รายงานพิเศษ
ชั้นวางสินค้าว่าง ของมาส่งไม่ทัน อาหารสดไม่สามารถส่งได้ ผลไม้เน่าตายคาสวน นี่เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับ “ภาคขนส่ง” ในช่วงประมาณ 1 เดือนที่ผ่านมา จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทยที่รุนแรงอย่างต่อเนื่อง นายกสมาคมขนส่งและโลจิสติกส์ไทย ให้สัมภาษณ์กับ MGR Online ถีงปัญหาในหลายมิติที่ส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่
ทั้งการที่แรงงานในภาคขนส่งลดลง ส่งสินค้าได้จำนวนเที่ยวน้อยลง ไม่สามารถส่งอาหารสดที่เป็นสินค้าสำคัญของภาคเกษตรได้ รวมถึงการมีจำนวนสินค้าลดลงตั้งแต่ภาคการผลิตในโรงงาน และการออกกติกาที่ไม่สามารถปฏิบัติตามได้ เช่น การกำหนดให้คนขับรถบรรทุกขนส่งสินค้าต้องฉีดวัคซีนก่อนทั้งที่ไม่มีวัคซีนให้ฉีด
ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนทำให้ต้นทุนการขนส่งสูงขึ้นจนผู้ประกอบการบางส่วนแบกรับไม่ไหว จึงมีข้อเรียกร้องให้รัฐบาลต้องเร่งแก้ปัญหาโดยเร็ว ก่อนที่ผู้ประกอบการภาคขนส่งจะหมดความอดทน
___________
• ภาคขนส่งและโลจิสติกส์ ยอมรับ ส่งสินค้าได้น้อยลงและช้ากว่าเดิมจากสถานการณ์โควิด แต่ยืนยันไม่ปล่อยให้สินค้าขาดตลาด
หลายคนคงเห็นบางช่วงเวลาที่ชั้นวางขายสินค้าบางประเภทในร้านสะดวกซื้อ “ว่างเปล่า” ในช่วงที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 ขึ้นมาแตะหลัก 2 หมื่นคนต่อวัน
เมื่อสินค้าอุปโภคบริโภคบางชนิดหายไปจากชั้นวางหลายวัน ทำให้เกิดความเข้าใจผิดไปด้วยว่า สินค้ากำลังขาดตลาด จนเกิดสภาวะการกักตุนสินค้าตามมาซ้ำเติมสถานการณ์เพิ่มขึ้นไปอีก
ปิยะนุช สัมฤทธิ์ นายกสมาคมขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ไทย อธิบายปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นว่า เป็นผลกระทบต่อเนื่องจากสถานการณ์โควิด ซึ่งทำให้กระบวนการผลิตสินค้าทำได้ในปริมาณที่น้อยลง เช่นเดียวกับภาคการขนส่งที่ทำงานได้ล่าช้ากว่าเดิมเช่นกัน
แต่ก็ยืนยันว่า ภาคขนส่งจะไม่ปล่อยให้สินค้าอุปโภคบริโภคขาดตลาด แต่ก็ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่รัฐบาลจะต้องรับฟังปัญหาและข้อเสนอแนะจากผู้ประกอบการ
“มีช่วงที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อเริ่มแตะ 2 หมื่นคนต่อวันติดกัน คนทั่วไปก็เกิดอาการ panic และมีข่าวออกมาในช่วงนั้นว่าสินค้าออนไลน์ก็จะหยุดส่ง คนส่วนหนึ่งก็เลยสั่งสินค้ามากักตุนเพิ่มขึ้น ซึ่งต้องยอมรับว่า ภาคขนส่งเองก็ทำงานได้ช้ากว่าเดิม เพราะคนงานจำนวนหนึ่งหายไปจากการติดเชื้อ คนใกล้ชิดก็ต้องกักตัว และเป็นสถานการณ์ที่ยังเกิดขึ้นอยู่เรื่อยๆ”
แต่นั่นเป็นเพียงสาเหตุหนึ่ง เมื่อมองสถานการณ์ในภาพรวมของสินค้าอุปโภคบริโภคตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง จะพบว่า มีปัญหาอยู่ตลอดเส้นทาง ตั้งแต่โควิดระบาดรุนแรง
ปิยะนุช เล่าสถานการณ์เริ่มตั้งแต่ภาคการผลิตที่ทำงานได้น้อยลง เพราะหลายโรงงานก็มีผู้ติดเชื้อและผู้สัมผัสเสี่ยงสูงต้องกักตัว ภาคขนส่งเองก็มีคนงานน้อยลงจากเหตุผลเดียวกัน และยังต้องลดความเสี่ยงด้วยการไปรับสินค้าจากโรงงานน้อยครั้งลง กระบวนการต่างๆ ที่คลังสินค้าก็ช้าลงไปด้วย
และแน่นอนว่า การส่งของไปยังร้านค้าปลายทางก็ทำได้น้อยครั้งลงเช่นกัน เช่น จากที่เคยส่งของที่ร้านสะดวกซื้อวันละ 3 รอบ เหลือเพียงวันละ 1 รอบ และเมื่อลูกค้าเข้าไปที่ร้าน เห็นของกำลังจะหมด ก็เกิดความกังวล จึงตัดสินใจซื้อไปเก็บไว้ก่อน
___________
• ไม่รับส่ง “อาหารสด” เพราะส่งไม่ทัน ปัญหาใหญ่สะเทือนถึงเกษตรกร
นายกสมาคมขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ไทย ยังยอมรับว่า “อาหารสด ผลไม้ หรือของที่เน่าเสียได้ง่าย” กำลังถูกตัดออกจากระบบการขนส่ง เพราะผู้ประกอบการรายเล็กๆจำเป็นต้องเลือกรับเฉพาะสินค้าที่ไม่เสียหาย
“สมมติง่ายๆ ว่า บริษัทขนส่งแห่งหนึ่ง เคยส่งของได้วันละ 2 หมื่นชิ้น ตอนนี้แรงงานลดลง รถก็วิ่งได้น้อยลง เหลือศักยภาพในการส่งได้แค่วันละ 1 หมื่นชิ้น สินค้ากลุ่มแรกที่เขาจะตัดออกไปก็คือ อาหารสด ของที่หมดอายุเร็ว เน่าเสียง่าย เพราะมีความเสี่ยงสูงที่จะส่งไม่ทัน เสียหายต่อภาพลักษณ์ขององค์กร นี่เป็นประเด็นที่มีปัญหาเยอะมาก ยิ่งในช่วงนี้เป็นช่วงฤดูการเกษตรด้วย ก็จะเห็นว่า เกษตรกร กลายเป็นผู้ได้รับผลกระทบไปด้วย”
___________
• คนขับรถบรรทุก ผ่านจังหวัดเข้มงวดไม่ได้ ติดกฎต้องมีผลตรวจโควิด ต้องฉีดวัคซีน ทั้งที่ไม่มีวัคซีน
ส่วนปัญหาที่ใหญ่ที่สุดสำหรับภาคขนส่งและโลจิสติกส์ในขณะนี้ ปิยะนุช บอกว่า เป็นปัญหาจากการใช้กฎเกณฑ์ห้ามเคลื่อนย้ายคนข้ามจังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดที่มีความเข้มงวดสูง เช่น ภูเก็ต มีกติกาว่า คนขับรถขนส่งสินค้าต้องได้รับวัคซีนมาแล้ว 2 เข็ม ต้องผ่านการตรวจโควิดด้วยวิธี RT-PCR มาภายใน 72 ชั่วโมง
หรือในจังหวัดที่เข้มงวดรองลงมา ก็ยังมีกติกาต้องได้รับวัคซีน 1 เข็ม ต้องผ่านการตรวจด้วย Antigen Test Kit ภายใน 72 ชั่วโมง ซึ่งทำให้ผู้ประกอบการไม่สามารถปฏิบัติตามได้ เพราะการตรวจบ่อยๆ ก็คือการเพิ่มต้นทุน ส่วนการได้รับวัคซีนยิ่งเป็นปัญหาใหญ่กว่า เพราะเหตุผลที่รู้กัน คือ “ไม่มีวัคซีน”
“ประเทศไทย มีคนขับรถบรรทุกในภาคขนส่ง 6 ล้านคน ในจำนวนนี้มีเพียงประมาณ 1 เปอร์เซ็นต์ ที่ได้ฉีดวัคซีนแล้ว เพราะคนทำอาชีพนี้เกือบทั้งหมดต้องแข็งแรงพอสมควร จึงมีอายุไม่ถึง 60 ปี ไม่มีโรคประจำตัว น้ำหนักไม่เกินมาตรฐาน ทำให้พวกเขาไม่เข้าเกณฑ์ในกลุ่มที่จะได้วัคซีนก่อน
เมื่อไม่ได้รับวัคซีน พอไปถึงด่าน ก็ต้องไปใช้วิธีเปลี่ยนคนขับ ไปใช้คนจากในพื้นที่มาขับแทนบ้าง ขนถ่ายของเพื่อเปลี่ยนรถบ้าง ซึ่งมันเพิ่มต้นทุนอย่างมาก และไม่ได้ลดความเสี่ยงลงไปจากเดิมเลย ทั้งที่จริงๆแล้ว เรามีเครื่องมือ มีกล้อง มีเทคโนโลยีติดตามตัวมากมาย เพียงแค่ออกกฏเกณฑ์ “ห้ามคนขับรถ ลงจากรถ” ในระหว่างขนถ่ายสินค้าที่ปลายทาง ก็สามารถแก้ปัญหานี้ได้แล้ว โดยไม่ต้องรอวัคซีน ไม่ต้องรอผลตรวจ”
ปัญหานี้ทำให้ผู้ประกอบการขนส่งที่เป็น SMEs หลายราย เริ่มถอดใจ และกำลังจะหยุดกิจการ เพราะยิ่งทำต่อไปก็ยิ่งขาดทุน จะเหลือเพียงผู้ประกอบการรายใหญ่เท่านั้น ที่มีเงินหมุนเวียนมากพอจึงยังทำต่อไปได้แม้จะขาดทุน ก็เพื่อรักษาลูกค้าเอาไว้
___________
• ขอรัฐผ่อนปรนกติกาให้ส่งสินค้าได้ ก่อนภาคขนส่งจะหมดความอดทน
นายกสมาคมขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ไทย บอกว่า กลุ่มผู้ประกอบการขนส่ง ได้พยายามสะท้อนปัญหาเหล่านี้ พร้อมเสนอแนะแนวทางแก้ไขไปยังหน่วยงานของรัฐแล้วหลายครั้ง เช่น การนัดหารือกับอธิบดีกรมการขนส่งทางบก ก็ได้คำตอบเพียงว่า การออกกติกาต่างๆ เป็นอำนาจของศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.)
เมื่อยื่นหนังสือไปถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ก็ไม่มีคำตอบ นอกจากส่งเจ้าหน้าที่มารับข้อเสนอแล้วเงียบหายไป
ดังนั้นผู้ประกอบการขนส่งและโลจิสติกส์ ซึ่งรวมถึงคลังสินค้า จึงเตรียมหารือกันว่า หากรัฐบาล หรือ ศบค. ยังไม่สนใจที่จะรับฟังเพื่อแก้ปัญหา ก็คงจะต้องมีมาตรการเรียกร้องที่เข้มข้นขึ้น
“จริงๆ ถ้าบอกว่า คนขับรถของเราต้องฉีดวัคซีน เราก็พร้อมทำตามถ้ามีวัคซีนให้ฉีด แต่ก็ย่างที่รู้กันว่า รัฐบาลไม่สามารถจัดหาวัคซีนมาได้อย่างเพียงพอ แล้วเราจะปฏิบัติตามมาตรการได้ยังไง แต่กลับมาว่าเราไม่ส่งของ ดังนั้นเราจึงจำเป็นต้องเรียกร้องขอผ่อนปรนมาตรการ เพราะทำไปแล้วก็ขาดทุน ซึ่งเราก็เสนอทางออกไปให้ด้วย แต่ผลที่ได้คือ จนถึงขณะนี้ ยังไม่เคยได้รับโอกาสให้เข้าไปพูดคุยกับผู้มีอำนาจตัดสินใจเลย และเมื่อถึงจุดหนึ่ง เราก็คงหมดความอดทน และต้องหันไปใช้มาตรการที่เข้มข้นขึ้นในการเรียกร้อง ทั้งที่เราก็ไม่ต้องการทำ” นายกสมาคมขนส่งและโลจิสติกส์ไทย กล่าวทิ้งท้าย