ปฏิบัติการของราชนาวีไทยยังมีอีกเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจ เป็นเรื่องที่ไม่เปิดเผย รู้กันเฉพาะวงในว่า “ยุทธการฮาเตียน” เมื่อฝ่ายเสนาธิการทหารเรือวางแผนลับที่จะตอบแทนฝรั่งเศส หลัง “ยุทธนาวีที่เกาะช้าง” ที่ไทยถูกบุกโดยไม่ทันรู้ตัว และคาดว่าฝรั่งเศสอาจจะทำเช่นนั้นอีก จึงขอลงมือก่อนบ้าง แม้จะได้รับความเสียหายมากจากยุทธนาวีครั้งก่อน แต่ก็ทำให้ได้กำลังใจขึ้นมาก เพราะทำให้ฝ่ายฝรั่งเศสต้องหนีไป
หลังจากสำรวจดูลาดเลาของข้าศึกแล้ว กลางดึกคืนหนึ่งที่กองบัญชาการเฉพาะกิจ อ่าวเตยงาม สัตหีบ พลเรือตรีหลวงสินธุสงครามชัย ผู้บัญชาการทหารเรือ ได้เรียกประชุมฝ่ายเสนาธิการและนายทหารระดับผู้บังคับการกลุ่มหนึ่ง บนโต๊ะยุทธการที่ล้อมรอบด้วยนายทหารกลุ่มนี้ มีแผนที่ เครื่องมือคำนวณต่างๆพร้อม เพื่อวางแผนรายละเอียดของปฏิบัติการ ทั้งคำนวณระยะทางและระยะเวลา หลังจากการประชุมแล้ว ไม่มีบุคคลภายนอกห้องคนใดล่วงรู้แผนการที่ถูกกำหนดขึ้นในห้องนั้นเลย แม้แต่ผู้ที่จะต้องลงมือปฏิบัติการ
และแล้วในวันที่ ๒๖ มกราคม ๒๔๘๔ เรือรบในฐานทัพสัตหีบทุกลำก็ได้รับคำสั่งให้เตรียมพร้อม โดยเฉพาะเรือตอร์ปิโด ๖ ลำที่เพิ่งต่อมาจากอิตาลีมีฉายาว่ารุ่น “ฉลามทะเล” คือ ร.ล.ภูเก็ต ร.ล.ปัตตานี ร.ล.ระยอง ร.ล.ชุมพร ร.ล.บางระจัน ร.ล.หนองสาหร่าย ได้รับคำสั่งให้ติดไฟอุ่นหม้อน้ำเตรียมออกเดินทาง ลูกเรือทุกลำๆละ ๙๐ นายได้รับคำสั่งให้เตรียมทุกอย่างในหน้าที่ให้พร้อมโดยเฉพาะอาวุธ นอกจากนี้ยังมีการขนทุ่นระเบิดชนิดเบาแบบกระทบแตกขึ้นบรรทุกไว้ที่ท้ายเรือทั้งสองกราบลำละ ๒๕ ลูก
ในกลางดึกของคืนนั้น ฉลามทะเลทั้ง ๖ ลำก็ถอนสมอออกจากฐานทัพเรือสัตหีบในสภาพที่ท้ายเรือเพียบแปล้เพราะแบกของหนัก เมื่อออกพ้นอ่าวก็มีอีก ๒ ลำ คือ ร.ล.ท่าจีนและ ร.ล.แม่กลอง ซึ่งเป็นเรือปืน มาสมทบ แล้วจัดแยกเป็น ๒ ขบวน โดยมี ๒ ลำที่มาใหม่รับหน้าที่นำขบวน
จนรุ่งสาง บรรดาลูกเรือก็พอรู้ว่ากองเรือกำลังมุ่งไปทิศใด แต่ก็ยังไม่รู้ว่าจะไปไหน และให้ไปทำอะไร ได้แต่เดากันในใจ ทำให้ทุกคนฮึกเหิมตามวิสัยที่ว่า “หนึ่งพันห้าร้อยไมล์ทะเล ไทยมีนาวีนี้เฝ้า”
บ้างก็ร้องเพลงที่กรมหลวงชุมพรฯ พระบิดาแห่งกองทัพเรือไทย ทรงนิพนธ์ไว้ว่า
“...อนาคตเราไม่รู้ ถึงไม่รู้ก็ต้องเดินไป จะกลัวไปไย มันก็ล่วงไปตามเวลา ไม่ตายวันนี้ก็คงไปซี้เอาวันข้างหน้า...”
จนกระทั่งเช้าของวันนั้น นายทหารยุทธการนายหนึ่งก็เป่านกหวีดขึ้นที่ดาดฟ้าเรือ เรียกทุกคนเข้าแถว แล้วประกาศด้วยเสียงดังอย่างเข้มแข็งเด็ดขาดว่า
“พี่น้องทหารที่รักทั้งหลาย อันเป็นเพื่อนร่วมชีวิต ร่วมเป็นร่วมตายทุกคน เราได้รับคำสั่งให้ไปปฏิบัติการ วางทุ่นระเบิดปิดล้อมบริเวณหน้าอ่าวฐานทัพเรือฝรั่งเศสที่ฮาเตียน โดยมีหมายกำหนดการออกเดินทางในคืนนี้ โดยจะต้องถึงบริเวณและเริ่มปฏิบัติการทางยุทธวิธีในเวลา ๒๔ น.ของวันที่ ๒๘ มกราคม หลังจากวางทุ่นระเบิดเสร็จสิ้น ขบวนเรือตอร์ปิโดทั้ง ๖ ลำจะแล่นตีวงโอบอยู่ภายนอก ต่อไปจะเป็นหน้าที่ของเรือหลวงท่าจีนและเรือหลวงแม่กลองจะระดมยิงชายฝั่ง โดยมีเรือหลวงศรีอยุธยาที่เลียบฝั่ง เพื่อบีบให้เรือฝรั่งเศสในฐานกำลังที่เมืองฮาเตียนออกมาจากอ่าวเข้าสู่สนามทุ่นระเบิดที่เราวางไว้ และเรือตอร์ปิโดใหญ่จะระดมยิงซ้ำที่เดิม พอใกล้รุ่งสาง กองกำลังนาวิกโยธินซึ่งมากับเรือหลวงศรีอยุธยาจะยกพลขึ้นบก ยึดฐานทัพเรือฮาเตียนของข้าศึก การปฏิบัติการเสี่ยงภัยอันยากนี้ ขอให้พวกเราทุกคนจงยึดมั่นปฏิบัติหน้าที่จนสุดความสามารถ หากตายจะขอตายด้วยกันทุกลำ เหมือนกับดอกประดู่ที่พากันโรยไปทั้งต้น ขออำนาจสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่มีที่นี้ ในเรือลำนี้ พร้อมด้วยคุณพระศรีรัตนตรัย จงปกปักษ์คุ้มครองพวกเราทุกคน”
พอสิ้นเสียงประกาศ ก็มีเสียงไชโยกระหึ่มไปทั้งกองเรือ ทุกคนรู้แล้วว่าภารกิจที่มากันครั้งนี้คืออะไร ต่างดีใจว่าถึงเวลาแก้มือแล้ว ทุกคนจึงแยกย้ายตรวจความพร้อมของอาวุธต่างๆเช่นทุ่นระเบิด ตอร์ปิโด และปืนทุกกระบอกกันอีกครั้ง ทั้งไม่ลืมที่จะปลุกเสกเครื่องลางของครั้งที่ติดตัวมาด้วย
แต่แล้วในราวเที่ยงวันนั้น อีก เพียง ๑๒ ชั่วโมงก็จะถึงเวลาปฏิบัติการ ทุกคนต่างก็แปลกใจที่เห็น ร.ล.แม่กลองและ ร.ล.ท่าจีนที่นำขบวน บ่ายหัวเรือนำกองเรือแยกซ้าย-ขวาออกจากกัน แล้วตีวงกลับ ต่อมาได้รับแจ้งจากนายทหารยุทธการว่า ได้รับคำสั่งด่วนทางวิทยุจากกองบัญชาการกองทัพเรือ ให้ระงับแผนยุทธการครั้งนี้ เพราะรัฐบาลได้ตอบรับข้อเสนอของรัฐบาลญี่ปุ่นที่เข้ามาเป็นผู้ไกล่เกลี่ยระงับกรณีพิพาทระหว่างไทยกับฝรั่งเศส และฝ่ายฝรั่งเศสได้ยอมรับข้อเสนอของรัฐบาลญี่ปุ่นไปแล้ว โดยให้ทั้งสองฝ่ายพักรบมีกำหนด ๑๕ วัน
ต่อมาได้มีการเซ็นสัญญากันที่กรุงโตเกียวเมื่อวันที่ ๑๑ มีนาคม ซึ่งในสัญญาครั้งนั้นสรุปได้ว่า
๑.ดินแดนที่ฝรั่งเศสได้ไปเมื่อปี ๒๔๔๖ คือ หลวงพระบางฝั่งขวา และดินแดนจัมปาศักดิ์ตรงข้ามปากเซ กับดินแดนในกัมพูชา ต้องคืนให้ไทยทั้งหมด
๒.ดินแดนที่เสียไปโดยสนธิสัญญาปีพุทธศักราช ๒๔๔๙ คือ ศรีโสภณและพระตะบอง ขีดเส้นโค้งจากเวิ้งนครวัดลงไปถึงแม่น้ำโขงตอนใต้สเตรงตรึง ที่เป็นมณฑลบูรพาของไทย ก็ต้องคืนให้ไทยด้วย เว้นแต่เสียมราฐและนครวัดยังคงเป็นของฝรั่งเศส
๓.ให้ถือร่องน้ำลึกเป็นเส้นเขตแดนในลำแม่น้ำโขง เกาะ ดอน ซึ่งอยู่ทางขวาของร่องน้ำลึกต้องเป็นของไทย
ก่อนที่จะเกิด “ยุทธการฮาเตียน” นั้น ตลอดชายแดนด้านเขมรและลาว ได้เกิดการสู้รบกันขึ้นแล้วระหว่างไทยกับฝรั่งเศส ที่เรียกกันว่า “สงครามอินโดจีน” โดยฝรั่งเศสเป็นฝ่ายข่มขู่จะให้ไทยกลัวเกรง แต่ไทยไม่ยอมอีกต่อไป
กองทัพบูรพา ประกอบด้วย กองพลปราจีน กองพลวัฒนานคร กองพลลพบุรี กองพลจันทบุรี มี พันเอกหลวงพรหมโยธี เป็นแม่ทัพ ได้เปิดแนวรบตั้งแต่จังหวัดสุรินทร์ บุรีรัมย์ อรัญประเทศ จนถึงจันทบุรี ตราด รุกเข้าไปยึดดินแดนด้านนี้ได้ทั้งหมด
กองทัพอีสาน ประกอบด้วย กองพลสุรินทร์ กองพลอุบล กองพลอุดร มี พันเอกหลวงเกรียงศักดิ์พิชิต เป็นแม่ทัพ ยึดได้พื้นที่ฝั่งขวาแม่น้ำโขงตรงข้ามปากเซ และนครจำปาศักดิ์
กองพลพายัพ เป็นกองพลน้อยหรือกองผสมทหารราบ มี พันโทหลวงหาญสงคราม เป็นแม่ทัพ ยึดได้ดินแดนฝั่งขวาแม่น้ำโขงตรงข้ามหลวงพระบาง และบ้านห้วยทรายตรงข้ามเมืองเชียงแสน
ทุกปฏิบัติการ ฝรั่งเศสไม่มีทางรับมือได้เลย กองทัพบูรพาร่วมกับกองทัพอีสาน เข้ายึดพนมเปญได้ กองพลพายัพเข้ายึดด้านหลวงพระบาง แล้วเคลื่อนลงมารวมกับกองทัพอีสาน จากนั้นก็รุกขยายผลไปทางตะวันออก
ส่วนกองทัพอากาศ หลังจากที่ได้รับคำสั่งด่วนและลับที่สุดจากผู้บัญชาการกองทัพอากาศแล้ว นายนาวาอากาศเอกขุนรณนภากาศ ผู้บังคับการกองบินใหญ่ภาคใต้ ซึ่งขึ้นมาประจำอยู่ที่ดอนเมือง ก็แจ้งแก่บรรดาเสืออากาศผู้ประจำเหยี่ยวเหล็กที่จอดรอติดเครื่องอยู่ที่สนามบินดอนเมืองว่า
“พบกันเหนือฟ้านครวัด เวลา ๑๒.๐๐ น.ตรง วันที่ ๒๔ มกราคม ๒๔๘๔”
เพราะคำสั่งนี้ เหยี่ยวเหล็กฝูงใหญ่จำนวน ๒๕ เครื่อง ประกอบด้วย นาโกย่า ๑๙ เครื่อง ฮอล์ค ๓ เครื่อง และมาร์ติน บอมเบอร์ ๓ เครื่องจึงทะยานขึ้นจากดอนเมือง ไปพบกันที่เหนือฟ้านครวัดตามนัดหมาย เป้าหมายยุทธการครั้งนี้ ก็คือถล่มสนามบินนครวัด ฐานบัญชาการของฝูงบินฝรั่งเศสที่เข้ามาบอมบ์ในเขตไทยหลายต่อหลายครั้ง พร้อมให้ถ่ายรูปปฏิบัติการณ์ครั้งนี้และจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญมาด้วย
เพียงไม่กี่นาที สนามบินนครวัดก็ถูกทลายด้วยแรงระเบิดและกระสุนปืนกล โรงเก็บเครื่องบินและคลังแสงถูกไฟลุกท่วม ลานบินถูกทำลายแหลก เมื่อไม่เห็นมีเครื่องบินลำใดของฝรั่งเศสบินขึ้นมาต่อสู้เลย นาโกย่า ๖ ลำเดียวก็แยกฝูงไป)ฏิบัติภารกิจถ่ายรูปจุดยุทธศาสตร์
ก่อนหน้านั้น ในวันที่ ๑๗ มกราคม ไทยก็ได้ส่งฝูงบินคอร์แซร์และฮอล์ค ๓ รวม ๑๔ เครื่องพร้อมลูกระเบิดเต็มท้องเข้าไปถล่มศรีโสภณ ตอบโต้ที่ฝรั่งเศสส่งฟาร์มังเข้ามาบอมบ์อรัญประเทศ ฝรั่งเศสเตรียม ป.ต.อ.ไว้คอยต้อนรับเต็มที่ แต่เสืออากาศไทยก็หย่อนระเบิดใส่ ป.ต.อ.ฝรั่งเศสจนเงียบเสียง แล้วทำลายคลังอาวุธยับเยิน กลับมาได้ครบทั้ง ๑๔ ลำ
น่าเสียดาย ที่ “ยุทธการฮาเตียน” ไม่ทันได้เกิดขึ้น มิฉะนั้นประวัติศาสตร์ไทยคงได้จารึกไว้อีกหน้าว่า ราชนาวีไทยได้ส่งกองเรือไปถล่มฐานทัพเรือฝรั่งเศส แล้วส่งนาวิกโยธินขึ้นยึดฐานทัพเรือของมหาอำนาจตะวันตกที่เข้ามารุกรานเอเซียได้ เพียงไม่กี่ปีหลังจากมหาอำนาจตะวันตกได้ใช้เรือปืนเข้ามาข่มขู่ แล้วยึดเอาประเทศในเอเซียไปเป็นอาณานิคมได้เกือบหมดทวีป