เมื่อคราวเกิด “กบฏบวรเดช” ซึ่งเป็นกบฏที่เลือดไทยนองแผ่นดินไทยมากที่สุด ฝ่ายปราบปรามเสียชีวิต ๑๗ นาย คนสำคัญคือ พ.ต.หลวงอำนวยสงคราม (ถม เกษะโกมล) ผู้บังคับกองพันทหารราบที่ ๘ บางซื่อ เพื่อนสนิทของ พ.ต.หลวงพิบูลสงคราม ผู้บัญชาการในการปราบกบฏ ซึ่งถูกฝ่ายกบฏยิงที่ทุ่งบางเขน รัฐบาลได้สร้างอนุสาวรีย์เพื่อเป็นอนุสรณ์แก่ผู้เสียชีวิตในการปราบกบฏขึ้นที่บางเขน เรียกกันว่า “อนุสาวรีย์ปราบกบฏ” แต่มีชื่อเป็นทางการว่า “อนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ” และตั้งชื่อถนนที่แยกจากถนนสามเสนที่บางกระบือ มาบรรจบถนนพระรามที่ ๕ ผ่านบ้านหลวงอำนวยสงครามว่า “ถนนอำนวยสงคราม” ให้ชื่อสะพานที่ข้ามคลองเปรมประชากรตรงสุดถนนว่า “สะพานเกษะโกมล”
เมื่อฝ่ายกบฏปราชัยก็มีการกวาดจับผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดกว่า ๖๐๐ คน ส่งฟ้องศาล ๓๑๘ คน ส่วนใหญ่ในจำนวนนี้มีตำแหน่งหน้าที่ระดับสูงในราชการ ตั้งแต่นายทหาร ข้าราชการถึงขั้นสมุหเทศาภิบาลมณฑล รวมทั้งรัฐมนตรี และผู้บัญชาการทหารเรือ
คนระดับนี้เคยเป็นผู้บังคับบัญชาคนมาก่อน แต่เมื่อหมดอำนาจต้องเข้าไปอยู่ในคุกบางขวาง ชีวิตก็พลิกผันไปตรงกันข้าม ต้องยอมรับระเบียบของเรือนจำและใช้ชีวิตเหมือนนักโทษทั่วไป โดยอยู่ใต้อำนาจของ “ผู้คุม” ข้าราชการชั้นเล็กๆ
สำหรับนักโทษกลุ่มนี้แม้จะเป็นนักโทษการเมืองที่ถูกแยกขังไว้ใน “แดนหก” แต่ก็อยู่ในกฎระเบียบเหมือนแดนอื่น เมื่อผ่านประตูเรือนจำเข้าไป สภาพจิตใจก็หดหู่อยู่แล้ว และเมื่อได้รับการต้อนรับจากนายตะราง คือ ขุนประจักษ์ภาษา ซึ่งเป็น “นายแดน” หรือนายตรวจของแดนหก ก็ทำให้สถานการณ์เลวร้ายลงไปอีก
ขุนประจักษ์ฯเป็นคนร่างใหญ่ คาดเข็มขัดเส้นใหญ่ และพกปืนกระบอกใหญ่ที่เอว ในการต้อนรับกลุ่มกบฏที่มาถึง นายตะรางร่างใหญ่ก็กล่าวปราศรัยว่า
“พวกคุณคงไม่รู้ว่าฉันคือใคร ฉันขอแนะนำตัวเองว่า ฉันคือนายแดนนี้ หรือผู้ปกครองของพวกคุณโดยตรง อีกอย่างที่พวกคุณควรจะรู้เสียด้วย ฉันคือพี่ชายของหลวงอำนวยสงคราม ที่ถึงแก่กรรมในระหว่างปราบปรามพวกคุณทำการกบฏ ประทุษร้ายบ้านเมือง เออ..อันที่จริง โลกเรานี้มันก็ให้ความยุติธรรมแก่คนเราทั่วหน้ากันดีนะคุณนะ น้องตายเพราะปราบกบฏ แล้วพี่ชายก็มาปกครองกบฏ อย่างไรก็ดี ฉันจะพยายามให้ความสุขและความยุติธรรมแก่พวกคุณโดยเสมอภาคกัน แต่พวกคุณต้องอย่าลืมเสียอย่างหนึ่ง คือว่าในคุกน่ะ ความสุขและความยุติธรรมมันไม่มีหรอก นักโทษที่จะมีความสุข ต้องอยูในโอวาทของ...”
เสียงของนายแดนหกต้องชะงัก เมื่อมีเสียงหนึ่งจากกลุ่มผู้มาใหม่สอดขึ้นว่า
“เรายังไม่ได้เป็นนักโทษ”
ขุนประจักษ์อ้ำอึ้งไปพัก แล้วก็กล่าวว่า “ไหน ใครว่ากระไร ออกมาข้างหน้าหน่อยซิ”
บุรุษร่างสันทัด ผิวคล้ำ วัยฉกรรจ์ มีชื่อว่า ขุนสินาดเสนีย์ (เส็ง ลางคุลเสน) ร้อยโทนายทหารปืนใหญ่ก้าวออกมายืนเผชิญหน้านายตะราง แล้วย้ำอย่างชัดถ้อยชัดคำอีกครั้งว่า
“เรายังไม่ใช่นักโทษ เราเป็นเพียงผู้ต้องหาที่ถูกฝากขัง”
ขุนแห่งคุกบางขวาง ถลึงตาเขม็งไปที่ ขุนแห่งทหารปืนใหญ่ แล้วเปลี่ยนท่าจากยืนเกาะพนักเก้าอี้ไปเป็นท่าท้าวสะเอวอย่างผู้มีอำนาจ
“ใครบอกว่าพวกคุณเป็นนักโทษ” ขุนประจักษ์ฯพูดอย่างข่มโทสะ “ฉันเพียงแต่อธิบายถึงสถานะทั่วๆไปของเรือนจำให้พวกคุณฟัง”
“แต่ก็เป็นการอธิบายไม่เข้าหลักเกณฑ์” ขุนสินาดฯพูดด้วยเสียงเรียบๆ “ท่านขุนพูดว่าให้ความสุขความยุติธรรมอย่างเสมอหน้ากัน แต่ท่านขุนเองก็บอกว่า ความสุขและความยุติธรรมในคุกไม่มี อย่างนี้ฟังดูมันแปร่งๆหูอย่างไรอยู่...”
“คนอย่างคุณ ถ้าเป็นนักโทษในแดนอื่น ขอโทษ ที่เปรียบคุณเป็นนักโทษ ทั้งที่คุณเป็นผู้ต้องหา ฉันสมมติเท่านั้น ว่าถ้าเป็นนักโทษในแดนอื่น จะได้ฉายาว่า หมอ
หมายความว่า หมอความ มีคารมคมคาย พวกหมออย่างนี้ ถ้าพวกนักโทษด้วยกันไม่ตีหัว พวกผู้คุมก็จะหาเรื่องตีตรวน เพราะขี้คร้านฟังเรื่องรำคาญ...”
แม้จะโดนข่มขู่แบบนี้ตั้งแต่วันแรก แต่ผู้ต้องหากบฏเหล่านี้ ซึ่งแต่ละคนก็ผ่านงานใหญ่กันมาทั้งนั้น จึงไม่มีใครเกรงขุนประจักษ์ฯ การประทะคารมกันจึงเกิดขึ้นเสมอ ฝ่ายนายตะรางก็ไม่กล้าลงมือรุนแรง ได้แต่ขู่และถากถาง
ตามปกติขุนประจักษ์ฯจะออกไปกินอาหารกลางวันข้างนอก แล้วก็กลับมาประมาณบ่าย ๓ โมงซึ่งเป็นเวลาอาหารเย็นของนักโทษ ขุนประจักษ์ฯจะเดินตรวจไปตามวง ซึ่งนักโทษบางคนก็ผูกปิ่นโตมาจากข้างนอกตามที่ได้รับการผ่อนผันสำหรับบักโทษการเมือง แล้วเสียดสีอย่างสนุกปาก เช่น
“ติดคุกแล้วยังไม่เจียมตัว ยังต้องดัดจริตกินข้าวขาวแกงกะทิ อีกหน่อยเถอะ น้ำตาจะเช็ดหัวเข่า”
บางคนมีญาติเอาอาหารมาส่ง มีปลากรอบ น้ำพริกเผา กุ้งแห้ง มันกุ้ง ขุนประจักษ์ฯก็เยาะเย้ย
“นี่ก็นักโทษชั้นวิเศษอีกเหมือนกัน กินข้าวแดงกับมันกุ้ง ลำพังข้าวแดงยังแดงไม่พอ ต้องใส่มันกุ้งให้แดงขึ้นไปอีก สำคัญ สำคัญ...”
ครั้งหนึ่งเกิดเสียงเอะอะโวยวายของนักโทษในแดนติดกัน มีเสียงไซเรนดังก้อง จากนั้นก็มีเสียงปืนก่อนที่เหตุการณ์จะสงบ บอกต่อๆกันมาว่ามีนักโทษแหกคุก หลังจากนั้นเมื่อขุนประจักษ์ฯกลับเข้ามาแดนหก บอกกับกลุ่มผู้ต้องขังว่า
“ผมยิงนักโทษตายคนหนึ่ง เสียกระดาษหนึ่งแผ่นเท่านั้นเอง ชีวิตของนักโทษหนึ่งคนมีค่าเท่ากับกระดาษแผ่นเดียว สำหรับเขียนรายงานเหตุการณ์ให้ผู้ใหญ่ทราบ”
นายหลุยส์ คีรีวัต นักหนังสือพิมพ์ใหญ่ เอียงหน้ากระซิบกับพระยาศราภัยพิพัฒว่า
“มิสเตอร์นี่ ถ้าจะบ้าจริงอย่างที่ขุนสินาดฯลงความเห็นแล้วละเจ้าคุณ”
หลังจากใช้เวลาพิจารณาคดีนานนับปี ศาลซึ่งตั้งขึ้นเพื่อพิจารณาคดีนี้เป็นพิเศษ ก็ตัดสินให้มีผู้ต้องโทษ ๒๙๖ คน ในจำนวนนี้ถึงขั้นประหารชีวิต ๖ คน เมื่อ “ผู้ต้องหาที่ถูกฝากขัง” ได้กลายเป็น “นักโทษ” ไปแล้ว ขุนประจักษ์ฯก็ไม่รอช้า จัดจอบ เสียม บุ้งกี๋ มาให้ทันที พร้อมคำสั่งให้ขุดบ่อ ซึ่งพวกนักโทษเรียกกันว่า “งานพลิกโลก” แต่นายตะรางบอกว่า “เพื่อไม่ให้เสียข้าวสุกของคุก” แม้แต่นักโทษประหารที่มีกฎของเรือนจำห้ามใช้งาน เพราะถูกตีตรวนตลอดเวลา ขุนประจักษ์ฯก็ไม่ละเว้น ส่งมีดทื่อๆให้คนละเล่มไปดายหญ้า นักโทษประหารทั้ง ๖ คือ เจ้าคุณจินดาจักรรัตน์ (เจิม อาวุธ) เจ้าคุณทรงอักษร (ชวน ชวนะลิขิกร) เจ้าคุณสุรพันธเสนี (อิ้น บุนนาค) เจ้าคุณฤทธิรงค์รณเฉท (ทองคำ ไทไชโย) ร.ท.จรูญ ปัทมินทร์ และอรุณ บุนนาค ก็ต้องปฏิบัติตาม เพราะขุนประจักษ์ฯถือปืนไว้ในมือขณะนั่งคุม
เจ้าคุณจินดาฯฟันหญ้าจนอาบเหงื่อ จึงร้องขอหินลับมีด บอกฟันหญ้าไม่เข้า ขุนประจักษ์ก็ชี้มือไปที่กำแพงคุก แล้วว่า
“หินตั้งแผ่นเบ้อเร่อนั่นยังไง มองไม่เห็นหรือ”
เจ้าคุณจินดาฯมอง “หินลับมีด” แล้วก็นิ่งเฉยด้วยความสุภาพ ขุนประจักษ์ฯจึงแหวใส่ว่า
“นิ่งทำไม ไปลับมีดกับกำแพงคุกนั่นเดี๋ยวนี้” พลางขยับปืนจ่อไปที่พระยาจินดาฯ
เจ้าคุณจินดาฯจึงเดินไปที่กำแพง ขยับมีดได้ ๒-๓ แกรก นิ้วกลางกับนิ้วชี้ก็มีเลือดไหล เจ้าคุณสุรพันธ์ฯและเจ้าคุณทรงอักษรก็ถอนหายใจ แต่ขุนประจักษ์กลับหัวเราะชอบใจ
ส่วนเจ้าคุณนายกนรชน (เจริญ ปริยานนท์) อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ร่างผอมบาง ผมขาวโพลน อีกทั้งยังใส่แว่น ถูกใช้ให้ฟันดินด้วยจอบ เจ้าคุณจะงัดขึ้นมาทีละก้อนก็ไม่มีแรง เลยได้แต่งัดแค่ผิวดินติดหญ้าขึ้นมาทีละน้อย ขุนประจักษ์ฯมองดูก็ชอบใจ ปากก็พูดเยาะเย้ยเสียดสีว่า
“คนเราเกิดมาต้องทำงาน ชีวิตของคนทำงานนี่แหละเป็นประโยชน์แก่โลก คนที่ไม่ทำงานหรือดีแต่ชี้นิ้วบัญชาให้คนอื่นทำ คือคนรกโลก ไม่ควรอยู่ในโลก”
“จริง..จริง คนที่ดีแต่ชี้นิ้วให้คนอื่นทำ มันไม่ควรอยู่ในโลก” มีเสียงสอดขึ้นจากในกลุ่มนักโทษ และพากันฮาสนั่น เจ้าของเสียงคือ ร.ท..ฉิม ศรีโกมุท บุรุษร่างใหญ่ ตัวดำมืด ขนอกรุงรัง มีฉายาว่า “ทาร์ซาน”
ขุนประจักษ์ฯหน้าแดงด้วยความโกรธและความอายที่ถูกย้อนเข้าตัว รีบปิดฉากนี้โดยตวาดพร้อมกับเอามือกุมปืนว่า
“ทำงานต่อไป.. อะไร ทำนายว่าขี้ข้าพลอยไปได้ โตๆด้วยกันแล้วทุกคน”
หลังจากนั้นไม่นาน กระทรวงมหาดไทยก็ส่งผู้แทนไปพบกับนักโทษการเมืองไต่ถามสารทุกข์ น.อ.พระยาศราภัยพิพัฒน์ ร.น. เสนอว่า นักโทษการเมืองเป็นผู้มีวิทยฐานะ ถ้ามีโอกาสได้ศึกษาวิชาชีพอย่างใดอย่างหนึ่ง เมื่อพ้นโทษออกไปจะได้ใช้วิชาชีพนั้น เป็นพลเมืองดีต่อไป การปิดหูปิดตาไม่ให้อ่านหนังสือ ไม่เปิดโอกาสให้ศึกษาวิชาความรู้ นับว่าเป็นภัยต่อการปกครองอย่างยิ่ง
แต่ “ขุนแห่งทหารปืนใหญ่” สินาดเสนีย์ ได้โอกาสถล่มเข้าเป้าคู่อริ บอกมีความข้องใจต่อจิตใจของขุนประจักษ์ภาษาว่าเป็นคนจริตวิปลาส ไม่สมควรให้อยู่ในตำแหน่งปกครองนักโทษการเมืองอีกต่อไป อาจเป็นเหตุให้เกิดความรุนแรงระหว่างนักโทษกับฝ่ายปกครองของเรือนจำ และอาจทำความยุ่งยากไปถึงวงการภายในกระทรวงมหาดไทยและรัฐบาลได้
ขุนประจักษ์ฯหน้าแดงก่ำและขยับปืน
พัฒน์ อรรถจินดา ร้องขึ้นว่า “นั่นแน่ะ ขยับปืนอีกแล้ว เอะอะอะไรก็ขยับปืน พวกผมจะพาลช็อคกันตายหมด”
ทั้งผู้แทนของกระทรวงมหาดไทยและนักโทษต่างพากันฮาสนั่น
ผู้แทนกระทรวงมหาดไทยรับว่าจะนำข้อเสนอของนักโทษนี้ไปรายงานต่อรัฐมนตรี
หลังจากนั้นไม่นาน ขุนประจักษ์ภาษาก็ถูกย้ายออกจากตำแหน่งในแดนหก ไปเป็นทำการแทนสารวัตรทั่วไป
ที่ผู้เขียนนำเรื่องนี้มาเล่าได้อย่างละเอียด ก็เพราะอ่านมาจากหนังสือชื่อ “แดนหก” ซึ่งเขียนโดย ชุลี สารนุสิต ๑ ในคณะนักโทษการเมืองกลุ่มนี้ ซึ่งโรงพิมพ์สมรรถภาพ พิมพ์เผยแพร่ใน พ.ศ.๒๔๘๘
แต่อย่างไรก็ตาม นักโทษประหารทั้ง ๖ ไม่ถูกประหาร เพราะพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่ยอมทรงลงพระนาม รัฐบาลจึงทูลขอพระราชทานอภัยโทษจากประหารชีวิตเป็นจำคุกตลอดชีวิต และจากจำคุกตลอดชีวิตเป็นเนรเทศไปเกาะตะรุเตา จนถึง พ.ศ.๒๔๘๗ ทั้งหมดจึงได้รับการนิรโทษกรรมในรัฐบาลนายควง อภัยวงศ์ หลายคนกลับเข้ารับราชการ บ้างก็มีตำแหน่งทางการเมือง เป็นผู้แทนราษฎร วุฒิสมาชิก และรัฐมนตรี ชีวิตพลิกผันอีกครั้ง หลายคนก็สูงส่งยิ่งขึ้นไปกว่าเดิม