เครื่องบินเป็นพาหนะที่มีความเร็วกว่าพาหนะทุกชนิดในโลก แต่มนุษย์ก็ยังไม่สิ้นสุดความพอใจ อยากจะได้เครื่องบินที่เร็วขึ้นไปอีกอย่างไม่มีที่สิ้นสุด นั่นก็คือกำเนิดของ “คองคอร์ด” เครื่องบินโดยสารที่มีความเร็วเหนือเสียง มีความเร็วกว่าเครื่องบินโดยสารที่มีมาก่อนหน้านี้ถึงเท่าตัว มีฉายาว่า “ราชินีแห่งน่านฟ้า” เพราะมีความหรูหรา รูปทรงเรียวยาว ปีกเป็นสามเหลี่ยมสะดุดตา และมีราคาค่าโดยสารเกินกว่ามนุษย์ขึ้นรถเมล์จะเอื้อมถึง
บริษัทบริติชแอร์เวย์ของอังกฤษและแอร์ฟรานซ์ของฝรั่งเศส ได้ร่วมกันศึกษาวิจัยถึง ๗ ปี จึงผลิตคองคอร์ดต้นแบบออกมาบินได้ในวันที่ ๒ มีนาคม ๒๕๑๒ จากนั้นก็ทดสอบและพัฒนาอีก ๔ ปี จึงได้ผลิตเครื่องแรกออกมาทดลองบินในวันที่ ๖ ธันวาคม ๒๕๑๖ รวมเวลาในโครงการนี้ถึง ๑๓ ปีเต็ม ใช้เงินไปมหาศาล และผลิตออกมาทั้งหมด ๒๐ ลำ เป็นเครื่องที่ใช้ในการพัฒนา ๖ ลำ และเครื่องใช้ในการบินพาณิชย์ ๑๔ ลำ
คองคอร์ดมีความเร็วปกติ ๒,๑๕๘ กิโลเมตรต่อชั่วโมง และความเร็วสูงสุด ๒,๔๐๐ กิโลเมตรต่อชั่วโมง มีเพดานบินสูง ๑๘.๒๘๘ กิโลเมตร สูงจนปลอดหลุมอากาศ ผู้โดยสารไม่มีความรู้สึกถึงความเร็วของเครื่องเลย
คองคอร์ดเริ่มการบินพาณิชย์ในวันที่ ๒๑ มกราคม ๒๕๑๙ และเปิดเส้นทางบินปารีส ลอนดอน นิวยอร์ค ในวันที่ ๒๒ พฤศจิกายน ๒๕๒๐ ระยะทางราว ๖,๐๐๐ กิโลเมตร ใช้เวลาบิน ๒ ชั่วโมง ๕๓ นาที และในการบินโชว์รอบโลกปี ๒๕๓๕ ใช้เวลาบิน ๓ ชั่วโมง ๔๙ นาที รอบที่ ๒ ในปี ๒๕๓๘ ใช้เวลา ๓๑ ชั่วโมง ๒๗ นาที ทั้ง ๒ รอบได้จอดแวะพักที่สนามบินดอนเมืองด้วย นับว่ารันเวย์ดอนเมืองของเราไม่เบา รับเครื่องบินที่เร็วเหนือเสียงได้
เครื่องบินคองคอร์ดนอกจากจะมีความพิเศษที่เร็วกว่าเสียงแล้ว ส่วนหัวที่เป็นปลายจมูกแหลมนั้น สามารถปรับให้กดลงมาได้ ๑๒.๕ องศาในเวลาขึ้นและลง เพื่อให้นักบินสามารถมองเห็นรันเวย์ได้
แม้คองคอร์ดจะมีข้อดีหลายอย่าง แต่ก็มีข้อเสียหลายอย่างเหมือนกัน การออกแบบโดยยึดถือความเร็วเป็นหลัก จึงทำให้ห้องโดยสารเป็นหลอดแคบๆ จุผู้โดยสารได้เพียง ๑๒๘ คน
การออกแบบเครื่องยนต์ให้มีความเร็วสูง ทำให้สิ้นเปลืองเชื้อเพลิงมากกว่าเครื่องบินปกติถึง ๔ เท่า มีค่าใช้จ่ายสูงขึ้นมาก และทำให้ค่าโดยสารคองคอร์ดสูงกว่าเครื่องบินปกติมากด้วย จึงเป็นที่นิยมเฉพาะเศรษฐี นักธุรกิจชั้นสูง และดาราที่เงินเหลือใช้เท่านั้น
ทั้งความเร็วเหนือเสียง ยังทำให้เกิดโซนิค บูมซึ่งดังมาก คองคอร์ดจึงใช้ความเร็วได้เต็มที่เฉพาะบินเหนือมหาสมุทรเท่านั้น แต่พอขึ้นแผ่นดินใหญ่จึงต้องลดความเร็วลงครึ่งหนึ่ง แต่กลับเปลืองน้ำมันมากกว่า เพราะการออกแบบเครื่องยนต์มาแบบนั้น
สหรัฐอเมริกาได้ออกกฎห้ามเครื่องบินความเร็วเหนือเสียงบินผ่านน่านฟ้าของสหรัฐ เพราะเกิดเสียงดังเกินไป และการเผาผลาญน้ำมันก็ทำให้อากาศสกปรก เป็นผลให้การสั่งจองคองคอร์ดของสายการบินต่างๆชะงักกันเป็นแถว แต่ต่อมาศาลสูงสหรัฐก็สั่งเพิกถอนกฎระเบียบห้ามเครื่องบินโดยสารความเร็วเหนือเสียงบินเข้าสหรัฐอเมริกา คองคอร์ดจึงเปิดเส้นทางยุโรป-อเมริกาได้
การบินของคองคอร์ดซึ่งเริ่มขึ้นเมื่อวันที่ ๒๑ มกราคม ๒๕๑๙ จนสิ้นสุดลงในวันที่ ๒๔ ตุลาคม ๒๕๔๖ มีสถิติตกเพียงครั้งเดียวเท่านั้นในวันที่ ๒๕ กรกฎาคม ๒๕๔๓ แต่ก็มีผลอย่างมากที่ทำให้คองคอร์ดต้องกลายเป็นตำนานการบินไป
การประสบอุบัติเหตุของคองคอร์ดจนทำให้ผู้โดยสารและลูกเรือทั้งลำต้องเสียชีวิตนั้น ไม่ใช่ความผิดพลาดของคองคอร์ดเลย แต่เป็นอุบัติเหตุจากเศษโลหะเล็กๆเพียงชิ้นเดียวที่ตกอยู่บนรันเวย์ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่มีใครคาดคิด และไม่เคยมีเครื่องบินตกเพราะเหตุนี้
เที่ยวบินนั้นคองคอร์ดออกจากสนามบินชาร์ลเดอโกลใกล้กรุงปารีสในเวลา ๑๖.๔๔ น.ตามเวลาท้องถิ่น บรรทุกน้ำมันไปด้วย ๙๕ ตัน จะไปสนามบินนิวยอร์ค เป็นเที่ยวบินเหมาลำของนักท่องเที่ยวชาวเยอรมัน ก่อนออกเดินทางได้รับการรายงานว่าทุกอย่างเป็นปกติ เมื่อเครื่องวิ่งไปบนรันเวย์กว่า ๑,๗๒๒ เมตร กล่องดำหรือกล่องบันทึกเสียงการบินบันทึกข้อมูลว่าหัวเครื่องเริ่มเบนไปทางซ้าย ๑ องศาต่อวินาที แต่นักบินก็บังคับเครื่องให้กลับมารักษาระดับเดิมได้ และดึงเครื่องขึ้นจากรันเวย์ ทุกอย่างก็ยังเป็นไปตามปกติ ต่อมากล่องดำบันทึกว่าอัตราเร่งลดลง ไฟสัญญาณของเครื่องยนต์หมายเลข ๑ และ ๒ ดับลง เครื่องได้เซไปทางซ้าย หอบังคับการของสนามบินได้แจ้งทางวิทยุว่า เห็นประกายไฟที่ส่วนท้ายของเครื่อง ซึ่งขณะนั้นล้อได้ลอยพ้นรันเวย์ขึ้นไปแล้ว และนักบินไม่สามารถเก็บฐานล้อได้ เนื่องจากประตูของฐานล้อไม่ทำงาน กัปตันพยายามบังคับเครื่องบินจะไปลงที่สนามบินที่อยู่ใกล้ แต่กำลังเครื่องยนต์ที่ ๓ และที่ ๔ ก็ลดลงอย่างรวดเร็วอีก ทำให้เครื่องตกลงกระแทกพื้นอย่างแรงและชนเข้ากับอาคารที่เป็นโรงแรมขนาดเล็ก
นอกจากผู้โดยสารและลูกเรือจะตายหมดทั้งลำ ๑๐๙ คนแล้ว ยังทำให้คนภาคพื้นดินตายไปด้วยอีก ๔ คน
คองคอร์ดทุกลำถูกระงับการบินทันทีระหว่างสอบสวนหาสาเหตุ ในที่สุดก็สรุปได้ว่า ขณะที่คองคอร์ดเร่งเครื่องวิ่งไปบนรันเวย์ถึงความเร็วกว่า ๓๒๐ กิโลเมตรต่อชั่วโมง กำลังจะเชิดหัวขึ้นนั้น ล้อด้านซ้ายได้ทับเศษอลูมิเนียมความยาวประมาณฟุตเศษที่หลุดออกมาจากเครื่อง DC-10 ที่บินขึ้นไปก่อนหน้านั้น ๑๐ นาที ทำให้ยางระเบิดเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยเนื่องจากความเร็ว และเศษชิ้นส่วนนี้ไปปะทะกับถังเชื้อเพลิงหมายเลข ๕ ที่อยู่บนปีกซ้าย ความรุนแรงทำให้ถังเชื้อเพลิงรั่ว น้ำมันฟุ้งกระจายออกมาติดไฟ ทำให้ไอร้อนเข้าสู่ท่อปรับอากาศ และอาจจะมีเศษยางเข้าไปในท่อรับอากาศด้วย ทำให้เครื่องยนต์สูญเสียกำลังลง
เมื่อสรุปสาเหตุของอุบัติเหตุได้ว่า ไม่ได้เกี่ยวกับความบกพร่องผิดพลาดของคองคอร์ดเลย จึงเปิดทำการบินใหม่อีกครั้ง โดยเลือกเอาวันที่ ๑๑ กันยายน ๒๕๔๔ เป็นเที่ยวแรกของการบินรอบใหม่ ซึ่งก็นับเป็นโชคร้ายครั้งที่ ๒ ของคองคอร์ดอีก เพราะได้เกิดผู้ก่อการร้ายใช้เครื่องบินพุ่งชนตึกเวิร์ลเทรดเซ็นเตอร์ที่นิวยอร์คในวันนี้พอดี ทำให้เกิดสยองขวัญกันไปทั้งโลก โดยเฉพาะคนที่ขึ้นเครื่องบิน ส่งผลให้มีผู้ใช้บริการคองคอร์ดน้อยลงไปอีกจากสยองขวัญในอุบัติเหตุครั้งแรกแล้ว
ในที่สุดบริษัทบริติซแอร์เวย์และแอร์ฟรานซ์ ก็ตัดสินใจที่จะไม่แบกรับค่าดูแลรักษาคอนคอร์ดที่เป็นจำนวนเงินสูง ยกเลิกการใช้คองคอร์ดบินทั้งหมดในปี ๒๕๔๖ โดยเปิดเที่ยวบินสุดท้ายจากปารีสไปเมืองคาร์ลสรูห์ที่เยอรมันในปลายเดือนมิถุนายน ๒๕๔๖ จากนั้นเครื่องนั้นก็ถูกนำไปเก็บไว้ที่พิพิธภัณฑ์เทคนิคของเมืองซินสไฮม์ในเยอรมัน ทิ้งไว้แต่ตำนาน “ราชินีแห่งน่านฟ้า” ที่บินเร็วเหนือเสียง