รายงานพิเศษ
การขาย “อาหารสด ผลไม้ สินค้าที่มีวันหมดอายุไม่นาน เน่าเสียได้” กลายเป็นปัญหาล่าสุดที่เกิดขึ้นจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เพราะกลายเป็นสินค้าที่ “ผู้ให้บริการขนส่ง” เลือกที่จะตัดออกจากกระบวนการขนส่งและโลจิสติกส์ไปก่อน เพราะแรงงานในอุตสาหกรรมขนส่งในขณะนี้มีจำนวนคนงานลดลงมาก สาเหตุจากการที่มีคนงานติดเชื้อ และผู้ที่สัมผัสเสี่ยงสูงก็ต้องกักตัว ซึ่งเป็นผลกระทบที่ยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ปัญหานี้ทำให้ผู้ประกอบการขนส่ง มีศักยภาพในการส่งของได้ในปริมาณที่น้อยลงและทำเวลาในการขนส่งได้ช้าลงกว่าเดิมด้วย จึงต้องเลือกที่จะ “ตัด” สินค้าบางประเภทออกจากกระบวนการ โดยมี “อาหารสด ผลไม้ ของที่เน่าเสียได้” เป็นอันดับแรก เพราะเสี่ยงที่จะส่งไปถึงมือผู้รับไม่ทัน และจะส่งผลเสียต่อภาพลักษณ์ของบริษัท ซึ่งเป็นผลกระทบต่อเนื่องมาถึงเกษตรกร ซึ่งต้องเปลี่ยนมาขายอาหารสด หรือ ผลไม้ ผ่านรูปแบบออนไลน์ เพราะการนำไปวางจำหน่ายที่ตลาดมีผู้ซื้อลดลงไปด้วย
แพลตฟอร์มที่มีชื่อว่า “วีมูฟ” (WeMove Platform) เป็นแพลตฟอร์มที่ใช้ในการขนส่งสินค้าแบบ “ฝากส่ง” ถูกสร้างขึ้นมาก่อนหน้าที่จะมีสถานการณ์โควิด-19 ไม่นานนัก ได้ถูกยกมาเป็นหนึ่งในทางเลือกสำหรับการส่ง “อาหารสด” ในช่วงนี้ เพราะถูกออกแบบมาให้เป็นกระบวนการขนส่งโดย “ลดขั้นตอน” ของการนำของไปรวมกันที่คลังสินค้า ด้วยการทำให้ผู้ซื้อ กับ ผู้ขาย ได้ติดต่อกันโดยตรง โดยมีแพลตฟอร์มเป็นสื่อกลางในการประสานหา “รถขนส่ง” ที่มีพื้นที่เหลือในรถอยู่แล้วและ “ใช้เส้นทางขนส่งเดียวกัน” หรือ “ผ่านทาง” ระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขายอยู่แล้ว
ปิยะนุช สัมฤทธิ์ กรรมการผู้จัดการและผู้ก่อตั้งวีมูฟ แพลตฟอร์ม, นายกสมาคมขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ไทย อธิบายเพิ่มเติมว่า ความต้องการของประชาชนในการซื้อขายสินค้าผ่านระบบขนส่งเพิ่มสูงขึ้นมาก จากความกังวลว่าจะติดเชื้อ ไม่ออกไปจับจ่ายซื้อของเอง แต่ศักยภาพในอุตสาหกรรมขนส่งกลับลดลง ทั้งจากจำนวนแรงงานที่น้อยลงและข้อจำกัดตามมาตรการต่างๆ ทำให้ผู้ประกอบการต้องเลือกตัดการขนส่งอาหารสดออกไปก่อน จึงเห็นว่า รูปแบบการขนส่งของ วีมูฟ แพลตฟอร์ม น่าจะเข้ามาช่วยรองรับการขนส่งอาหารสดได้บ้าง บรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรได้
“วีมูฟ แพลตฟอร์ม ที่เราทำขึ้นมา อาจจะมองได้ว่าเป็นเหมือนแกร็บของรถบรรทุก เดิมทีเราทำขึ้นมาเพื่อลดขั้นตอนที่ต้องนำสินค้าไปกองรวมกันที่คลังสินค้าหลายจุด ซึ่งต้องเสียเวลาในการขนถ่ายสินค้า เราจึงออกแบบแพลตฟอร์มให้ผู้ซื้อ กับ ผู้ขาย ได้พบกันโดยตรงผ่านแอปพลิเคชัน WeMove โดยกำหนดว่าหากมีความต้องการซื้อสินค้าที่มีปริมาณเยอะในจำนวนหนึ่ง และต้องการความรวดเร็วมากขึ้น ก็สามารถใช้ช่องทางนี้ได้”
“ยกตัวอย่างเช่น ผู้ซื้อที่อยู่ กทม. ต้องการซื้อมังคุด 100 กิโลกรัม จากชาวสวนที่จันทบุรี ก็เข้ามาที่ WeMove จากนั้นตัวแพลตฟอร์ม ก็จะประสานไปยังรถบรรทุกขนส่ง ที่มีตารางการขนส่งสินค้าอื่นอยู่ในเส้นทางเดียวกันอยู่แล้ว และมีพื้นที่ในรถยังเหลือพอที่จะนำมังคุด 100 กิโลกรัมไปได้ ก็จะรับบริการขนส่งมังคุดเหล่านี้พ่วงไปด้วย โดยที่ผู้ขายก็ไม่ต้องเหมารถขนส่งทั้งคัน ค่าขนส่งมีราคาถูกลงมาก และที่สำคัญในสถานการณ์โควิด-19 ก็จะทำให้ ของที่เน่าเสียได้ ยังมีช่องทางในการขนส่ง ไม่ต้องปล่อยให้ผลไม้เน่าคาสวน”
WeMove Platform จึงอาจเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่ช่วยบรรเทาปัญหาการจำหน่ายอาหารสด หรือ ผลไม้ ไปได้บ้างในช่วงที่อุตสาหกรรมการขนส่งประสบปัญหาหนักอยู่เช่นกันในช่วงนี้ อย่างน้อยก็อาจช่วยให้เกษตรกร ชาวสวน มีหนทางในการขายผลผลิตได้