xs
xsm
sm
md
lg

ประยุทธ์ลาออกจะเอาใคร? เปิดบัญชีว่าที่นายกฯ สุดารัตน์-ชัชชาติ-อนุทิน-อภิสิทธิ์ หรือมีใครดีกว่านี้?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เปิดบัญชีว่าที่นายกรัฐมนตรี กรณีที่ “นายกฯ บิ๊กตู่” ลาออกตามกระแสจริงๆ เหลือแค่ “หญิงหน่อย” ที่ลาออกไปตั้งพรรคใหม่ “ชัชชาติ” ที่สนใจสนาม กทม. “อนุทิน” เนื้อหอมสุดๆ “อภิสิทธิ์” ที่ขออยู่เงียบๆ นอกนั้นถ้าไม่ชงนายกฯ คนนอกก็ยุบสภา

รายงาน

กระแสกดดันให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีลาออกจากตำแหน่งเกิดขึ้น หลังการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ล้มเหลว ทำให้มีผู้ติดเชื้อต่อวันเกือบ 1 หมื่นคน และผู้เสียชีวิตมากกว่า 70 คน

คำถามที่ตามมาก็คือ ถ้าไม่เอา พล.อ.ประยุทธ์ แล้วจะเอาใคร?

ย้อนกลับไปในการเลือกตั้ง 24 มี.ค. 2562 พรรคการเมืองทุกพรรคจะต้องเสนอชื่อว่าที่นายกรัฐมนตรีก่อนการเลือกตั้งไม่เกินพรรคละ 3 ชื่อ ตามรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 88 เพื่อให้ ส.ส. (และ ส.ว. ตามบทเฉพาะกาล) โหวตเลือกนายกรัฐมนตรีในสภา

อีกทั้งมาตรา 159 กำหนดว่า ให้สภาฯ โหวตเลือกนายกรัฐมนตรี เฉพาะตามที่พรรคการเมืองเสนอชื่อเท่านั้น โดยพรรคการเมืองนั้นต้องได้ ส.ส. ไม่น้อยกว่า 5% ซึ่งเท่ากับ 25 คน พบว่ามีเพียงแค่ 5 พรรคการเมืองเท่านั้น เมื่อไล่เรียงแต่ละชื่อ ได้แก่

พรรคพลังประชารัฐเสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาเป็นนายกรัฐมนตรี เพียงชื่อเดียว แม้ พล.อ.ประยุทธ์ จะลาออกจากตำแหน่ง แต่ ส.ส. และ ส.ว. ก็สามารถโหวตกลับเข้ามาใหม่ได้ ซึ่งก็ต้องเจอแรงเสียดทานทั้งในและนอกสภา

พรรคเพื่อไทย เสนอ 3 รายชื่อ คนแรกได้แก่ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์แต่ปัญหาก็คือ คุณหญิงสุดารัตน์ ลาออกจากพรรคเพื่อไทย ตั้งพรรคใหม่ที่ชื่อว่า พรรคไทยสร้างไทย แต่บัญชีว่าที่นายกรัฐมนตรียังอยู่กับพรรคเพื่อไทย

ครั้งหนึ่ง นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานวิปฝ่ายค้าน กล่าวเมื่อวันที่ 1 ธ.ค. 2563 ว่า พล.อ.ประยุทธ์ ก็ไม่ใช่สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ คุณหญิงสุดารัตน์ น่าจะยังคงอยู่ในบัญชีของพรรคเพื่อไทย

คนที่สอง ได้แก่ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์อดีต รมว.คมนาคม ในรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ผ่านมา เจ้าตัวให้ความสนใจเป็นพิเศษกับการเตรียมความพร้อม เพื่อลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ในนามอิสระมากกว่า

คนที่สาม ได้แก่ นายชัยเกษม นิติสิริอดีต รมว.ยุติธรรม ในรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ปัจจุบันเป็นประธานคณะกรรมการการเมืองพรรคเพื่อไทย แต่ที่ผ่านมาบทบาทผ่านสื่อไม่เป็นที่โดดเด่นมากนัก

พรรคภูมิใจไทยเสนอชื่อ นายอนุทิน ชาญวีรกูล ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็นรองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข ที่ผ่านมา ถือว่า มีบทบาทในรัฐบาล ครองกระทรวงเกรดเออย่างกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงคมนาคม

รวมทั้งยังมีเก้าอี้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวม 6 ที่นั่ง ภายหลังมีการแลกเปลี่ยนเก้าอี้กับพรรคประชาธิปัตย์ ทำให้กระทรวงคมนาคม กลายเป็น “คมนาคมยูไนเต็ด”ราวกับเมืองปราสาทสายฟ้า

นอกจากนี้ ยังพบว่า ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลครั้งล่าสุด เมื่อวันที่ 20 ก.พ. 2564 ยังมีเสียงไว้วางใจจากพรรคร่วมรัฐบาลมากถึง 275 เสียง มากกว่านายกรัฐมนตรีที่มีเสียงไว้วางใจเพียง 272 เสียง

พรรคประชาธิปัตย์เสนอชื่อ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะอดีตนายกรัฐมนตรี แม้จะลาออกจาก ส.ส. เนื่องจากมติพรรคประชาธิปัตย์ส่วนใหญ่เข้าร่วมรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ สวนแนวทางฝ่ายค้านอิสระ ที่เคยประกาศตอนหาเสียงว่า “หมดเวลาเกรงใจ”ก็ตาม

แต่ถึงกระนั้น นายอภิสิทธิ์ ยังคงเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ และยังอยู่ในบัญชีว่าที่นายกรัฐมนตรี อยู่กับพรรคประชาธิปัตย์

ปัจจุบัน นายอภิสิทธิ์ ใช้ชีวิตอย่างสงบกับครอบครัว พร้อมกับไปเป็นวิทยากรบรรยายตามที่ต่างๆ ล่าสุด เพิ่งไปกล่าวปาฐกถาพิเศษในงานสัมมนา “100 ปี พรรคคอมมิวนิสต์จีน และ 46 ปีความสัมพันธ์ไทย-จีน” เมื่อวันที่ 1 ก.ค. 2564

วันก่อน นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้ถามนายอภิสิทธิ์ถึงอนาคตทางการเมือง นายอภิสิทธิ์ตอบว่า ถ้าให้เข้าไปเป็น 1 ใน 500 คน ของจำนวน ส.ส. ในสภาคงไม่เข้าไป เพราะเห็นว่าไม่มีประโยชน์

แต่ถ้าเข้าไปแล้ว สามารถเปลี่ยนแปลงบ้านเมืองไปในทางที่ดีได้ สามารถทำนโยบายให้ประชาชนมีหลักประกันในชีวิต และ เปิดโอกาสแห่งความเท่าเทียมให้ประชาชนได้ ก็จะเข้ามา แต่ยังไม่เห็นโอกาสที่จะทำอย่างนั้น

ส่วนพรรคอนาคตใหม่ (ขณะนั้น) เสนอชื่อ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจเป็นนายกรัฐมนตรี แต่ถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ตัดสิทธิทางการเมือง 10 ปี ในคดีให้กู้เงิน 191.2 ล้านบาท แก่พรรคอนาคตใหม่ ซึ่งชี้ว่าถือเป็นเงินทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด

แม้นายธนาธรจะส่งไม้ต่อให้ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์นำ ส.ส.ที่เหลือเข้าย้ายสังกัดพรรคก้าวไกล แต่เมื่อนายพิธาไม่ได้อยู่ในบัญชีว่าที่นายกรัฐมนตรีในการเลือกตั้ง ส.ส. ปี 2562 ตั้งแต่ต้น จึงไม่มีสิทธิเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี

นอกจากจะใช้วิธีเสนอ “นายกรัฐมตรีคนนอก”ที่ฝ่ายค้านและฝ่ายม็อบเคยวิจารณ์และคัดค้านกันไว้ แต่นอกจากจะกลายเป็นการกลืนน้ำลายตัวเองแล้ว เสียงฝ่ายค้านที่มีเพียงแค่ 200 กว่าเสียง ยังไงก็ไม่พออยู่ดี

หากข้อเรียกร้องจากสังคม คือ นายกรัฐมนตรีลาออก คำถามที่ว่า ไม่เอา พล.อ.ประยุทธ์ แล้วจะเอาใคร คงกระจ่างลงในระดับหนึ่ง เพราะเหลือแคนดิเดตตามบัญชีว่าที่นายกรัฐมนตรีเพียงแค่ไม่กี่คนเท่านั้นที่โดดเด่น

หรือไม่เช่นนั้น ก็เสนอ “นายกรัฐมนตรีคนนอก” ตามมาตรา 272 ก็คือ

1. ส.ส. และ ส.ว. ไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของรัฐสภา หรือ 376 คน เข้าชื่อเพื่อขอให้เสนอชื่อนายกฯ นอกบัญชีพรรคการเมืองได้

2. ส.ส. และ ส.ว. ประชุมร่วมกัน และลงมติไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของรัฐสภา หรือ 500 คน เพื่ออนุมัติการเสนอชื่อนายกฯ นอกบัญชีของพรรคการเมือง

หรือ 3. ส.ส. และ ส.ว. มากกว่าครึ่งหนึ่งของรัฐสภาลงมติเห็นชอบบุคคลดำรงตำแหน่งนายกฯ

หากเป็นเช่นนั้น ในช่วงที่มีการเสนอชื่อว่าที่นายกรัฐมนตรี อาจจะมี “เซอร์ไพร์ส” ที่อาจคาดไม่ถึง เพราะการเมืองไทยอะไรก็เกิดขึ้นได้

อีกตัวเลือกหนึ่ง หากจะให้ พล.อ.ประยุทธ์ “ยุบสภา” แล้วจัดการเลือกตั้งใหม่ ปัจจุบันกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่จะให้กลับมาใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ของพรรคประชาธิปัตย์ยังไม่เสร็จ จึงต้องใช้กติกาเดิม คือ “ระบบจัดสรรปันส่วนผสม”

ถึงจะจัดการเลือกตั้งได้ แต่เนื่องจากบทเฉพาะกาลที่ ส.ว. ร่วมกับ ส.ส. โหวตเลือกนายกรัฐมนตรี 5 ปี ยังมีผล ต่อให้ฝ่ายค้านได้ ส.ส. ในสภามากเท่าไหร่ ก็ต้องเจอเสียงทัดทานจาก ส.ว. อยู่ดี เพราะฉะนั้นคนที่เข้ามาอยู่ในอำนาจสุดท้ายก็คนกลุ่มเดิม

แม้จะมีเสียงเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออก แต่ท่ามกลางการแพร่ระบาดของโควิด-19 ขณะนี้ ก็จะมีคำถามตามมาอีกว่า ถึงเวลาแล้วหรือที่จะ “เปลี่ยนม้ากลางศึก”

คงต้องให้สังคมร่วมกันหาคำตอบกันเอาเอง


กำลังโหลดความคิดเห็น