รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี โพสต์เล่า แม่ของตนซึ่งป่วยเป็นโรคประจำตัวคือ หลอดเลือดสมอง ได้ไปฉีดวัคซีนโควิด-19 และเมื่อฉีดไปแล้วกลับไม่สามารถใช้ชีวิตปกติได้ ทาง สปสช. “ปฏิเสธการเยียวยา” ตามที่เคยประกาศไว้
เมื่อวันที่ 31 ส.ค. เฟซบุ๊ก “Sustarum Thammaboosadee” หรือ รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี อาจารย์ประจำวิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์เล่าเรื่องราวแม่ของตน ซึ่งป่วยเป็นโรคประจำตัวคือ หลอดเลือดสมอง ได้ไปฉีดวัคซีนโควิด-19 และเมื่อฉีดไปแล้วกลับไม่สามารถใช้ชีวิตปกติได้ และทาง สปสช.ก็ไม่ยอมจ่ายเงินเยียวยาให้ตามที่เคยประกาศไว้ก่อนหน้านี้
โดยผู้โพสต์เล่าว่า “จดหมายตอบกลับจาก สปสช. หลังจากที่แม่ของผม ซึ่งมีโรคประจำตัวหลอดเลือดสมองเข้ารับการฉีดวัคซีนที่สถานีกลางบางซื่อ เมื่อเดือนมิถุนายน และอาการกำเริบจนไม่สามารถใช้ชีวิตตามปกติได้ - สปสช. “ปฏิเสธการเยียวยา”
จากการฉีดวัคซีนวันนั้นแม่ผมมีอาการเคลื่อนไหวติดขัด ขยับร่างกายไม่สะดวกหนึ่งซีก ไม่สามารถใช้ชีวิตตามปกติ จากคนที่เคลื่อนไหวเองได้ ต้องใช้วีลแชร์เมื่อออกนอกบ้าน และเมื่อไป x-ray สมองเมื่อเดือนกรกฎาคม หมอบอกว่าเป็นหลอดเลือดในสมองตีบรอยใหม่ และให้ความเห็นว่า “สามารถเป็นรอยใหม่ที่เกิดจากวัคซีน”
สปสช.โฆษณาว่ามีการเยียวยาคนที่ได้รับผลกระทบจากวัคซีนทั้งโดยตรงโดยอ้อม แต่กระบวนการที่ซับซ้อนและรอระยะเวลานานกว่าหนึ่งเดือน ผมเชื่อว่าน่าจะมีคนทั้งประเทศขอรับการเยียวยาหลักร้อย และยิ่งกรณีเสียชีวิตเรายิ่งพบว่าญาติไม่อยากที่จะเรียกร้องอะไรมาก
การตอบของ สปสช.คือสรุปง่ายๆ ว่า อาการที่เกิดขึ้นเป็น “โรคประจำตัว” ของคนไข้มาก่อน และกำเริบโดยไม่สามารถบอกได้ว่าเกิดจากวัคซีน การเรียกร้องค่าเสียหายที่เราเรียกไปคือเงินหลักหมื่นตามประกาศของ สปสช. ไม่ใช่หลักแสนหลักล้าน เพื่อชดเชยค่าใช้จ่ายของแม่ระหว่างการฟื้นตัว
นี่คือฐานคิดของเทคโนแครตที่มองว่า ผู้คนจ้องแต่จะใช้สวัสดิการเอาจากรัฐ (Moral Hazard) โดยไม่มองถึงชีวิตของผู้คนจริงๆ ที่กระทบและเป็นแผลเป็นไปทั้งชีวิต กระทบคนในครอบครัว ทั้งทางกายและจิตใจ
สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นภาพสะท้อนว่าสุดท้ายแล้วรัฐไม่มีคนในสมการอีกครั้ง ทุกคนรู้ว่าผลข้างเคียงมันอาจน้อยมาก และรัฐก็โฆษณาว่า โควิดน่ากลัวกว่า เรื่องนี้ทุกคนรู้ แต่รัฐไม่ทำให้เรามั่นใจได้เลยว่าหากสิ่งนี้เกิดขึ้น เราสำคัญมากพอสำหรับรัฐ
ผมได้ทำการอุทธรณ์ต่อไป และต้องการให้สิ่งนี้เป็นกรณีศึกษาเพื่อให้ประชาชนท่านอื่นใช้ในการต่อสู้ต่อไปเช่นกันว่า ชีวิตของแม่ผมมีค่ามากกว่าการให้ข้าราชการแก่ๆ ในกรมพิพากษาว่า “มีค่าแค่ไหน””