ผศ.ดร.วรัชญ์ ครุจิต ที่ปรึกษาด้านการสื่อสาร ศบค.โพสต์ข้อความเตือนสื่อมวลชนที่กำลังเสนอข่าวของ ผกก.โจ้ ด้วยการพาดหัวด้วยถ้อยคำสวยหรูของผู้ต้องหา วอนอย่าทำให้คนผิดกลายเป็นพระเอก
จากเหตุการณ์ พ.ต.อ.ธิติสรรค์ อุทธนผล อดีต ผกก.สภ.เมืองนครสวรรค์ ถูกร้องเรียนว่าเรียกรับผลประโยชน์จากผู้ค้ายาเสพติดรายย่อยในพื้นที่เป็นเงินจำนวน 2 ล้านบาท แต่ผู้ต้องหายาเสพติดชื่อว่า นายจิระพงศ์ อายุ 24 ปี ไม่ยินยอมเพราะจ่ายได้แค่ 1 ล้านเท่านั้น จึงถูก ผกก.นายดังกล่าวใช้ถุงดำคลุมศีรษะจนเป็นเหตุให้ขาดอากาศหายใจและเสียชีวิตในที่สุด ภายหลังเกิดเหตุ ผกก.ก็ได้มีการบังคับให้ลูกน้องทำสำนวนในเชิงผู้ตายเสียชีวิตจากการขาดอากาศหายใจ ตามที่ได้รายงานข่าวไปแล้วนั้น
ก่อนที่ ผกก.โจ้ได้ประสานเข้ามอบตัวต่อ พล.ต.ต.เอกรักษ์ ลิ้มสังกาศ รอง ผบช.ภ.6 และยอมรับว่าพลั้งมือฆ่าผู้ต้องหา ยันสั่งการเพียงคนเดียวรับผิดแทนลูกน้อง ทำเพื่อต้องการเอาข้อมูลยาเสพติดที่ทำลายพี่น้องประชาชนใน จ.นครสวรรค์ และไม่มีเรื่องเงินมาเกี่ยวข้อง เครียดจะฆ่าตัวตาย ปรากฏว่ามีสื่อจำนวนมากนำคำพูดของ ผกก.โจ้มาเสนอข่าวจนมีประชาชนบางส่วนเริ่มเห็นใจผู้ต้องหารายนี้
อย่างไรก็ตาม วันนี้ (27 ส.ค.) ผศ.ดร.วรัชญ์ ครุจิต รองคณบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา คณะนิเทศศาสตร์และนวัตกรรมการจัดการ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) และที่ปรึกษาด้านการสื่อสาร ศบค. โพสต์เฟซบุ๊ก “Warat Karuchit” เกี่ยวกับประเด็นการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชน ให้เพิ่มความระมัดระวังในการเสนอข่าว อย่าทำให้ประชาชนมองผู้ร้ายเป็นพระเอกเช่นในอดีต พร้อมยกเคสของ ลุงพล หรือ เปรี้ยวหั่นศพ ทั้งนี้ ผศ.ดร.วรัชญ์ได้ระบุข้อความว่า
“(ก่อนจับ)
“บ้านใหญ่โต รถหรู”
“แฟนสวย ไฮโซ”
(หลังจับ)
“ซูบไปเยอะ”
“ผมผิดเอง”
“ผมอโหสิกรรมคนปล่อยคลิป”
“ผมคิดจะฆ่าตัวตาย”
“ตั้งใจทำงานเพื่อประชาชน ไม่ให้ลูกหลานติดยา”
“ไม่เคยทุจริต”
ขอความกรุณาสื่อระมัดระวังในการทำข่าว การใช้คำในการพาดหัว ในการเลือก Quote ของผู้ต้องหา การใช้ภาพ การสัมภาษณ์คนรอบข้าง ในการขุดประวัติ อย่าให้ “ผู้ต้องหา” กลายเป็นพระเอก เกิดแฟนคลับ หรือเห็นช่องทางที่ไม่เหมาะสม สร้างเน็ตไอดอล สร้างแฟนคลับขึ้นมาอีกเหมือนคดีอื่นๆ ที่ผ่านมาเลยนะครับ (เปรี้ยว ลุงพล ฯลฯ)
นี่แค่วันแรกยังขนาดนี้ คดีนี้ดูแล้วยังไม่จบง่ายๆ จะไปอีกขนาดไหนครับ”