ผู้อำนวยการศูนย์ฉีดวัคซีนบางซื่อ เผยเบื้องหลังเปิดโปงขบวนการซื้อขายคิวฉีดวัคซีน พบอาสาสมัครที่ค่ายมือถือจ้างมาแอบเพิ่มชื่อในระบบ มีการซื้อขายคิวคนละ 400-1,200 บาท แต่ใช้วิธีขุดบ่อล่อปลาเอามาเป็นพยาน ก่อนลงทะเบียนใหม่ ฉีดวัคซีนและให้กลับบ้าน ขณะที่ตำรวจพบมี 11 ชื่อ ผู้ใช้กระทำการทุจริต
รายงาน
เรื่องวุ่นๆ ของศูนย์ฉีดวัคซีนบางซื่อเวลานี้ นอกเหนือจากผู้คนทั่วทุกสารทิศ แห่ไปวอล์กอินเพื่อขอฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 หวั่นเกรงว่าจะเกิดคลัสเตอร์ใหม่แล้ว ยังพบการทุจริตลักลอบเพิ่มรายชื่อผู้จองคิวฉีดวัคซีน ลงไปในระบบของกรมการแพทย์
แต่สุดท้ายก็ไม่รอดสายตาเจ้าหน้าที่ นำไปสู่การขุดบ่อล่อปลาจับทุจริต และพบว่า เป็นฝีมือของลูกจ้างภายนอก (เอาต์ซอร์ซ) ของค่ายมือถือค่ายหนึ่ง ที่ว่าจ้างมาเพื่อมาเป็นอาสาสมัครค่ายมือถือ ประจำศูนย์ฉีดวัคซีนบางซื่อ
เดือดร้อนไปถึงผู้บริหารค่ายมือถือนั้น ต้องแจ้งความดำเนินคดีเพื่อหาตัวผู้กระทำความผิดอีกทาง
เรื่องนี้ถูกเปิดเผยจาก พญ.มิ่งขวัญ วิชัยดิษฐผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ฉีดวัคซีนบางซื่อ กระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมช่องหนึ่ง ระบุว่า ก่อนหน้านี้ ศูนย์ฉีดวัคซีนบางซื่อจะให้ลงทะเบียนจองคิวล่วงหน้า ผ่านค่ายมือถือหรือองค์กร กระทรวง ทบวง กรมต่างๆ โดยจะมีเจ้าหน้าที่อัปโหลดข้อมูลเข้าระบบไว้ล่วงหน้า ผู้ที่เข้ามาฉีดวัคซีน ก็จะมีข้อมูลในระบบ
ปกติโต๊ะลงทะเบียนจะมีทั้งหมด 250 โต๊ะ แต่ไม่สามารถแก้ไขข้อมูลได้ มีเพียงโต๊ะลงทะเบียน 6 โต๊ะเท่านั้น ที่แก้ไขข้อมูลและ เพิ่มชื่อระหว่างวันได้ ซึ่งจะเป็นเจ้าหน้าที่ศูนย์ฉีดวัคซีนบางซื่อ และฝ่ายไอทีของกรมการแพทย์ รวมกันประมาณ 10 กว่าคน
แต่ช่วงที่เปิดให้ประชาชนวอล์กอินเข้ามา เนื่องจากไม่มีข้อมูลในระบบมาก่อน จึงต้องเปิดสิทธิให้คนที่มาช่วยลงทะเบียน สามารถเพิ่มข้อมูลเข้ามาในระบบได้ โดยให้ Username และ Password เพื่อใช้เพิ่มข้อมูลในระบบ และจะมีการตรวจสอบทุกวันว่าที่ผ่านมาเป็นอย่างไร
โดยเจ้าหน้าที่ประจำจุดลงทะเบียน จะมีทั้งเจ้าหน้าที่จากสถาบันโรคผิวหนัง ฝ่ายไอทีของกรมการแพทย์ ประมาณ 10 กว่าคน นอกนั้นจะเป็นอาสาสมัครจากกระทรวง ทบวง กรมต่างๆ และอาสาสมัครจากค่ายมือถือพันธมิตร 4 ค่าย ซึ่งไปจ้างบุคคลภายนอก (เอาต์ซอร์ซ) มาช่วยงาน
แต่ช่วงนี้เนื่องจากจะให้ประชาชนวอล์กอินเข้ามา เพราะฉะนั้นจึงงดนัดฉีดวัคซีนแก่องค์กรนั้นๆ ไปเลย สัปดาห์ที่ผ่านมาจะนัดเฉพาะกระทรวงการต่างประเทศ ได้เปิดรับจองคิวสำหรับชาวต่างชาติที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปเพียงองค์กรเดียว วันละประมาณ 300-400 คน ซึ่งจะมีระบบตรวจสอบยอดของแต่ละวัน ทั้งยอดผู้มาใช้บริการ และยอดที่นัดล่วงหน้า
ปรากฏว่า จากที่ดูข้อมูลมา 7 วัน พบความผิดปกติยอดที่นัดล่วงหน้า วันที่ 28 ก.ค. มีผู้จองคิวฉีดวัคซีนมากกว่า 2,000 คน ซึ่งเกินกว่าปกติ
ทั้งที่ช่วงนี้เจ้าหน้าที่จะอัปโหลดข้อมูลเฉพาะจากกระทรวงการต่างประเทศ เพียงแค่ 300 กว่ารายเท่านั้น แล้วเสร็จตั้งแต่เวลา 16.00 น. ที่ผ่านมา
แต่เวลาที่อัปโหลดข้อมูลเข้าไปใหม่อยู่ที่ประมาณ 22.00 น. ซึ่งเป็นช่วงที่เจ้าหน้าที่ไม่ได้ปฏิบัติงานแล้ว เริ่มจากเพิ่มข้อมูลลงไปครั้งละ 10-20 คน และเพิ่มขี้นมากที่สุด รวมกันกว่า 2,000 คน
ขณะเดียวกัน ศูนย์ฉีดวัคซีนบางซื่อ ได้รับแจ้งเบาะแสว่ามีการทุจริตเรียกรับเงินเพื่อให้ได้คิวฉีดวัคซีน จึงตัดสินใจว่า แทนที่จะยกเลิกนัดแล้วแจ้งว่าเป็นความผิดพลาด ก็เตรียมการร่วมกับตำรวจจับขบวนการเหล่านี้
โดยปล่อยให้คนที่ลงทะเบียนมาเกิน 2,000 กว่าคน เข้ามาที่โต๊ะลงทะเบียนประมาณ 600-700 คน แล้วทำการยกเลิกนัดทั้งหมด ทำให้ข้อมูลหายไป และเตรียมสถานที่เพื่อชี้แจงแก่บุคคลเหล่านั้นว่าทำไมข้อมูลถึงหายไป ใช้เวลาวางแผน 2 วัน
ต่อมาวันที่ 28 ก.ค. พบว่าคนที่เข้ามาฉีดวัคซีนโดยทุจริตได้เข้าไปด้านในประมาณ 600-700 คน เจ้าหน้าที่จึงตัดสินใจยกเลิกนัดทั้งหมด ทำให้ไม่มีข้อมูล หลังจากนั้นจึงได้เชิญให้เข้ามายังสถานที่ที่จัดเตรียมเอาไว้เพื่อชี้แจง
ปรากฏว่า มีประชาชนที่จองคิวโดยทุจริตประมาณ 300 กว่าคนยอมเข้าไปข้างใน ส่วนที่เหลือหนีกลับไปก่อน ขณะที่ด้านนอกอีกประมาณ 1,000 กว่าคน มีการส่งสัญญาณจากกลุ่มมิจฉาชีพว่าอย่าเข้ามา เพราะถูกยกเลิกนัดทั้งหมด
ผู้อำนวยการศูนย์ฉีดวัคซีนบางซื่อ กล่าวชี้แจงว่า ทางเรารู้ว่ามีการนัดฉีดวัคซีนโดยไม่สุจริตเข้ามา ขอให้ทุกคนให้ความร่วมมือว่า นัดมายังไง จ่ายเงินยังไง เข้าบัญชีไหน โดยจะกันไว้เป็นพยานในฐานะผู้เสียหาย พร้อมแจ้งความกับตำรวจ สน.นพวงศ์
จากการสอบถามทราบว่า แต่ละคนจะเสียค่าใช้จ่ายให้กับมิจฉาชีพตั้งแต่ 400 บาท สูงสุด 1,200 บาท ซึ่งได้มอบหมายให้นิติกรกรมการแพทย์ทำการสอบสวนต่อ
หลังให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่แล้ว พยานทั้ง 300 กว่าราย จึงได้ให้ลงทะเบียนใหม่อย่างถูกต้อง ก่อนจะฉีดวัคซีนเข็มแรกและให้กลับบ้านไปแล้ว ส่วนคนที่ออกไปก่อนถือว่าเข้ามาโดยไม่สุจริตและไม่ให้ความร่วมมือ ก็ไม่ได้ฉีดวัคซีนให้
เมื่อตรวจสอบไปในระบบ ปรากฏว่า มีชื่อผู้ใช้ (Username) เพิ่มชื่อเข้าไปประมาณ 19 ชื่อ โดยมีชื่อผู้ใช้หลักที่เพิ่มข้อมูลลงไปนับร้อยคนประมาณ 4 ชื่อ ซึ่งได้แจ้งความกับตำรวจไว้แล้ว ขณะนี้ตำรวจสอบสวนไปแล้วประมาณ 8 ชื่อ แต่ละชื่อผู้ใช้จะระบุว่าเป็นใคร
แต่ทางตำรวจแจ้งว่าอาจจะถูกแอบอ้างเอาชื่อไปใช้ก็ได้ อาสาสมัครบางคนระบุว่าไม่เคยใช้ชื่อผู้ใช้ดังกล่าวเลย แต่ก็มีข้อมูลเลขที่บัญชีรับโอนเงิน และสาวไปยัง IP Address เพื่อค้นหาว่ามาจากคอมพิวเตอร์เครื่องไหน
ภายหลังค่ายมือถือไปแจ้งความในฐานะผู้เสียหายเหมือนกัน เพราะชื่อผู้ใช้ทั้งหมดมาจากค่ายมือถือค่ายหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่เจ้าหน้าที่ของค่ายนั้น แต่เป็นลูกจ้างภายนอก (เอาต์ซอร์ซ) ที่จ้างเข้ามา เชื่อว่าน่าจะทำกันเป็นขบวนการ
อย่างไรก็ตาม ยังพบว่ามีผู้ใช้บางรายอัปโหลดข้อมูลในลักษณะเดียวกัน โดยไม่มีสิทธิ์เข้าไปในระบบ แต่เป็นไปในลักษณะประปราย โดยอาสาสมัครอาศัยช่องว่างของระบบ เพิ่มชื่อเพื่อนเข้ามา กำลังจับตามองอยู่
อีกด้านหนึ่ง ผู้บริหารค่ายมือถือได้เข้าแจ้งความกับตำรวจ จากการสอบถามผู้ต้องสงสัยแจ้งว่า เมื่อถูกจับได้ให้ตอบว่า ไม่รู้ ให้ญาติลงทะเบียนให้ ก่อนแจ้งข้อพิรุธดังกล่าวให้กับกรมการแพทย์เพื่อตรวจสอบอีกทางหนึ่ง
สำหรับการลงทะเบียนจองคิวฉีดวัคซีนกับค่ายมือถือนั้น ทำกันแบบระบบปิด โดยแต่ละวันทางค่ายมือถือจะส่งรายชื่อดังกล่าวไปให้กรมการแพทย์เพื่อตรวจสอบความถูกต้องและลงทะเบียนในระบบของกรมการแพทย์เพื่อความโปร่งใส
ขณะที่ตำรวจ สน.นพวงศ์ ซึ่งรับผิดชอบพื้นที่สถานีกลางบางซื่อ ได้ขยายผลพบว่า มีชื่อผู้ใช้ที่อัปโหลดข้อมูลผิดปกติประมาณ 11 ชื่อ จึงได้มอบหมายให้นิติกรกรมการแพทย์แจ้งความดำเนินคดีกับขบวนการทั้งหมดแล้ว
ถือเป็นกรณึศึกษาที่อาสาสมัครอาศัยช่องโหว่ของระบบไอทีกระทำการทุจริต แต่ด้วยไหวพริบของผู้อำนวยการศูนย์ฉีดวัคซีนบางซื่อ ทำให้ขบวนการนี้ถูกตีแผ่ออกมา เป็นบทเรียนที่การบริหารจัดการจุดฉีดวัคซีนต่างๆ ต้องมีความรัดกุมมากยิ่งขึ้น
เพราะคนที่เสียผลประโยชน์ตัวจริงคือประชาชนที่ “คอยวัคซีนอยู่”
อ่านประกอบ : จับทุจริต! แฮกระบบมือถือเอาโควตาฉีดวัคซีนขายต่อหัวละ 500-1,000 บาท-“ศักดิ์สยาม” จัดระเบียบใหม่ลดแออัด