xs
xsm
sm
md
lg

สหรัฐนำ ๖๔ ชาติบอยคอตโอลิมปิกรัสเซีย! เอากีฬาเป็นการเมือง ทำประธานาธิบดีแพ้เลือกตั้ง!!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: โรม บุนนาค



“กีฬา...กีฬา เป็นยาวิเศษ แก้กองกิเลส ทำตนให้เป็นคน...” เพลงกราวกีฬาของคนไทยในอดีต แต่คนทุกวันนี้ทำทุกอย่างให้เป็นการเมืองได้ทั้งหมด เพราะการเมืองเป็นผลประโยชน์ ทั้งผลประโยชน์ของประเทศชาติและผลประโยชน์ของกลุ่ม แม้แต่กีฬาโอลิมปิกที่เป็นกีฬาที่มีจุดมุ่งหมายจะส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีของมนุษยชาติ ก็ยังถูกนำมาเป็นเครื่องมือทางการเมือง ใช้พวกมากลากไปเพื่อให้คู่ต่อสู้ที่เป็นเจ้าภาพจัดต้องเสียหน้า แต่หัวเราะได้พักเดียว กระแสก็ตีกลับจากคนในชาติของตัวเองที่ถูกมองข้ามความรู้สึก จนทำให้ประธานาธิบดีที่ใช้แผนนี้เพื่อจะกลับมาเป็นประธานาธิบดีอีกสมัย ต้องแพ้การเลือกตั้งไป

ทั้งนี้ในการจัดกีฬาโอลิมปิกภาคฤดูร้อนในปี ค.ศ.๑๙๘๐ หรือ พ.ศ.๒๕๒๓ มีผู้เสนอตัวเป็นเจ้าภาพเพียง ๒ เมือง ได้แก่ มอสโก ของสหภาพโซเวียต และลอสแองเจลิส ของสหรัฐอเมริกา ปรากฏว่าผลการลงคะแนนของคณะกรรมการโอลิมปิกสากล ได้เลือกมอสโก ๓๙ และเลือกลอสแองเจลิส ๒๐ สหภาพโซเวียตจึงได้เป็นเจ้าภาพ

ตอนนั้นอยู่ในช่วงของการทำสงครามเย็นระหว่างสหรัฐอเมริกากับสหภาพโซเวียต และอยู่ในปลายสมัยจะครบ ๔ ปีของประธานาธิบดี จิมมี่ คาร์เตอร์ ซึ่งเดินหมากเพลี่ยงพล้ำสหภาพโซเวียตมาตลอด และมาแพ้โซเวียตเรื่องเจ้าภาพโอลิมปิกเข้าไปอีก จึงเห็นว่าการลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีสมัยที่ ๒ ของเขาคงจะมีปัญหาแน่

เผอิญตอนนั้นโซเวียตส่งทหารเข้ายึดอาฟกานิสถาน ทำให้อเมริกาดูอ่อนแอเข้าไปอีก จิมมี่ คาร์เตอร์จึงคำรามขู่ เลโอนิด เบรซเนฟ ว่าถ้าโซเวียตไม่ยอมหยุดจะยกเลิกสนธิสัญญาห้ามทดลองและผลิตอาวุธนิวเคลียร์ที่ทำกันไว้ แต่โซเวียตยังลุยต่อ เพราะเห็นว่าอเมริกาก็ทำอย่างที่โซเวียตทำอยู่เหมือนกัน

เมื่อโซเวียตไม่ยอมหยุด จิมมี่ คาร์เตอร์จึงเรียกประชุมกลุ่มนาโต้ พันธมิตรที่ร่วมต้านคอมมิวนิสต์ แต่ยังดีที่ไม่ตัดสินใจส่งกองกำลังเข้ายับยั้งโซเวียต ประกาศมติของที่ประชุมว่า

“เราจะบอยคอตต์โอลิมปิก ๑๙๘๐ ที่สหภาพโซเวียตเป็นเจ้าภาพ”

หลังการประชุม จิมมี่ คาร์เตอร์ยังแถลงอ้างประชาชนว่า
“ชาวอเมริกันและรวมถึงผม จะไม่สนับสนุนการส่งนักกีฬาเข้าสู่การแข่งขันโอลิมปิกที่มอสโก”

จากนั้นก็ระดมชักชวนมวลมิตรให้ร่วมต่อต้านคอมมิวนิสต์ด้วยกัน ปรากฏว่ามีถึง ๖๔ ประเทศ “ตามก้นอเมริกา” รวมทั้งไทยเราด้วย แต่ฝ่ายโซเวียตก็เกณฑ์มาได้รวม ๘๔ ประเทศ

น่าแปลกใจที่ใน ๘๔ รายไปร่วมแข่งขันโอลิมปิกมอสโกนี้ มี อิตาลี ฝรั่งเศส และอังกฤษ คู่ซี้ของอเมริกันไม่ยอมบอยคอตด้วย ส่วนอิหร่านปฏิปักษ์สำคัญของสหรัฐในขณะนี้ กลับอยู่ในกลุ่มบอยคอต เพราะเพิ่งโอนถ่ายอำนาจจากชาห์ โมฮัมหมัด ปาห์ลาวี มาเป็น อยาตอลเลาะห์ โคไมนี ยังตั้งตัวไม่ทัน

เกมนี้ถือว่าอเมริกาทำให้ฝ่ายโซเวียตเสียหน้าไปมาก เป็นโอลิมปิกกร่อยที่สุดเท่าที่เคยจัดกันมา แต่จิมมี่ คาร์เตอร์หัวเราะได้ไม่นาน ปฏิกิริยาในประเทศก็เกิดขึ้น เริ่มจากกลุ่มนักกีฬาที่เสียเวลาทุ่มเทการฝึกซ้อมมาเป็นเวลาแรมปี หลายคนมีความหวังที่จะได้เป็นเจ้าของเหรียญทองค่อนข้างแน่ แต่ความหวังต้องพังทลาย และรู้สึกผิดหวังอย่างแรง หลายคนหมดกำลังใจจนวางมือจากการกีฬาไปเลย บางคนก็เปลี่ยนขั้วการเมืองจากเดโมแครตเป็นรีพับลิกัน ซึ่งส่งผลให้การเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี ๑๙๘๐ นั้น ทำให้จิมมี่ คาร์เตอร์ไม่ได้กลับมาอีก เปิดทางให้ โรนัลด์ เรแกน อดีตดาราเคาบอยฮอลลีวูด ได้เป็นประธานาธิบดีคนที่ ๔๐ ของสหรัฐอเมริกา

แต่ก็พอกัน ในอีก ๔ ปีต่อมา สหรัฐอเมริกาได้เป็นเจ้าภาพจัดโอลิมปิก ๑๙๘๔ โซเวียตก็แก้แค้นชักชวนเพื่อนบอยคอตเหมือนกัน แต่ชักชวนได้แค่ ๑๖ ประเทศ รวมทั้งอิหร่านที่เปลี่ยนผู้นำ เลยเปลี่ยนขั้วการเมืองด้วย ครั้งนี้อเมริกามีประเทศที่ส่งนักกีฬาไปร่วม ๑๔๐ ประเทศ

ตัวเลขนี้ไม่น่าจะแสดงว่าอเมริกามีพวกมากกว่า แต่คงเป็นเพราะหลายประเทศตาสว่างขึ้น การเอาการเมืองไปเล่นในโอลิมปิก ทำให้ประชาชนของตัวเองโดยเฉพาะแฟนกีฬา หมดศรัทธาไปตามกัน

สรุปได้ว่า การประท้วงกันไปมาครั้งนี้ ไม่ได้ทำให้การเมืองระหว่างประเทศเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร นอกจากสนองตัณหาของนักการเมืองที่จะเอาชนะกันเท่านั้น โดยไม่ได้รู้จักแบ่งแยกกีฬากับการเมือง รวมทั้งนึกถึงความรู้สึกของประชาชนและนักกีฬาที่เปลืองเปล่าชีวิตไปอย่างไร้ประโยชน์ ในที่สุดก็ส่งผลถึงผู้ใช้นโยบายนี้ หมดความชอบธรรมที่จะบริหารประเทศต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น