xs
xsm
sm
md
lg

“หมอธีระ” เชื่อไทยจะพบวิกฤตโควิด-19 สายพันธุ์เดลตา ซึ่งเข้าสู่ระลอก 4 ช่วงปลาย ก.ย.-ต.ค.นี้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นพ.ธีระ วรธนารัตน์ อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เตือนคนไทยให้ช่วยกันจัดการระลอกสามในประเทศให้ดีขึ้น ก่อนที่จะมีโอกาสเผชิญผลกระทบจากระลอกเดลตาของโลกที่อาจทำให้เกิดระลอกสี่ของเราช่วงประมาณปลายกันยายนถึงต้นตุลาคมนี้

วันนี้ (18 ก.ค.) เฟซบุ๊ก “Thira Woratanarat (ป๊ามี้คีน)” หรือ นพ.ธีระ วรธนารัตน์ อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ระบุถึงสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ในทั่วโลกขณะนี้ โดยระบุข้อความว่า “สถานการณ์ทั่วโลก 18 กรกฎาคม 2564 การระบาดของโลกกำลังเข้าสู่ระลอกเดลตา ทั้งนี้ แนวโน้มการติดเชื้อจะมีอัตราเร็วช่วง 7-14 วันที่ผ่านมาพอๆ กับระลอกที่แล้ว แต่ต้องติดตามกันต่ออย่างใกล้ชิดว่าจะมีลักษณะเหมือนกันจริงหรือไม่ เพราะเดลตามีสมรรถนะในการแพร่สูงกว่าอัลฟา 55% (43%-68%) คาดว่าใช้เวลาไต่ระดับถึงพีกในอีก 4-8 สัปดาห์ เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 471,098 คน รวมแล้วตอนนี้ 190,741,255 คน ตายเพิ่มอีก 6,800 คน ยอดตายรวม 4,098,285 คน 5 อันดับแรกที่มีจำนวนติดเชื้อต่อวันสูงสุดคือ สหราชอาณาจักร อินโดนีเซีย อินเดีย บราซิล และรัสเซีย

อเมริกา เมื่อวานติดเชื้อเพิ่ม 23,234 คน รวม 34,953,090 คน ตายเพิ่ม 110 คน ยอดเสียชีวิตรวม 624,712 คน อัตราตาย 1.8% อินเดีย ติดเพิ่ม 41,222 คน รวม 31,105,209 คน ตายเพิ่ม 517 คน ยอดเสียชีวิตรวม 413,640 คน อัตราตาย 1.3%
บราซิล ติดเพิ่ม 34,339 คน รวม 19,342,448 คน ตายเพิ่มถึง 766 คน ยอดเสียชีวิตรวม 541,266 คน อัตราตาย 2.8%
รัสเซีย ติดเพิ่ม 25,116 คน รวม 5,933,115 คน ตายเพิ่ม 787 คน ยอดเสียชีวิตรวม 147,655 คน อัตราตาย 2.5%
ฝรั่งเศส ติดเพิ่ม 10,949 คน ยอดรวม 5,855,198 คน ตายเพิ่ม 16 คน ยอดเสียชีวิตรวม 111,467 คน อัตราตาย 1.9%

อันดับ 6-10 เป็น ตุรกี สหราชอาณาจักร อาร์เจนตินา โคลอมเบีย และอิตาลี ติดกันหลักพันถึงหลายหมื่น สหราชอาณาจักรมียอดติดเชื้อเมื่อวานสูงที่สุดในโลก 54,674 คน แม้จำนวนการเสียชีวิตยังเป็นหลักสิบคือ 41 คน การประเมินเรื่องความรุนแรงที่ทำให้เสียชีวิตนั้นจำเป็นต้องรอเวลาผ่านไปช่วงหนึ่ง เนื่องจากแปรผันกับขีดความสามารถของระบบสุขภาพที่จะรองรับได้ หากประเมินจากคาดว่าจะพอสังเกตได้ในช่วง 2-4 สัปดาห์หลังจากนี้ แถบอเมริกาใต้ ยุโรป แอฟริกา เอเชีย อย่างชิลี เนเธอร์แลนด์ โปรตุเกส กรีซ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ศรีลังกา บังกลาเทศ เนปาล ญี่ปุ่น เมียนมา เกาหลีใต้ เวียดนาม และมาเลเซีย ติดกันเพิ่มหลักพันถึงหลักหมื่น แถบสแกนดิเนเวีย บอลติก และยูเรเชีย ก็มีการติดเชื้อเพิ่มขึ้นหลักร้อยถึงหลักพัน แถบตะวันออกกลาง ประเทศส่วนใหญ่ยังติดเพิ่มหลักร้อยถึงหลักพัน ในขณะที่อิหร่านติดเพิ่มหลักหมื่น กัมพูชา ลาว และออสเตรเลีย ติดเพิ่มหลักร้อย ส่วนจีน สิงคโปร์ และไต้หวัน ติดเพิ่มหลักสิบ

วิเคราะห์ภาพรวมการระบาดของโลก สัปดาห์ที่ผ่านมามีการติดเชื้อใหม่เพิ่มขึ้น 16% และจำนวนการเสียชีวิตเพิ่มขึ้น 1% เมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อนหน้า ทั้งนี้ ทุกทวีปมีลักษณะเดียวกันหมดคือติดเพิ่มตายเพิ่ม ยกเว้นทวีปอเมริกาใต้เพียงทวีปเดียวที่ติดเชื้อลดลง 16% และตายลดลง 11% ไทยเรานั้นตอนนี้มีจำนวนติดเชื้อสะสมอยู่อันดับ 55 ของโลก และหากรวมยอดติดเชื้อใหม่ที่จะรายงานในวันนี้ก็จะแซงสโลวาเกียขึ้นเป็นอันดับ 54 ได้

มองไปข้างหน้าสำหรับไทย หากดูธรรมชาติการระบาดในช่วงที่ผ่านมา ระลอกสามที่เราเจอมาตั้งแต่ต้นเมษายนจนถึงปัจจุบันนี้ยังไม่สามารถควบคุมได้ เพราะนโยบายและมาตรการที่ออกมาไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ คาดว่าจะมีเวลาต่อสู้กับระลอกสามนี้อีกราว 8-10 สัปดาห์ เพื่อกดการระบาดให้ต่ำที่สุดเท่าที่จะทำได้ ก่อนที่จะมีโอกาสเผชิญผลกระทบจากระลอกเดลตาของโลกที่อาจทำให้เกิดระลอกสี่ของเราช่วงประมาณปลายกันยายนถึงต้นตุลาคม หากเราจะร่วมด้วยช่วยกันจัดการระลอกสามในประเทศให้ดีขึ้น ขอให้ลองทำการประเมินชีวิตประจำวันของเราเองและสมาชิกทุกคนในครอบครัว

1. ประเมินว่าเรามีเครือข่ายสังคมที่พบเจอระหว่างการใช้ชีวิตในแต่ละวันมากน้อยเพียงใด เจอคนเยอะไหม ใครบ้าง ถี่บ่อยเพียงใด ใกล้ชิดไหม และแต่ละฝ่ายป้องกันตัวกันดีหรือไม่? หากประเมินแล้วชีวิตประจำวันเจอคนอื่นๆ ในสังคม ก็ลองทบทวน คิดหาทางเจอให้น้อยลงกว่าเดิม หากจำเป็นต้องเจอก็หาทางทำให้ใช้เวลาน้อยกว่า 5 นาที เจอแล้วอยู่ห่างๆ กัน งดกินดื่มร่วมกัน งดการสัมผัสกันไม่ว่าจะจับมือ กอด หรือแตะเนื้อต้องตัว และใส่หน้ากากเสมอ ยามใดที่มีความเสี่ยง หากเข้าถึงการตรวจคัดกรองโรคได้ก็ควรตรวจ
2. ประเมินลักษณะงานที่ทำในชีวิตประจำวัน ว่าทำอะไรบ้าง ทำแบบคนเดียวหรือต้องติดต่อผู้คนหรือทำร่วมกับผู้อื่น มากน้อยเพียงใด ถี่บ่อยแค่ไหน มีกระบวนการทำงานต้องใกล้กันหรือไม่ นานเพียงใด

หากประเมินแล้ว ชีวิตการทำงานยังมีความเสี่ยง ที่ต้องเจอคนอื่น ทำงานกับคนอื่น อาจต้องคิดหาทางปรับแนวทางการทำงาน ปรับกระบวนการ ปรับเนื้องาน ปรับทีมงาน ให้ทำงานคนเดียวได้ หรือทำงานเป็นกลุ่มที่มีจำนวนน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ ลดระยะเวลาสัมผัสติดต่อ งดประชุมแบบเผชิญหน้า งดการกินดื่มร่วมกัน และที่สำคัญคือ การวางระบบคัดกรองโรคอย่างสม่ำเสมอ ทั้งการสอบถามประวัติ อาการผิดปกติ และควรวางแผนดำเนินการตรวจคัดกรองโรคสำหรับบุคลากรในที่ทำงานเป็นระยะ เช่น ทุก 1-2 สัปดาห์ยามที่มีการระบาดรุนแรงในสังคม

ขอให้เรามีพลังกายพลังใจในการป้องกันตัวเองและครอบครัวอย่างเต็มที่ มุ่งเป้าไม่ให้ติดเชื้อ ใส่หน้ากากนะครับ สำคัญมาก สองชั้น ชั้นในเป็นหน้ากากอนามัย ชั้นนอกเป็นหน้ากากผ้า
ด้วยรักและห่วงใย”



กำลังโหลดความคิดเห็น