xs
xsm
sm
md
lg

เป็นไปแล้ว...เรือปืนฝรั่งเศสวิ่งหนี เมื่อเรือรบไทยสู้ไม่ถอย! เรือรบไทยจมเพราะเรือบินถล่มผิดลำ!!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: โรม บุนนาค



ประเทศต้องมีทหารไว้เป็นรั้ว ทหารต้องมีปืน กองทัพจึงต้องมีอาวุธไว้พร้อมสรรพเพื่อรับมือข้าศึก เมื่อชาติตะวันตกสร้างเรือปืนได้ ก็ออกล่าอาณานิคมข่มเหงชาติที่อาวุธด้อยกว่า เรือปืนของอเมริกาไม่กี่ลำก็บังคับให้ญี่ปุ่นเปิดประเทศได้ อังกฤษออกล่าอาณานิคมไปทั่วโลกจนจักรวรรดิอังกฤษพระอาทิตย์ไม่ตกดิน ก็ด้วยเรือปืน ฝรั่งเศสเข้ายึดครองญวนเขมรและเอาดินแดนไทยไปมากมายก็ด้วยเรือปืนเช่นกัน เมื่อไทยเรารู้พิษสงของอาวุธตะวันตก พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงสละพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ซื้อปืนใหญ่จากเยอรมันมาสร้างป้อมปืนขึ้นที่ปากน้ำเจ้าพระยา แต่ขณะที่เราฝึกใช้อาวุธใหม่ยังไม่ทันคล่องมือ ฝรั่งเศสก็ถือโอกาสนำเรือรบ ๒ ลำฝ่าเข้ามาถึงกรุงเทพฯ และขู่ว่าจะถล่มพระบรมมหาราชวังถ้าเราไม่ยอมทำตามคำเรียกร้อง จากนั้นก็บีบบังคับเอาดินแดนพร้อมด้วยค่าเสียหายจากผู้ที่ต่อสู้ป้องกันประเทศ ในฐานที่ทำให้ผู้บุกรุกต้องล้มตายไปหลายคน

นี่ก็เป็นบทเรียนบทหนึ่งทำให้เราต้องมีอาวุธที่มีประสิทธิภาพไว้ป้องกันประเทศ

ในปี ๒๔๘๒ ทางการไทยงงๆเมื่อฝรั่งเศสมาขอทำสัญญาไม่รุกรานกันกับไทย ไทยเห็นว่าไม่มีเหตุผลใดที่จะทำสัญญาเช่นนี้ ซึ่งอาจจะทำให้นานาชาติเข้าใจผิดคิดว่าไทยจะเป็นผู้รุกราน จึงปฏิเสธไป ทั้งนี้ก็เพราะตอนนั้นเยอรมันใต้ระบอบนาซีของฮิตเลอร์ ได้ฝ่าฝืนสนธิสัญญาสันนิบาติชาติที่ทำไว้เมื่อแพ้สงครามโลกครั้งที่ ๑ แอบสร้างอาวุธและเกณฑ์ทหาร ฝรั่งเศสรู้ตัวว่าต้องเผชิญกับสงครามแน่ และเกรงว่าไทยจะถือโอกาสชำระแค้นที่ทำไว้มาก จึงจะกันศึกด้านนี้ไว้ก่อน

ต่อมาในวันที่ ๑ กันยายนนั้น ฮิตเลอร์ได้ส่งกองทัพนาซีบุกแบบสายฟ้าแลบลุยไปทั้งยุโรป ส่วนไทยในสมัยจอมพล ป.พิบูลสงครามก็ปลุกกระแสชาตินิยม ให้นักเรียนระดับมัธยมถึงมหาวิทยาลัยเป็นยุวชนทหาร ส่วนนักเรียนหญิงก็เป็นยุวนารี เตรียมรับสงครามเหมือนกัน ทำให้ฝรั่งเศสไม่ไว้ใจว่าจะโดนบุกอินโดจีนด้วย จึงเสนอขอทำสัญญาไม่รุกรานกันอีกครั้ง ไทยจึงแสดงน้ำใจยอมรับเซ็นสัญญา แต่ขอให้ฝรั่งเศสปรับปรุงเส้นแบ่งเขตในลำน้ำโขงใหม่ให้เป็นไปตามหลักสากล คือใช้ร่องน้ำเดินเรือเป็นเส้นแบ่งเขต ไม่ใช่เอาแม่น้ำโขงเป็นของฝรั่งเศสทั้งหมด ไทยลงก้าวลงจากตลิ่งไม่ได้เลย ฝรั่งเศสก็ยอมรับข้อเสนอนี้ จึงมีการเซ็นสัญญาไม่รุกรานกันในวันที่ ๑๒ มิถุนายน ๒๔๘๓ แต่สัญญาจะสมบูรณ์ก็ต่อเมื่อมีการแลกเปลี่ยนสัตยาบันกันก่อน ตอนนั้นฝรั่งเศสถูกเยอรมันตีแตกไปแล้ว รัฐบาลใหม่อยู่ในความควบคุมของเยอรมัน รัฐบาลฝรั่งเศสจึงขอให้สัญญามีผลบังคับใช้ไปเลยโดยไม่ต้องแลกสัตยาบันกัน ไทยเราก็ยอม แต่ขอให้ฝรั่งเศสปักปันเขตแดนใหม่เสียก่อน ทั้งยังขอเพิ่มข้อต่อท้ายไปอีกว่า

“ ขอให้ฝรั่งเศสรับรองว่า หากอธิปไตยของอินโดจีนจะเปลี่ยนไปจากฝรั่งเศส ขอให้คืนแคว้นลาวและแคว้นเขมรให้ไทยก่อน”

การที่ขอเพิ่มข้อหลังนี้ก็เพราะ ตอนนั้นญี่ปุ่นส่งทหารเข้าไปเต็มอินโดจีนแล้วทั้งญวนและเขมร ฝรั่งเศสไม่กล้าขัดขวาง ไทยจึงเกรงว่าฝรั่งเศสจะเอาดินแดนที่ยึดจากไทยไปให้ญี่ปุ่นหมด

ฝรั่งเศสที่เคยแต่บังคับเอาดินแดนคนอื่น โดนข้อเรียกร้องแบบนี้เลยจะแสดงศักดิ์ศรี โดยลืมตัวไปว่าตอนนั้นไม่เหลือศักดิ์ศรีแล้ว รัฐบาลที่สวามิภักดิ์ต่อเยอรมันได้ตอบปฏิเสธข้อเรียกร้องของไทยทุกข้อ ทั้งยังท้าทายมาด้วยว่า

“...รัฐบาลฝรั่งเศสจึงจำต้องรักษาสถานภาพทางการเมืองและบูรณภาพแห่งดินแดนของอินโดจีนไว้ต่อข้ออ้างสิทธิทั้งปวง และต่อการรุกรานไม่ว่าจะมีกำเนิดมาจากทางใด”

ทั้งยังให้นโยบายทางกองกำลังในอินโดจีนมาด้วยว่า ให้ใช้วิธีรุกได้เลย ไม่ต้องรอตั้งรับ

จากนั้นฝรั่งเศสก็ขนทหารและยุทโธปกรณ์เข้าประชิดแดนไทย ส่งเครื่องบินขึ้นลาดตระเวนล่วงล้ำเขตไทย เมื่อเครื่องบินไทยขึ้นบินลาดตระเวนเรียบฝั่งโขง ก็ถูกฝรั่งเศสยิง ไทยเลยยิงตอบ เกิดการปะทะกันขึ้น

ส่วนในลำน้ำโขง ฝรั่งเศสส่งเรือปืนยิงขึ้นมาบนฝั่งไทย ไทยจึงขุดสนามเพลาะตลอดแนว ยิงตอบโต้ฝรั่งเศส นอกจากทหารและยุวชนทหารเข้าประจำตลอดแนวแล้ว ชาวบ้านยังขนปืนแก๊ป ปืนพกมาร่วมยิงใส่เรือฝรั่งเศสด้วย

ส่วนทางทะเล กองเรือของอินโดจีนส่วนใหญ่ถูกถอนกำลังไปช่วยเมืองแม่เกือบหมด คงเหลือเพียง ๓ ลำ คือเรือลาดตระเวนลามอตต์ปิเกต์และเรือสลุป หรือเรือรบขนาดเล็กที่มีความเร็วสูง อีก ๒ ลำ นอกนั้นเป็นเรือช่วยรบ และยังมีเครื่องบินทะเลอีก ๘ ลำ แค่นี้ก็เหนือกว่ากองเรือในย่านนี้แล้ว

ในวันที่ ๑๔ มกราคม ๒๔๘๔ ผู้บังคับการกองเรืออินโดจีนได้รับคำสั่งจากผู้สำเร็จราชการอาณานิคมให้ปฏิบัติภารกิจ ๔ ประการคือ

๑.จู่โจมเข้าระดมยิงฐานทัพสัตหีบและเรือรบของข้าศึก กวาดล้างเรือข้าศึกที่เหลือหากพบตามชายฝั่งตะวันออกเฉียงใต้ของสยาม

๒. ค้นหาและทำลายเรือข้าศึกตั้งแต่สัตหีบลงมาถึงเส้นพรมแดนเขมร

๓. นำกองเรือเข้าโจมตีอ่าวจันทบุรี รวมทั้งเกาะช้าง เกาะกูด และเรือข้าศึกทุกลำ

๔. เมื่อปฏิบัติการข้างต้นแล้วให้กลับไซ่ง่อน เว้นแต่เรือลำเลียงที่ติดอาวุธเป็นเรือช่วยรบ ให้ลาดตระเวนน่านน้ำระหว่างแหลมเซนต์แจคส์และเกาะคอนซอน

๐๖.๐๐น.ของวันที่ ๑๗ มกราคม ๒๔๘๔ ฝรั่งเศสได้ส่งเครื่องบินทะเล ๑ เครื่องมาลาดตระเวน นักบินรายงานกองเรือที่มุ่งมาว่า เห็นเรือดำน้ำของไทยจอดอยู่ที่ท่าอยู่ ๒ ลำ อีก ๒ ลำไม่รู้ว่าอยู่ที่ไหน นาวาเอกเรจีส์ เบรังเยร์ ผู้บังคับกการกองเรือ วิตกว่าถ้าเข้าไปถึงสัตหีบอาจเจอเอาตอร์ปิโดจากเรือดำน้ำที่ซ่อนอยู่ได้ เมื่อนักบินรายงานว่าพบ ร.ล.สงขลาและ ร.ล.ชลบุรี ซึ่งเป็นเรือตอร์ปิโดทั้ง ๒ ลำจอดอยู่ที่เกาะช้างจึงมุ่งไปที่นั่น โดยให้เครื่องบินเข้าโจมตีทิ้งระเบิดเข้าใส่ก่อน แต่ไม่ถูกเป้าหมาย เลยถูกตอบโต้ด้วยปืนต่อสู่อากาศยานขนาด ๗๕ มม.และปืนกลขนาด ๒๐ มม.ร่วงลงทะเลทางใต้เกาะหวาย

ที่ฝรั่งเศสเลือกเวลามาแต่เช้าตรู่ก็เพราะสืบรู้มาว่า เรือรบไทยนั้นประหยัดเชื้อเพลิงไม่ได้ติดเครื่องตลอดคืน และกว่าจะติดเครื่องได้ในตอนเช้าก็ต้องใช้เวลาอุ่นเครื่องเป็นชั่วโมงๆ จึงเป็นเป้านิ่งให้ฝรั่งเศส

เมื่อเครื่องบินเปิดฉากแล้ว ลามอตต์ปิเกต์ก็นำขบวนอีก ๖ ลำเข้ารุมเรือรบไทยทั้ง ๒ ลำ และยังยิงถล่มไปที่อาคารบนเกาะง่าม ร.ล.สงขลาจึงเข้ารับจับคู่กับลามอตต์ปิเกต์ แม้น้ำหนักจะต่างกันคนละรุ่น ให้ ร.ล.ชลบุรีรับมือกับขบวนเรือที่ตามมา ผลปรากฏว่า ร.ล.สงขลาถูกยิงเข้าไปหลายนัดจนเกิดเพลิงไหม้และน้ำเข้าเรือ อีกทั้งลูกปืนก็หมด ผู้บังคับการจึงสั่งสละเรือเมื่อ ๐๖.๔๕ น.

ส่วน ร.ล.ชลบุรียิงถูกเรือสลุป ๑ ใน ๒ ลำจนต้องหนีออกไปจากแนวรบ และยิงเรือช่วยรบอีก ๒ ลำจนไฟไหม้อย่างหนักจมลงในทะเลลึก แต่ ร.ล.ชลบุรีเองก็ถูกยิงจนไฟไหม้และเริ่มจมเหมือนกัน จนต้องสละเรือในเวลา ๐๖.๕๐ น.

ในขณะที่ทหารเรือไทยต้องลอยคออยู่ในทะเล แทนที่เรือฝรั่งเศสจะช่วยชีวิตตามหลักมนุษยธรรมของการทำสงคราม กลับใช้ทั้งปืนใหญ่ปืนเล็กยิ่งเข้าใส่ และยังใช้กระสุนบางนัดที่มีควัน ซึ่งเข้าใจว่าเป็นกระสุนก๊าซพิษ นับว่าเป็นการละเมิดกฎกติกาในการทำสงครามอย่างน่าอัปยศ ...ไหนว่าเป็นชาติอารยะ

ร.ล.ธนบุรีได้ตามไปช่วยเรือทั้ง ๒ โดยมี ร.ล.หนองสาหร่ายและ ร.ล.เทียวอุทกตามไปด้วย เมื่อ ร.ล.ธนบุรีไปถึงเกาะไม้ซี้ก็พบกับลามอตต์ปิเกต์ รู้ว่าเป็นเรือสำคัญที่สุดของฝรั่งเศสจึงสั่งให้ ร.ล.หนองสาหร่ายและ ร.ล.เทียวอุทกหลบไปทางเหนือเกาะช้าง เพราะเป็นเรือขนาดเล็กไม่มีทางยิงถึงเรือข้าศึก จากนั้นก็พุ่งเข้าหาลามอตต์ปิเกต์ทันที

ร.ล.ธนบุรีก็ใช่ว่าจะเทียบชั้นกับลามอตต์ปิเกต์ได้ เล็กกว่ากันมาก ร.ล.ธนบุรีมีระวางขับน้ำ ๒,๓๕๐ ตัน ความเร็ว ๑๖ น็อต พลประจำเรือ ๒๓๔ นาย ลามอตต์ปิเกต์มีระวางขับน้ำ ๗,๘๘๐ ตัน ความเร็ว ๓๓ น็อต พลประจำเรือ ๕๗๘ นาย แต่ระยะห่างกัน ๑๐,๐๐๐ เมตรจัดอยู่ในระยะปืนที่ยิงถึงกันทั้ง ๒ ฝ่าย ร.ล.ธนบุรีมีปืนขนาด ๘ นิ้ว ๔ กระบอก ลามอตต์ปิเกต์มีปืนขนาด ๖.๑ นิ้ว ๘ กระบอก มีปืนเล็กกว่าแต่ก็มีมากกว่าถึงเท่าตัว ทั้งปืนเล็กยังบรรจุลูกได้เร็วกว่าปืนขนาดใหญ่ ๒.๕ เท่าด้วย แล้วยังมีตอร์ปิโดอีก ๑๒ ท่อ เครื่องบินทะเลอีก ๑ ลำ

ถ้าเทียบขนาดแล้ว ร.ล.ธนบุรีไม่มีทางทาบลามอตต์ปิเกต์ได้เลย แต่ความสำคัญอยู่ที่ลามอตต์ปิเกต์ถูกใช้ให้มาปฏิบัติตามคำสั่งเพื่อรุกราน แต่ ร.ล.ธนบุรีรบเพื่อป้องกันมาตุภูมิของตัวเอง ใจจึงต่างกันมาก

การยิงตอบโต้กันของเรือทั้ง ๒ ฝ่ายดังไปถึงตราดและจันทบุรี ลามอตต์ปิเกต์ถูกยิงก่อนเข้าที่สะพานเดินเรือ ๒ นัด ลามอตต์ปิเกต์ตอบโต้มาด้วยตอร์ปิโด ๓ ลูกแต่ไม่ถูกเป้าหมาย ต่อมา ร.ล.ธนบุรีก็โดนกระสุนนัดแรกที่ใต้สะพานเดินเรือ ทะลุเข้าไประเบิดในหอบังคับการ ทำให้ นาวาโทหลวงพร้อมวีรพันธ์ ผู้บังคับการเรือและทหารหลายคนเสียชีวิต แรงระเบิดทำให้เครื่องถือท้ายขัดข้อง ร.ล.ธนบุรีหมุนเป็นวง แต่พรรคกลิน หรือฝ่ายช่างเครื่อง ก็แก้ไขให้กลับมาบังคับได้อีกแม้จะไม่คล่องเหมือนเก่าก็ตาม และยังมุ่งที่จะเข้าหาลามอตต์ปิเกต์โดยเฉพาะ ลามอตต์ปิเกต์โดนเข้าไปหลายลูกจนเกิดอาการ เบนหัวเรือออกพยายามทิ้งระยะห่าง ร.ล.ธนบุรีก็ตามติดแม้จะมีเรือสลุปของฝรั่งเศสอีกลำตามมาสมทบ ร.ล.ธนบุรีโดนเข้าไปหนักเหมือนกัน กระสุนบางนัดเป็นกระสุนเพลิงและยังมีกระสุนก๊าซพิษ ทำให้เกิดไฟไหม้ควันตลบหายใจไม่สะดวก

๐๗.๔๐ น.มีเสียงทหารใน ร.ล.ธนบุรีไชโยขึ้น ได้ยินมาถึงในป้อมท้ายเรือ จึงถามกันว่าไชโยอะไรกัน ก็ได้รับคำตอบว่ามีเครื่องบินของเรามาช่วยแล้ว ทหารในป้อมจึงเฮกัน ทันใดเครื่องบินลำนั้นก็จิกหัวลงต่ำ หย่อนระเบิดลูกหนึ่งลงมาแต่เฉียดกราบขวาลงทะเล อีกลูกทะลุลงห้องครัวทำให้เกิดไฟไหม้ แต่ก็ไม่ได้ทำให้เสียงคำรามของปืน ร.ล.ธนบุรีต้องหยุด ลูกหนึ่งโดนป้อมท้ายเรือลามอตต์ปิเกต์ที่กำลังถอยหนีเข้าอย่างจัง เห็นประกายไฟพุ่งออกมา และทำให้ลามอตต์ปิเกต์เดินส่ายไปมาแล้วถอดใจ ชักธงสัญญาณพร้อมเปิดแตรไซเรน เป็นคำสั่งให้เรือทุกลำล่าถอย จากคำให้การของชาวประมง เห็นลามอตต์ปิเกต์ที่ล่าถอยไปนั้นมีไฟลุกอยู่ที่ท้ายเรือและแปล้น้ำผิดปกติ มีเรืออีก ๓ ลำประคองไป

เมื่อข้าศึกถอยหนี ร.ล.ธนบุรีก็ไม่อยู่ในสภาพที่จะตามได้ มีคำสั่งให้หยุดยิงเมื่อ ๐๘.๒๐ น.พร้อมกับเสียงไชโยของเหล่าทหารที่สามารถขับไล่ข้าศึกที่ข่มเหงไทยมายาวนานในประวัติศาสตร์ต้องวิ่งหางจุกตูดกลับไป และหันเข้าช่วยกันดับไฟที่ยังไหม้อยู่อย่างหนัก โดยเปิดน้ำให้เข้าคลังกระสุนดินดำทำให้เรือเอียงไปทางกราบขวา แต่ก็ยังใช้ฝีจักรเดินต่อไปได้ ต่อมาไฟได้ลามไปถึงห้องเครื่องจักร ควันไฟและควันระเบิดทำให้ทหารพรรคกลินในห้องไฟฟ้า ๘ คนไม่มีอากาศหายใจ ต้องเสียชีวิต

ร.ล.ธนบุรีอยู่ในสภาพย่ำแย่ ร.ล.ช้างที่มาช่วยดับไฟจึงลากไปเกยตื้นที่แหลมงอบ ลำเลียงทหารที่บาดเจ็บลง ร.ล.ช้าง

หลังเหตุการณ์ ได้มีคำถามกันว่า เครื่องบินที่มาหย่อนระเบิดใส่จนเป็นสาเหตุให้ ร.ล.ธนบุรีต้องจมลงนั้น เป็นเครื่องบินของใครแน่ บ้างก็ว่าเป็นเครื่องบินฝรั่งเศส แต่คนใน ร.ล.ธนบุรีที่เห็นว่าเป็นเครื่องบินไทย และเครื่องหมายบนลำเครื่องบินของฝรั่งเศสและของไทยก็ใกล้เคียงกัน

หากเครื่องบินไทยบอมบ์ผิดลำก็อาจเป็นไปได้ เพราะเครื่องบินยุคนั้นก็ไม่ได้มีตาวิเศษเหมือนเครื่องบินในยุคนี้ ขนาดเครื่องบินฮอล์คที่ไทยผิดขึ้นเองพลปืนยังยิงใบพัดตัวเองเป็นประจำ และในยุทธนาวีที่เกาะช้างนี้ ฮอล์คลำหนึ่งที่ยิงกับเครื่องบินฝรั่งเศสก็ยังยิงเอาใบพัดของตัวเองไปลำหนึ่ง ต้องรีบบินกลับฐานไปเปลี่ยนใบพัดใหม่ นักบินมือใหม่ที่ออกสงครามครั้งแรกก็อาจจะตื่นเต้นทำผิดพลาดได้ นี่ก็เป็นบทเรียนหนึ่งในประวัติศาสตร์ ทำให้ทหารต้องศึกษา ดูงาน และซ้อมรบอยู่เสมอ

ผลของการรบครั้งนี้ ทหารฝ่ายเราเสียชีวิต ๓๖ นาย เป็นทหารประจำ ร.ล.ธนบุรี ๒๐ นาย ร.ล.สงขลา ๑๔ นาย ร.ล.ชลบุรี ๒ นาย แต่ฝ่ายข้าศึกไม่แจ้ง ทราบแต่ว่าคืนนั้นมีการขนศพทหารและทหารที่บาดเจ็บขึ้นบกที่ฐานทัพไซ่ง่อนตลอดทั้งคืน

ร.ล.ธนบุรีเสียหายหนัก เมื่อซ่อมแล้วจึงได้ปลดระวางจากการรบ ใช้เป็นกองบังคับการของกองเรือตรวจอ่าว กองเรือยุทธการ จนกระทั่งปลดประจำการในปี ๒๕๐๒ ถอดหอบังคับการและป้อมปืนไปจัดแสดงไว้ที่พิพิธภัณฑ์ทหารเรือ สมุทรปราการ

ส่วนฝรั่งเศสแถลงว่าไม่ได้เสียเรือรบลำใดเลย แต่เมื่อญี่ปุ่นเข้ายึดครองอินโดจีน ได้ส่งลามอตต์ปิเกต์ไปเข้าอู่ซ่อมที่โอซาก้าในปี ๒๔๘๔ แต่ซ่อมแล้วก็ไม่สามารถใช้ในการรบได้ จึงปลดเป็นเรือฝึก ในที่สุดก็ถูกเครื่องบินสหรัฐทิ้งระเบิดใส่จนจมลงในปี ๒๔๘๘

ยุทธนาวีที่เกาะช้างจึงเป็นครั้งแรกที่เรือรบของชาติในตะวันออกไกล ได้หาญเข้าต่อกรกับเรือรบของมหาอำนาจตะวันตกที่เคยใช้ล่าอาณานิคมมาทั่วโลก แม้ฝรั่งเศสจะไม่ยอมเผยว่าเสียหายอะไรบ้าง แต่ในคืนวันที่ ๑๙ มกราคมนั้น วิทยุไซ่ง่อนของฝรั่งเศสเองก็ยังกล่าวสรรเสริญวีรกรรมของทหารเรือไทยไว้ตอนหนึ่งว่า

“...แต่เราจะลืมเสียมิได้ที่จะสรรเสริญการต่อสู้อย่างทรหดกล้าหาญของทหารเรือไทย เราขอน้อมเคารพทหารเรือไทยที่ได้สิ้นชีพในการต่อสู้อย่างถึงที่สุดสมเกียรติทหาร เพื่อบ้านเกิดเมืองนอนของเขาด้วย...”








กำลังโหลดความคิดเห็น