xs
xsm
sm
md
lg

ลือหึ่ง! “ไฮโซลูกนัท” ตาขวาบอด หลังถูกกระสุนไม่ทราบชนิดยิง ระหว่างตำรวจสลายการชุมนุมที่ดินแดง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“รุ้ง ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล” แกนนำกลุ่มราษฎร โพสต์อัปเดตอาการ “ไฮโซลูกนัท” หลังถูกยิงกระสุนแก๊สน้ำตา ระหว่างตำรวจสลายการชุมนุมที่ดินแดง ในวันที่ 13 ส.ค. ที่ผ่านมา ล่าสุด ทราบว่า “ไฮโซลูกนัท” ตาขวาบอดแล้ว

จากกรณี นายธนัตถ์ ธนากิจอำนวย หรือ ไฮโซลูกนัท ลูกชายของ นายกิตติ ธนากิจอำนวย ประธานกิตติคุณบริษัท โนเบิล ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) และหนึ่งในนักเคลื่อนไหวการเมือง กลุ่มที่เรียกตัวเองว่า กลุ่มสลิ่มกลับใจขับไล่ประยุทธ์ ถูกยิงที่บริเวณดวงตา ระหว่างตำรวจสลายการชุมนุมที่ดินแดง ในวันที่ 13 ส.ค. ที่ผ่านมา

ล่าสุด วันนี้ (15 ส.ค.) เฟซบุ๊ก “Panusaya Sithijirawattanakul” หรือ รุ้ง ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล แกนนำกลุ่มราษฎร โพสต์อัปเดตอาการล่าสุดของ ไฮโซลูกนัท ทราบว่า ดวงตาขวาได้รับความกระทบกระเทือนอย่างหนัก ส่งผลให้ดวงตาขวาได้บอดลง โดยระบุข้อความว่า “ลูกนัทตาบอด หลังโดนเจ้าหน้าที่ยิงแก๊สน้ำตาเข้าที่บริเวณดวงตาเมื่อวันที่ 13 ที่ผ่านมา”

อย่างไรก็ตาม ลักษณะอาการของ ไฮโซลูกนัท ตามที่ รุ้ง ปนัสยา ได้ทวีตไว้ใกล้เคียงกับคำว่า “ผู้พิการ” ซึ่งจะหมายถึง ผู้ที่มีลักษณะใดลักษณะหนึ่ง ดังต่อไปนี้

1. พิการทางการมองเห็น หมายถึง ผู้ที่มีความผิดปกติหรือมีความลำบากในการมองเห็นตัวอักษรขนาดปกติ ถึงแม้ว่าจะใส่แว่นตาหรือคอนแทคเลนส์แล้วก็ยังไม่สามารถมองเห็นได้ชัดเจน เช่น คนตาบอด คนสายตาเลือนราง คนที่มีลานสายตาแคบกว่าปกติ บุคคลเหล่านี้จำเป็นต้องใช้อุปกรณ์พิเศษ เช่น แว่นขยายเพื่ออ่านอักษรตัวพิมพ์ที่ขยายใหญ่ (คนสายตาเลือนราง) หรือต้องใช้อักษรเบรลล์แทนอักษรปกติ (คนตาบอด)

2. พิการทางการได้ยินหรือการสื่อความหมาย หมายถึง ผู้ที่มีความผิดปกติหรือมีความลำบากในการได้ยินเสียงที่พูดในลักษณะปกติ ซึ่งอาจจะเนื่องมาจากหูตึงหรือหูหนวก บุคคลเหล่านี้จำเป็นต้องใช้อุปกรณ์พิเศษ เช่น เครื่องช่วยฟัง (คนหูตึง) หรือ ต้องใช้ภาษามือในการสื่อสาร (คนหูหนวก) พิการด้านการสื่อความหมาย หมายถึง ผู้ที่พูดไม่ชัดหรือมีความผิดปกติทางการพูดเป็นอย่างมาก จนทำให้เกิดปัญหาในการสื่อสารกับผู้อื่น หรือการมีความผิดปกติทางสมองที่ทำให้ไม่สามารถเข้าใจคำพูดของผู้อื่นได้

3. พิการทางกายหรือการเคลื่อนไหว หมายถึง ผู้ที่ลำบากในการเดิน/เคลื่อนไหวร่างกาย ได้แก่
– ผู้ที่มีความผิดปกติหรือความบกพร่องทางร่างกายที่เห็นได้ชัดเจน เช่น ผู้ที่มีความผิดปกติเกี่ยวกับขา แขน มือ นิ้ว หรือ
– ผู้ที่มีการสูญเสียความสามารถในการเคลื่อนไหวมือ แขน ขา หรือลำตัว อันเนื่องมาจากแขน หรือขาขาด/ลีบ กล้ามเนื้ออ่อนแรง อัมพาต เป็นต้น

4. พิการทางจิตใจหรือพฤติกรรม หมายถึง ผู้ที่มีความผิดปกติหรือความบกพร่องทางจิตใจ ผู้ที่มีความผิดปกติทางอารมณ์และความคิด จนไม่สามารถควบคุมพฤติกรรมที่จำเป็นในการดูแลตนเอง หรืออยู่ร่วมกับผู้อื่น

5. พิการทางสติปัญญาและการเรียนรู้ หมายถึง ผู้ที่มีความผิดปกติหรือความบกพร่องทางสติปัญญา หรือสมองจนไม่สามารถเรียนรู้ด้วยวิธีการศึกษาปกติได้ หรือมีความจำกัดในการเรียนรู้เรื่องต่างๆ เมื่อเปรียบเทียบกับคนทั่วไป

ทั้งนี้ ผู้พิการ สามารถได้รับสิทธิความช่วยเหลือในรูปแบบต่างๆ ตามสิทธิคนพิการได้ดังนี้

1. ได้รับเบี้ยคนพิการ เฉพาะผู้ที่ขึ้นทะเบียนมีบัตรประจำตัวคนพิการถูกต้อง และมีสิทธิลงทะเบียนขอรับ “เบี้ยคนพิการ” เพิ่มเป็นคนละ 1,000 บาท/เดือน จากเดิมที่ได้รับ 800 บาท ตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 28 ม.ค. 63 จะจ่ายเป็นเงินสดหรือจ่ายผ่านบัญชีธนาคารภายในวันที่ 10 ของทุกเดือนตลอดชีวิตและสิ้นสุดลงเมื่อคนพิการเสียชีวิต/แจ้งขอสละสิทธิ ถ้าเป็นคนพิการที่อายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป จะได้รับสิทธิทั้ง “เบี้ยคนพิการ” และ “เบี้ยผู้สูงอายุ”

2. บริการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์ สิทธิคนพิการยังได้รับบริการทางสาธารณะสุข เพื่อการรักษาพยาบาลและช่วยเหลือให้คนพิการสามารถทำกิจกรรมทั่วไปได้ตามความต้องการ จำเป็นต้องฝึกฝนและทำอย่างต่อเนื่องให้เกิดความชำนาญและป้องกันความพิการที่จะเกิดเพิ่มขึ้น เช่น กายภาพบำบัด, กิจกรรมบำบัด(กลุ่มสันทนาการ ฝึกอบรม), การประเมิน/แก้ไขการพูด, จิตบำบัด, พฤติกรรมบำบัด, ฟื้นฟูการได้ยิน-การมองเห็น, ได้รับอุปกรณ์เครื่องช่วยตามประเภทความพิการ, การพัฒนาทักษะขั้นพื้นฐานการใช้ชีวิต, บริการทางการแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก (ฝังเข็ม นวดไทย), บริการทันตกรรม เช่น การเคลือบหลุมร่องฟัน, บริการเกี่ยวกับอุปกรณ์เสริมช่วยความพิการและแจ้งข้อมูลข่าวสารสุขภาพผู้พิการสามารถเข้าถึงได้

จะได้สิทธิคนพิการบริการข้างต้นก็ต่อเมื่อ เปลี่ยนจากสิทธิบัตรทองธรรมดาเป็นสิทธิคนพิการ ท.74 (“สิทธิหลักประกันสุขภาพ” หรือที่เคยรู้จักกันในนาม “สิทธิ 30 บาท หรือสิทธิบัตรทอง”)

แสดงบัตร ท.74 ที่สถานพยาบาลใกล้บ้านเพื่อขอบริการรับบริการฟื้นฟูสมรรถภาพ หรือการรักษาพยาบาล อาการเจ็บป่วยและได้รับอุปกรณ์เครื่องช่วยคนพิการที่หน่วยบริการที่ระบุในบัตรประกันสุขภาพทั่วประเทศได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

3. ได้รับการศึกษาฟรี โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายตั้งแต่พบความพิการจนตลอดชีวิต เป็นอีกประโยชน์หนึ่งของสิทธิคนพิการ สามารถแจ้งรับบริการได้ที่ศูนย์การศึกษา พิเศษประจำจังหวัด โรงเรียนใกล้บ้าน หรือสถานศึกษา หรือสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ของจังหวัดต่างๆ หรือหน่วยงานที่ประกาศกำหนด

เพื่อได้รับสิทธิทางการศึกษา ขั้นพื้นฐาน 15 ปี 2562 พร้อมได้รับเทคโนโลยี สิ่งอำนวยความสะดวก สื่อ บริการและความช่วยเหลือ โดยเลือกสถานที่ ระบบและรูปแบบทางการศึกษาคำนึงถึงความสามารถ ความสนใจ ความถนัดและจัดหลักสูตรให้สอดคล้องกับผู้พิการแต่ละประเภท

4. คนพิการสามารถสมัครงาน สมัครงานได้ที่สถานประกอบการทั้งรัฐและเอกชน ซึ่งเป็นสิทธิคนพิการที่ควรได้รับ โดยสามารถแจ้งรับบริการจัดหางานที่ศูนย์จัดหางานหรือแจ้งองค์กรด้านคนพิการที่บริการจัดหางานให้ เช่น ศูนย์จัดหางานคนพิการพระมหาไถ่ พัทยา และมูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย

ถ้านายจ้างรับคนพิการเข้าทำงานอันตราส่วนพนักงานต่อคนพิการ 100:1 นายจ้างมีสิทธิได้รับข้อยกเว้นภาษีเงินได้จำนวนร้อยละหนึ่งร้อยของรายจ่ายในการจ้างคนพิการ นายจ้างสามารถนำค่าจ้างนั้นมาหักเป็นค่าใช้จ่ายได้เท่าที่จ่ายจริง หากสถานประกอบการใดที่ไม่รับคนพิการเข้าทำงานต้องจ่ายเงินสมทบทุนเข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการเพื่อเป็นกองทุนช่วยเหลือดูแลคนพิการ

แต่นายจ้างจะรับสิทธิประโยชน์เฉพาะการจ้างคนพิการที่มีบัตรประจำตัวคนพิการเท่านั้น

5. บริการสิ่งอำนวยความสะดวก ทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชนเพื่อให้คนพิการสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้ เช่น ห้องน้ำทางลาด ที่จอดรถสำหรับคนพิการ เอกสารอักษรเบรลล์ ล่ามภาษามือ บริการคนส่งสาธารณะ ข้อมูลข่าวสารและบริการให้สัตว์นำทางกับคนพิการ เป็นต้น ให้แจ้งหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนที่รับผิดชอบ อบต. พมจ. สำนักงานเขต สภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทย เป็นต้น

6. คนพิการมีสิทธิขอกู้เงิน สิทธิคนพิการมีสิทธิขอกู้เงิน ไว้เพื่อประกอบอาชีพได้ที่ พมจ. กองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิต ศูนย์คุ้มครองสวัสดิภาพชุมชน กรุงเทพมหานคร หรือหน่วยงานที่ประกาศกำหนด

กู้ได้เป็นรายบุคคลไม่เกินรายละ 60,000 บาท ถ้าประสงค์กู้เงินเกินวงเงินที่กำหนดให้พิจารณาเป็นรายๆ ไม่เกิน 120,000 บาท กู้เป็นกลุ่มเพื่อประกอบอาชีพกลุ่มละไม่เกิน 1,000,000 บาท ไม่มีดอกเบี้ยแต่ต้องผ่อนส่งภายใน 5 ปี**

ผู้กู้ต้องอายุ 20 ปีขึ้นไป และมีบัตรผู้พิการและบัตรดูแลผู้พิการ กรอกข้อมูลว่าจะนำทุนไปประกอบอาชีพด้านใด โดยมีผู้ค้ำประกันที่เงินเดือนมั่นคง 1 คน ยื่นเรื่องขออนุมัติเงินไม่เกิน 2 สัปดาห์

7. แจ้งรับบริการสวัสดิการสังคม ได้ที่ อบต. พมจ. สำนักงานเขต ศูนย์คุ้มครองสวัสดิภาพชุมชน กรุงเทพมหานคร หรือหน่วยงานที่ประกาศกำหนด เพื่อคุ้มครองสิทธิคนพิการอย่างทั่วถึง เช่น ผู้ช่วยคนพิการ (สำหรับคนพิการระดับรุนแรง) ค่าใช้จ่ายสิ่งอำนวยความสะดวกภายในสถานที่พักอาศัย สถานที่เลี้ยงดูสำหรับผู้พิการไร้ที่พึ่ง

8. บริการล่ามภาษามือ เฉพาะคนหูหนวกมีสิทธิยื่นคำขอเพื่อขอรับบริการล่ามภาษามือในกรณีต่างๆแจ้งรับบริการได้ที่สมาคมคนหูหนวกแห่งประเทศไทย อบต. พมจ. สำนักงานเขต ศูนย์คุ้มครองสวัสดิภาพชุมชน กรุงเทพมหานคร หรือหน่วยงานที่ประกาศกำหนด เช่น การใช้บริการทางการแพทย์และสาธารณะสุข การสมัครงาน การร้องทุกข์ การกล่าวโทษหรือเป็นพยาน การเข้าร่วมประชุม สัมมนา ฝึกอบรมรวมทั้งเป็นผู้บรรยาย

9. ลดหย่อนภาษีเงินได้ สิทธิคนพิการยังสามารถขอลดหย่อนภาษีเงินได้ โดยแจ้งหน่วยงานของกรมสรรพากรที่ไปเสียภาษี สำหรับผู้ดูแลที่เลี้ยงดูคู่สมรส ลูก หรือพ่อแม่ที่พิการหรือทุพพลภาพ สามารถนำไปใช้ลดหย่อนแบบเหมาได้คนละ 60,000 บาทต่อปี แต่ถ้าผู้พิการหรือทุพพลภาพที่ดูแลอยู่ไม่คู่สมรส ลูก หรือพ่อแม่สามารถใช้สิทธิลดหย่อนได้แบบเหมา 60,000 บาทต่อเพียงคนเดียว ถ้าคู่สมรสไม่มีรายได้และมีความพิการด้วย สามารถรถหย่อนภาษีคู่สมรสได้ 60,000 บาท และลดหย่อนผู้พิการได้อีก 60,000 บาท รวมเป็นเงินลดหย่อนทั้งสิ้น 120,000 บาท หากมีข้อสงสัย หรือต้องการสอบถามเพิ่มเติม สามารถติดต่อได้ที่ สายด่วน 1300 และ 1479



กำลังโหลดความคิดเห็น