วันนี้ (24 ส.ค.) ผศ.โสภา อ่อนโอภาส นักวิชาการอิสระ ในฐานะนักวิจัยโครงการพัฒนารูปแบบการเสริมพลังชุมชนการเฝ้าระวังทางสังคมและดูแลช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ สังคมจากการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ที่คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้รับการสนับสนุนจาก สสส. กล่าวว่า ได้ลงพื้นที่ดำเนินโครงการในชุมชนวัดโตนด อ.บางกรวย จังหวัดนนทบุรี ซึ่งเป็นชุมชนที่มีรายได้น้อย ชาวบ้านตกงาน มีผลกระทบทางเศรษฐกิจ จึงร่วมกันจัดทำแผนเผชิญเหตุ เตรียมรับมือสถานการณ์โควิด เช่น รณรงค์ป้องกันกลุ่มเสี่ยงในชุมชน หากมีคนติดเชื้อในชุมชนจะต้องทำอย่างไร เพื่อให้ชุมชนช่วยเหลือกันเองได้ พร้อมเตรียมแผนป้องกันโควิด-19 ด้วยการระดมทำความสะอาดพื้นที่ส่วนกลางของชุมชน เช่น สนามออกกำลังกาย อุปกรณ์ฟื้นฟูสุขภาพ เดือนละ 1-2 ครั้ง รวมทั้งติดตั้งเครื่องวัดอุณหภูมิ พร้อมทั้งสนับสนุนเรื่องการปลูกผักไว้กินกันเองในชุมชน เพื่อจะได้ประหยัด รวมถึงจัดฝึกอาชีพทำขนมหวาน สูตรดังของคนในชุมชนเพื่อนำไปทำรับประทานในครัวเรือน และต่อยอดจำหน่าย หารายได้เข้าสู่ครอบครัว นอกจากนี้ ด้วยชุมชนโตนด เป็นชุมชนเก่าแก่นับร้อยปี ที่มีวัดโตนดเป็นจุดศูนย์รวม ในช่วงวิกฤตโควิดระลอกแรกได้ร่วมกับวัดออกโรงทานให้ผู้ทุกข์ยาก ทำข้าวกล่องส่งให้แต่ละครอบครัว ทำคูปองอาหารให้มาแลก ซึ่งทั้งหมดเพื่อเป็นกำลังใจและเสริมสร้างพลังใจให้แก่กัน และเป็นองค์ความรู้ให้ชาวบ้านนำไปต่อยอดปรับใช้กับเหตุการณ์วิกฤต
นางมณี โตเฟื่อง กรรมการชุมชนวัดโตนด ขอบคุณโครงการที่เข้ามาช่วยเหลือชุมชน ให้มีกินมีใช้ และปลอดภัยจากเชื้อโควิด -19 โดยได้ระดมเอาน้ำยามาเช็ดถู ฆ่าเชื้อทุกบ้านในชุมชน ป้องกันไม่ให้คนที่อื่นเข้ามา เพื่อให้เป็นพื้นที่ปลอดโควิด ส่วนการดำรงชีวิต ในช่วงวิกฤตโควิดระลอกนึ้ ได้เก็บผักที่ปลูกจากโครงการมากิน ไม่ต้องออกไปซื้อข้างนอก เพราะสถานการณ์โควิดระบาดรุนแรง อีกทั้งลดค่าใช้จ่ายได้มาก สามารถต่อชีวิตคนจนที่ไม่มีเงินให้ดำรงชีวิตอยู่ได้ ส่วนการฝึกอาชีพก็ได้ทำขนมขายและกินเอง สร้างรายได้ แต่ช่วงนี้โควิดระลอกหลังนี้ไม่ได้ออกไปจำหน่าย
พว.จินตนา ไวกยี ประธานศูนย์ฟื้นฟูผู้สูงอายุผู้พิการวัดโตนดและผู้จัดการดูแลระบบผู้สูงอายุ วัดโตนด กล่าวว่า โครงการได้เข้ามาเตรียมความพร้อมวางแผน รับมือสถานการณ์โควิด ตั้งแต่แรกว่าหากมีระลอกใหญ่จะทำอย่างไร โดยระดมสมองจากหลายหน่วยงาน มีอาสาสมัครในชุมชน อาสาที่จะดูแลเป็นหูเป็นตาให้ในชุมชน ซึ่งชุมชนวัดโตนดได้จัดระบบ คัดกรองคนเข้า-ออก ระแวดระวัง คนต่างพื้นที่เพื่อคัดกรองป้องกันโควิดเป็นอย่างดี มีการปลูกพืชผักสวนครัว ทำขนมเพื่อสร้างรายได้ นอกจากนี้ วัดโตนดยังได้ทำอาหารโรงทานทางปัญญา สมุนไพรต่อต้านโควิด น้ำ 4 สหาย น้ำเกลือ กลั้วคอ พัฒนากล่องคิลาน ปัจจัยที่มีอุปกรณ์จำเป็นสำหรับผู้ป่วยโควิดสีเขียวด้วย ขณะที่สถานการณ์โควิดในปัจจุบัน ทุกคนในชุมชนป้องกันตัวเอง เพราะมีองค์ความรู้ แต่ยังคงยกการ์ดสูงขึ้นและเพิ่มความระมัดระวังอย่างต่อเนื่อง