xs
xsm
sm
md
lg

คุยหลังเลนส์ “วินิจ รังผึ้ง” ผู้บันทึกมนต์เสน่ห์แห่งโลกใต้ท้องทะเลไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

‘ทะเลไทย’ สวยไม่แพ้ชาติใดในโลก ไม่เพียงเท่านั้น ยังดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งในไทยและจากทุกประเทศทั่วโลกให้เดินทางมาเยี่ยมเยือนเพื่อสัมผัสกับความสวยงาม ไม่เว้นแม้แต่ ‘ฌาคส์ กุสโต’ (Jacques-Yves Cousteau) ‘บิดาแห่งการดำน้ำ’ ที่พาเรือสำรวจชื่อ ‘คาลิปโซ’ ( Calypso ) มาลอยลำเหนือหมู่เกาะสิมิลัน เมื่อหลายทศวรรษก่อน


หากจะมีใครสักคนที่สามารถบอกเล่าหรือถ่ายทอดความงามใต้ท้องทะเลได้อย่างแจ่มชัดมากที่สุดคนหนึ่งในประเทศไทยแล้วล่ะก็ ชื่อของ ‘วินิจ รังผึ้ง’ บรรณาธิการบริหาร อนุสาร อสท. และผู้อำนวยการฝ่ายบริการการตลาด การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ( ททท.) ย่อมนับเป็นหนึ่งในนั้น ยืนยันได้จากคอลัมน์ ‘ท่องโลกใต้ทะเล’ ที่ยืนหยัดมานานนับ 30 ปี นับเป็นกึ่งหนึ่งของ อนุสาร อสท.ที่ก้าวเข้าสู่ปีที่ 61 ในปีนี้

จากจุดกำเนิดแรกเริ่มในการทำงานด้านนิตยสารท่องเที่ยว จากแบกเป้ เดินป่า มุ่งหน้าสู่ยอดดอยแทบทุกดอยทั่วประเทศ กระทั่งริเริ่มสู่การเดินทางในโลกใต้น้ำ กลายเป็นความหลงใหลในมนต์เสน่ห์ของท้องทะเลไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ฝั่งอันดามัน ไม่ว่าอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน เกาะตาชัย เกาะบอน กองหินริเชลิว โลกใต้ทะเลเหล่านี้ล้วนเคยผ่านการกดชัตเตอร์ของวินิจ มาแล้วทั้งสิ้น

‘ผู้จัดการออนไลน์’ สัมภาษณ์พิเศษ วินิจ รังผึ้ง ถึงความหลงใหลในท้องทะเลไทย ทั้งถามไถ่ถึงเส้นทางความเป็นมาของการเป็นนักเขียนและช่างภาพสารคดี ที่ในเนื้องาน นอกจากความงามแล้ว ยังแฝงไว้ด้วยจิตสำนึกในการอนุรักษ์ธรรมชาติ เป็นกระบอกเสียงให้ท้องทะเล สัตว์น้ำ กระทั่งสามารถปลูกสร้างและกระตุ้นจิตสำนึกการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์อย่างยั่งยืนให้แก่นักท่องเที่ยวจำนวนมาก ในขณะเดียวกัน ก็เฝ้ามองกระแสแห่งความเปลี่ยนแปลงของโลกใต้น้ำและกระแสของการท่องเที่ยวในแต่ละยุคสมัยด้วยสายตาและมุมมองที่น่าสนใจยิ่ง

>>> ‘ท่องเที่ยวแค้มปิ้ง’ จุดเริ่มต้นของการทำงานด้านนิตยสารท่องเที่ยว

ถามว่าการทำงานด้านนิตยสารท่องเที่ยวของวินิจเริ่มขึ้นเมื่อไหร่

วินิจตอบว่า อาจจะเริ่มย้อนกลับไป ตั้งแต่เมื่อครั้งที่เรียนจบคณะวารสารศาสตร์ และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สาขาหนังสือพิมพ์และสิ่งพิมพ์ เมื่อเริ่มเรียนในสายนี้ก็จะมีวิชาบังคับให้เรียนถ่ายภาพเบื้องต้น เมื่อได้เรียนถ่ายภาพก็ชอบ และเป็นคนชอบเขียนหนังสือ เขียนเรียงความ แต่งกลอน ซึ่งฝึกมาตั้งแต่เมื่อครั้งเรียนมัธยมศึกษา ชอบภาษาไทย เมื่อมาเรียนคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชนก็ชอบทั้งการถ่ายภาพและการเขียนเรื่องราว และช่วงนั้นก็ทำกิจกรรมด้วยคือการไปออกค่ายอาสาพัฒนา ซึ่งจริงๆ แล้ว ตั้งแต่เริ่มเรียนมัธยม ก็ออกเดินทางไปด้วยทำกิจกรรมถ่ายภาพไปด้วย

วินิจกล่าวว่า สมัยนั้น เมื่อถ่ายภาพมาเป็นสไลด์สี ก็จะมาดูกัน มาเล่าเรื่องราวจากภาพต่างๆ ให้กันฟังกัน ซึ่งเหล่านี้ล้วนเป็นพื้นฐานของงานสารคดี ครั้นเรียนปี 3 รุ่นพี่ๆ ที่จบไปเขาเริ่มออกไปทำงาน ทำหนังสือแนวท่องเที่ยว

“เขาก็ชวนไปทำงาน ไปเขียน ไปถ่ายภาพในนิตยสาร ชื่อนิตยสาร ‘แค้มปิ้งท่องเที่ยว’ เป็นนิตยสารแนวแบกเป้เดินทาง เดินป่า เริ่มเมื่อปี 2527 ผมเข้าไปก็เริ่มไปร่วมก่อตั้งนิตยสารเล่มแรกเลย ดังนั้น ในช่วงนั้นก็ทำงานไปด้วยเรียนไปด้วย” วินิจระบุ
วินิจกล่าวว่า เขาทำงานในสายนิตยสารท่องเที่ยวมาตลอด แม้จะเรียนสาขาหนังสือพิมพ์มาก็จริง แต่ไม่เคยไปทำหนังสือพิมพ์เลย ทั้งที่ในยุคนั้น การทำงานหนังสือพิมพ์นับว่าดังมาก และเป็นสื่อหลักของประเทศในช่วงเวลาเมื่อประมาณ 40-50 ปีก่อน


>>> ก้าวสู่ อนุสาร อสท. นับแต่ปี 2530 กระทั่ง ปัจจุบัน
หลังจากเริ่มทำนิตยสาร แค้มปิ้งท่องเที่ยวแล้ว เมื่อเรียนจบปริญญาตรี วินิจก็ตัดสินใจย้ายมาอยู่ที่นิตยสารท่องเที่ยว นาม ‘อนุสาร อสท.’ โดยทำงานที่นี่นับตั้งแต่เรียนจบในปี 2530 กระทั่งปัจจุบัน

เมื่อเริ่มแรกที่วินิจมาทำงานที่นิตยสาร อสท. ก็เริ่มต้นจากการเป็นนักเขียนและช่างภาพ คือรับหน้าที่ทั้งเขียนสารคดีด้วยและถ่ายภาพด้วย วินิจกล่าวว่า เมื่อครั้งที่ยังทำงานอยู่นิตยสารแค้มปิ้งท่องเที่ยว จะได้ไปทำงานเพียงด้านของการเดินทางธรรมชาติอย่างเดียว เช่น เดินป่า ขึ้นเขา แต่เมื่อมาอยู่ อสท. ต้องเขียน ต้องทำทุกแนว และ อสท. อยู่มานานเนื่องจาก ปีนี้ อสท. เข้าสู่ปีที่ 61 แล้ว อยู่มายาวนาน เนื่องจากอนุสาร อสท.เกิดขึ้นพร้อมกับองค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ( อ.ส.ท.) ซึ่งปัจจุบันคือการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย

วินิจกล่าวว่า “ผมเข้าไปตอนนั้น มีนักเขียน อสท. รุ่นบุกเบิกหลายคนที่มีชื่อเสียงโด่งดัง เช่น คุณปราโมทย์ ทัศนาสุวรรณ คุณวาสนา กุลประสูตร คุณดวงดาว สุวรรณรังสี เป็นกลุ่มที่มีชื่อเสียงต้นๆ ผมทำ อสท. อยู่นานๆ ก็สนุกสนาน และทำสายท่องเที่ยวมาโดยตลอด กระทั่งปี 2534 ทาง อสท. เรามองเห็นว่านักท่องเที่ยวชาวต่างชาติอย่างฝรั่งเริ่มเข้ามาเยอะมากขึ้น มีฝรั่งมาดำน้ำกันที่ภูเก็ต เราก็สนใจสน็อกเกิ้ล ( Snorkel การดำน้ำตื้น) กัน เพราะมองเห็นความสวยงาม ก็รู้สึกว่าทำอย่างไรคนไทยจะมีโอกาสได้เห็นว่าโลกใต้น้ำมีอะไร พวกเราก็เลยมาตั้งคอร์สกัน แล้วในการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หรือ ททท. ก็รวมตัวไปเรียนดำน้ำกัน ในปี 3534 เราไปเรียนแล้วรู้สึกสนุก เริ่มดำน้ำได้หนึ่ง-สองปีก็เริ่มถ่ายภาพใต้น้ำกัน แล้วก็เริ่มที่จะเขียนเรื่องราวเกี่ยวกับโลกใต้ทะเลมานำเสนอใน อสท.” วินิจบอกกล่าวถึงจุดริเริ่มในการดำน้ำ

>>> กำเนิดคอลัมน์ ‘ท่องโลกใต้ทะเล’ จุดกระแสการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์

ประจำที่มีการนำเสนอทุกเดือน ชื่อคอลัมน์ ‘ท่องโลกใต้ทะเล’ นำเสนอเรื่องราวสรรพชีวิตใต้ทะเล กุ้งหอยปูปลามีความสวยงามอย่างไร มีวิถีชีวิต มีวงจรชีวิตอย่างไร ทรงคุณค่าต่อท้องทะเลอย่างไร ก็นำเสนอกันมาโดยตลอด

“รวมทั้งนำเสนอเรื่องราวการดำน้ำอย่างไร ให้ช่วยอนุรักษ์ธรรมชาติให้เกิดความยั่งยืน เพราะยุคบุกเบิกการดำน้ำของไทย เริ่มมาจาก ทหารอเมริกันที่เข้ามาอยู่ที่พัทยา และตั้งฐานทัพบริเวณนั้น แล้วเขาก็ไปดำน้ำกันที่พัทยา มีเครื่องไม้เครื่องมือ มีถังอากาศ สมัยก่อนดำน้ำแล้วต้องมีปืนฉมวก ไม่ต่างจากในภาพยนตร์ ยุคต้นๆ ของการดำน้ำ เป็นประมาณนั้น เกิดค่านิยมว่าปลาฉลามกลายเป็นศัตรูของนักดำน้ำ เป็นภัยคุกคาม เช่นมีภาพยนตร์ เรื่อง Jaws มีความดุร้ายของฉลาม ดังนั้น คนดำน้ำยุคแรกๆ จะดำน้ำด้วยความสนุกสนานและมีฉมวกไปยิงปลา แต่เมื่อพวกเราไปดำน้ำตั้งแต่แรกเริ่มเลย แทนที่จะยิงปลา เราก็ยิงด้วยภาพถ่ายกลับมาแทน เพื่อบอกเล่าความสวยงามว่าเมื่ออยู่ใต้ทะเลแล้ว ไม่น่าเชื่อว่า ปลามันจะว่ายมาใกล้ๆ เรา มันอาจไม่รู้จักเราว่าเป็นมนุษย์ซึ่งเป็นสิ่งมีชีวิตกินปลาตัวยง มันก็ว่ายมาดูใกล้ๆ ว่าเอ๊ะ! เป็นตัวอะไร ตัวใหญ่ๆ มีฟองอากาศขึ้น แล้วรู้สึกมันน่ารัก เป็นมิตร เราน่าจะนำเสนอความน่ารัก ความสวยงามเหล่านี้กลับไป” วินิจกล่าวได้อย่างเห็นภาพ

วินิจเล่าว่า เมื่อ อสท.นำเสนอภาพความสวยงามเหล่านี้ไปเยอะขึ้นๆ ทิศทางการดำน้ำของไทยก็เปลี่ยนไป ซึ่งเราเองเราก็รณรงค์ให้เลิกใช้ฉมวกยิงปลา เลิกถือปืนฉมวกต่างๆ จากนั้น ปืนฉมวกก็หายไปจากวงการดำน้ำของไทย ก็กลายเป็นการดำน้ำเพื่อดูความสวยงาม เพื่อช่วยกันดูแลท้องทะเลไทย นอกจากนี้ ยังมีการวางทุ่นที่ทาง ททท. เองจัดกิจกรรมรวมนักดำน้ำไปวางทุ่นผูกเรือ แทนการทอดสมอ





>>> รณรงค์เลิกทิ้งสมอ, แนะนักท่องเที่ยว อย่าทำร้าย ‘ปะการังโขด’
วินิจกล่าวว่า เนื่องจากในยุคแรกๆ เรือที่พาไปดำน้ำส่วนใหญ่ดัดแปลงมาจากเรือประมงใหญ่ ๆ เมื่อถึงจุดหมายที่จะลงดำน้ำแล้ว ก็จะใช้วิธีการที่จะผูกเรือไม่ให้ลอยไปไหนด้วยการทิ้งสมอ หนัก 40-50 กิโลกรัม ทิ้งลงไปครั้งหนึ่งก็ไปทำปะการังแตกสลาย

“หลังจากนั้น ก็ระมัดระวังกันมากขึ้น มีการวางทุ่นแทน ปัจจุบันนี้ การดำน้ำ จึงไม่มีการทิ้งสมอเรือเลย สำหรับบริการดำน้ำก็จะมีการผูกทุ่นตามทุ่นต่างๆ หรือไม่ก็จะให้เรือลอยลำเฉยๆ เพื่อรอรับนักดำน้ำ เหล่านี้ก็นับเป็นบทบาทของ อสท. ที่เราทำมาแล้วก็ได้ผล เป็นสิ่งที่เราทำมา ที่มีส่วนช่วยให้แนวทางการดำน้ำของเมืองไทยเปลี่ยนไป จากนั้นก็เริ่มมีโรงเรียนสอนดำน้ำ มีครูฝึกดำน้ำ มีการเรียนการสอนดำน้ำเพิ่มมากขึ้น ส่วนหนึ่งก็คิดว่า มีแรงบันดาลใจจากการนำเสนอสารคดีและคอลัมน์ท่องโลกใต้ทะเล ของ อสท.อยู่ไม่มากก็น้อยครับ”

วินิจระบุ และอธิบายเพิ่มเติมว่าแนวทางและวิธีการนำเสนอของ อสท. ไม่ได้ใช้วิธีการอนุรักษ์แบบสุดโต่งหรือแบ่งขั้ว ว่าคุณไม่ดี ถ้าคุณยังยิงปลา ยังทำลายปลา เพราะหากทำแบบนั้นก็จะเป็นการแบ่งออกเป็นสองฝักสองฝ่าย ตีกันเป็นคนละขั้ว แต่ อสท.ใช้การนำเสนอให้เห็นถึงความสวยงามของท้องทะเล สะท้อนให้เห็นว่าถ้ามีสมอทิ้งลงไป จะมีความเสียหาย แม้ไม่ตั้งใจ แต่ก็สร้างความเสียหายให้ท้องทะเลเพราะสมอจะกว้านปะการังไปเป็นแถบๆ เป็นการชี้ให้เห็น รวมทั้งบอกเล่าถึงความสวยงาม และแนะนำวิธีการดำน้ำให้ถูกวิธี อาทิ ในการดำน้ำแบบสน็อกเกิ้ล ปกติคือการดำน้ำตื้น ใส่เสื้อชูชีพ แล้วก็ใส่หน้ากากดำน้ำ ไม่ได้สวมตีนกบ บางครั้งเหนื่อยๆ เห็นโขดหินปะการังกว้างๆ บางคนก็อาจจะยืนเพื่อพักเหนื่อย ซึ่งจริงๆ แล้วโขดที่ยืนอยู่นั้น ไม่ใช่ก้อนหิน แต่มันคือ ‘ปะการังโขด’ ซึ่งการเหยียบการยืนก็ทำให้ปะการังตาย เราก็ถ่ายทอดผ่าน อสท. บอกว่าอย่าไปยืนเลย เพราะปะการังอาจจะตายถ้าไปเหยียบยืนกันบ่อยๆ และความสวยงามก็ลดลงไป และบางทีการไปยืนแบบนั้น อาจจะไปเจอสัตว์ทะเลที่มีพิษ ทิ่มตำได้ ถ้าไปยืนไปเหยียบ

“เราก็ค่อยๆ บอก แล้วพฤติกรรมผู้อ่านก็จะค่อยๆ เปลี่ยน ด้วยความรักด้วยความห่วงใย มันจะมีพลังและมีแนวร่วมมากกว่า ด้วยเหตุนี้ คอลัมน์ ‘ท่องโลกใต้ทะเล’ จึงเป็นคอลัมน์หลักที่มีมายาวนาน ประมาณ 30 กว่าปี นับแต่เราเริ่มหัดดำน้ำกัน ถ่ายภาพใต้น้ำและเขียนเรื่องราวของโลกใต้น้ำ โลกใต้ทะเล ปัจจุบันก็ยังมีอยู่”

วินิจระบุถึงความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีผ่านการนำเสนอความงามของธรรมชาติผ่าน อนุสาร อสท.

เมื่อดำน้ำแบบสน็อกเกิ้ลจนชำนาญแล้ว วินิจเล่าว่าจากนั้นก็ไปเรียนการดำน้ำแบบสคูบาหรือการดำน้ำลึก ( Scuba diving ) ซึ่งจำเป็นต้องเรียนกับครูผู้ชำนาญ เนื่องจากการใช้อุปกรณ์ดำน้ำมีอุปกรณ์เสริมเข้าไป การลงไปในพื้นน้ำที่มีแรงกดดันมากกว่าบรรยากาศข้างบน สองสามเท่า ในทุกๆ ความลึกต่างๆ ทำให้อากาศที่หายใจเขาไปจากถังอากาศนี่คืออากาศ ที่หากลงไปในความลึก ความกดดันที่มากขึ้นสองถึงสามเท่า จะทำให้มวลปริมาณของอากาศ ถูกบีบให้เล็กลงไปอีก ทำให้ต้องหายใจเข้าไปเยอะขึ้นเยอะขึ้น อีกทั้งจะมีไนโตรเจนสะสม ซึ่งจะทำปฏิกริยากับกระแสเลือดในส่วนต่างๆ ของร่างกายได้ และนอกจากนี้ ถ้าหากขึ้นจากน้ำเร็วเกินไป อากาศก็จะกลับมาโตขึ้นเหมือนเดิม เบียดกับเส้นเลือดทำให้เส้นเลือดแตกได้ เหล่านี้คือความยากและหลักของความปลอดภัยที่เราต้องเรียนต้องศึกษาให้รู้ เพื่อความปลอดภัย เพื่อไม่ให้เกิดอันตรายต่างๆ ในการดำน้ำ


>>> เมื่อแรกดำน้ำ จากอ่าวไทยสู่อันดามัน

วินิจกล่าวว่า “เมื่อเรียนดำน้ำ เราก็ไปเรียนที่ทะเลจริงกันในปี 2534 ระยะเวลา เมื่อ 30 ปีก่อน ในช่วงนั้น การออกทะเล ถ้าจะไปอันดามันสวยๆ เป็นเรื่องยาก เราก็ไปเกาะล้านที่พัทยา เริ่มไปสอบภาคทะเลกันที่นั่น ก็สนุก ติดใจ เพราะในเวลานั้น เกาะล้าน พัทยาก็มีอะไรให้ดูเยอะพอสมควร จากนั้น ก็ไปที่หมู่เกาะแถวชุมพร ที่นั่นก็น้ำใส ทะเลสวย ที่ชุมพรเริ่มสร้างความประทับใจให้กับพวกเรามากขึ้น จากนั้น ก็เริ่มข้ามไปฝั่งอันดามัน ไปหมู่เกาะสิมิลัน ไปหมู่เกาะสุรินทร์ โอ้โฮ! ยิ่งสวยใส แล้วความหลากหลายของฝูงปลามีมากมาย

ถ้าถามว่าปัจจุบัน ชอบดำน้ำที่ไหนมากที่สุดก็ต้องบอกว่าเป็นอันดามัน ที่มีทั้งความใสของน้ำ น้ำเป็นสีบลู โลกใต้ทะเลนั้นก็มีสรรพชีวิตที่หลากหลาย มีทั้งปะการังอ่อน กัลปังหา สีสันจะมีมากกว่าทางฝั่งอ่าวไทย แล้วก็ฝูงปลาจะอุดมสมบูรณ์กว่า เพราะเป็นทะเลที่ลึก มีความชันมากกว่าทางฝั่งอ่าวไทย เพราะฉะนั้น ฝูงปลา หรือสรรพชีวิตจากทะเลนอกจะแวะเวียนเข้ามาที่อันดามันได้เยอะกว่า ก็จะมีความหลากหลายกว่า” วินิจระบุถึงบรรยากาศที่แตกต่างของโลกใต้ทะเล

>>> อันดามัน อัศจรรย์แห่งท้องทะเล

เมื่อถามว่าประทับใจ หรือชอบบริเวณใดที่สุดในการดำน้ำถ่ายภาพ วินิจกล่าวว่า

“ส่วนที่ชอบมากที่สุด น่าจะเป็น แถวๆ หมู่เกาะสิมิลันที่มีสรรพชีวิตที่สวยงาม เกาะตาชัย อันนี้ก็สวยงาม หรือที่เป็นกองหินใต้น้ำก็เป็นกองหินริเชลิว ที่อยู่ในเขตของหมู่เกาะสุรินทร์หรืออุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์

ริเชลิว จริงๆ เป็นชื่อของแม่ทัพเรือฝรั่งที่เข้ามาอยู่ ในประเทศไทย เข้ามาดูแลกองทัพเรือสมัย รัชกาลที่ 5 กองหินริเชลิว เป็นกองหินใต้น้ำ ห่างจากหมู่เกาะประมาณ 11 กม. อยู่กลางน้ำ บางช่วงยอดหินจะไม่โผล่พ้นน้ำ ถ้าน้ำท่วมหมด แต่หากช่วงน้ำลดจะพบว่ามีลักษณะคล้ายๆ ยอดเขา ที่ตั้งขึ้นมากลางทะเล ถ้าน้ำลดก็จะโผล่ปริ่มน้ำนิดๆ

ถ้าเราจินตนาการ ท้องทะเล เป็นพื้นทรายร้อยตารางกิโลเมตร ภูเขาหรือเกาะที่ตั้งขึ้นมา ก็เปรียบเหมือนเป็นศูนย์รวมของสรรพชีวิตในผืนทรายใต้ทะเล ซึ่งปะการัง กัลปังหา พืชทะเล สัตว์ทะเลต่างๆ จะมาชุมนุมกัน อยู่รวมกันเป็นคอมมูนิตี้ ( Community ) เป็นกลุ่ม เป็นชุมชนใต้ทะเลที่นั่น

ดังนั้น กองหินริเชลิว จะเป็นทั้งกองหินใต้น้ำที่ครอบคลุมด้วยปะการังอ่อนสีแดง สีส้ม สีชมพู เต็มไปหมด มีกัลปังหาสีเหลืองแผ่นใหญ่ขนาดราวหนึ่งเมตรถึงสองเมตร เต็มไปหมด แล้วก็ฝูงปลา โอ้โฮ! สวยงามมาก มีกระทั่งปลาขนาดใหญ่ เช่น ฉลามวาฬ ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นปลาที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในท้องทะเล หากไม่รวมวาฬ ที่เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม แต่สำหรับปลานั้น ฉลามวาฬนับเป็นปลาที่ใหญ่ที่สุด ลำตัวยาวที่สุด มีสถิติที่เคยค้นพบคือ ยาวถึง 18 เมตร เท่ารถบัสคันหนึ่ง ตัวใหญ่ และกว้างประมาณหนึ่งถึงสองเมตร ก็มีแวะเวียนว่ายวนผ่านมา ฉลามวาฬเป็นฉลามก็จริง แต่จะอ้าปากกินแพลงก์ตอนเล็กๆ ไม่มีเขี้ยว ไม่ดุร้าย ปากก็จะกรองแพลงก์ตอน ลูกกุ้งลูกปลาเล็กๆ พอฉลามวาฬว่ายมาที แล้วเราว่ายเข้าไปใกล้ๆ มันช่างตื่นตาตื่นใจเหลือเกินครับ

หรือแม้แต่ ‘กระเบนราหู’ ซึ่งเป็นปลากระเบนที่ใหญ่ที่สุดในท้องทะเลเหมือนกัน กระเบนราหูจะมีลักษณะลำตัว แบนๆ เหลี่ยมๆ คล้ายว่าว แต่ความกว้างของลำตัว จากปลายปีกด้านหนึ่ง ถึงอีกด้านหนึ่งนี่ประมาณ 6 เมตร ถือว่าใหญ่ที่สุด ที่เคยเจอ ส่วนทะเลบ้านเรา ตัวละ 2-4 เมตร ว่ายมาเหมือนบินมา ลักษณะจะคล้ายๆ จานบินที่ลอยอยู่ในหนังอวกาศ น่าตื่นตาตื่นใจ แล้วสัตว์ใหญ่ๆ เหล่านี้ ก็ไม่ได้กลัวนักดำน้ำ จะว่ายมาใกล้ๆ ให้เราได้ถ่ายรูปกัน แถวๆ กองหินริเชลิว หรือหมู่เกาะตาชัย เกาะบอน ก็จะเจอกันบ่อย เกาะบอนนั้นเป็นส่วนหนึ่งของหมู่เกาะสิมิลัน” วินิจบอกเล่าได้อย่างเห็นภาพ



>>> ‘ท่องโลกใต้ทะเล’ กับมุมมองที่สะท้อนถึงความเปลี่ยนแปลง

ถามว่า นับแต่ ปี 2534 จวบจนถึงปัจจุบัน อสท. ก็ยังคงมีคอลัมน์ ‘ท่องโลกใต้ทะเล’ อยู่ การที่ยังสามารถนำเสนอเรื่องราวและภาพถ่ายโลกใต้น้ำได้อย่างต่อเนื่องยาวนานนั้น สะท้อนถึงความอุดมสมบูรณ์ของทะเลไทยอย่างไรบ้าง

วินิจตอบว่า “แน่นอนครับว่าช่วงระยะเวลายาวไกลตั้งแต่ ปี 2534-2564 รวมระยะเวลาสามสิบปีแล้วตั้งแต่ที่เริ่มดำน้ำมา ผมสังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงสิ่งแรกเลย คือการเปลี่ยนแปลงของเครื่องไม้เครื่องมือ วิทยาการดำน้ำ เพราะสามสิบปีที่แล้ว ก็ต่างจากปัจจุบัน

ในอดีตนั้น เมื่อครั้งที่ ‘ฌาคส์ กุสโต’ (Jacques-Yves Cousteau) ‘บิดาแห่งการดำน้ำ’ พาเรือสำรวจชื่อ ‘คาลิปโซ’ ( Calypso ) มาที่หมู่เกาะสิมิลัน ผมก็ยังทันเห็นเรือคาลิปโซลอยลำอยู่

กล่าวเปรียบเทียบถึงในช่วงนั้น อุปกรณ์ดำน้ำยังเป็นแบบพื้นฐานง่ายๆ เช่น แจ็คเก็ตที่ปรับให้ลอย-จม ก็ยังเป็นแบบคอม้า สวมหัว เชยๆ แบบโบราณทุกอย่างเป็นอุปกรณ์โบราณ เหมือนภาพยนตร์เจมส์บอนด์รุ่นต้นๆ กระทั่งทุกวันนี้พัฒนาขึ้นมา มีอุปกรณ์ใหม่ๆ เช่นไดรฟ์คอมพิวเตอร์ คำนวนปริมาณไนโตรเจนที่เราสูดเข้าไป เมื่อสมัยก่อนก็ไม่มีใช้กันเหมือนทุกวันนี้

ในยุคนั้น เราต้องเรียนการคำนวณด้วยการจับเวลา ว่าดำน้ำกี่นาที พักนานเท่าไหร่ ไนโตรเจนที่สะสมในร่างกายเราจะมีเท่าไหร่ เราต้องพักกี่นาที กี่ชั่วโมง ถึงจะดำน้ำต่อได้ ใช้การคำนวณด้วยตัวเลขหมด แต่ทุกวันนี้ ดำลงไป ใช้อุปกรณ์ที่เรียกว่าไดรฟ์คอมพิวเตอร์ จะคำนวณให้เราหมดเลยครับ ว่าต้องพักเมื่อไหร่ ถ้าขึ้นจากน้ำเร็วไป ก็จะมีเสียง ‘ติ๊ดๆ’ ให้ขึ้นจากน้ำช้าลง มันสะดวกสบายขนาดนั้น มีกระทั่งกล้องถ่ายรูปที่ถ่ายรูปใต้น้ำได้ เมื่อสามสิบปีที่แล้ว กล้องไม่ได้ เป็นออโต้โฟกัส ต้องใช้วิธีกะระยะด้วยสายตาว่าระยะเป็นกี่เมตร ได้ภาพคมบ้าง ชัดบ้าง ไม่ชัดบ้าง ก็ต้องเสี่ยงเอา” วินิจระบุถึงการทำงานถ่ายภาพใต้น้ำในอดีต

วินิจเล่าเพิ่มเติมว่า ในยุคนั้น เริ่มมีการคิดค้นกล้องถ่ายภาพใต้น้ำโดยเฉพาะขึ้นมาแล้ว โดยค่าย นิคอน ( Nikon ) กล้องตัวแรกๆ ของการดำน้ำ มียางกันน้ำซีลปิด มีตัวล็อกที่ช่วยให้น้ำไม่เข้ากล้อง แต่จริงๆ น้ำก็ยังเข้ากล้องได้ กล้องของพวกเราก็พังไปหลายตัวแล้ว จนปัจจุบัน เปลี่ยนมาเป็นคล้ายๆ กล่องดำน้ำที่ล็อคและใส่กล้อง DSLR ปัจจุบันเข้าไป อุปกรณ์นี้เป็นกล้องดิจิตอลที่สามารถกดดูใต้น้ำได้เลยว่าภาพสวยหรือไม่สวย ถ้าไม่สวยก็ถ่ายใหม่ แต่เมื่อก่อนเป็นกล้องฟิล์ม เมื่อขึ้นมาบนเรือบนฝั่งแล้วก็ยังไม่เห็น ต้องกลับมากรุงเทพ แล้วก็ส่งฟิล์มไปล้างถึงจะรู้ว่าภาพใช้ได้หรือไม่ได้ ซึ่งเหล่านี้ นับเป็นพัฒนาการของการถ่ายภาพใต้น้ำ ทว่า ในขณะเดียวกัน ความอุดมสมบูรณ์ของโลกใต้ทะเลกลับสวนทางกัน


“ตอนดำน้ำใหม่ๆ สามสิบกว่าปีก่อน ปลาใหญ่อย่างฉลาม กระเบน เยอะแยะไปหมด เรียกว่าเห็นบ่อย ลงไปนี่เห็นได้ง่าย เต่าทะเลตัวใหญ่ๆ ขึ้นมาหายใจบนผิวน้ำ เดี๋ยวนี้ กลายเป็นหาเจอได้ยาก ไปสักทริป อาจจะเจอสักตัวหรือสองตัว ความอุดมสมบูรณ์มันลดลง เพราะการใช้ทรัพยากรทะเลเยอะขึ้น การทำประมง เครื่องไม้เครื่องมือก็พัฒนาขึ้น จับปลาได้เยอะขึ้น ในขณะเดียวกัน ปลาก็เหลือน้อยลงตามไปด้วย

แต่หากถามว่ายังมีความสวยงามอยู่ไหม มันก็ยังมีความสวยงามอยู่ เพราะพื้นที่หมู่เกาะทางทะเล อย่างหมู่เกาะสุรินทร์ หมู่เกาะสิมิลัน ถูกประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติทางทะเล ก็ไม่มีการบุกรุกเข้าไป นอกจากเรือท่องเที่ยว แต่การประมงทำในพื้นที่อุทยานไม่ได้ แต่ความอุดมสมบูรณ์ของทะเลก็ต้องยอมรับว่าลดลง แต่สำหรับคนที่เริ่มดำน้ำ เขาก็อาจจะเปรียบเทียบไม่ได้กับเมื่อก่อน เขาก็อาจยังเห็นว่าสวย ตื่นตาตื่นใจ ซึ่งภาพที่ผมส่งให้เพื่อประกอบบทความก็เป็นภาพที่ถ่ายในปัจจุบัน ที่สะท้อนให้เห็นว่ายังคงมีความอุดมสมบูรณ์ มีสีสันต่างๆ” วินิจระบุ

>>> ทะเลยังมีเสน่ห์ โลกใต้ทะเลยังสวยงาม

เมื่อถามว่าอะไรคือเสน่ห์ของการถ่ายภาพใต้น้ำ

วินิจตอบว่า “เสน่ห์ของการถ่ายภาพใต้น้ำ เหมือนเป็นการทำงานอยู่กับความสวยงาม เป็นการทำงานที่มีความสุข การถ่ายทอดความสวยงามของโลกใต้ทะเลขึ้นมาให้คนได้เห็น ให้คนที่ดำน้ำไม่ได้ ได้มีโอกาสเห็น ชื่นชมด้วย และช่วยกันดูแลท้องทะเลไปด้วย เป็นงานที่มีความสุขครับและจะทำต่อไปเท่าที่จะถ่ายได้

ขณะเดียวกัน การที่ลงไปถ่ายภาพใต้น้ำ พบว่า ปลาแต่ละชนิดมีอุปนิสัยแตกต่างกัน บางชนิดปราดเปรียว บางชนิดเชื่อง อยู่ให้เราถ่ายได้นานๆ บางชนิดต้องรีบถ่าย บางชนิดต้องถ่ายภาพจากด้านหน้า ถ้าเราไปด้านข้าง หรือด้านหลังแล้วเขาตกใจ เห็นเราแล้วรีบหนีไปเลยก็มี แล้วจะไม่ได้ภาพ เหล่านี้ ต้องเกิดจากการที่เราศึกษาวิถีชีวิตของพวกเขาด้วย เพราะการที่เราไปดำน้ำ ก็เปรียบเสมือนเราก้าวเข้าไปในบ้านของพวกเขา เราต้องสร้างความคุ้นเคย หรือความไว้วางใจให้เขาได้ ถ้ารู้จักลักษณะนิสัยเขา เราก็จะถ่ายภาพของเขากลับขึ้นมาได้ อันนี้เป็นความสุขและความสนุกของการถ่ายภาพใต้น้ำ ซึ่ง อสท. จะนำเสนอต่อไป” วินิจกล่าวยืนยันชัดเจน


เมื่อถามว่า วินิจ จะยังคงถ่ายภาพและเขียนสารคดีที่น่าอ่านให้กับ อสท.ต่อไปจนถึงเมื่อไหร่

วินิจตอบว่า “อสท. เป็นนิตยสารที่เริ่มมาตั้งแต่ เดือนสิงหาคม ปี 2503 เดือนนี้ก็เดือนสิงหาคมพอดี ครบรอบ 61 ปี แล้ว อสท. ก็ยังคงอยู่คู่กับหน่วยงานของ ททท. อยู่คู่กับคนอ่านต่อไปครับ เพราะว่า ททท. ก็ส่งเสริมสนับสนุนให้ อสท. เป็นนิตยสารคู่กับผู้อ่านต่อไป ขณะเดียวกัน อสท. ก็ยังเผยแพร่อยู่ทุกเดือน เราก็มีเปิดแฟนเพจเฟซบุ๊ค อนุสาร อสท. ก็สามารถไปกดไลค์ให้แฟนเพจได้ มีเรื่องราวทั้งใต้น้ำ บนบก

นอกจาก อสท.ออนไลน์แล้ว เรายังมีรายการ อสท. ออนทีวี ซึ่งเป็นรายการ โทรทัศน์ เผยแพร่ทางช่อง 9 ทุกวันอาทิตย์ เวลา 10 โมงเช้า นำเรื่องราวสารคดีของ อสท. มานำเสนอในรูปแบบรายการทีวี ก็ตื่นตาตื่นใจไปอีกแบบหนึ่ง

ทั้งสามส่วนที่กล่าวมานี้ ก็ยังดำเนินต่อไป เป็น อสท. ที่ ททท. ให้การสนับสนุนเป็นเพื่อนคู่ใจนักเดินทางตลอดไปแม้เป็นยุคออนไลน์แล้ว แฟนๆ หนังสือของเราก็ยังเหนียวแน่น ตั้งแต่รุ่นพ่อรุ่นแม่ มายังรุ่นหลาน บางครอบครัวเก็บไว้เต็มตู้

ณ ปัจจุบัน อสท. มียอดจำหน่ายสูงสุดในหมวดนิตยสาร ขณะที่นิตยสารรุ่นราวคราวเดียวกันจากไปแล้วหลายเล่ม แต่เราก็จะยังคงอยู่ต่อไปให้นานที่สุด” วินิจระบุและกล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันเขายังคงดำน้ำ และถ่ายภาพใต้น้ำอยู่อย่างต่อเนื่อง แม้ในช่วงวิกฤติโควิด หากมีโอกาสและมีเวลา เขาก็จะยังคำดำน้ำและถ่ายภาพใต้ท้องทะเล ในขณะเดียวกัน งานด้านบริหารของ ททท. ก็ยังคงทำอยู่ด้วย

เมื่อถามทิ้งท้ายว่าดำน้ำและถ่ายภาพใต้น้ำครั้งล่าสุดเมื่อไหร่ วินิจตอบว่า เขาดำน้ำครั้งล่าสุดเมื่อเดือนมกราคม 2564 หรือต้นปีที่ผ่านมา ณ หมู่เกาะสิมิลัน

เป็นคำตอบที่สะท้อนถึงความผูกพันและความหลงใหลต่อโลกใต้ท้องทะเลไทยที่มีอยู่อย่างแน่นแฟ้นเสมอมา




Text by รพีพรรณ สายัณห์ตระกูล
Photo by วินิจ รังผึ้ง


กำลังโหลดความคิดเห็น