สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน ทรงบรรยายออนไลน์ ครั้งที่ 3 แก่ นักศึกษาคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัย มหิดล
วันนี้(21 ก.ค.) เมื่อเวลา 12.36 น. ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี เสด็จลง ณ ตำหนักทิพย์พิมาน ตำบลโป่งตาลอง อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา ทรงสอนลักษณะบรรยายออนไลน์ ครั้งที่ 3 พระราชทานแก่นักศึกษา ชั้นปีที่ 4 และปีที่ 5 คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัย มหิดล ในการนี้ ทรงบรรยายบทที่ 3 ในหัวข้อเรื่อง “ชีววิทยาของมะเร็ง - การเพิ่มจำนวนของเซลล์: วัฏจักรเซลล์และวิถีการส่งสัญญาณ ที่ไม่สามารถควบคุมได้ในหัวข้อที่ทรงบรรยาย เป็นความรู้พื้นฐานที่สำคัญ นำไปสู่ความเข้าใจในหลักการ ที่จะนำมาใช้ในการพัฒนาการรักษามะเร็ง โดยเฉพาะกระบวนการสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการเกิดมะเร็ง ได้แก่ การเพิ่มขยายจำนวน การเข้าสู่ภาวะที่หยุดการแบ่งตัวและเข้าสู่ช่วงปลายของอายุขัยของเซลล์หรือความชราภาพ และกระบวนการตายของเซลล์ ซึ่งปกติร่างกายจะมีการควบคุมให้มีความสมดุลและเหมาะสม แต่หากเกิดความผิดปกติเกี่ยวกับการควบคุมในระบบเหล่านี้ ก็จะนำไปสู่การเกิดเป็นมะเร็งขึ้นได้ , การเพิ่มจำนวนของเซลล์ มีความเกี่ยวข้องกับวัฏจักรของเซลล์ หรือวงจรการแบ่งตัวของเซลล์ ซึ่งแบ่งออกเป็น 4 ระยะ เริ่มตั้งแต่การสร้างดีเอ็นเอเพื่อเพิ่มปริมาณสารพันธุกรรมเป็นการเตรียมความพร้อมไปจนเข้าสู่กระบวนการแบ่งตัวของเซลล์ออกเป็น 2 เซลล์ โดยในแต่ละระยะจะมีจุดที่ตรวจสอบและควบคุมความถูกต้องและคุณภาพการทำงานของเซลล์ ซึ่งขึ้นกับโปรตีนจำเพาะหลายชนิดที่คอยควบคุมวิถีการส่งสัญญาณ ให้มีการทำงานได้เหมาะสมและถูกเวลา หากเกิดความผิดปกติที่จุดควบคุมเหล่านี้ อาจจะส่งผลให้เกิดมะเร็งขึ้นได้
นอกจากนี้ ทรงบรรยายถึงรายละเอียดของกระบวนการส่งสัญญาณเข้าสู่เซลล์ ซึ่งนำไปสู่การตอบสนองของเซลล์ เช่น การแบ่งตัว การแสดงออกของยีน การตายและการอยู่รอดของเซลล์ เป็นต้น โดยหยิบยกความสำคัญของภาวะที่เซลล์เข้าสู่ความชราภาพ หรือเรียกว่าซี-เนส-เซนส์ (senescence) โดยเกิดการเปลี่ยนแปลงทางชีวเคมีจนในที่สุดเซลล์หยุดการแบ่งตัวลงอย่างถาวร เซลล์กลุ่มที่อยู่ในภาวะชราภาพนี้ อาจมีความสำคัญที่ทำให้ การรักษามะเร็งโดยใช้ยานั้นไม่ประสบความสำเร็จ โดยปกติแล้ว เซลล์มีคุณสมบัติไม่เหมาะสมที่จะอยู่ต่อไป ทำให้เซลล์เกิดการ อะ-พอพ-โต-ซิส (apoptosis) ซึ่งเป็นกระบวนการที่ร่างกายกำจัดเซลล์ ที่ก่อให้เกิดปัญหา ทั้งนี้การทำความเข้าใจในเรื่องชีววิทยาหรือคุณสมบัติของเซลล์มะเร็ง ตลอดจนกลไกในแต่ละขั้นตอนหรือกระบวนการเจริญเติบโต การเพิ่มจำนวนเซลล์ จะเป็นพื้นฐานสำคัญที่จะนำไปสู่การพัฒนาวิธีการวินิจฉัยโรคมะเร็งตั้งแต่ในระยะเริ่มต้น ไปจนถึงการพัฒนายาและการรักษาที่มีประสิทธิภาพที่ดีขึ้น