นพ.อารักษ์ วงศ์วรชาติ ผอ.โรงพยาบาลสิชล จ.นครศรีธรรมราช เปิดเผยถึงปฏิบัติการกู้ชีพแม่ที่ตั้งครรภ์ 34 สัปดาห์ติดเชื้อโควิดอาการน่าเป็นห่วง เชื้อลงปอด และลูกในท้องอาการวิกฤต สุดท้ายสามารถทำคลอดได้สำเร็จ ล่าสุดแม่อาการดีขึ้น ส่วนทารกยังต้องดูแลอย่างใกล้ชิด
เมื่อวันที่ 21 ส.ค. นพ.อารักษ์ วงศ์วรชาติ ผอ.โรงพยาบาลสิชล จ.นครศรีธรรมราช ได้ออกมาโพสต์ข้อความเปิดเผยเรื่องสะเทือนใจเกี่ยวกับการปฏิบัติการกู้ชีพแม่ตั้งครรภ์ติดโควิดและทารกอยู่ในภาวะวิกฤต ลงในเฟซบุ๊กส่วนตัว “Arak Wongworachat” โดย นพ.อารักษ์ได้ระบุข้อความเล่าว่า
“ปฏิบัติการกู้ชีพ 2 ชีวิตแม่ลูก หญิงตั้งครรภ์ติดโควิด ทารกในครรภ์อยู่ในภาวะวิกฤต
เหตุเกิดเมื่อวานนี้ ได้รับรายงานเบื้องต้นมีผู้ป่วยโควิดตั้งครรภ์ 34 สัปดาห์ อาการไม่ดีทั้งแม่และทารกในครรภ์ จึงไปที่ตึกคลอดทันที เมื่อไปถึงมีทีมแพทย์ พยาบาลชุดใหญ่รออยู่ ประกอบด้วย สูติแพทย์ กุมารแพทย์ อายุรแพทย์ วิสัญญีแพทย์ และพยาบาลช่วยผ่าตัด พยาบาลวิสัญญี ครบทีม อยู่ในชุดปฏิบัติการเตรียมพร้อมช่วยชีวิตผู้ป่วยโควิดที่ตั้งครรภ์และทารกอยู่ในภาวะวิกฤต ด้วยมีผู้ป่วยอายุ 27 ปีติดเชื้อโควิด ตั้งครรภ์ 34 สัปดาห์ มานอนรักษาได้ 2 วัน มีอาการปอดบวม เชื้อลงปอด สัญญาณชีพแย่ลง ความดันต่ำ
วัดค่าออกซิเจนในเลือดลดต่ำลงจาก 98 เหลือ 96, 90 และ 86 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ ในขณะเดียวกัน ได้ติดตามสัญญาณชีพทารกในครรภ์ด้วยเครื่องตรวจจับการเต้นของหัวใจทารกและการดิ้นของเด็ก พบว่าหัวใจทารกเต้นเร็วมากกว่า 200 ครั้งต่อนาที เด็กดิ้นลดลง เป็นสัญญาณไม่ดี
เด็กอาจขาดออกซิเจนจากแม่ไปด้วย หากทิ้งไว้ต่อไปโอกาสเสียชีวิตสูงมาก ในขณะที่ทารกในครรภ์อายุเพียงแค่ 34 สัปดาห์ การเอาทารกออกมาก่อนกำหนดก็ถือเป็นความเสี่ยงอย่างหนึ่งที่จะต้องดูแลอย่างใกล้ชิด เนื่องจากทารกที่ยังไม่ครบกำหนดระบบการหายใจยังไม่ปกติเหมือนทารกที่ตั้งครรภ์ครบกำหนด การดมยาสลบผู้ป่วยที่ติดโควิดแล้วปอดบวมก็มีความเสี่ยงอย่างมาก ในระหว่างหารือได้สั่งการให้ทีม หมอดมยาสลบและพยาบาลช่วยผ่าตัดที่กักตัวจากการผ่าตัดเคสก่อนหน้านี้ขึ้นมาเตรียมพร้อมทันที ที่ห้องผ่าตัด ในระหว่างนั้นพยาบาลห้องคลอดเข้ามารายงานว่าการเต้นของหัวใจทารกในครรภ์เริ่มลดลงและเบา ทีมจึงร่วมตัดสินใจทันทีว่าต้องให้เด็กรอด ทางรอดคือการผ่าตัดเอาเด็กออกทันทีโดยไม่ชักช้าและแม่ก็มีโอกาสรอดด้วย ไม่เช่นนั้นจะเสียชีวิตทั้งแม่และลูกในครรภ์ ดังข่าวที่ปรากฏหลายราย
ทีมจึงจัดการทันที ย้ายผู้ป่วยเข้าห้องผ่าตัดที่อยู่ติดกัน เตรียมรับเด็กช่วยฟื้นคืนชีพ หลังจากผู้ป่วยขึ้นเตียงผ่าตัด หมอวิสัญญีเริ่มวางยา ความดันของแม่ก็เริ่มต่ำลง หมอให้โหลดน้ำเกลือเพื่อคุมความดันให้คงที่ ให้ยากระตุ้นความดัน ทีมสูติแพทย์เดินหน้าผ่าตัดเอาเด็กออกภายในเวลาไม่ถึง 5 นาที หมอเด็กเตรียมรับเด็ก เด็กออกมาไม่ร้องต้องช่วยชีวิต ให้ออกซิเจน ดูดน้ำคร่ำทางเดินหายใจ บีบแอมบูช่วยหายใจอยู่ประมาณ 3 นาทีจึงเริ่มร้อง “อุแว้” เสียงแรกออกมา
เสียงแรกที่ได้ยิน คือเสียงแห่งความปีติของคนที่อยู่ในห้องผ่าตัดกว่า 15 คนที่บีบคั้นหัวใจมาก่อนหน้านี้ ในระหว่างผ่าตัดต้องปิดเครื่องปรับอากาศชั่วคราวเพราะไม่ต้องการให้อุณหภูมิทารกต่ำเกินไป ทุกคนอยู่ในชุดพีพีอีที่ร้อนอบอ้าว ผ่าตัดแข่งกับเวลา จบปฏิบัติการเย็บมดลูก ตรวจสอบจุดเลือดออก เช็กอุปกรณ์ผ่าตัดภายในช่องท้องไม่ให้ตกค้าง จนเย็บแผลปิดภายนอก ในเวลาเพียง 15 นาที ถือเป็นวินาทีชีวิต ปฏิบัติการที่รวดเร็วมาก
เมื่อช่วยทารกจนอยู่ในระดับพ้นวิกฤตจึงรีบย้ายเข้าห้องอภิบาลทารกแรกคลอดในภาวะวิกฤตแรงดันลบ ที่ตึกกุมารเวชกรรม ส่วนแม่แยกย้ายเข้าดูแลผู้ป่วยวิกฤตห้องแรงดันลบตึกโควิด ยังคงใช้เครื่องช่วยหายใจปรับระดับสัญญาณชีพให้คงที่
เช้าวันนี้ แม่ยังคงใช้เครื่องช่วยหายใจ แต่วัดค่าออกซิเจนในเลือดได้ 94 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากเอาทารกออกไปแล้วจึงทำให้ลดภาระการใช้ออกซิเจนของแม่ลง สัญญาณชีพเริ่มคงที่ เป็นสัญญาณที่ดี อยู่ภายใต้ความดูแลของอายุรแพทย์ สูติแพทย์ และทีมพยาบาลหอผู้ป่วยวิกฤตโควิดอย่างใกล้ชิด
ส่วนทารกยังคงต้องดูแลใกล้ชิด ให้ออกซิเจน ใส่สายสวนทางสายสะดือเพื่อให้สารน้ำ ให้ยาต้านเชื้อ และเฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิด ระวังภาวะการหายใจล้มเหลวเนื่องจากคลอดก่อนกำหนดและติดเชื้อในกระแสเลือด เป็นอีกหนึ่งปฏิบัติการที่เสี่ยงทั้งผู้ป่วยถึง 2 ชีวิต และทีมแพทย์ พยาบาล ที่ถูกกักตัวอยู่แล้ว เรียกมาปฏิบัติการอีกครั้ง การปฏิบัติการครั้งนี้ต้องระดมทีมถึง 30 คนมาช่วยในปฏิบัติการครั้งนี้เพื่อให้สำเร็จในเวลาอันรวดเร็ว ไม่ได้ดีที่สุด แต่พร้อมที่สุดในสถานการณ์เช่นนี้ ต่อจากนี้ต้องทุ่มเทอย่างเต็มที่เพื่อให้ทั้งคู่ปลอดภัย”