ปัจจุบันรถไฟทุกสายอยุ่ในสังกัดของการรถไฟแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจ แต่ในสมัยรัชกาลที่ ๕-๖ ที่เริ่มมีรถไฟในประเทศไทย ไม่ได้มีแต่รถไฟหลวงเท่านั้น เอกชนก็สร้างทางรถไฟขึ้นด้วยหลายสาย สายหนึ่งสร้างก่อนมีรถไฟหลวงถึง ๓ ปี ถือได้ว่าเป็นรถไฟสายแรกของประเทศไทย สายหนึ่งพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นเจ้าของเอง อีกสายสร้างมาแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ ปัจจุบันก็ยังได้รับความนิยมอยู่ แม้จะต้องเปลี่ยนเจ้าของ และมีของแปลกให้คนทั่วโลกมาชม
รถไฟสายแรกนั้นก็คือ “สายปากน้ำ” ออกจากกรุงเทพฯที่สถานีริมคลองตรงข้ามกับสถานีหัวลำโพงในปัจจุบัน เส้นทางขนานไปกับถนนพระราม ๔ ถึงสถานีปากน้ำในจังหวัดสมุทรปราการเป็นระยะทาง ๒๑.๓ กิโลเมตร มี ๑๒ สถานี โดยรัฐบาลได้ให้สัมปทาน ๕๐ ปีแก่บริษัทของชาวเดนมาร์ค คือนาย เอ.ดูเปล ริเดธิเชอเลียว หรือพระยาชลยุทธโยธิน ซึ่งรับราชการเป็นกัปตันเรือพระที่นั่งเวสาตรี กับพวก และพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงทำพิธีเริ่มการก่อสร้างเมื่อวันที่ ๑๖ กรกฎาคม ๒๔๓๔ ทั้งได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงทำพิธีเปิดเดินรถในวันที่ ๑๑ เมษายน ๒๔๓๖ พระราชดำรัสในครั้งนั้นมีความตอนหนึ่งว่า
“...เรามีความยินดีที่ได้รับหน้าที่อันเป็นที่พึงใจ คือจะได้เป็นผู้เปิดรถไฟสายนี้ ซึ่งเป็นที่ชอบใจและปรารถนามาช้านานแล้วนั้น ได้สำเร็จสมดังประสงค์ลงในครั้งนี้ เพราะเหตุว่าเป็นรถไฟสายแรกที่จะได้เปิดในบ้านเมืองเรา แล้วยังจะมีสายอื่นต่อๆไปอีกเป็นจำนวนมากในเร็วๆนี้ เราหวังใจว่าจะเป็นการเจริญแก่ราชการและการค้าขายในบ้านเมืองเรายิ่งนัก...”
ทางรถไฟสายนี้ยังถือว่าเป็นสายยุทธศาสตร์ด้วย เพราะสมัยนั้นปากน้ำเจ้าพระยาถือเป็นจุดสำคัญ ข้าศึกจะใช้เรือปืนเข้ามาโจมตีพระนครได้ก็จะต้องผ่านจุดนี้ แต่ในด้านธุรกิจนั้นไม่ประสบความสำเร็จนัก เกิดการขาดทุนจนรัฐบาลต้องให้กู้เงินเพื่อพยุงกิจการเดินรถสายนี้ไว้
เมื่อแรกเดินรถนั้นใช้หัวรถจักรไอน้ำเหมือนรถไฟทั่วไป แต่เมื่อมีโรงไฟฟ้าเกิดขึ้นในกรุงเทพฯ รถไฟสายนี้ก็หันไปใช้ไฟฟ้าเช่นเดียวกับรถราง
หลังสิ้นสุดสัมปทาน กรมรถไฟได้ดำเนินกิจการรถไฟสายปากน้ำต่อ จนกระทั่งเลิกไปเมื่อวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ.๒๕๐๓ ในรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และรื้อทางรถไฟพร้อมถมคลองขยายถนนพระราม ๔ ออกไป ร่องรอยของเส้นทางรถไฟสายนี้ที่ยังเหลืออยู่ในปัจจุบัน ก็คือเส้นทางรถยนต์ที่เรียกว่า “ถนนทางรถไฟสายเก่า”
ต่อมาในปี ๒๔๔๔ เราก็มีรถไฟเอกชนเกิดขึ้นอีกสาย และเป็นสายที่ยังวิ่งอยู่ในปัจจุบัน รถไฟสายนี้สถานีต้นทางไม่ได้อยู่ที่หัวลำโพงหรือบางกอกน้อย และมีหลายสิ่งหลายอย่างที่ไม่เหมือนรถไฟสายอื่นในวันนี้ เป็นบุคลิกพิเศษเพราะวิ่งอยู่โดดเดี่ยวเพียงสายเดียว ไม่ยอมเชื่อมต่อกับใคร
รถไฟพิเศษสายนี้ก็คือสายวงเวียนใหญ่-สมุทรสงคราม เดิมสถานีต้นทางอยู่ที่ปากคลองสาน ตรงที่เป็นท่าเรือข้ามไปสี่พระยาในปัจจุบัน วิ่งไปถึงมหาชัย จังหวัดสมุทรสาคร โดยบริษัทรถไฟท่าจีน ทุนจำกัดได้รับสัมปทานมาตั้งแต่วันที่ ๑๗ พฤษภาคม ๒๔๔๔ เป็นระยะทาง ๓๓.๑ กม. ต่อมาในวันที่ ๑๐ มิถุนายน ๒๔๔๘ บริษัทแม่กลอง ทุนจำกัด ได้รับสัมปทานจากสถานีบ้านแหลม สมุทรสาคร ซึ่งอยู่ตรงข้ามฟากแม่น้ำท่าจีนกับสถานีมหาชัย ไปจนถึงสถานีแม่กลอง เมืองสมุทรสงคราม เป็นระยะทาง ๓๓.๘ กม. มีเรือข้ามฟากขนถ่ายผู้โดยสารไปมาระหว่างสถานีมหาชัยกับสถานีบ้านแหลม จนในปี ๒๔๕๑ ทั้ง ๒ บริษัทก็รวมเป็นบริษัทเดียวกัน ใช้ชื่อว่าบริษัทแม่กลอง ทุนจำกัด
เมื่อสัมปทานของรถไฟสายนี้หมดลง กรมรถไฟจึงขอซื้อทรัพย์สินมาทำเองในราคา ๒ ล้านบาท ตั้งเป็นองค์กรบริหารขึ้นใหม่ในชื่อ “องค์กรรถไฟสายแม่กลอง” ทำนองเป็นรัฐวิสาหกิจ จนกระทั่งอีก ๗ ปีต่อมากรมรถไฟได้เปลี่ยนฐานะเป็น “การรถไฟแห่งประเทศไทย”ในวันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๔๙๕ กระทรวงคมนาคมจึงรวมองค์การรถไฟสายแม่กลองเข้ากับการรถไฟแห่งประเทศไทย แต่ก็ยังมีฐานะเป็น “สำนักงานรถไฟสายแม่กลอง” ดำเนินงานเป็นเอกเทศเช่นเดิม จนกระทั่งถึงวันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๘ สำนักงานรถไฟสายแม่กลองจึงถูกรวมกับการรถไฟแห่งประเทศไทยอย่างเต็มตัว มีฐานะเช่นเดียวกับรถไฟสายอื่นๆทั่วประเทศ
แต่ถึงกระนั้น รถไฟสายแม่กลองก็ยังรักษาบุคลิกพิเศษไม่เชื่อมทางกับใคร และไม่สามารถส่งหัวรถจักรหรือโบกี้เข้าซ่อมในโรงซ่อมของการรถไฟฯที่บางกอกน้อยหรือมักกะสันได้ การเปลี่ยนหัวรถจักรหรือโบกี้โดยสารจึงต้องขนใส่แพขนานยนต์มาขึ้นที่สถานีปากคลองสาน
จนถึงวันที่ ๒๔ พฤศจิกายน ๒๕๐๒ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรี ได้เสนอต่อที่ประชุม ครม. ให้ยุบทางรถไฟสายนี้จากสถานีปากคลองสานไปเริ่มที่สถานีวงเวียนใหญ่ ทำให้ทางรถไฟช่วงที่ถูกยุบกลายเป็นถนนสายวงเวียนใหญ่-ปากคลองสาน การขนส่งหัวรถจักรและอุปกรณ์ล้อเลื่อนต่างๆที่ต้องส่งไปซ่อม ก็ต้องเปลี่ยนจากแพขนานยนต์ไปบรรทุกด้วยรถเทเลอร์ขึ้นลงที่สถานีบ้านขอม สมุทรสาคร
ประวัติศาสตร์ที่สำคัญของทางรถไฟสายนี้บันทึกไว้ว่า เมื่อวันที่ ๑๘ มีนาคม ๒๔๔๘ เวลา ๒ โมงเศษ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินโดยรถพระที่นั่งจากพระราชวังสวนดุสิต ไปประทับเรือพระที่นั่งที่ท่าราชวรดิฐ ล่องไปเทียบท่าสเตชั่นรถไฟท่าจีน ใต้ปากคลองสาน เสด็จประทับรถไฟใช้จักรออกจากกรุงเทพฯไปหยุดรถพระที่นั่งที่สเตชั่นสมุทรสาคร เสด็จพระราชดำเนินประทับเรือไฟ ข้ามไปที่ตลาดท่าฉลอม เพื่อทรงทำพิธีเปิดถนนถวาย ตำบลท่าฉลอม เมืองสมุทรสาคร
ปัจจุบัน แม้สมุทรสาครและสมุทรสงครามจะมีถนนสายใหญ่ติดต่อกับกรุงเทพฯ มีรถเมล์โดยสารวิ่งวันละหลายเที่ยว แต่คนจำนวนไม่น้อยก็ยังอาศัยรถไฟสายแม่กลอง อีกทั้งยังเป็นสายท่องเที่ยว ทั้งไทยและเทศสนใจไปดูความมหัศจรรย์ไม่เหมือนใครในโลกของรถไฟสายนี้ คือ “ตลาดหุบร่ม” ที่ตั้งอยู่บนรางรถไฟก่อนถึงสถานีแม่กลอง แสดงออกถึงความเอื้ออารีที่มีต่อกันอันเป็นเอกลักษณ์ไทย
ในปี ๒๔๔๕ ได้เกิดรถไฟเอกชนขึ้นอีกสายหนึ่ง เป็นรถไฟขนาดเล็ก รางกว้างเพียง ๗๕ ซม. เดินรถในระยะทางสั้นๆ ๒๐ กม. จากอำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ไปอำเภอพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี มี ๗ สถานี ได้เริ่มเดินรถในปี ๒๔๔๙ แต่ก็มีปัญหามาตลอด ทั้งด้านการเดินรถและด้านธุรกิจ จนต้องหยุดกิจชั่วคราวการมาครั้งหนึ่งเพราะการเงิน ส่วนการเดินรถก็มีขัดข้องกลางทางจนถึงตกราง แม้ในเที่ยวปฐมฤกษ์ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จมาทำพิธีเปิด ก็ต้องหยุดกลางทางถึง ๒-๓ ครั้ง แต่ก็ดำเนินกิจการอยู่ได้จนถึงปี ๒๔๘๓
จุดมุ่งหมายในการสร้างทางรถไฟสายนี้ดูจะไม่ใช่เรื่องธุรกิจ แต่เพื่ออำนวยความสะดวกแก่เจ้านายและประชาชนที่เดินทางไปนมัสการพระพุทธบาท ซึ่งมีเฉพาะในช่วงเทศกาลเท่านั้น นอกนั้นก็ได้ช่วยชาวบ้านลำเลียงผลผลิตทางการเกษตร เช่น พืชไร่ หน่อไม้ น้อยหน่า และขนุนไปสู่ตลาด ตารางการเดินรถจึงไม่มีกำหนดแน่นอน เต็มเมื่อไหร่ก็ออกเมื่อนั้น และวิ่งด้วยความเร็ว ๒๐-๓๐ กม.ต่อชั่วโมง ตลอดเส้นทางใช้เวลา ๑ ชั่วโมง
ผู้ก่อตั้งรถไฟสายนี้ ก็คือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ เจ้านายที่ทำธุรกิจหลายอย่าง รวมทั้งโรงละครที่แพร่งนรา ถนนตะนาว โดยร่วมหุ้นกับขุนนางอีก ๖ คน ตั้งบริษัท รถรางพระพุทธบาท ทุนจำกัด เรียกกันว่า “รถไฟกรมพระนรา”
ธุรกิจการเดินรถไฟสายนี้ไม่ประสบความสำเร็จ อยู่ในขั้นประคองตัวมาได้เท่านั้น เมื่อมีถนนพหลโยธินตัดผ่านอำเภอพระพุทธบาทไปถึงลพบุรีในปี ๒๔๘๓ ก็ประสบการขาดทุนหนัก จนต้องเลิกกิจการ ขายอุปกรณ์ให้แก่บริษัทส่งเสริมอุตสาหกรรมไทย เจ้าของโรงงานน้ำตาลหลายแห่งไป
ร่องรอยที่ระลึกถึง “รถไฟสายกรมพระนรา” ในปัจจุบัน ก็คือทางหลวงหมายเลข ๓๐๒๒ สายอำเภอท่าเรือกับอำเภอพระพุทธบาท นั่นเอง
รถไฟในอดีตอีกสาย เรียกกันว่า “รถไฟสายเจ้าคุณวรพงศ์” แต่มีชื่อเป็นทางการว่า “รถไฟสายบางบัวทอง” สถานีต้นทางอยู่ริมฝั่งเจ้าพระยาที่ท่าน้ำวัดบวรมงคล หรือวัดลิงขบ ตรงข้ามกับท่าเรือเทเวศม์ ไปสุดทางที่บางบัวทอง ซึ่งในสมัยรัชกาลที่ ๕ เป็นแหล่งธุรกิจคึกคัก เนื่องจากเป็นแหล่งผลิตอิฐบางบัวทอง ซึ่งเป็นอิฐชั้นดีนิยมใช้ในการก่อสร้างวังและคฤหาสน์ในสมัยนั้น
ผู้ที่ก่อตั้งรถไฟสายนี้ก็คือ เจ้าพระยาวรพงศ์พิพัฒน์ (ม.ร.ว.เย็น อิศรเสนา) คนที่ชอบเรื่องเครื่องยนต์กลไกและงานช่าง ซึ่งไปสร้างเตาเผาอิฐที่บางบัวทองด้วย
การวางรางรถไฟสายนี้มีปัญหายุ่งยากมาก เพราะตอนนั้นยังไม่มีพระราชบัญญัติคุ้มครองการสร้างทางรถไฟ เส้นทางที่รถไฟจะผ่านก็ล้วนเป็นสวนผลไม้ บางรายไม่ยอมแบ่งขายให้ซื้อยกแปลง บางรายก็ไม่ยอมขาย เลยต้องย้ายแนวหลบ ทำให้ทางรถไฟสายนี้คดไปคดมา ผู้เขียนเคยนั่งรถไฟสายนี้ตอนเป็นเด็ก ข้ามเรือจากท่าเทเวศ์ไปท่าวัดลิงขบ แล้วขึ้นรถไฟไปลงที่สถานีวัดรวก บางบำหรุ เหมือนนั่งเรือฝ่าคลื่น นอกจากกระเทือนแล้วยังส่ายไปมา แต่บรรยากาศสองข้างทางก็ติดตรึงใจ ผ่านสวนทุเรียนที่มีลูกห้อยระย้าอยู่ข้างทางไปตลอด
กิจการรถไฟสายนี้คงจะดีพอควร ในปี ๒๔๗๓ จึงได้ขยายเส้นทางจากบางบัวทองต่อไปถึงทุ่งระแหง อำเภอลาดหลุมแก้ว ทั้งได้ย้ายรางที่แยกไปลงท่าน้ำวัดเฉลิมพระเกียรติ ตามศาลากลางจังหวัดนนทบุรีที่ย้ายจากตลาดขวัญตรงข้ามวัดเฉลิมพระเกียรติไปอยู่บางขวาง ไปลงที่ท่าน้ำซึ่งอยู่ตรงข้ามศาลากลางจังหวัดแห่งใหม่ ที่ปัจจุบันเรียกว่า “ท่าน้ำนนทบุรี”
ในตอนที่เริ่มเดินรถได้ใช้หัวรถจักรไอน้ำ แต่พอฟืนหายากก็หันไปใช้หัวรถจักรดีเซล ครั้นเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒ เกิดปัญหาน้ำมันขาดแคลน ทั้งยังมีเรือ “มอเตอร์โบ๊ต” ของบริษัทฝรั่งมาเปิดรับผู้โดยสารจากบางบัวทองกับท่าเขียวไข่กา บางกระบือ ทำให้รายได้ลดลงอีก จึงต้องเลิกกิจการในวันที่ ๑๖ กรกฎาคม ๒๔๘๕ ขายรางและหัวรถจักรให้บริษัทส่งเสริมอุตสาหกรรมไทย จำกัดไปอีกราย
ร่องรอยของ “ทางรถไฟสายเจ้าคุณวรพงศ์” ที่ยังเหลืออยู่ในปัจจุบัน ก็คือ “ซอยจรัญสนิทวงศ์ ๔๖” และ “ถนนบางกรวย-ไทรน้อย”
ทางรถไฟทั้ง ๔ สายที่เล่ามานี้ สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๕ ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๖ ก็มีรถไฟของเอกชนเกิดขึ้นอีกสายหนึ่ง เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯโปรดเกล้าฯให้สร้างพระตำหนักขึ้นที่ตำบลบางทะลุ อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี เพื่อเป็นที่พักผ่อนพระวรกายและรักษาพระพลานามัยจากโรครูมาติซัม โดยมีพระราชประสงค์ไม่ไปรบกวนคนไปตากอากาศที่ชะอำและหัวหิน พระราชทานนามว่า “หาดเจ้าสำราญ”
แม้หาดเจ้าสำราญจะสวยงามและมีน้ำใสเหมาะที่จะลงสรง แต่ก็เป็นสถานที่ทุรกันดาร การเดินทางลำบาก เจ้าพระยาวรพงศ์พิพัฒน์ เจ้าของรถไฟสายบางบัวทอง จึงขอพระราชทานเป็นแม่กองสร้างทางรถไฟจากเพชรบุรีมาถึงพระตำหนักบางทะลุ เป็นระยะทาง ๑๕ กม. เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ข้าราชบริพาร เป็นระบบรางกว้าง ๗๕ ซม. เริ่มเดินรถเมื่อวันที่ ๑๕ เมษายน ๒๔๖๔ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯก็เคยเสด็จด้วยรถไฟพระที่นั่งสายนี้หลายครั้ง
แต่เนื่องจากหาดเจ้าสำราญมีปัญหาเรื่องน้ำจืด ทั้งยังมีแมลงวันชุกชุม จนข้าราชบริพารแอบกระซิบกันว่า “เจ้าสำราญ แต่ข้าราชบริพารเบื่อ” เมื่อทรงทราบจึงมีพระราชดำริย้ายพระตำหนักไปที่ตำบลห้วยทรายเหนือ ซึ่งมีน้ำจืดพอเพียงและไปมาสะดวกกว่า จึงทรงสร้างพระตำหนักพระราชนิเวศน์มฤทายวัน ทางรถไฟสายหาดเจ้าสำราญจึงปิดลงในวันที่ ๓๑ พฤษภาคม ๒๔๖๖
รถไฟสายหาดเจ้าสำราญนี้ มีพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเป็นเจ้าของ เจ้าพระยาวรพงศ์พิพัฒน์ เป็นแม่กองสร้าง
ร่องรอยของทางรถไฟสายนี้ ปัจจุบันก็คือทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๓๑๗๗ เพชรบุรี-หาดเจ้าสำราญ
นี่ก็เป็นตำนานรถไฟของเอกชนที่ต้องเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย แต่ก็ได้ทิ้งร่องรอยให้เป็นประโยชน์ของรถยนต์ในวันนี้