วันนี้ (10 ก.ค.) กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จัดประชุมออนไลน์ “ประชุมเชิงปฏิบัติการเปิดรับข้อเสนอโครงการทุนพัฒนาอาชีพและนวัตกรรมที่ใช้ชุมชนเป็นฐานปี 2564” เพื่อชี้แจงวัตถุประสงค์แนวทางการทำงานและประชาสัมพันธ์โครงการให้แก่องค์กรภาครัฐเอกชนภาคประชาสังคมหรือองค์กรที่สนใจ
น.ส.ธันว์ธิดา วงศ์ประสงค์ ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมและทุนการศึกษา กสศ.กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 และปัญหาเศรษฐกิจส่งผลให้เกิดประชากรด้อยโอกาสว่างงานกลุ่มใหม่จำนวนมาก โครงการทุนพัฒนาอาชีพและนวัตกรรมที่ใช้ชุมชนเป็นฐานปี 2564 จึงถือว่าเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ในฐานะต้นแบบการพัฒนาอาชีพและนวัตกรรมที่ใช้ชุมชนเป็นฐานที่มุ่งค้นหาระบบนิเวศทางการศึกษาและแนวทางฝึกอาชีพเพื่อเชื่อมโยงชุมชนและเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างต่อเนื่องไปพร้อมกันโดยกลุ่มเป้าหมาย คือ ประชากรนอกรั้วโรงเรียนวัย 15 ปีขึ้นไป ซึ่งประเทศไทยมีแรงงานกลุ่มนี้ราว 20ล้านคนหรือ70%ในจำนวนนี้คือแรงงานนอกระบบที่ขาดทักษะ
ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมและทุนการศึกษา กสศ. กล่าวว่า ตลอดสองปีที่ผ่านมามีโครงการที่ได้รับคัดเลือกเข้าร่วม 194 โครงการกว่า 182 หน่วยพัฒนาอาชีพครอบคลุมการทำงาน 50 จังหวัด ช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมายที่ว่างงานยากจนและด้อยโอกาสไปแล้วปีละราว 1 หมื่นคน ภายใต้งบประมาณที่จำกัดและขณะนี้กำลังเปิดรับข้อเสนอโครงการจากหน่วยงาน หรือองค์กรที่มีแนวคิดการพัฒนาอาชีพที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน เช่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สถาบันการศึกษาทั้งรัฐและเอกชนองค์กรเอกชนธุรกิจเพื่อสังคมองค์กรชุมชนมูลนิธิองค์กรสาธารณะประโยชน์ เน้นช่วยเหลือผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์และผู้ด้อยโอกาสให้ได้รับการพัฒนา 4 ทักษะสำคัญ คือ 1. ทักษะอาชีพ 2. ทักษะศตวรรษที่ 21 3. การดูแลสุขภาพจิต และ 4. ทักษะการบริหารจัดการด้านการเงินและหนี้สิน รวมทั้งมีรูปแบบการเรียนรู้ที่ส่งเสริมการมีงานทำยืนหยัดด้วยตัวเองในระยะยาวโดยจะสนับสนุนทุนโครงการละไม่เกิน 1ล้านบาทดำเนินงานในกรอบระยะเวลา 7 เดือน
“กสศ.ตั้งเป้าให้หน่วยงานที่เข้าร่วมมองถึงการช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมายพิเศษคือกลุ่มคนวัยทำงานที่มีบุตรหลานในระบบการศึกษาที่ไม่เกินระดับชั้น ม.3 เพื่อสนับสนุนให้มีอาชีพมีรายได้เพื่อส่งต่อผลสำเร็จไปยังครัวเรือนโดยเฉพาะเด็กและเยาวชนให้ได้เรียนต่อไม่หลุดจากระบบการศึกษามีโอกาสได้เรียนต่อระดับชั้นที่สูงขึ้นโดยโครงการนี้มองผลปลายทางที่มากกว่าการฝึกอาชีพหรือการผลิตสินค้าแต่จะนำไปสู่ชุมชนนำร่องที่ทำงานร่วมกันเพื่อนำไปสู่การบริหารจัดการให้ผู้ด้อยโอกาสได้ประกอบอาชีพตามความถนัดพึ่งพาตนเองได้มีอาชีพที่ยั่งยืนและนำพาชุมชนให้เกิดความเข้มแข็งยั่งยืนผู้สนใจสามารถยื่นข้อเสนอโครงการได้โดยเปิดรับผ่านระบบออนไลน์ที่เว็บไซต์ www.EEF.or.thหรือทุนพัฒนาอาชีพ.com ตั้งแต่วันที่ 10-23 กรกฎาคม 2564 และจะประกาศผลโครงการที่ผ่านการพิจารณาภายในเดือนสิงหาคม 2564” น.ส.ธันว์ธิดา กล่าว
ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ ประธานอนุกรรมการกำกับทิศทางโครงการฯและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิภาคประชาสังคม กสศ.กล่าวว่าข้อมูลจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) และยูนิเซฟ พบว่า จะมีคนตกงานประมาณ 6 ล้านคน และมีเด็กจบการศึกษาใหม่ 1.3 ล้านคน ดังนั้น ต้องหาทางรองรับคนที่จะหลั่งไหลออกจากเมืองกลับไปยังชุมชน อีกทั้งความคิดของทีมงานที่เน้นการทำงานโดยใช้ชุมชนเพื่อเป็นต้นแบบของการรองรับแรงงานเราอาจต้องเตรียมการเรื่องสวัสดิการทันสมัยรองรับคนที่จะกลับชุมชนที่เต็มไปด้วยคนรุ่นใหม่รุ่นเก่าคนจนเฉียบพลันคนยากจนพิเศษคนจนถาวร หรือเกือบจนในแต่ละชุมชนเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ เรากำลังแก้โจทย์สำคัญเรื่องความยากจนความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาซึ่งมีสาเหตุปัจจัย 3 เรื่อง คือ 1. การส่งต่อความยากจนจากรุ่นหนึ่งไปสู่อีกรุ่นหนึ่งคนที่จบ ม.ต้น แทบไม่มีโอกาสพัฒนาตัวเองต้องอยู่กับความยากจน 2. ช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนปีนี้จะยิ่งห่างมากกว่า 20 เท่า และ 3. การวัดประเมินผลแบบแพ้คัดออกยิ่งคนด้อยโอกาสมาจากครอบครัวยากจนยิ่งขาดโอกาสทางการศึกษาดังนั้นการแก้โจทย์ เราจะไม่ส่งต่อเรื่องความยากจนจากคนอีกรุ่นหนึ่งไปอีกรุ่นหนึ่งแต่เราจะสร้างมิติใหม่จะส่งต่อโอกาสความเสมอภาคกำหนดอนาคตของประเทศต่อไป ประเทศไทยจะต้องก้าวไปข้างหน้าโดยเชื่อมโยงกับองค์กรในท้องถิ่น ขยับเชิงนโยบายในแต่ละท้องถิ่นเป็นสังคมที่ลุกขึ้นมาต่อสู้กับความยากจนจากล่างขึ้นบนการทำต้นแบบองค์ความรู้ บูรณาการเชื่อมต่อกับนโยบายซึ่งเป็นก้าวสำคัญของทุนในอนาคตข้างหน้า
นายภัทระ คำพิทักษ์ คณะกรรมการบริหาร กสศ.และอนุกรรมการกำกับทิศทางโครงการฯ กล่าวว่า การพัฒนาทักษะอาชีพโดยใช้ชุมชนเป็นฐานหมายถึงกระบวนการเรียนรู้ที่เกิดจากการรวมตัวของกลุ่มคน โดยมีสิ่งที่เป็นพื้นฐานร่วมกันตั้งแต่พื้นที่ความสนใจสภาพปัญหาชุมชนรวมถึงทุนทางเศรษฐกิจและทรัพยากรที่มีร่วมกันซึ่งโครงการฯเน้นว่าจะต้องไม่ใช่การฝึกอบรมอาชีพทั่วไปและไม่ได้เป็นการสงเคราะห์แต่คือสร้างการเรียนรู้บนฐานสุภาษิตที่ว่า “แสงสว่างเสมอด้วยปัญญาที่มี” หมายถึงในสภาวะที่ผู้คนต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงของสังคมของการประกอบอาชีพ อีกทั้งช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงที่มีวิกฤตเข้ามาบีบคั้นสิ่งที่จะทำให้ผู้คนและชุมชนฝ่าฟันไปได้เราต้องใช้ความรู้เป็นตัวนำและนี่คือเป้าหมายและทิศทางของโครงการนี้
น.ส.ณัฐชา ก๋องแก้ว นักวิชาการฝ่ายนวัตกรรมข้อมูลและเทคโนโลยีสารสนเทศสถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวว่า ข้อมูลจากระบบ isee ของ กสศ. (www.isee.eef.or.th/) พบว่า มีนักเรียนทุนเสมอภาคจำนวน 1.17 ล้านคน เด็กกลุ่มนี้มาจากครัวเรือนยากจนที่สุด 15% ล่างของประเทศ เมื่อมีวิกฤตโควิด-19 มีรายได้ราว 1,021 บาทต่อคนต่อเดือน หรือราว 34 บาทต่อวันเท่านั้น จึงเป็นที่มาของการนำแนวคิดในการช่วยเหลือครอบครัวของนักเรียนทุนเสมอภาคที่จำนวนมากต้องประสบปัญหาถูกเลิกจ้างว่างงานและกลับภูมิลำเนามากขึ้นมาใช้ในการทำงานของโครงการฯในปี 2564 นี้ เพื่อเป็นต้นแบบการช่วยเหลือเปลี่ยนแปลงสมาชิกครอบครัวของนักเรียนทุนเสมอภาคให้มีทักษะอาชีพและสามารถมีรายได้เลี้ยงตนเองและครอบครัวได้ ซึ่งหมายถึงโอกาสในการศึกษาอย่างต่อเนื่องของเด็กและเยาวชนที่ยังอยู่ต่อไป