xs
xsm
sm
md
lg

ของแปลกของกรุงเทพฯ...ถนนชื่อเดียวกันแต่มีถึง ๘ สาย! ชื่อพระราชทานจาก ร.๙!!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: โรม บุนนาค



เมื่อปี ๒๕๒๑ กรุงเทพมหานครได้ตัดถนนเชื่อมระหว่างย่านสินค้าถนนพหลโยธินกับถนนวิภาวดีรังสิต โดยตัดผ่านที่ดินซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของการรถไฟแห่งประเทศไทยที่มอบให้ ทั้งยังได้รับความร่วมมือจากกองพันทหารช่างที่ ๑๑๑ เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้าง กทม.จึงเห็นว่าควรจะตอบแทนหน่วยงานทั้ง ๒ นี้ที่ช่วยให้ถนนสายนี้เกิดขึ้นได้ โดยจะตั้งชื่อถนนให้เป็นเกียรติแก่หน่วยงานทั้ง ๒ และบังเอิญที่หน่วยงานทั้ง ๒ นี้เกี่ยวข้องกับ พลเอกพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเคยทรงดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการรถไฟหลวง และทรงวางรากฐานสร้างให้กิจการรถไฟไทยเจริญก้าวหน้า อีกทั้งยังเคยทรงดำรงตำแหน่งจเรการช่างทหารบก และทรงวางรากฐานให้หน่วยงานนี้มีความมั่นคงต่อมา จึงเห็นควรเชิญพระนามของพระองค์มาเป็นชื่อถนนว่า “ถนนกำแพงเพชร”

เมื่อ กทม.ได้หารือกับการรถไฟแล้ว การรถไฟกลับมีความเห็นว่าควรให้ชื่อว่า “ถนนบุรฉัตร” ซึ่งเป็นพระนามเดิมของกรมพระกำแพงเพชร คือ พระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร และยังทรงเป็นต้นราชสกุล “บุรฉัตร” ทั้งการรถไฟก็เคยใช้ตราบุรฉัตรติดข้างรถจักรดีเซลรุ่นแรกทุกคันที่พระองค์ทรงนำมาใช้เมื่อปี ๒๔๗๑

แต่เมื่อ กทม.ได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตนำพระนามของพระราชวงศ์มาเป็นชื่อถนน พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอเลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มีพระราชกระแสว่า ชื่อถนนที่ใช้พระนามกรมเจ้านายที่ตรงกับชื่อจังหวัดมีอยู่แล้วหลายสาย เช่น “ถนนพิชัย” มาจากพระนามพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นพิชัยมหินทโรดม “ถนนเพชรบุรี” มาจากพระนามสมเด็จพระราชปิตุฉา เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร และ “ถนนนครสวรรค์” ก็มาจากพระนาม สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานชื่อถนนสายใหม่นี้ว่า “ถนนกำแพงเพชร”

นอกจากนี้ กทม.ยังเห็นว่า มีถนนอีกหลายสายที่ตัดผ่านที่ดินย่านสินค้าพหลโยธิน จึงควรตั้งชื่อถนนที่ตัดผ่านที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทยให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งหมดว่า “ถนนกำแพงเพชร” รวมทั้งถนนที่การรถไฟเป็นผู้ตัดไว้แต่เดิมและมอบให้ กทม.แล้ว คือถนนสายที่แยกจากถนนพหลโยธิน ผ่านหน้าองค์การตลาดเพื่อการเกษตร หรือ ตลาด อ.ต.ก. ไปบรรจบกับถนนพระราม ๖ ที่ริมคลองประปา เดิมเรียกกันว่า “ถนนย่านพหลโยธิน” เป็น “ถนนกำแพงเพชร” ด้วย

ส่วนถนนที่แยกจากถนนกำแพงเพชร ขนานไปกับถนนพหลโยธิน ผ่านสวนจตุจักรด้านตะวันออก ไปบรรจบกับถนนวิภาวดีรังสิต เป็น “ถนนกำแพงเพชร ๑”
 
ถนนที่แยกจากถนนกำแพงเพชรตรงหน้าตลาด อ.ต.ก.ผ่านด้านตะวันตกของสวนจตุจักร และเจเจมอลล์ ไปบรรจบกับถนนรัชดาภิเษก ที่แยกรัชวิภา เป็น “ถนนกำแพงเพชร ๒”

ส่วนถนนอื่นๆในย่านนั้น รวมทั้งถนนที่กรมคมนาคมตัดเป็นถนนท้องถิ่นเลียบทางรถไฟ ที่เรียกว่า “Local Road” ก็ให้ชื่อว่าถนนกำแพงเพชรทั้งหมด โดยเรียงลำดับตัวเลขกันไปจนถึง “ถนนกำแพงเพชร ๗” แยกจากถนนนิคมมักกะสันเลียบทางรถไฟสายตะวันออก ขนานกับถนนเพชรบุรีตัดใหม่ไปจนถึงซอยพัฒนาการ ๕๓ โน่น

“ถนนกำแพงเพชร” จึงเป็นชื่อของถนนของกรุงเทพฯที่มีรวมกันถึง ๘ สาย และไม่ใช่ถนนซอยที่แยกออกจากถนนสายหลัก แต่ต่างก็เป็นถนนสายหลัก และบ้างก็แตกกลุ่มออกไปจากย่านจตุจักร แต่ทุกถนนมีความเกี่ยวโยงกันที่สร้างบนที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทยเหมือนกัน จึงเป็นที่มาของ “ถนนกำแพงเพชร” ที่มีถึง ๘ สายในชื่อเดียวกัน
กำลังโหลดความคิดเห็น