xs
xsm
sm
md
lg

คนไทยใช้ประชาธิปไตยเป็นหรือเปล่า! เริ่มด้วยพรรคการเมืองแรกถูกยุบ นายกฯคนแรกถูกรัฐประหาร!!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: โรม บุนนาค



หลังจากที่คณะราษฎรได้ยึดอำนาจการปกครองในวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ แล้ว มีการจัดตั้งรัฐบาลและเลือกตั้งผู้แทนราษฎร แต่ทั้งพระยาพหลพลพยุหเสนา หัวหน้าคณะราษฎร และปรีดี พนมยงค์ คนต้นคิดเปลี่ยนแปลงการปกครอง ต่างก็ไม่กล้าเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เกรงว่าจะสร้างความแตกแยกให้หนักเข้าไปอีก อยากจะใช้วิธีสมานฉันท์ประนีประนอม ให้เห็นว่าต้องการเปลี่ยนการปกครองเท่านั้น ไม่ต้องการเปลี่ยนตัวบุคคล จึงไปเชิญเอาพระยามโนปกรณ์นิติธาดามาเป็นนายกรัฐมนตรี พระยามโนฯนั้นท่านเป็นขุนนางเก่า ภรรยาของท่านก็เป็นนางสนองพระโอษฐ์สมเด็จพระนางรำไพพรรณีที่ไปเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางรถยนต์ครั้งตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯประพาสอินโดจีน ท่านจึงเป็นฝ่ายอำนาจเก่าเต็มตัว

อุตส่าห์เสี่ยงตายยึดอำนาจมาได้ แต่กลับให้ฝ่ายที่ถูกยึดอำนาจครองอำนาจต่อ ไม่เห็นมีใครที่ไหนเขาทำกัน การจัดตั้งรัฐบาลชุดแรกนี้จึงเพื่อให้โฉมหน้าดูดี แต่ซุกความขัดแย้งไว้ใต้พรม

เมื่อประกาศชื่อพระยามโนฯขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี ฝ่ายอำนาจเก่าที่กำลังท้อแท้เพราะหมดอำนาจ จึงกลับประปรี้กระเปล่ากันขึ้นทันที เข้ารุมล้อมพระยามโนฯ ครม.ชุดแรกนี้แม้จะมีพระยาพหลฯและปรีดีร่วมอยู่ด้วย แต่ส่วนใหญ่ก็มาจากขุนนางเก่า ส่วนผู้แทนราษฎรชุดแรกที่มาจากการแต่งตั้ง ๗๐ คน เพื่อความสมานฉันท์จึงมีคณะราษฎรร่วมอยู่เพียง ๓๐ คน นอกนั้นเป็นผู้มีฐานันดรจากระบบเก่า กลุ่มของพระยามโนฯจึงเข้มแข็งขึ้นเรื่อยๆ

หลังจากพระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับถาวรเมื่อวันที่ ๑๐ ธันวาคม ๒๔๗๕ แล้ว มีการเลือกตั้งทั่วประเทศ สมาชิกสภาที่เข้ามาเกือบทั้งหมดสนับสนุนพระยาพหลฯและปรีดี แต่ใน ครม.อำนาจเก่าก็ปรากฏชัดขึ้น เข้าคุมกระทรวงสำคัญหลายกระทรวงรวมทั้งกลาโหม อีกทั้ง ๓ ใน ๔ ทหารเสือของคณะราษฎร ก็ยังแยกตัว ออกไปจากพระยาพหลฯ หันไปสนับสนุนพระยามโนฯ

ในวันที่ ๒๕ กันยายน ๒๔๗๕ กลุ่มคณะราษฎรได้จดทะเบียนเป็น “สมาคมคณะราษฎร” ความจริงก็ทำหน้าที่เป็นพรรคการเมือง เพราะขณะนั้นยังไม่มีกฎหมายให้จดทะเบียนพรรคการเมืองได้ มีบุคคลหลายอาชีพเข้ามาสมัครเป็นสมาชิกกันมากมากมาย แต่แล้วในวันที่ ๓๐ มีนาคมต่อมา พระยามโนฯก็ประกาศห้ามข้าราชการทั้งทหารและพลเรือน รวมทั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นสมาชิกสมาคมการเมือง และสั่งให้ยุบสมาคมคณะราษฎร ทำให้พระยานิติศาสตร์ไพศาล นักกฎหมายผู้เป็นนายกสมาคมคณะราษฎร อภิปรายในสภาว่า

“วิธีการที่ทำเช่นนี้ควรจะใช้กฎหมายห้าม คือไม่ใช่ทำไปโดยไม่มีอำนาจตามกฎหมาย อันเป็นแบบเผด็จการมโนเครซีมากกว่า...”

คำว่า “มโนเครซี” จึงเป็นคำฮิตในยุคนั้น หมายถึงทำไปตามใจ ไม่ต้องคำนึงถึงอะไรทั้งนั้น

การประชุมสภาช่วงนั้นจึงเคร่งเครียด ส.ส.หลายคนพกปืนโผล่ด้ามเข้าประชุม ในการประชุมครั้งสุดท้ายของปีเพื่อพิจารณาพระราชบัญญัติสำคัญเรื่อง พ.ร.บ.เงินกู้ภายในประเทศ และ พ.ร.บ. งบประมาณแผ่นดิน ปี ๒๔๗๖พระยามโนฯเกรงว่าจะแพ้โหวตในสภา จึงใช้วิธีที่ ครอมเวลล์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษเคยใช้มาแล้ว คือสั่งให้นำทหาร ๑ กองร้อยมาค้นตัว ส.ส.ทุกคนก่อนเข้าประชุมเป็นการข่มขู่ เรื่องนี้เลยกลายเป็นเรื่องโกรธแค้นกันหนักเข้าไปอีก

แม้ฝ่ายพระยามโนฯจะเชื่อมั่นว่ามีอำนาจเหนือกว่าใน ครม.และทางทหาร แต่ในทางสภามีผู้สนับสนุนน้อยกว่าปรีดี ประชุมสภาทีไรถูกกระหน่ำจนทนไม่ไหว จึงเรียกประชุม ครม.นัดพิเศษโดยไม่มีปรีดีเข้าร่วมประชุมด้วย และออกประกาศเป็นพระราชกฤษฎีกาในค่ำของวันที่ ๓๑ มีนาคม สรุปความได้ว่า

๑.ให้ปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร จนกว่าจะมีการเลือกตั้งขึ้นใหม่

๒.ให้ยุบคณะรัฐมนตรีชุดปัจจุบัน แต่ให้นายกรัฐมนตรีปัจจุบันเป็นนายกรัฐมนตรีของ ครม.ชุดใหม่ ส่วนรัฐมนตรีอีก ๒๐ นายจะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯตามคำแนะนำของนายกรัฐมนตรีต่อไป

๓.ขณะที่ยังไม่มีการเลือกตั้งใหม่ ให้คณะรัฐมนตรีใหม่ที่ตังขึ้นตาม พ.ร.บ.นี้ปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ

๔.ขณะที่ยังไม่มีการเลือกตั้งผู้แทนราษฎร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะทรงใช้อำนาจนิติบัญญัติตามคำแนะนำของคณะรัฐมนตรี

๕.บทบัญญัติใดในรัฐธรรมนูญที่ขัดกับ พ.ร.บ.นี้ ให้งดใช้ไว้ก่อน

พ.ร.บ.นี้มีชื่อ พ.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนาและ พ.ต.หลวงพิบูลสงครามร่วมเซ็นชื่อรับสนองพระราชโองการด้วย แม้จะคัดค้านในที่ประชุมแต่ก็ทานเสียงส่วนใหญ่ไม่ได้

จากนั้นพระยามโนฯก็จัดการ “เนรเทศ” ปรีดีคนต้นคิดเปลี่ยนแปลงการปกครองที่ขัดแย้งกันอย่างรุนแรงในเรื่องเค้าโครงเศรษฐกิจแห่งชาติ และยังเป็นคนเขียนแถลงการณ์เมื่อวันยึดอำนาจ ออกนอกประเทศ โดยรัฐบาลจ่ายเงินค่ายังชีพให้ปีละ ๑,๐๐๐ ปอนด์ หรือราว ๑๐,๐๐๐ บาท โดยให้กระทรวงการต่างประเทศออกหนังสือแนะนำตัวไปด้วยว่า

“หลวงประดิษฐ์มนูธรรม ซึ่งแต่ก่อนเคยเป็นเจ้าหน้าที่ผู้หนึ่งในรัฐบาลของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว บัดนี้ได้ท่องเที่ยวไปในฐานะคนธรรมดาและตรวจศึกษาภาวะแห่งเศรษฐกิจในประเทศต่างๆ”

นอกจากนี้ในวันที่หลวงประดิษฐ์ฯและภรรยาเดินทางออกนอกประเทศ คือวันที่ ๑๒ เมษายน ๒๔๗๖ ฝ่ายพระยามโนฯยังได้ “ตอกฝาโลง” โดยออก “พระราชบัญญัติว่าด้วยคอมมิวนิสต์ พ.ศ.๒๔๗๖” อันเป็น กม.คอมมิวนิสต์ฉบับแรกของไทย จากนั้นก็ออกข่าวกระหน่ำว่าหลวงประดิษฐ์ฯเป็นคอมมิวนิสต์

เมื่อกำจัดหลวงประดิษฐ์ฯไปแล้ว ถ้ากำจัดพระยาพหลฯได้อีกคน ก็จะถือว่ายึดอำนาจคืนจากคณะราษฎรได้สมบูรณ์ ๓ ทหารเสือคณะราษฎรที่แปรพักตร์ไปจึงเข้าหว่านล้อมพระยาพหลฯว่าเอือมระอาการเมืองเต็มทน และว่าทหารเราไม่ควรยุ่งกับการเมือง เมื่อยึดอำนาจมาได้แล้วก็ควรปล่อยให้นักการเมืองเขาจัดการกันไปเอง และชวนให้พระยาพหลฯเซ็นชื่อลาออกจากตำแหน่งการเมืองและการทหารพร้อมกันทั้ง ๔ คน โดยให้มีผลในวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๖ ครบ ๑ ปีของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พระยาพหลฯคนซื่อก็ยอมลงชื่อกับเขาด้วย

เมื่อมาถึงจุดนี้ พ.ท.หลวงพิบูลสงคราม มือขวาของพระยาพหลฯก็เห็นลางร้าย ถ้านิ่งเฉยต่อไปก็จะหัวขาดกันเป็นแถว จึงรีบไปหาพระยาพหลฯและร้องว่า “อาจารย์เสียท่าพระยาทรงเข้าแล้ว” และชวนกันทำรัฐประหาร พระยาพหลฯว่ารับปากเขาไปแล้วว่าถ้าใครมาชวนทำรัฐประหารก็จะไม่ยุ่งด้วย แต่หลวงพิบูลฯก็ขอร้องให้เห็นแก่ระบอบประชาธิปไตยที่เสี่ยงชีวิตเปลี่ยนแปลงกันมา และเห็นแก่คนที่ไปชวนเขามาร่วมด้วยจะต้องได้รับเคราะห์กรรมกันไปหมด พระยาพหลฯจึงมองเห็นความจริง เพราะขณะนั้นที่หน้าบ้านของตัวก็มีตำรวจมาคุมอยู่แล้ว

ฉะนั้นในคืนวันที่ ๑๙ มิถุนายน ๒๔๗๖ ยังไม่ทันครบปีของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ท.หลวงพิบูลสงคราม ด้วยบารมีของพระยาพหลฯ จึงสั่งสตาร์ทเครื่องรถถังอีกครั้งเข้ายึดอำนาจได้โดยที่อีกฝ่ายไม่ทันได้ตั้งตัว เปิดประชุมสภาได้ในวันที่ ๒๗ มิถุนายน ทำให้ประชาธิปไตยกลับมาเดินต่อได้ใหม่ และเดินอย่างลุ่มๆดอนๆมาจนถึงทุกวันนี้

ในสมัยรัชกาลที่ ๖ ทรงมีพระราชปณิธานจะพระราชทานการปกครองที่เหมาะสมกับยุคสมัยแก่ปวงชนชาวไทยในวาระสมโภชสิริราชสมบัติครบ ๑๕ ปีในปี พ.ศ. ๒๔๖๘ จึงทรงให้ข้าราชบริพารและขุนนางข้าราชการได้ทดลองใช้ประชาธิปไตยเตรียมตัวรับการปกครองรูปแบบใหม่ แต่ได้เสด็จสวรรคตเสียก่อน

ในสมัยรัชการที่ ๗ ทรงมีพระราชดำริที่จะพระราชทานรัฐธรรมนูญที่ทรงร่างไว้แล้ว ในวันจักรี ๖ เมษายน ๒๔๗๕ แต่ทว่าบรรดาที่ปรึกษาได้ถวายคำแนะนำว่าราษฎรยังไม่มีความพร้อมที่จะรับ จึงทรงระงับไว้ก่อน

เมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองขึ้นในวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ ก็เห็นกันแล้วว่า ทั้งฝ่ายอำนาจเก่าและฝ่ายอำนาจใหม่ที่ได้อำนาจมาถือไว้ในมือ ต่างก็ใช้ประชาธิปไตยไม่เป็นกันทั้งนั้น ถือแต่ความต้องการของตัวเป็นใหญ่ แม้แต่กฎหมายรัฐธรรมนูญที่เป็นกฎหมายสูงสุดก็ออกเป็นพระราชบัญญัติให้ระงับการใช้ได้ ส่วนอีกฝ่ายก็แก้เกมด้วยรัฐประหาร ใช้วิธีรัฐประหารแก้โรคประชาธิปไตยที่เน่าเฟะได้ จนทำให้ทั่วโลกแปลกใจที่คนไทยให้ดอกกุหลาบรถถัง แต่บางครั้งคณะรัฐประหารก็กลายเป็นเหลือบฝูงใหม่ที่เลวร้ายยิ่งกว่าฝูงเก่า

เมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองใน พ.ศ.๒๔๗๕ ประชาธิปไตยยังเป็นของใหม่อาจจะใช้กันไม่ค่อยเป็น แต่นี่ ๙๐ ปีแล้ว กลับยิ่งไปกว่าเก่า ถึงขั้นเผาบ้านเผาเมือง ใช้หนังสติ๊กและพลุระเบิดเรียกร้องประชาธิปไตย ไม่รู้ว่าประเทศไทยมาถึงวันนี้ได้ยังไง ไม่รู้จะโทษใครก็ต้องขอโทษกระทรวงศึกษาธิการ ที่หลักสูตรการศึกษาไม่ได้สอนให้คนซึมซับประชาธิปไตย รู้จักสิทธิหน้าที่ และภูมิใจในรากเหง้าของตัวเอง วิชาประวัติศาสตร์ หน้าที่พลเมืองและศีลธรรมหายไปไหน เมื่อย้อนไปดูรายชื่อรัฐมนตรีกระทรวงนี้ จะเห็นว่าถึงขั้น “ยี้” มีอยู่หลายคน บางคนไม่รู้จะเอาไปลงไว้ที่ไน ก็มาแปะไว้ที่กระทรวงศึกษาธิการ ไม่เห็นความสำคัญของการศึกษาแล้ว ยังไม่ให้เกียรติครูบาอาจารย์ที่ต้องอยู่ใต้บังคับบัญชาของคนประเภทนี้บ้างเลย

ระบอบการปกครองนั้นก็เหมือนเสื้อผ้า ถ้าจะเลือกมาใช้ก็ต้องดูให้เหมาะสมกับบุคลิกหน้า นิสัยใจคอ และสภาพอากาศของบ้านเรา ระบอบคอมมิวนิสต์ก็ทำให้ประเทศจีนเจริญมั่งคั่ง ระบอบเผด็จการทำให้หลายประเทศก้าวหน้ารุ่งเรืองได้ อย่างเกาหลีใต้ก็พลิกโฉมขึ้นมาในสมัยของประธานาธิบดีปักจุงฮีที่ว่าเป็นเผด็จการเต็มรูปแบบ ระบอบกษัตริย์เป็นประมุขใต้รัฐธรรมนูญ ก็ไม่ใช่มีแต่อังกฤษ อีกหลายประเทศที่เจริญแล้วอย่างนอร์เวย์ สวีเดน เดนมาร์ค สเปน และญี่ปุ่น ก็ปกครองด้วยระบอบนี้
ปราชญ์ของโลกพระองค์หนึ่ง รับสั่งไว้ว่า

“...การทำให้บ้านเมืองมีความปรกติสุขเรียบร้อย จึงมิใช่การทำให้ทุกคนเป็นคนดี หากแต่อยู่ที่การส่งเสริมคนดี ให้คนดีได้ปกครองบ้านเมือง และควบคุมคนไม่ดีไม่ให้มีอำนาจ ไม่ให้ก่อความเดือดร้อนวุ่นวายได้...”

ส่วนจะทำให้รู้จักพิจารณาว่าคนแบบไหนเป็นคนดีหรือคนไม่ดี ก็เป็นหน้าที่ของกระทรวงศึกษาธิการละครับ
กำลังโหลดความคิดเห็น