xs
xsm
sm
md
lg

เปิดโครงการหลวงเลอตอ มุ่งปลูกกาแฟชั้นดี ชาวบ้านมีรายได้ ใส่ใจสิ่งแวดล้อม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

เปิดประตูทำความรู้จัก “โครงการหลวงเลอตอ” ที่ ปตท. และ โออาร์ ประสานพลังมูลนิธิโครงการหลวง มุ่งพัฒนาการปลูกกาแฟคุณภาพมาตรฐานสากล ส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชนให้เข้มแข็ง ควบคู่การเพิ่มพื้นที่สีเขียว สู่การเติบโตร่วมกันอย่างยั่งยืน


หลังจากประสบความสำเร็จอย่างงดงามในการพัฒนาพื้นที่ “สถานีเกษตรหลวงอินทนนท์” อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ ซึ่งเกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่างมูลนิธิโครงการหลวง และ ปตท. มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557 ล่าสุด ได้มีการต่อยอดขยายผลไปสู่ “ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงเลอตอ” อ.แม่ระมาด จ.ตาก เพื่อวิจัยและพัฒนาการปลูกและการผลิตกาแฟระบบอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

โดยศูนย์พัฒนาโครงการหลวงเลอตอ ได้รับความร่วมมือจาก 3 หน่วยงานสำคัญที่ร่วมเป็นพลังผลักดันโครงการไปสู่ความสำเร็จ ทั้ง มูลนิธิโครงการหลวง, บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) และ บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) (โออาร์) ซึ่งมีลงนามบันทึกความร่วมมือไปเมื่อเร็ว ๆ นี้ โดยมี นายจรัลธาดา กรรณสูต องคมนตรี ประธานกรรมการมูลนิธิโครงการหลวง เป็นประธาน


สิ่งที่สำคัญก็คือ “โครงการหลวงเลอตอ” จะนำผลสำเร็จที่เกิดขึ้นจาก “สถานีเกษตรหลวงอินทนนท์” มาเป็นโมเดลในการเดินหน้าโครงการ ทั้งในด้านองค์ความรู้ทางวิชาการ การพัฒนาระบบการปลูกกาแฟคุณภาพ มีมาตรฐาน พัฒนาศักยภาพเกษตรกรให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ ควบคู่ไปกับการเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับแหล่งต้นน้ำของประเทศ

นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ระบุว่า ขณะที่การพัฒนาชุมชนให้เข้มแข็ง ด้วยการสร้างทักษะอาชีพที่ก่อให้เกิดรายได้กับชาวบ้าน คือหนึ่งในแนวทางที่ ปตท. ตั้งเป้าไว้ แต่ในอีกหนึ่งด้าน ก็ให้ความสำคัญกับการดูแลสิ่งแวดล้อมให้คงอยู่อย่างยั่งยืน โดยจะเน้นกระบวนการส่งเสริมชุมชนให้มีส่วนร่วมในการพัฒนาพื้นที่ร่วมกัน พร้อมทั้งกระตุ้นให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างภาคีต่าง ๆ ทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ปราชญ์ชุมชน หน่วยงานราชการ และสถาบันการศึกษา โดย ปตท. จะทำหน้าที่เป็นตัวกลาง ประสานให้เกิดความร่วมมือในการพัฒนาชุมชนในพื้นที่


ทั้งนี้ สถาบันปลูกป่าและระบบนิเวศ ปตท. ยังมีแผนฟื้นฟูป่าจำนวน 200 ไร่ ควบคู่กับการสร้างรายได้ร่วมกับชุมชน พัฒนารูปแบบเพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์จากที่ดินอย่างเหมาะสม ปรับเปลี่ยนจากการปลูกพืชเชิงเดี่ยว ไปสู่การปลูกไม้ป่าที่เป็นไม้พื้นถิ่น ควบคู่กับไม้ผลเศรษฐกิจที่เหมาะสมกับพื้นที่ เช่น อะโวคาโด พลับ มะคาเดเมีย และไม้พื้นล่าง เพื่อช่วยให้ชุมชนสามารถสร้างรายได้ในระยะสั้น

โดยในเบื้องต้นจะใช้องค์ความรู้จากงานวิจัยของสถาบันฯ เพื่อให้เกิดการสร้างรายได้ ควบคู่กับการฟื้นฟูระบบนิเวศ ในบริเวณพื้นที่สำนักงานโครงการหลวงเลอตอ จำนวน 30 ไร่ ซึ่งจะใช้เป็นพื้นที่สาธิตในการถ่ายทอดความรู้สู่ชุมชนโดยรอบ และสนับสนุนให้เป็นแหล่งเรียนรู้ต้นแบบการฟื้นฟูป่าอย่างยั่งยืน พร้อมกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชน สร้างความยั่งยืนด้านรายได้ ดูแลสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศอย่างสมดุล


แน่นอนว่า อีกหนึ่งสิ่งที่จะช่วยชุมชนในโครงการหลวงเลอตอสามารถสร้างอาชีพสร้างรายได้ได้ ก็คือ การปลูกกาแฟ โดยในส่วนนี้ “โออาร์” จะเข้าไปดูแลในการพัฒนาความรู้เกษตรกรชาวเขาควบคู่กับการจัดการสิ่งแวดล้อมจากการผลิตกาแฟให้มีประสิทธิภาพ พร้อมพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ภายใต้แบรนด์ คาเฟ่ อเมซอน (Café Amazon) ให้สามารถผลิตกาแฟที่มีคุณภาพ ได้มาตรฐานสากล ตลอดทั้งกระบวนการ ตั้งแต่การปลูก การเก็บเกี่ยว และการแปรรูป รวมทั้งเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ควบคู่ไปกับการบริหารและจัดการของเหลือใช้จากกระบวนการผลิตกาแฟ เพื่อส่งเสริมการผลิตและบริโภคอย่างยั่งยืน


นอกจากนี้ “โออาร์” ยังมีแผนที่จะนำเมล็ดกาแฟและผลิตผลอื่น ๆ จากโครงการฯ ไปพัฒนาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์และสร้างมูลค่าเพิ่มผ่านการทำการตลาดของคาเฟ่อเมซอนที่แสดงความเป็นอัตลักษณ์เฉพาะถิ่นของกาแฟ (Single Origin) เพื่อสร้างให้ชุมชนเป็นที่รู้จักกว้างขวางมากขึ้น และเกิดผลดีต่อเศรษฐกิจของชุมชนต่อไป

สุดท้ายแล้ว ต้องยอมรับว่า การก่อเกิดโครงการหลวงเลอตอ ที่ได้ความร่วมมือจาก ปตท. และ โออาร์ จะเป็นอีกหนึ่งโครงการที่ช่วยชาวบ้านในพื้นที่ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น พร้อม ๆ กับดูแลพื้นที่สีเขียวให้เติบโตยั่งยืนไปด้วยกัน




กำลังโหลดความคิดเห็น