุณภาพการจัดการเรียนการสอนให้ทันต่อยุคสมัยและการเปลี่ยนแปลงของโลก โดย 2 กลไกสำคัญคือ
•สถาบันต้องมีคณาจารย์วิจัยที่สามารถทำงานวิจัยระดับสูง และมีความพร้อมความสามารถในการผลิตงานวิจัยที่สอดคล้องกับความต้องการในการพัฒนาเพื่อนำมาปรับใช้เพิ่มศักยภาพในการจัดการเรียนการสอนได้ หรือสามารถนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ให้เป็นประโยชน์ในการเรียนการสอน ควบคู่ไปกับการเตรียมความพร้อมในการปรับตัวเพื่อรับความท้าทายใหม่ เพื่อผลักดันให้ผู้เรียนได้มีวิชาชีพที่สามารถนำไปต่อยอดและตอบโจทย์ความต้องการของโลก
•สถาบันอุดมศึกษาต้องตั้งมาตรฐานงานวิจัย โดยอิงมาตรฐานมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก เพื่อดึงศักยภาพของคณาจารย์วิจัยออกมาให้ได้มากที่สุดและทำให้เกิดการพัฒนาอย่างแท้จริง โดยการสร้างมาตรฐานระดับสากลอาจทำได้ด้วยการศึกษาและเรียนรู้จากสถาบันจัดอันดับจากการเข้าถึงฐานข้อมูล หรือการเชื่อมโยงความสัมพันธ์กับมหาวิทยาลัยระดับต้นของโลก เป็นต้น
แม้ว่าการพัฒนาหรือเปลี่ยนแปลงการศึกษาทั้งระบบอาจต้องใช้เวลาในการแก้ไขระยะยาว แต่คณะกรรมการปฏิรูปฯ ได้ดำเนินการแล้วในหลายส่วนและกำลังเร่งดำเนินตามแผนปฏิรูปการศึกษาอย่างเต็มที่ เพื่อสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยตามเป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ให้ประเทศไทยก้าวออกจากกับดักรายได้ปานกลางสู่การเป็นประเทศรายได้สูง โดยมีเป้าหมายรวมไปถึงการยกระดับขีดความสามารถด้านนวัตกรรมให้กับผู้ประกอบการและชุมชน เพื่อให้มีความความสามารถในการใช้นวัตกรรมในการยกระดับการดำเนินงานและรวมไปถึงความสามารถการทำวิจัยและนวัตกรรมที่สอดคล้องกับความต้องการในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศอย่างยั่งยืนต่อไป ศ.ดร.สุชัชวีร์ กล่าวทิ้งท้าย
ติดตามความเคลื่อนไหวกิจกรรม ของคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา ได้ที่เว็บไซต์ https://www.thaiedreform2022.org/ และเฟซบุ๊กแฟนเพจ https://web.facebook.com/Thaiedreform2022 หรือ https://web.facebook.com/EEFthailand (กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา)