xs
xsm
sm
md
lg

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์ เอาชนะโรคร้าย ด้วยสมดุลแห่งชีวิต

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

อดีตหมอผ่าตัดหัวใจและผู้อำนวยการโรงพยาบาลพญาไท 2 ปัจจุบัน ในวัย 69 ปี ทำงานหลังเกษียณเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ครอบครัว ที่สถาบัน Well ness we care มวกเหล็ก สระบุรี


ในวัย 55 ปี เคยเผชิญวิกฤติเป็นโรคหัวใจขาดเลือด อีกทั้งมีไขมันในเลือดสูง เป็นหลอดเลือดหัวใจตีบ มีความดันสูงด้วย แต่คุณหมอเลือกที่จะไม่สวนหัวใจ ไม่ทำบอลลูน ไม่ทำบายพาส ทว่า มุ่งมั่นจริงจังที่จะหายจากโรคร้ายด้วยวิธีการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต ทั้งวิถีการกินอาหารที่ลดเนื้อสัตว์และการใช้น้ำมัน การออกกำลังกายอย่างเหมาะสมซึ่งย่อมต้องการเวลาพักผ่อน คุณหมอจึงถึงขั้นขอเปลี่ยนแผนกและลาออกจากการเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลเพื่อให้มีเวลาพักผ่อนที่เพิ่มมากขึ้น การดูแลตัวเองอย่างดี ทำให้คุณหมอเอาชนะโรคร้ายได้ในที่สุด

‘ผู้จัดการออนไลน์’ สัมภาษณ์พิเศษ ‘นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์’ อดีตหมอผ่าตัดหัวใจและปัจจุบันเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ครอบครัว ให้ความรู้ผู้คนมากมายผ่านงานสอน งานเขียน และบทความที่มีคุณค่า ผ่านบล็อค Youtube และโซเชียลมีเดีย ที่ล้วนมีเนื้อหาน่าสนใจ เพื่อถามไถ่ถึงองค์ความรู้ที่คุณหมอมีอยู่เกี่ยวกับการดูแลรักษาสุขภาพเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตเพื่อเอาชนะโรคร้าย รวมทั้งพูดคุยถึงภาวะวิกฤติโควิด-19 ว่าคุณหมอมองสภาพการณ์ของสังคมเป็นไปในทิศทางใด

โดยคุณหมอไม่ลืมเน้นย้ำให้ประชาชนดูแลภูมิคุ้มกันด้วยตนเอง ทั้งให้ความรู้และข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับฟ้าทะลายโจร โดยชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของพืชชนิดนี้ที่อีกไม่นาน องค์การอาหารและยาหรือ อย.จะออกใบอนุญาตระบุข้างขวดว่ารักษาโรคโควิดได้ และจะทำให้แม้แต่เมล็ดพันธุ์ก็ขาดตลาด ดังนั้น ใครมีฟ้าทะลายโจรขึ้นอยู่ริมรั้ว ควรเร่งเพาะพันธุ์ ปลูกให้มากขึ้น ใบสามารถนำมาใช้ต้มกินได้

ทั้งหลายทั้งปวง คือเรื่องราวที่เราสนทนากับนายแพทย์สันต์ ในครั้งนี้

>>> ‘โรคหัวใจขาดเลือด’ นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตเอาชนะโรค

เมื่อถามว่า ทราบมาว่านายแพทย์สันต์เป็นคุณหมอผ่าตัดหัวใจที่เคยเป็นโรคหัวใจขาดเลือด มีไขมันในเลือดสูง หลอดเลือดหัวใจตีบ อีกทั้งมีความดันสูงด้วย แต่คุณหมอเลือกที่จะไม่สวนหัวใจ ไม่ทำบอลลูน ไม่ทำบายพาส แต่ใช้วิธีเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต วิถีการกินอาหาร อยากให้ช่วยแบ่งปันประสบการณ์เหล่านี้ว่าเป็นมาอย่างไร

นายแพทย์สันต์ตอบว่า “จริงๆ แล้ว พื้นฐานของโรคนี้ เรายังไม่รู้วิธีการรักษา ไม่ว่า ยา การผ่าตัด การทำบอลลูน ไม่ใช่วิธีรักษาให้โรคหาย เป็นเพียงแค่การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเพื่อให้การเจ็บหน้าอกมันทุเลาเท่านั้นเอง แต่ว่ามีงานวิจัยอยู่บางชิ้นที่ทำให้เรารู้ว่า ถ้าเราจัดการปัจจัยเสี่ยงของโรคได้ดี โรคที่จะเป็นก็ไม่เป็น หรือโรคที่เป็นแล้วก็ถอยกลับไปได้ ผมก็นำเอาความรู้ตรงนี้แหละมาใช้กับตัวเอง คือ มุ่งหน้าจัดการปัจจัยเสี่ยงของโรค ซึ่งมันก็มีเรื่องหลักๆ อยู่ 3-4 เรื่อง เรื่องหลักๆ ที่ใหญ่ที่สุดคือเรื่องอาหาร เพราะอาหารมันเป็นตัวกำหนดไขมันในเลือด กำหนดความดันเลือดด้วย

ประการที่สองคือ การออกกำลังกาย เป็นตัวกำหนดสุขภาพหัวใจและหลอดเลือด

ประการที่สามคือเรื่องความเครียด เป็นตัวกำหนดสุขภาพของหลอดเลือดเหมือนกัน เพราะหลอดเลือดนี่ 80% ควบคุมโดยระบบประสาทอัติโนมัติซึ่งสัมพันธ์กับความเครียด ทั้งสามประการนี้เป็นเรื่องหลักๆ

จริงๆ ผมจัดการสองอันแรก เพราะตอนที่ป่วย ผมยังไม่ได้โฟกัสที่เรื่องความเครียดสักเท่าไหร่ ผมเปลี่ยนเรื่องอาหาร และการออกกำลังกาย มันก็ดีขึ้น

แล้วก็มาเพิ่มเรื่องการดูแลเรื่องความเครียดเข้าไปด้วย ซึ่งเมื่อดูแลอย่างนี้แล้ว อย่างจริงจัง ตัวชี้วัดต่างๆ ก็ดีขึ้น ตัวชี้วัดก็หมายถึงว่า ความดันเลือดที่เคยสูงถึง 168 ก็ลงมาตอนนี้ต่ำกว่า 120 ส่วนไขมันที่เคยสูง ไขมันรวมสูงถึง 260 กว่า ก็คือพวกคอเลสเตอรอล ผมเอง วัดครั้งล่าสุดเหลือ 150 กว่า ก็ลดน้อยลงมา

ที่เคยลงพุงก็หาย น้ำหนักลดลงมา ความอ้วนถือเป็นปัจจัยเสี่ยงอย่างหนึ่งของกลุ่มโรคหลอดเลือดนะ เพราะฉะนั้นหลักใหญ่ จริงๆ ที่ผมใช้ก็คือ การโฟกัสที่ปัจจัยเสี่ยงของโรคผ่านการกินอาหาร การออกกำลังกาย การจัดการกับความเครียด” นายแพทย์สันต์ระบุ

เมื่อถามถึงรายละเอียดของอาหารที่เคยทานก่อนหน้า แล้วหลังจากเปลี่ยนแปลงอาหารการกินนั้น เปลี่ยนอย่างไร

นายแพทย์สันต์ตอบว่า อาหารสมัยก่อน มีไขมันสูงแล้วส่วนใหญ่เป็นไขมันจากเนื้อสัตว์ เพราะว่าพูดง่ายๆ ผมเป็นคนกินเนื้อ สมัยทำงานอยู่เมืองนอกก็กินกันแต่เนื้อ เนื้อมันเยอะ

ประการที่หนึ่ง คือ ผมลดการทานเนื้อสัตว์ลงไปเยอะมาก จนแทบจะไม่มีเลย

ประการที่สอง ลดการใช้น้ำมัน คนไทยชอบใช้น้ำมันในการผัดทอด ผมก็ใช้วิธีใหม่ ใช้น้ำแทน ใช้ลมร้อนแทน

ส่วนประการที่สาม เพิ่มปริมาณผักผลไม้เข้ามาแทน ซึ่งมีแคลอรี่ต่ำ และมีวิตามิน เกลือแร่ ซึ่งลดการอักเสบของหลอดเลือดได้ เป็นอันรู้กันว่าผักผลไม้ลดความดันเลือดได้ ลดการอักเสบในร่างกายได้ ข้อนี้วงการแพทย์ยอมรับ ว่าการกินผักผลไม้ เป็นสิ่งที่ดีต่อร่างกายแน่นอน ทั้งในแง่ลดโรคหลอดเลือด ทั้งในแง่ลดโรคมะเร็งด้วย

“ส่วนต่อมานั้น ปกติผมจะดื่มเครื่องดื่มใส่น้ำตาล เป็นวิถีชีวิตเลย น้ำอัดลม วันหนึ่งๆ ผมดื่มเยอะมาก ไม่ดื่มน้ำเปล่า จะดื่มแต่น้ำอัดลม ซึ่งผมก็เลิกหมด เครื่องดื่มใส่น้ำตาล แม้กระทั่ง กาแฟที่เคยใส่น้ำตาลใส่ครีม ผมก็เปลี่ยนมาเป็นกาแฟดำ น้ำตาลจะมีผลเสียอะไรมาก วงการแพทย์ ก็ยังรู้ไม่ชัด แต่ว่าแคลอรี่ทำให้เกิดผลเสียแน่นอน เพราะน้ำตาลก็เป็นแคลอรี่ที่ไม่มีประโยชน์อื่นๆ ไม่เหมือนผักผลไม้ ที่มีแคลอรี่และมีเกลือแร่ ไวตามินติดมาด้วย มีของดีติดมาด้วยเยอะ

เพราะฉะนั้น สาระหลักของผมในการเปลี่ยนอาหารคือ ลดเนื้อสัตว์ลงเหลือน้อยมาก สองไม่ใช้น้ำมันในการผัดทอด อาหาร สามใช้ผัก ผลไม้เข้ามาแทน สี่ เลิกเครื่องดื่มที่ใช้น้ำตาลทุกชนิด ยกเว้นน้ำปั่นผลไม้ที่มีความหวานตามธรรมชาติ โดยจะไม่ใส่น้ำตาลเพิ่มเข้าไป ถ้ามันเปรี้ยว ก็นำผลไม้ที่มีรสหวานเติมเข้าไปก่อนปั่น” นายแพทย์สันต์ระบุถึงการเปลี่ยนวิถีการกิน


>>> เลิกเป็นผู้บริหาร เลิกเป็นหมอผ่าตัดหัวใจ เพิ่มเวลาการพักผ่อน เพื่อการออกกำลังกายที่ดีขึ้น

เมื่อถามถึงเรื่องการออกกำลังกาย ซึ่งเป็นอีกหนึ่งในการเปลี่ยนวิถีชีวิตด้วยการลดปัจจัยเสี่ยง ทำอย่างไรบ้างนั้น

นายแพทย์สันต์ตอบว่า “การออกกำลังกาย ความยากของมันอยู่ที่การจัดเวลาให้ตัวเอง เพราะวิถีชีวิตเดิม ผมเป็นหมอผ่าตัดหัวใจด้วย เป็นผู้บริหารโรงพยาบาลพญาไทสองด้วย มันทำงานเยอะเกินไป เมื่อเรามีชั่วโมงทำงานมาก โอกาสที่จะได้นอนหลับก็น้อย เมื่อเรามาออกกำลังกาย ร่างกายมันรับไม่ได้ เพราะมันต้องการการนอนหลับ มันก็ทำไม่สำเร็จ ผมใช้เวลาถึงหกเดือน กว่าจะออกกำลังกายได้สำเร็จ ปัญหาใหญ่ก็คือว่า มันไม่มีเวลาที่จะให้ตัวเองได้นอนพักผ่อน เพราะการออกกำลังกายมันต้องมีการนอนหลับที่เพียงพอ มันลืมตาไม่ขึ้น เราก็รู้สึกว่าเสียงานเสียการ ผมก็เลยไม่ได้ออกกำลังกาย” นายแพทย์สันต์ระบุ

นายแพทย์สันต์กล่าวว่า ถึงที่สุด ก็จำเป็นต้องเปลี่ยนงาน เลิกเป็นผู้บริหาร เลิกเป็นหมอผ่าตัดหัวใจ แล้วเปลี่ยนมาเป็นหมอป้องกันโรคแทน เพื่อจะให้ตัวเองเปลี่ยนแปลงชีวิตได้สำเร็จ ดังนั้น สิ่งสำคัญในการออกกำลังกายคือจัดสรรเวลาให้สำเร็จ ที่ผมล้มเหลวอยู่หกเดือนแรก ผมพยายามที่จะใส่การออกกำลังกายเข้าไปในชีวิตเดิมๆ ตื่นแต่เช้า ทำงานถึงสามทุ่มกลับบ้าน ซึ่งมันเป็นไปไม่ได้ ถึงจัดเวลาให้ได้ ที่ทำงานจัดเวลาให้ แต่เราทำไม่ได้ เพราะร่างกายได้นอนแค่ห้าชั่วโมง

เพราะฉะนั้น การจะออกกำลังกายให้สำเร็จ ต้องเปลี่ยนตารางชีวิตก่อนเป็นอันดับแรก ต้องมีอย่างน้อย 1-2 ชั่วโมงสำหรับการออกกำลังกาย และมีอีก 2 ชั่วโมง สำหรับการนอนหลับที่มากขึ้น ดังนั้น ต้องมีอย่างน้อย 4 ชั่วโมง คนส่วนใหญ่เขาจะรู้สึกว่าเป็นไปไม่ได้ ชีวิตเขาเหมือนขึงพืดไว้ ไม่มีเวลา ไม่มีทางขยับได้เลย ถ้าตกอยู่ในตาอับแบบนั้นก็จบข่าว ไม่มีทางที่จะโงหัวขึ้นมาได้ มันจะต้องจัดเวลาให้ได้ นี่เป็นประเด็นสำคัญที่สุดในการออกกำลังกาย ส่วนเมื่อได้เวลามาแล้วจะทำยังไงก็ได้ ออกไปเดินตามหมู่บ้านก็นับว่าดีแล้ว

>>> เมื่อคิดจะเปลี่ยนวิถีชีวิตเอาชนะโรคร้าย ต้องเด็ดขาด

ถามว่าเพราะเหตุใดนายแพทย์สันต์จึงเด็ดขาดถึงขั้นเปลี่ยนแผนกเลย

นายแพทย์สันต์ตอบว่า “เพราะผมเป็นโรคที่จะตายเมื่อไหร่ก็ได้ เราเป็นหมอรักษาโรคเรารู้ คือเมื่อเราปฏิเสธวิธีรักษามาตรฐานที่ทำกันอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน แล้วเรามาหาเส้นทางใหม่ ถ้าเราไม่จริงจังกับเส้นทางนี้ มันจะไปรอดเหรอ มันไปไม่รอดหรอกถ้าเราไปผูกตัวเองกับหน้าที่การงานเดิมๆ ตารางเวลาชีวิตเดิมๆ มันไม่เวิร์ค”

ถามว่าการออกกำลังกายของคุณหมอทำอย่างไรบ้าง

นายแพทย์สันต์ตอบว่า “ผมออกกำลังกายเพื่อรักษาโรคหัวใจ ก็ออกกำลังกายแบบที่ว่าเน้นแอโรบิคนะครับ หลักง่ายๆก็คือทำยังไงก็ได้ให้เราเคลื่อนไหวจนเหนื่อย แล้วหลอดเลือดหัวใจทำงานมากขึ้น

นิยามง่ายๆ ว่า เหนื่อยจนร้องเพลงไม่ได้ ทางการแพทย์ถือว่าหนักพอควร Moderate intensity ถ้าหนักมากนิยามว่าเหนื่อยจนพูดไม่ได้ นั่นก็มากเกินความจำเป็น ถ้าเบาคือยังร้องเพลงได้ เช่น กวาดบ้าน ถูกบ้าน นั้นยังเบา น้อยเกินไป

ถ้าเดินก็ต้องเดินเร็ว ผมทำหลายอย่าง ซื้อจักรยานมาปั่นออกไปข้างนอก ไปล้มอยู่ข้างนอกบ้าน โอ ไม่ไหว เสี่ยง เลิก ก็เปลี่ยนมาวิ่งจ๊อกกิ้งรอบหมู่บ้าน หมาไล่กัด ทะลาะกับหมาอีก คือ ท้ายที่สุดก็เป็นการออกกำลังกายอยู่ในบ้าน ไม่กี่ตารางวา วิ่งอยู่กับที่ กระโดดเชือกบ้าง สลับกับการใช้เครื่องออกกำลังกาย ดัมเบล สายยืดเส้น ไม้กระบองอีกอันหนึ่ง ก็เป็นการออกำลังกายผสมผสานกันระหว่างแอโรบิค กับความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ทำอยู่ในบ้านนั่นแหละ วันหนึ่งสักชั่วโมงหนึ่ง แล้วประเด็นสำคัญก็คือเมื่อย้ายมาทำในบ้านก็เริ่มขี้เกียจ เพราะมันไม่เป็นกิจลักษณะ ผมก็เลยสร้างกฎใหม่ว่า ตื่นขึ้นมาถ้าไม่ออกกำลังกาย ห้ามแปรงฟัง เพราะถ้าเราแปรงฟังแล้ว เราก็มักจะไปทำอะไร ต่ออะไร ก็ไม่ได้มีโอกาสออกกำลังกายแล้ว แต่ถ้าเราไม่แปรงฟัน เราออกนอกบ้านไม่ได้ มันล็อคเราไว้

ดังนั้น ถ้าผมออกกำลังกายไม่เสร็จ ผมไม่แปรงฟัน การออกกำลังกายของผมเริ่มตั้งแต่ก้าวแรกที่ลุกจากเตียง จริงๆ ตั้งแต่ตื่นนอนผมก็ทำกายบริหาร ออกกำลังกายอยู่บนเตียงแล้ว ลงจากเตียงก็ทำ ทำท่ากายบริหาร ออกกำลังกายข้างเตียงก่อนประมาณ 15 นาที ถึงจะไปห้องน้ำ หลังจากนั้น ก็ออกกำลังกายต่อ บังคับตัวเองให้ออกกำลังกายให้เสร็จก่อนจะเริ่มชีวิตของวันใหม่ อันนั้นคือภาคปฏิบัติว่าทำยังไงให้มันเวิร์ค

ผมก็เคยนะ ไปโรงยิมชั้นดี แล้วเค้าก็มาต้อนรับอย่างดีเลย แต่ไม่ได้ใช้หรอก มันไม่เวิร์ค ไม่เหมาะกับวิถีชีวิตในกรุงเทพ เพราะว่าไปโรงยิมก็ต้องขับรถไป พิธีการเยอะต้องมีคนมาต้อนรับ โอ้ย มันไม่ใช่” นายแพทย์สันต์หัวเราะเสียงดัง ก่อนย้ำว่าออกกำลังกายในบ้านนั่นแหละดีที่สุด


>>> ตัวชี้วัดต่างๆ ดีขึ้น ความสำเร็จหลังเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต

เมื่อถามว่า ทั้งการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตเรื่องอาหารการกินและการออกกำลังกายแล้ว ใช้เวลานานไหมกว่าที่โรคหัวใจขาดเลือด และความดัน หรือระดับไขมันต่างๆ ดีขึ้น

นายแพทย์สันต์ตอบว่า “คือผมจะพูดถึงความสำเร็จในการเปลี่ยนวิถีชีวิตก่อนนะ ความสำเร็จในการเปลี่ยนอาหาร มันสำเร็จในชั่วข้ามวันเพราะมันง่าย เดิมทีมื้อค่ำ ผมจะเปิดตู้เย็นเอาบัตเตอร์เค้กออกมากิน ภรรยาต้องเตรียมไว้ให้ทุกวัน แต่พอผมเปลี่ยนอาหารผมสั่งห้ามนำเค้กเข้าบ้าน ง่ายเลย เห็นไหม พอไม่มีเค้กผมก็ไม่ต้องกิน ห้ามซื้อน้ำมันเข้ามาในห้องครัว การเปลี่ยนอาหารเป็นอะไรที่ง่ายที่สุด ทำได้แค่ชั่วข้ามวัน มีงานวิจัยนะครับ ว่างดอาหาร เปลี่ยนมาเป็นพืชจะมีผลต่อการลดความดันอย่างมีนัยสำคัญได้ในเวลาแค่สองสัปดาห์ ความดันก็เปลี่ยนแล้วตามหลักการเปลี่ยนอาหาร

ส่วนที่ยากที่สุดคือการออกกำลังกาย เพราะมันไปสัมพันธ์กับตารางการใช้ชีวิต และสัมพันธ์กับวินัยต่อตัวเองด้วยใช่ไหม ซึ่งถ้าเราไม่ได้ฝึกวินัยต่อตัวเองมา ก็ต้องมาเหนื่อยอีกหลายเท่า ต้องมาเข็น ผมใช้เวลาส่วนนี้ถึงหกเดือน แล้วพอออกกำลังกายได้ 6 เดือน ตัวชี้วัดมันเปลี่ยนหมด คือผมหยุดกินยาตั้งแต่เดือนที่ 2 หลังจากป่วย พอเข้าสู่เดือนที่ 6 ตัวชี้วัดกลับมาปกติหมด ทั้งไขมันในเลือด และความดันเลือดที่สำคัญที่สุด

เพราะวงการแพทย์ถือว่าตัวชี้วัดสำคัญที่สุดในการประเมินได้แม่นที่สุดว่าใครจะอายุสั้น ใครจะอายุยืน คือความดันเลือด ใครความดันเลือดสูงเอาปูนหมายหัวได้เลยว่าอายุไม่ยืนแน่นอน ดังนั้น ความดันเลือดเป็นตัวชี้วัดที่สำคัญที่สุด

ไขมันในเลือดก็เป็นตัวชี้วัดรองลงมา น้ำหนักตัวก็เป็นตัวชีวัดที่สำคัญ ปัจจัยคือน้ำตาลในเลือด ผมโชคดี น้ำตาลในเลือดไม่สูงมาก แต่ที่สูงคือความดัน ไขมัน น้ำหนัก ในตอนแรก พอหกเดือน เราเริ่มเห็นว่าชีวิตมันดีขึ้น อาจเพราะเราลดการทำงานลงด้วย ได้นอนเต็มที่ และอาการที่เคยเป็นมันหายไป เพราะว่าก่อนที่ป่วยเดินเร็วๆ ไม่ได้ แน่นหน้าอก โมโหใครไม่ได้ แน่นหน้าอก คราวนี้ เรารู้ว่าถ้าเราไม่หยุดเกรี้ยวกราด เราคงจะตาย อาการเหล่านั้นก็หายไป วิ่งจ๊อกกิ้งได้ เดินขึ้นภูกระดึงก็ขึ้นได้ แก่ๆ นี่ ผมก็ขึ้นได้ ทุกวันนี้ ผมก็เดินทุกเช้าครั้งละ 3-4 กิโลเมตร ทั้งหมดใช้เวลา 6 เดือน ตัวชี้วัดเป็นไปในทางที่ดี” นายแพทย์สันต์ระบุ

>>> เรียนรู้การจัดการความเครียดไปพร้อมกับคนไข้

เมื่อถามถึงอีกหนึ่งปัจจัยเสี่ยงคือความเครียด ว่าคุณหมอจัดการกับความเครียดอย่างไร

นายแพทย์สันต์ตอบว่า “กรณีของผม ผมไม่ได้ตั้งต้นที่ความเครียด ผมโฟกัสที่อาการและการออกกำลังกาย แล้วก็โรคมันจะดีขึ้นเมื่อออกกำลังกายได้ มันเป็นเพราะว่าผมสังเกตว่า เมื่อออกกำลังกายได้ มันก็ไม่เครียด เพราะการออกกำลังกายมันคลายเครียดในตัวของมันเอง และการออกกำลังกายมันบังคับให้เราต้องนอนหลับ เมื่อเราได้หลับเต็มตามันก็ไม่เครียด

ผมมายุ่งกับความเครียดต่อเมื่อหลังจากผมเปลี่ยนการกินอาหหาร และออกกำลังกายได้ดี ผมก็เลิกเป็นหมอผ่าตัดหัวใจแล้วมาสอนคนไข้ดีกว่า แล้วผมก็เริ่มสอนคนไข้ในแคมป์บ้าง สอนที ครั้งละ 20-30 คน ผมจึงมาเจอว่าปัญหาส่วนใหญ่ของคนไข้มาจากความเครียด ผมก็เลยคิดว่าจะสอนให้เขาจัดการกับความเครียดได้อย่างไร

ความเครียดมาจากความคิดของคนไข้เอง การจะให้เขาวางความคิดได้ ก็ต้องมีเทคนิค ผมก็ต้องไปปฏิบัติธรรม ไม่พูดไม่จา สิบวัน ผมก็ไปเพื่อเรียนรู้ว่าทำอย่างไรกับการปล่อยวางความคิด สุดท้ายก็ต้องทำเอง เพื่อนำเอามาสอนคนไข้

พอทำไป เราก็พอจะจับทางได้ว่า ถ้ามีเทคนิควางความคิดเพื่อคลายเครียด วิธีการที่เขาทำกันคือนั่งสมาธิ ผมจับประเด็นหลักๆ ที่จะทำให้เขาเอามาใช้ง่ายในชีวิตประจำวัน

ข้อหนึ่ง เขาจะต้องดึงความสนใจมาอยู่ที่ลมหายใจ หรือความรู้สึกบนร่างกาย เป็นประจำ

ข้อสอง ฝึกผ่อนคลายกล้ามเนื้อต่างๆ ให้เป็น เพราะถ้าผ่อนคลายกล้ามเนื้อได้ ความคิดมันจะแผ่วลงไป นอกจากนั้นคือข้อสาม เขาต้องฝึกรับรู้ความรู้สึกต่างๆ ที่เกิดขึ้นบนร่างกาย คือ attention เรา attention กับความรู้สึกบนร่างกาย การจมอยู่กับความคิดก็น้อยลง

เทคนิค 1-3 ข้อนี้ คือสิ่งที่ผมใช้กับคนไข้ ผ่านกิจกรรมนั่งสมาธิ รำมวยจีน ทำโยคะด้วยการจดจ่ออยู่กับลมหายใจ ทำกิจกรรมหลายๆ รูปแบบ ให้ความสนใจอยู่กับลมหายใจ รับรู้ความรู้สึกของร่างกายแล้วก็ผ่อนคลายกล้ามเนื้อของร่างกาย หลักใหญ่ๆ ก็มีเท่านี้ เขาทำตามแล้วก็ได้ผลดี เพราะหลักใหญ่ๆ ก็ง่ายๆ

ถ้าเขาหงุดหงิด นอนไม่เต็มตา ขี้โมโห นั่นการจัดการความคิดจะยาก คนที่มาเรียนกับผมมีทั้งคนไข้โรคหัวใจและคนไข้ด้านจิตเวช ผู้กำกับภาพยนต์ คนทำงานด้านครีเอทีฟก็มี ผมจะติดตามเคสเฉพาะคนไข้โรคหัวใจ ความดัน เบาหวานเรื้อรัง ซึ่งพวกเขาดีขึ้น เพราะงานวิจัยที่ฝรั่งทำไว้นั้นชัดเจน คนไข้บางคนเลิกยาเบาหวานได้ เลิกยาความดันได้ บางคนก็ไม่ต้องผ่าตัดแล้ว เพราะอาการหายไป การเปลี่ยนวิธีใช้ชีวิต มันเป็นสัจธรรม ฝรั่งศึกษาไว้แล้ว เพียงแต่การเปลี่ยนนั้น คนเราจะเปลี่ยนได้หรือเปล่า ถ้าเปลี่ยนได้นั้น ดีแน่” นายแพทย์สันต์ระบุ

สภาพการณ์ของวิกฤติโควิด-19 ณ ปัจจุบัน

เมื่อถามว่าคุณหมอเป็นอีกท่านนึง ที่สนใจและติดตามสถานการณ์โควิด มองสภาพการณ์ของวิกฤติโควิดที่เกิดขึ้นอย่างไรบ้าง

นายแพทย์สันต์ตอบว่า ประเด็นที่หนึ่ง ความตื่นกลัวของผู้คนมีมากเกินข้อมูลที่มีจริง เราตื่นกลัวมากเกินไป ความตื่นกลัวก็ทำให้เราป่วยได้ ตอนนี้ เหมือนสังคมจะป่วยเพราะความตื่นกลัว อันนี้คือประเด็นที่หนึ่ง

เพราะถ้าดูข้อมูลของโรคจริงๆ มันไม่จำเป็นต้องตื่นกลัวขนาดนั้น ดูการแพร่กระจายของโรคไม่ได้มาก จาก 70 ล้านคน ตอนนี้ 3 แสนคนเท่านั้นเอง เปรียบได้กับ 0.5% เป็นอย่างมากของประชากรที่ป่วย

อัตราการตายรวม 0.8%
นักโทษในเรือนจำ อัตราตาย 0.1%
อัตราการตายต่ำมาก


ประชากรที่ป่วย ไม่เกิน 0.5% เราไม่ควรจะตื่นกลัวกันกันมากเกินไป ความตื่นกลัวจะทำให้สังคมเราป่วยมากกว่าตัวโรคโควิดเองซะอีก

ประเด็นที่สอง ในการจัดการโรคโรคหนึ่ง หัวใจอยู่ที่การจัดการด้านระบาดวิทยา การสอบสวน กักกันโรค ที่ผ่านมา ระบบของไทยทำได้ดีมาก ยกเว้นกทม.และปริมณฑลซึ่งยังไม่มีระบบที่ดี


>>> ประชาชนต้องมีภูมิคุ้มกันโรคที่ดี

นายแพทย์สันต์กล่าวว่าอีกด้านหนึ่งคือการดูแลภูมิคุ้มกันโรคส่วนบุคคลให้มีภูมิคุ้มกันโรคที่ดี อันนี้เราไม่ได้บอกให้คนทำเลยทั้งที่มันสำคัญมาก ส่วนนี้ไม่เกี่ยวกับเรื่องสวมหน้ากาก อยู่ห่าง ล้ามมือนะ อันนั้นเป็นเรื่องระบาดวิทยาและการป้องกันส่วนบุคคล แต่ส่วนภูมิคุ้มกันโรคส่วนบุคคลนี้คือว่า ทำยังไงที่จะกินอาหารให้มีสัดส่วนของพืชให้มากขึ้น ให้มีการออกกำลังกาย การนอนหลับให้เพียงพอ ออกกลางแดดให้ได้รับวิตามินดีเพียงพอ เพราะเหล่านี้มีผลต่อภูมิคุ้มกันโรคทั้งนั้น ภูมิคุ้มกันโรคเป็นปราการที่ธรรมชาติสร้างมาเป็นภูมิคุ้มกันโรคทุกชนิด เรื่องนี้เราไม่ได้พูดให้ประชาชนเข้าใจเลย

>>> ยังขาด Vaccination Coverage

นายแพทย์สันต์กล่าว่า Vaccination Coverage เป็นจุดบกพร่องที่สอง แต่เราไปหลงประเด็นว่าจะได้วัคซีนยี่ห้อนั้นหรือเปล่า ยี่ห้อนี้หรือเปล่า หมอคนนั้นว่าอย่างนั้น หมอคนนี้ว่าอย่างนี้ ทำไมหมอพูดไม่เหมือนกัน คือเรื่องพวกนั้นไม่สำคัญ เรื่องสำคัญมันมีเรื่องเดียว คือ Vaccination Coverage คือการใช้วัคซีนควบคุมโรค ประสิทธิผลของวัคซีนไม่ใช่สาระ ในทางการแพทย์เราถือว่า วัคซีนใดมีประสิทธิผลเกิน 50% ใช้ได้หมด

อย่างเช่น วัคซีนไข้หวัดใหญ่ที่เราใช้ทุกวันนี้ ประสิทธิผลก็ 50% ทั้งนั้นเลย เพราะฉะนั้น ประสิทธิผลไม่ใช่เรื่องที่ต้องมาพูดกัน แต่สิ่งที่ต้องพูดคือ วัคซีน คัฟเวอเรท คือการต้องฉีดให้ได้ 70-80% ของประชากร เมื่อนั้นวัคซีนก็จะทำงานช่วยในการควบคุมโรค ซึ่ง Vaccination Coverage ยังทำไม่ได้ เพราะเรายังไม่มีวัคซีน เพราะฉะนั้น เรื่องวัคซีนไม่ว่าอย่างไรเราก็ต้องรออย่างน้อยสองปี กว่าที่ จะมี Vaccination Coverage ส่วนประสิทธิผลว่าอะไรดีกว่านั้นอย่าไปพูดเลย เพราะมันไม่มีข้อมูล ในทางวิทยาศาสตร์ มันต้องทำการแบ่งกลุ่ม สุ่มตัวอย่าง ใช้เวลาหลายปีกว่าจะคำนวณได้ว่าของใครดีกว่าของใคร ทุกวันนี้พูดบนข้อมูลที่ไม่ใช่วิทยาศาสตร์การแพทย์ใช้ ดังนั้น เรื่องประสิทธิผลอย่าไปยุ่งเลย นอกจากนั้น ผมว่าวันนี้ สังคมหลงทางไป

คือพอฉีดวัคซีนปุ๊ป เราตามตรวจภูมิคุ้มกัน เค้าเรียกว่าผิดหลักวิทยาศาสตร์ แพทย์ทุกคนรู้ว่า เวลาที่เราฉีดเข็มแรก ภูมิคุ้มกันขึ้น เข็มที่สอง จะ Boots กระตุ้นใช่ไหม แล้วเมื่อไม่มีเชื้อโรคมากระตุ้นต่อจากนั้น ภูมิคุ้มกันจะค่อยๆ หายไป นี่เกิดกับวัคซีนทุกชนิด แพทย์ก็ทราบ ยกตัวอย่างวัคซีนไวรัสตับอักเสบ ผลวิจัยพบว่าผ่านไประยะนึง ไปเจาะเลือดดู ภูมิคุ้มกันไม่มีเลย แต่เมื่อใดก็ตามที่เขาไปติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ ภูมิคุ้มกันจะสูงขึ้นมา เพื่อป้องกันไม่ให้เขาไปติดไวรัสตับอักเสบ

“เพราะฉะนั้น การที่เรามาไล่ดูภูมินั้น มันไม่ใช่ประเด็น เขายังไม่ติดโรค ภูมิมันก็ดร็อปลงไปตามธรรมชาติ เพราะภูมิของเม็ดเลือดขาว เขามีข้อมูลไว้หมดแล้ว ถ้ามีโรคแบบนี้มา เซลล์เขาจะสร้างอาวุธไว้แบบนี้ แต่โรคยังไม่มาเขาก็ยังไม่สร้างภูมิ แต่เราไปเน้นเอาข้อมูลวัดภูมิคุ้มกันมาเผยแพร่ว่าวัคซีนนั้นมีภูมิแบบนั้นแบบนี้ ทั้งที่วัคซีนทุกตัวสัมพันธ์กับอัตราการตายที่ลดลงใกล้เคียงกันหมด เพราะฉะนั้น เราควรจะเลิกโวยวายกับวัคซีน แล้วมาพูดถึงประเด็นสำคัญอื่นๆ” นายแพทย์สันต์ระบุ

>>> กรุงเทพฯและปริมณฑล ยังขาดยุทธศาสตร์ในการรับมือโควิด-19

นายแพทย์สันต์กล่าวว่า “ข้อหนึ่ง ยุทธศาสตร์การควบคุมโรคระบาดก็คือ ค้นหา สอบสวน และกักกันโรค ซึ่งตรงนี้ ในต่างจังหวัด สปสช. หรือ อสม. มีกลไกที่ทำไว้ดีแล้ว แต่กรุงเทพฯ กับ ปริมณฑล ทิศทางมันยังแกว่งๆ มันยังไม่มียุทธศาสตร์ที่ชัดเจน

การกักกันโรค หรือ Sand Box ก็เข้าท่า เป็นการลองกักกันในรูปแบบหนึ่ง ก็เป็นไปตามแนวทางระบาดวิทยา

ข้อสอง ควรจะสอนให้คนรู้ว่าทำยังไงจะเพิ่มภูมิคุ้มกันโรคส่วนบุคคลให้ดีขึ้น เพราะนี่เป็นโอกาสดี นอนอยู่บ้านเฉยๆ ทุกวัน เป็นโอกาสดีที่จะสอนให้เขาดูแลตนเอง

ข้อสามที่เราควรจะทำคือ ตอนนี้เรามีข้อมูลมากพอแล้วว่า ฟ้าทะลายโจรช่วยรักษาโควิดได้ การให้ความรู้ผู้คนก็สำคัญ เพราะฟ้าทะลายโจรเป็นยาสามัญประจำบ้านที่มีความปลอดภัย แต่เมื่อเราสอนให้คนที่มีความเสี่ยงสูง คนที่กักตัวเอง หรือคนที่มีแอนติเจน เทสต์ คิท ตรวจพบว่าเป็นโควิด ให้กินฟ้าทะลายโจร จะควบคุมโรคได้ง่ายขึ้นอีกเยอะ สามอย่างนี้เราน่าจะทำ” นายแพทย์สันต์ระบุ

เมื่อถามว่า แต่ตัวเลขผู้ติดเชื้อมีมากกว่าหนึ่งหมื่นห้าพันคน คนตายร้อยกว่าคนก็สร้างความตื่นตระหนกให้ประชาชนพอสมควร

นายแพทย์สันต์ตอบว่า “ครับ เป็นความจริง สิ่งที่เกิดขึ้นเรียกว่าอัตราเร่ง คือ โรคระบาดถ้ามีอัตราเร่งก็เป็นลางบอกว่าเราต้องรีบรักษาให้ลดลง ซึ่งระบบระบาดวิทยาของเรา เขาก็มีการล็อกดาวน์ ล็อกการเดินทาง ซึ่งผมว่ามาถูกทางแล้ว ถ้าทำได้จริงจัง แต่มี

ข้อกังวลคือเรายังขาดยุทธศาสตร์การควบคุมโรคที่เหมาะกับนกรุงเพทฯ และปริมณฑล ซึ่งระบบระบาดวิทยา ในต่างจังหวัดเราทำดีแล้ว สปสช. และ อสม. ทำได้ดีมาก แต่กรุงเพทฯ และปริมณฑลเรายังไม่เคยมีโมเดลในการจัดการโรค เพราะกรุงเทพฯ นี่เหมือนประเทศประเทศนึงแยกออกไปต่างหากเลย

ผมไม่รู้เราควรทำยังไง เราอาจทำการทดลอง เช่น คอนโดหลังหนึ่งมีคนมากกว่าหมู่บ้านผมทั้งหมู่บ้าน ในชั้นหนึ่งของคอนโดไม่มีใครรู้จักใคร เราจะควบคุมโรคยังไง เพราะถ้าในต่างจังหวัด อสม. เขารู้จักหมด เช่นเขารับผิดชอบบ้าน 30 หลัง เขารู้จักหมด ถ้าเราทำคอนโดให้เหมือนหมู่บ้านแล้วมี อสม. ดูแลแต่ละชั้น ก็อาจจะควบคุมโรคได้ง่ายขึ้น เอายุทธศาสตร์ที่เราใช้ในชนบทแล้วประสบความสำเร็จแล้ว มาประยุกต์ใช้ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล โรงงานก็มองเป็นหมู่บ้าน ต้องลองนะ เป็นแค่คอนเซ็ปต์ แต่ที่แน่ๆเรายังไม่มียุทธศาสตร์ในการรับมือโควิดในกรุงเทพฯ และปริมณฑล”นายแพทย์สันต์ระบุ


>>> ฟ้าทะลายโจร ต้านโควิดได้

เมื่อถามว่า ฟ้าทะลายโจร สรุปแล้วช่วยรักษาหรือช่วยต้านโควิดได้ใช่หรือไม่

นายแพทย์สันต์ตอบว่า “ข้อมูลการทดลองในคนมีรายงานวิจัยสามชิ้นที่ทำเสร็จแล้ว แต่ยังไม่ได้ตีพิมพ์ เขาส่งไปตีพิมพ์ ซึ่งคือกลไกการตีพิมพ์วารสารทางวิทยาศาสตร์มันใช้เวลา 1-2 ปี วารสารต้องส่งต่อไปให้ผู้เชี่ยวชาญนั่งอ่านและค้นคว้า ตรวจสอบว่าที่วิจัยมาจริงไหม กระบวนการที่ทำมาถูกต้องไหม จริงไหม แต่งานวิจัยทั้งสามชิ้นนี้ทำเสร็จแล้ว รอตีพิมพ์

นายแพทย์สันต์กล่าวว่า เป็นเรื่องน่ายินดี ที่กรมการแพทย์แผนไทยฯซึ่งเป็นเจ้าของงานวิจัยทั้งสามชิ้น และมีผู้ช่วยทำหลายหน่วยงานมาก แต่ว่ากรมการแพทย์แผนไทยฯ เป็นเจ้าของงานวิจัย ซึ่งกรมการแพทย์แผนไทยก็นำมาเผยในการประชุมแพทย์ที่ประชุมกันเมื่อเดือนที่แล้ว โดยงานวิจัยนั้นแน่ชัดแล้วว่าฟ้าทะลายโจรทำลายเชื้อโควิดในคนได้ ยิ่งใช้เร็ว ยิ่งสงสัยว่าติดเชื้อแล้วใช้เร็วยิ่งได้ผล นี่คือข้อมูลที่เราได้จากงานวิจัยทั้งสามชิ้น แต่ยังมีข้อมูลที่เรายังไม่รู้อีก เช่น ขนาดที่เราใช้มันเยอะเกินไปมั้ย แต่มันใช้ได้แน่นอน 180 มิลลิกรัม ต่อเนื่อง 5 วัน ใช้ได้แน่นอน แต่ขนาดเยอะเกินไปหรือเปล่าไม่รู้ เพราะมันมากกว่าที่แพทย์แผนไทยใช้รักษาไข้คนของเขาถึงสามเท่า”

นายแพทย์สันต์ระบุและกล่าวเพิ่มเติมว่า ตัวฟ้าทะลายโจร คนจะรู้แค่ว่ามี่กี่มิลลิกรัมในหนึ่งแคปซูล หนึ่งแคปซูลมีตั้งแต่ 250 - 500 มิลลิกรัมบ้าง นั่นเป็นผงบดของพืชที่ชื่อฟ้าทะลายโจรหรือชื่อฝรั่งว่า Andrographis เป็นคนละอันกับโมเลกุลกับที่ใช้ในงานวิจัยที่ชื่อ Andrographolide ตัวนี้เป็นพระเอกจริงหรือเปล่าไม่รู้ แต่ทั่วโลกเวลาทำเรื่องฟ้าทะลายโจร จะใช้สารตัวนี้คือ Andrographolide เป็นตัวบอกว่ามีเนื้อยาอยู่มากหรือน้อย งานวิจัยทั้งสามชิ้นที่ว่าทำเสร็จแล้ว ยังไม่ได้ตีพิมพ์ เขาก็ใช้สาร Andrographolide 180 มิลลิกรัม

“ถ้ายกตัวอย่างของเจ้าพระยาอภัยภูเบศร การทดลองของเขามี Andrographolide อยู่ 3% เพราะฉะนั้น ในหนึ่งแคปซูลของอภัยภูเบศร์มีผงบดอยู่ 400 มิลลิกรัม ก็เท่ากับมี Andrographolide อยู่ 12 มิลลิกรัมต่อแคปซูล ส่วนของเจ้าอื่นมี Andrographolide กี่ % ส่วนใหญ่ไม่รู้ มีตั้งแต่ 1 ไปถึง 6% เรื่องมีกี่เปอร์เซ็นต์ กฎหมายไม่ได้ระบุให้เขียน แต่ผมทราบว่า อย.จะให้ระบุข้างได้ว่าฟ้าทะลายโจรใช้รักษาโควิดได้ แต่การจะเขียนอย่างนั้นได้ ต้องมีสามารถระบุขนาดของ Andrographolide ระบุไว้ข้างขวดไว้ชัดเจน ถึงตอนนั้นประชาชนน่าจะสับสนน้อยลง

ย้ำนะ andrographis หมายถึงผงบด มีไม่ปริมาณตั้งแต่ 250 - 500 มิลลิกรัมต่อแคปซูล ส่วน Andrographolide เป็นโมเลกุลเดี่ยวซึ่งใช้ในงานวิจัย เป็นตัวบ่งบอกปริมาณเนื้อยาของฟ้าทะลายโจร เมื่อไหร่ที่พูดถึงขนาดของฟ้าทะลายโจรต้องจำแนกให้ออกว่าเขาพูดในฐานะผงบดหรือฐานะแอนโดรกราฟโฟไลด์ ต้องอ่านฉลากข้างขวดให้เข้าใจ แต่ในภาพรวมแต่มันใช้ได้ดีแน่ทั้งในรูปของผงบดหรือในรูปสารสกัดแอนโดรกราฟโฟไลด์” นายแพทย์สันต์ระบุ

เมื่อถามว่า ปัจจุบัน สปสช. จะมอบยาฟ้าทะลายโจรให้ผู้ป่วยกลุ่มสีเขียวที่กักตัวอยู่ที่บ้าน

นายแพทย์สันต์ตอบว่า ฟ้าทะลายโจรทุกอันมี Andrographolide เหมือนกันหมดหมด อยู่ที่ว่าจะมีเท่าไหร่ แต่เรื่องนี้ไม่ซีเรียสมาก เพราะงานวิจัยสามชิ้นที่ผ่านไป มันใช้ปริมาณค่อนข้างมาก คือ Andrographolide 180 มิลลิกรัมต่อวัน ซึ่งค่อนข้างมาก แล้วมีข้อมูลเบื้องต้น ที่ทำให้เราสงสัยว่า ต่ำกว่านี้ก็น่าจะได้ เช่นในเรือนจำ มีอัตราการตายต่ำมาก Andrographolide ที่ใช้ก็ต่ำกว่างานวิจัยเท่าตัว

นอกจากนี้ มีงานวิจัยของสถาบันสมุนไพรสวีเดน (Sweden Herbal Institute) กำลังทดลองอยู่ ใช้ฟ้าทะลายโจรรักษาโรคโควิด งานวิจัยนั้น ใช้ Andrographolide ความเข้มข้น 90 มิลลิกรัมต่อวัน ต่ำกว่าที่เราใช้กว่าเท่าตัว

>>> อย.เตรียมออกประกาศ ฟ้าทะลายโจรใช้รักษาโควิด

นายแพทย์สันต์กล่าวว่า “อย. กำลังออกใบอนุญาตให้ระบุข้างขวดได้ ว่าฟ้าทะลายโจรใช้รักษาโควิดได้ ผมถือว่าทันเหตุการณ์ดีมาก เพราะฉะนั้น สำหรับประชาชนทั่วไป ในอนาคตไม่ง่าย ที่จะได้ฟ้าทะลายโจรมาหรือมีการแจกฟ้าทะลายโจร เหมือนที่ สปสช. ทำ เพราะฟ้าทะลายโจร รอบของการผลิตมันต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 150 วันถ้ามีเมล็ดพันธุ์ แต่ตอนนี้ เมล็ดพันธุ์ไม่มีแล้ว ณ วันนี้ ทุกคนใช้เมล็ดพันธุ์ไปหมดแล้ว แล้วที่แจกในเรือนจำนั้น ก็เป็นผลผลิตมาจากฤดูกาลก่อน ตอนนี้เมล็ดพันธุ์ไม่มี อีกหน่อย สปสช. ก็จะไม่มียามาแจก อย่าว่าแต่ตามร้านขายยาเลย กรมการแพทย์แผนไทยเองก็จะไม่มียามาแจก นี่คือปัญหา เตรียมไว้ได้เลยเจอปัญหานี้แน่นอน” นายแพทย์สันต์ระบุ

เมื่อขอให้ฝากถึงประชาชนในเรื่องการดูแลตัวเองในห้วงยามวิกฤติเช่นนี้

นายแพทย์สันต์ตอบว่า อย่าตื่นกลัวกับเรื่องราวในโซเชียลมีเดีย โดยเฉพาะเรื่องวัคซีน เขาเรียกท่านไปฉีดเมื่อไหร่ก็ไป ไม่ต้องไปตื่นตระหนก เพราะมันไม่ต่างกันสักเท่าไหร่หรอก ขอให้ท่านหันมาสนใจการสร้างภูมิคุ้มกันให้ตัวเอง

“หนึ่ง ท่านต้องบำรุงภูมิคุ้มกันของท่านให้ดี กินพืชเป็นหลัก ออกกำลังกาย นอนหลับให้พอ ดูแลเรื่องของความเครียด ไม่ให้มีความเครียด ออกแดดให้ได้รับวิตามินดี เสริมสร้างภูมิคุ้มกันนี้ท่านต้องทำ ไม่ใช่มัวนั่งนับยอดผู้เสียชีวิตโควิด แล้วก็มานั่งเครียด ควรเอาเวลานั้นไปออกกำลังกายกลางแดด ไม่ต้องสนใจเรื่องเครียดๆ ทั้งหลาย

สอง ปลูกฟ้าทะลายโจรไว้หลังบ้าน วันนึงข้างหน้า สมมติมองโลกในแง่ร้าย ทั้งโลกเป็นโควิดมาก คุมไม่อยู่ สมมตินะครับ การจะมารอกินเป็นแคปซูลคงไม่ทัน ท่านก็เอาใบมาต้มกิน ถ้าท่านมีใบอยู่หลังบ้านท่านจะเดือดร้อนอะไร มันเป็นพืชที่ปลูกง่าย ท่านปลูกไว้หลังบ้านก็ไม่เสียหลายนะ ฟ้าทะลายโจร ตามชายขอบรั้วมันอาจจะมีอยู่แล้ว ลองทำความรู้จักกับมัน คนที่อยู่ต่างจังหวัด หลังบ้านท่านอาจจะมีอยู่แล้ว ลองหาดู

สาม การควบคุมโรคในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ต้องมี แต่ทุกวันนี้ เราทำไป ไม่รู้อะไร ไม่รู้ยุทธศาสตร์อยู่ตรงไหน ตรงนี้ต้องสร้างขึ้นเป็นเรื่องเร่งด่วน

นายแพทย์สันต์ระบุ ก่อนกล่าวทิ้งท้ายถึงชีวิตปัจจุบันว่า ย้ายมาอาศัยอยู่ที่มวกเหล็ก สระบุรีได้ไม่น้อยกว่า 20 ปี แล้ว ปัจจุบัน เป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ครอบครัว ทำงานทางด้านนี้เรื่อยมาที่ศูนย์ Well ness we care ซึ่งเปิดมาได้ 5 ปีแล้ว

“สอนให้คนมีสุขภาพดี ไม่ป่วย แต่เมื่อเกิดวิกฤติโควิด-19 ผมก็ต้องหยุดสอน ผมก็ต้องปิดชั้นเรียนไปโดยปริยาย ปัจจุบัน ผมอายุย่าง 69 งานที่ทำนี้ถือว่าคืองานหลังเกษียณ ให้ความรู้ผู้คน ทั้งสอนและเขียนให้ความรู้” นายแพทย์สันต์ระบุ ถึงการทำงานอย่างมีความสุขที่แม้จะเข้าสู่วัยเกษียณแล้วแต่ยังคงทำงานไม่หยุด เพื่อให้ความรู้ผู้คนอีกจำนวนมาก

...............................................
Text by รพีพรรณ สายัณห์ตระกูล


กำลังโหลดความคิดเห็น