xs
xsm
sm
md
lg

ติดปีกดิจิทัลสตาร์ทอัพกับโครงการ depa Smart City Accelerator Program Batch 2 : ผศ.ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ดีป้า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



หลังจากประสบความสำเร็จอย่างมากกับโครงการ depa Smart City Accelerator Program ในปีที่ผ่านมา ดีป้าจึงเร่งขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ให้เกิดขึ้นจริง ดังนั้น ดีป้า โดยสถาบันส่งเสริมวิสาหกิจดิจิทัลเริ่มต้น จึงได้ร่วมมือกับ บริษัท เทคซอส มีเดีย จำกัด ผู้นำด้านเทคโนโลยีและชุมชนดิจิทัลสตาร์ทอัพระดับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ดำเนินโครงการ depa Smart City Accelerator Program Batch 2 เฟ้นหาดิจิทัลสตาร์ทอัพลงพื้นที่ทำงานร่วมกับผู้แทนเมือง เพื่อรับทราบปัญหาและความต้องการ ก่อนพัฒนาโซลูชันให้ตอบโจทย์กับพื้นที่อย่างตรงจุด ขับเคลื่อนสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะน่าอยู่ เพื่อความอยู่ดีมีสุขของภาคประชาชน ตั้งเป้าผู้เข้าร่วมโครงการจะได้รับองค์ความรู้ ประสบการณ์ รวมถึงโอกาสอันดีในการต่อยอดธุรกิจต่อไป

ผู้จัดการออนไลน์ได้รับเกียรติสัมภาษณ์พิเศษ ผศ.ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ถึงความร่วมมือในการจัดโครงการ depa Smart City Accelerator Program Batch 2 และรายละเอียดที่น่าสนใจของโครงการ การต่อยอดพัฒนาแผนงานในอนาคต รวมถึงวิสัยทัศน์ มุมมองประเทศไทยมีโอกาสที่จะพัฒนาบุคลากรในด้านดิจิทัลสตาร์ทอัพให้เป็นอีกหนึ่งกำลังขับเคลื่อนหลักของประเทศอย่างไร


>>> ความสำคัญและวัตถุประสงค์ของความร่วมมือในการจัดโครงการฯ ในครั้งนี้

เมื่อถามถึงความสำคัญและวัตถุประสงค์ของความร่วมมือในการจัดโครงการฯ

ผศ.ดร.ณัฐพล ตอบว่า “Smart City Accelerator Batch 2 เป็นแนวคิดตั้งแต่แรกที่ทางดีป้ามีความมุ่งมั่นและความต้องการในการทำอย่างไรให้พื้นที่ได้รับการพัฒนาให้น่าอยู่ยิ่งขึ้น ซึ่งคำว่า Smart City หมายถึง การหาทางออกให้กับพื้นที่ที่สามารถนำเทคโนโลยีไปประยุกต์ใช้เพื่อให้เกิดการพัฒนาพื้นที่ของเศรษฐกิจ การอยู่อาศัย Smart Living การพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกให้ประชาชนมีสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดี มีความปลอดภัย และมีความสุขในการดำรงชีวิต

ด้าน Smart Living ที่เราเห็นเป็นอีกหนึ่งประเด็นสำคัญในปัจจุบันและอนาคต หรือแม้แต่เชิง Smart Energy การสร้างสมดุลระหว่างการผลิตพลังงานและการนำไปใช้ในท้องถิ่น และในเชิงของการเพิ่มพูนความรู้ที่เรียกว่า Smart People โดยสิ่งเหล่านี้เป็นโจทย์ที่แตกต่างกันในแต่ละบริบทของพื้นที่ ซึ่งหากทางรัฐคิดจะลงมือทำอะไรสักอย่างนั้น สิ่งแรกคือการวางโครงสร้างพื้นฐานซึ่งเป็นหน้าที่ของหน่วยงานที่รับผิดชอบ ถนน ไฟฟ้า น้ำประปา แต่การไปปิดโจทย์ในแต่ละเรื่องที่เป็นช่องว่างเล็กๆ นั้นจะทำอย่างไรดีให้โจทย์เกิดขึ้นในแต่ละพื้นที่ให้เจอกับบุคคลที่เป็นผู้ให้บริการ ดีป้าจึงทำงานส่งเสริมดิจิทัลสตาร์ทอัพ เพื่อให้สตาร์ทอัพเข้าสู่ตลาด ที่เรียกว่า เมืองอัจฉริยะ เป็นตลาดที่มีพื้นที่ขนาดใหญ่และสามารถช่วยตอบโจทย์ได้ โดยการสร้างและพัฒนาเทคโนโลยีระบบนิเวศน์ทางธุรกิจให้เติบโต หรือการสร้างระบบในการทำการค้าภายในประเทศ จากนั้นสร้างแรงจูงใจให้ต่างชาติมองเห็นว่าประเทศไทยมีการขับเคลื่อนเมืองอัจริยะ เพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนลงไปทำงานด้วย”

>>> ความน่าสนใจของการคัดเลือกผู้ประกอบการวิสาหกิจดิจิทัลเริ่มต้น (Digital Startup)

ถามถึงความน่าสนใจของการคัดเลือกผู้ประกอบการวิสาหกิจดิจิทัลเริ่มต้นเป็นอย่างไร

ผศ.ดร.ณัฐพล ตอบว่า “เราพยายามคัดเลือกเมืองอัจฉริยะที่ได้รับประกาศเขตการส่งเสริมก่อน โดยหลังจากการได้รับการประกาศเขตการส่งเสริมที่ผ่านชุดคณะกรรมการเมืองอัจฉริยะแล้ว ทางผู้ประกอบการจะได้รับสิทธิพิเศษทางภาษี โดยแต่ละเมืองจะมีการกำหนดโจทย์ว่าต้องการดำเนินการเกี่ยวกับอะไร เช่นจังหวัดชลบุรี จะเน้นในเรื่องของ Smart Living ความปลอดภัยของบริเวณริมชายหาด หรือ ขอนแก่น ต้องการดูแลเกี่ยวกับสุขภาพ เพราะฉะนั้นเราจะมีเทคโนโลยีให้กับสตาร์ทอัพไม่ว่าจะเป็น Blockchain, Fintech, Edtech, Agri-tech, หรือ TravelTech โดยทุกคนจะดูที่โจทย์ว่าเหมาะกับโจทย์ได้อย่างไร ให้พื้นที่ดูว่าสิ่งที่เค้านำเสนอมา ถ้าสามารถเข้ากันได้ก็จะเลือกนำไปใช้ให้เหมาะสมกับพื้นที่ของตนเอง

โดยส่วนหนึ่งทางดีป้าได้ลงไปขับเคลื่อนต่อ ถ้าเกิดเค้าเลือกใช้เราก็จะมีปัจจัยหนึ่งลงไปร่วมลงทุน เพื่อรองรับความเสี่ยงกับสตาร์ทอัพ ตัวเมืองด้วยและพื้นที่ด้วย เหตุผลคือทางสตาร์ทอัพเองอาจไม่มีสายป่านเหมือนกับบริษัทขนาดใหญ่ เมืองหรือพื้นที่เลือกโจทย์จากสตาร์ทอัพ ซึ่งแต่ละเทคโนโลยีก็จะยังไม่เกิดความเชื่อมั่นว่าจะยั่งยืนไหม ดีป้าจึงเป็นตัวกลางในการสร้างความเชื่อมั่นให้กับเมืองในเรื่องการทำงานของสตาร์ทอัพ ซึ่งหากมีปัญหาเกิดขึ้นทางดีป้าจะเป็นตัวปิดช่องว่างในการทำงานให้”


>>> ผู้ที่เข้าร่วมโครงการฯ ในครั้งนี้ จะได้รับประโยชน์อะไรบ้าง

ถามถึงประโยชน์ของผู้เข้าร่วมโครงการฯ จะได้รับประโยชน์อะไรบ้าง

ผศ.ดร.ณัฐพล ตอบว่า 1.) หากผู้เข้าร่วมโครงการฯ สามารถทำให้พื้นที่เป็นเมืองอัจฉริยะได้ เขาสามารถขอรับสิทธิพิเศษทางภาษีจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนได้ โดยทางสำนักงานจะให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีกับผู้ประกอบการสูงสุด 8 ปี สำหรับการละเว้นการจัดเก็บภาษีจากรายได้ที่เกิดขึ้นในพื้นที่เมืองอัจฉริยะ 2.) ทางดีป้าเองจะเลือกไอเดียที่เกิดขึ้นในการช่วยแก้ไขโซลูชันต่างๆ โดยจะช่วยในการลงทุนให้กับตัวสตาร์ทอัพที่สเกลธุรกิจได้เพื่อไปตอบโจทย์เมือง สิ่งเหล่านี้จะเป็นการขับเคลื่อนให้ภาคเอกชนมีความเข้มแข็งขึ้นในการลงทุน พัฒนาพร้อมควบคู่กับการมีตลาดไปด้วย

>>> สำหรับทีมผู้ชนะในโครงการฯ นอกเหนือจากเงินทุนสนับสนุน 3 แสนบาท จะมีโอกาสเติบโตในการต่อยอดธุรกิจอย่างไร

ผศ.ดร.ณัฐพล ตอบว่า “ความจริงตั้งแต่ Batch 1-2 ในส่วนของเงินรางวัลนั้นเป็นเพียงเงินทุน ตั้งต้นให้สำหรับผู้ประกอบการ แต่ว่าจริงๆ เรามีโปรเจครองรับอยู่โดยทางผู้ประกอบการจะต้องมานำเสนอแผนงานกับเมือง โดยในปี 2565 เราเตรียมไว้ประมาณ 10 พื้นที่ และใน 10 พื้นที่จะมีโจทย์ที่แตกต่างกันทั่วประเทศไทย เช่น ยะลา เชียงใหม่ พิษณุโลก ขอนแก่น แต่ละโจทย์ถ้าเค้าสามารถจัดการแก้ปัญหาได้ ก็จะส่งผลให้มีช่องทางที่รวดเร็วขึ้นที่จะเข้าไปให้บริการกับเมืองหรือพื้นที่ โดยทางดีป้าจะมีหน้าที่ในการช่วยผลักดันให้ผู้ประกอบการไปเจอกับบุคคล กับเมืองหรือพื้นที่ หากสามารถเข้ากันได้ จะทำให้ได้รับเงินลงทุนในอนาคตไม่น้อยกว่า 5 ล้านบาท สำหรับใช้ในการขับเคลื่อนธุรกิจเพื่อให้เกิดสเกลการทำงานในพื้นที่นั้น


>>> โปรแกรมและดำเนินการตามรูปแบบของการพัฒนา Smart City

เมื่อถามถึงโครงการนี้มีการวางโปรแกรมและดำเนินการตามรูปแบบของการพัฒนา Smart City ไว้อย่างไรบ้าง

ผศ.ดร.ณัฐพล ตอบว่า “ปกติโครงการนี้ จะเป็นโครงการที่เราสร้างตัวสตาร์ทอัพ โดยมีรายละเอียด ดังนี้
1.) พื้นที่ Smart City ต้องมีการกำหนดโจทย์ที่ต้องการพัฒนาที่ชัดเจน
2.) ต้องมีการออกแบบผังเมือง โครงสร้างพื้นฐาน หรือการลงทุนของพื้นที่เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการ ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบผังเมืองหรือการจัดทำโครงสร้างพื้นฐาน ถือได้ว่าเป็นการเปิดโอกาสสำหรับน้องๆ สตาร์ทอัพที่จะเข้าไปช่วยเมืองได้
3.) แนะนำให้มีการออกแบบการจัดการข้อมูลขนาดใหญ่ของเมือง โดยสตาร์ทอัพสามารถเข้าไปช่วยเรื่องการจัดทำแพลตฟอร์มระบบข้อมูลของเมือง เพื่อใช้ในการติดตามเมืองว่ามีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร
4.) เมืองต่างๆ จะมีการกำหนดแนวทางโดยจัดลำดับความสำคัญในการที่จะขับเคลื่อนเมืองใน 7 เรื่องอะไรก่อนหลัง ไม่ว่าจะเรื่องเศรษฐกิจ Smart City ในเชิงของ Smart Economy, Smart Living เรื่องความปลอดภัย การอยู่อาศัยของประชาชน Smart People การเรียนรู้หรือการให้ความรู้ Smart Environment ดิน น้ำ ขยะ เป็นต้น
โดยทางดีป้าจะทำหน้าที่ในการจับคู่ให้กับสตาร์ทอัพ โดยหลังจากได้ผ่าน Accelerator จนมีความพร้อมแล้ว ถ้าสามารถเข้ากันได้ ก็จะมีเงินส่วนหนึ่งลงไปช่วยเพื่อให้ธุรกิจนั้นเกิดขึ้นได้จริง นอกจากนี้ยังมีการอบรมและให้คำแนะนำเกี่ยวกับการทำงานให้ยั่งยืน ซึ่งจะต้องมีการปรับบริบท กฎระเบียบวิธีการของหน่วยงานต่างๆ โดยสิ่งเหล่านี้เราทำมา 2-3 ปีเพื่อให้เห็นภาพว่าการขับเคลื่อนในอนาคตเราควรเป็นคนสร้างโอกาสและเป็นคนทำให้โอกาสนั้นเกิดขึ้นในเชิงปฏิบัติ แล้วสร้างการขับเคลื่อนโดยฝั่งเอกชน โดยพยายามผลักดันอุตสาหรรมใหม่ในกลุ่มผู้ประกอบการวิสาหกิจดิจิทัลเริ่มต้นให้ลงไปทำงานกับพื้นที่ได้จริง

>>> สำหรับโครงการ depa Smart City Accelerator Batch 2 เห็นว่ามีนำร่องในเรื่องความร่วมมือในพื้นที่ 5 เมืองสำคัญที่ได้รับการเห็นชอบมอบตราสัญลักษณ์รับรองเป็นพื้นที่พัฒนาเมืองอัจฉริยะ ได้เเก่ กรุงเทพ ระยอง ขอนแก่น ลำปาง และภูเก็ต ได้ตั้งเป้าไว้ว่าในปีถัดไป หรือในอนาคตจะมีขยายร่วมกิจกรรมไปในพื้นที่ใดบ้างที่โครงการนี้จะนำไปประยุกต์ใช้จริง

ผศ.ดร.ณัฐพล ตอบว่า “พื้นที่ 5 เมืองนั้น ไม่ว่ากรุงเทพฯ ที่สามย่าน หรือแม้แต่ภูเก็ต ระยอง ขอนแก่น เป็นการทำงานในช่วงที่ผ่านมาโดยมีโจทย์ค่อนข้างชัดเจน ซึ่งในปี 2565 มีอีกประมาณ 10 พื้นที่ที่ต้องการยกขึ้นมาทำให้น่าอยู่ขึ้น ไม่ว่าจะเป็น ยะลา พิษณุโลก นครสวรรค์ โคราช สุราษฎร์ธานี สงขลา เป็นต้น เพราะฉะนั้นในปี 2565 เราจะขยายไปอีก 10 พื้นที่ ซึ่งจะเป็นโอกาสที่ดีของน้องๆ สตาร์ทอัพที่จะสามารถเอาโซลูชันเดิมไปขยายผลต่อยอดได้หรือจะพัฒนาโซลูชันใหม่ให้ตอบโจทย์กับพื้นที่นั้นๆ ก็ได้ ถือเป็นการพัฒนาที่ไม่มีจุดสิ้นสุด โดยไม่ได้หยุดอยู่แค่ 5 จังหวัดนำร่องหรือจะขยายพื้นที่ไปอีก 10 จังหวัดแต่ต้องทำให้ทั่วประเทศไทย ซึ่งจะเห็นได้ว่าความต้องการในการขยายตลาดในอนาคตมีโอกาสที่สดใส เพียงแต่ตอนนี้หาทางอยู่รอดโดยการใช้ local startup ในการทำงาน มันจะเกิดการดูแลตัวเราเอง คนไทยทำ คนไทยช่วย คนไทยใช้ และการบริการจะเกิดขึ้นภายในประเทศไทย แล้ววันหนึ่งมันจะสามารถทำได้จริงมีประสิทธิภาพสูงและทำให้สามารถส่งออกไปยังตลาดในต่างประเทศได้”


>>> คาดหวังความสำเร็จของการจัดทำโครงการนี้ไว้อย่างไร

ผศ.ดร.ณัฐพล ตอบว่า “ผมมีความคาดหวังว่า การทำงานครั้งนี้อาจจะเป็นเรื่องใหม่ที่รัฐเปลี่ยนวิธีการทำงานจากการซื้อจ้างมาเป็นหาโซลูชันและจับ Matching และทำให้เกิดการดำเนินธุรกิจด้วยกัน ระหว่างตัวรัฐบาล ท้องถิ่น เอกชนท้องถิ่นกับสตาร์ทอัพ ถ้าสามารถทำสำเร็จจะทำให้เกิดมูลค่าการลงทุนมหาศาลในอนาคตและประเทศไทยจะเติบโต โดยในส่วนของสตาร์ทอัพที่จะเข้าสู่ Series A จะควบคู่ไปกับความเข้มแข็งของสตาร์ทอัพไทยที่มีตลาดรองรับ สิ่งเหล่านี้จะทำให้ประเทศไทยสามารถสร้างการพัฒนาเทคโนโลยีในเชิงลึกได้ โดยสามารถกำหนดขอบเขตของธุรกิจและทำให้เกิดขึ้นในตลาดต่างประเทศ โดยเริ่มต้นจากการสร้างในประเทศก่อน ด้วยการเชิญชวนนักลงทุนที่เป็นสตาร์ทอัพในต่างประเทศเข้ามาทำธุรกิจร่วมกับสตาร์ทอัพไทยที่มีพื้นฐานทางการตลาด หรือส่วนแบ่งทางการตลาดที่นี่ สิ่งเหล่านี้จะทำให้เกิดการทำงานที่ควบคู่กัน เราคงจะคาดหวังคนข้างนอกมาลงทุนในไทยอย่างเดียวไม่ได้ ต้องพยายามชิงครองตลาดเมืองไทยในมือของคนไทยด้วย ซึ่งน้องๆ ที่เป็นสตาร์ทอัพนั้นเราทำธุรกิจร่วมกัน เกิดเป็นการทำงาน การแลกเปลี่ยนความคิด การแลกเปลี่ยนเทคโนโลยี และการขยายตลาดสู่ต่างประเทศได้ง่ายมากขึ้น”

>>> ประเทศไทยพอจะเป็นศูนย์กลางได้หรือไม่

“เราคาดหวังให้เป็นอย่างนั้น แต่ถ้าจะเป็นศูนย์กลางเองต้องมีการปรับหลายๆ ตัวบทกฎหมาย เพื่อดึงดูดนักลงทุนสตาร์ทอัพต่างชาติให้เข้ามาทำธุรกิจในประเทศไทยได้ง่ายขึ้น สะดวกมากขึ้น ซึ่งการจะทำให้เกิดแบบนั้นได้เราต้องทำควบคู่กับหลายหน่วยงานที่เป็นเจ้าของกฎหมาย โดยในส่วนของฝั่งไทยเราพยายาม build up เรียกว่าคอมมูนิตี้นี้ขึ้นมาให้กลายเป็นหนึ่งในตัวเลือก ยกตัวอย่างสิงคโปร์ที่เป็นศูนย์รวมของเทคโนโลยี E-sports โดยประเทศสิงคโปร์ไม่มีตลาดและตลาดของเค้าคือ Asean แต่สำหรับประเทศไทยนั้นเรามีตลาดและเทคโนโลยีที่พร้อม มีการทำงานรวมกลุ่มร่วมกับธุรกิจต่างๆ ผมว่าสู้ได้ครับ”

>>> ประเทศไทยมีโอกาสที่จะพัฒนาบุคลากรในด้าน Digital Startup ให้เป็นอีกหนึ่งกำลังขับเคลื่อนหลักของประเทศหรือไม่
ถามถึงในมุมมองของท่านคิดว่า ประเทศไทยมีโอกาสที่จะพัฒนาบุคลากรในด้าน Digital Startup ให้เป็นอีกหนึ่งกำลังขับเคลื่อนหลักของประเทศหรือไม่

ผศ.ดร.ณัฐพล ตอบว่า “ผมมองว่าในกลุ่มประเทศไทยช่วงที่ผ่านมามีกลุ่มชนพื้นเมืองดั้งเดิม สิ่งทอ ยานยนต์ พวกนี้เป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีการเติบโตตามระดับของการส่งออกและก็ GDP แต่เราลืมกลุ่มใหม่ที่เรียกว่า New wave industry คือกลุ่มคลื่นลูกใหม่ สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่จะสร้างให้เมืองไทยเติมเต็มรายได้ได้ และสามารถใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ build up ความเข้มแข็งของประเทศไทยได้ ทั้งตอบโจทย์คนที่เป็นลูกค้าในประเทศและการส่งออก กลุ่มเหล่านี้ไม่ได้มีแค่สตาร์ทอัพ แต่รวมทั้ง Fintech ,Greentech, TravelTech, Edutech และยังรวมถึงกลุ่มแอนิเมชันกับเกมส์ด้วย ผมเชื่อว่าการที่เราค่อยๆ สร้างและพัฒนา จะทำให้เห็นโอกาสของสิ่งที่จะเข้ามาทดแทนอุตสาหกรรมดั้งเดิม และคิดว่าโอกาสเหล่านี้ควรจะต้องต่อยอดไปกับกลุ่มคนรุ่นใหม่ๆ ในการสร้างกำลังคน โดยการทำอย่างไรดีให้คนที่กำลังหาโอกาสใหม่ผันตัวเองมาเรียนในด้านนี้ โดยต้องเป็นการสร้างแรงจูงใจและสร้างงานควบคู่ไปกับการสร้างคนด้วย และนี่เป็นสิ่งหนึ่งที่เราพยายามครับ


>>> แผนสำหรับการต่อยอดกิจกรรมหรือโครงการต่อไปในอนาคต

สำหรับแผนการสำหรับการต่อยอดกิจกรรมหรือโครงการใดต่อไปในอนาคตของดีป้า


ผศ.ดร.ณัฐพล ตอบว่า “ทางดีป้าจะมีการส่งเสริมและผลักดันให้เกิดโครงการต่อไปในอนาคต เพราะหากทำแล้วหยุด สิ่งที่ได้ทำไปก็จะหยุดอยู่แค่นั้น ในโอกาสต่อไปสิ่งที่ต้องสร้างคือการจัด Business matching ระหว่างสตาร์ทอัพกับตัวของพื้นที่หรือโจทย์ความต้องการของภาครัฐ ประชาชน ถ้าสามารถเปลี่ยนไอเดียแบบจำลองธุรกิจเข้าไปสู่การทำธุรกิจได้จริง จะทำให้เกิดการขับเคลื่อนและเกิดการทำงานได้จริง นั่นคือความคาดหวังสูงสุด นั่นคือขั้นต่อไปของแผนงานครับ”


>>> สำหรับผู้ที่สนใจโครงการฯ สามารถติดตามข้อมูลเพิ่มเติมจากช่องทางไหนได้บ้าง

ผศ.ดร.ณัฐพล ตอบว่า “ ในตอนนี้ทางโครงการ depa Smart City Accelerator Program Batch 2 ได้ขยายการรับสมัครไปจนถึงวันที่ 1 สิงหาคม 2564 หลายๆ ท่านที่สนใจ สามารถสมัครเข้าร่วมโครงการและติดตามข้อมูลข่าวสารได้ทางเฟซบุ๊ก depa Thailand หรือ Techsauce และเว็บไซต์ www.depa.or.th ครับ”

เรื่อง : อรวรรณ เหม่นแหลม




กำลังโหลดความคิดเห็น