หากการอดนอนที่แปรเปลี่ยนจากการเสียสุขภาพทางร่างกาย ให้มาเป็นการแข่งขันเพื่อเงินรางวัลเป็นผลตอบแทนกลับมาล่ะ คิดว่าการแข่งขันนี้มันน่าสนใจเพียงใด นี่คือโครงเรื่องคร่าวๆ จากภาพยนตร์เรื่อง Deep โปรเจกต์ลับ หลับ เป็น ตาย จากค่ายเอ็ม พิคเจอร์ส และ ทรานฟอร์เมชั่น ที่มีตัวแทนจากสองนักแสดงนำ อย่าง กิต Three Man Down – กฤตย์ จีรพัฒนานุวงศ์ และ เค เลิศสิทธิชัย ที่มาเปิดผยประสบการณ์คร่าวๆ ถึงการอดนอน ก่อนที่คุณจะได้ไประทึกพร้อมกันที่เน็ตฟลิกซ์ ตั้งแต่ 16 กรกฎาคมนี้ เป็นต้นไป
อยากให้ทั้งคู่ช่วยเล่าถึงที่มาที่ไปในการมาเล่นหนังเรื่องนี้หน่อยครับ
กิต : ผมก็มีคนติดต่อมาทางโซเชียล น่าจะเป็นรุ่นน้องนี่แหละ เขาก็มาบอกว่า อยากจะให้เราไปลองแคสต์หนังเรื่องนี้ดู ผมก็ตัดสินใจว่าตอบตกลงแบบไม่สนใจอะไรเลย ก็มารู้รายละเอียดตรงนั้นเลย ว่าบทนังเป็นแบบนี้ๆ นะ คือเขาส่งบทหนังเรื่องย่อมาคร่าวๆ ลองไปดู ซึ่งเรารับบทเป็น ‘พีท’ ก็น่าสนใจ ว่าเป็นคนที่อดหลับอดนอน ติดเกมส์ เราก็ไปทำการแคสต์บทนี้เลย
เค : ส่วนผมด้วยความที่เป็นหนังเรื่องแรกแล้ว เราก็อยากจะรับเล่นเหมือนกัน บวกกับว่า ตัวบทในเรื่องนี้ก็น่าสนใจ แถมในช่วงนั้น เราก็ว่างด้วย (หันไปมองหน้ากิต) ก็เลยตัดสินใจมาเล่นหนังเรื่องนี้ครับ
เรื่องย่อของ ‘Deep‘ คร่าวๆ นั้น เป็นยังไง
เค : เป็นเรื่องราวของนักศึกษาแพทย์ 4 คน ซึ่งจะมีลักษณะหนึ่งคือ จะนอนน้อย อดหลับอดนอน แล้วมันมีการทดลองหนึ่งว่า ถ้าทำสิ่งนี้ขึ้นมา เราก็จะได้เงินรางวัลกลับมา นั่นก็คือ การอดนอน แล้วแต่ละคนก็มีเหตุผลที่ต่างกันในการใช้เงิน บางคนอยากได้เพราะซื้อสิ่งของ หรือ บางคนอยากได้เพราะเหตุผลส่วนตัว ซึ่งทำให้ได้มาร่วมในโปรเจกต์นี้ และทำให้ได้มารู้จักกันโดยบังเอิญ และต้องมารวมกลุ่มกัน เพื่อที่จะทำยังไงก็ได้ เพื่อให้การทดลองนี้ประสบความสำเร็จไปด้วยกัน แต่ถ้าล้มเหลว คำตอบก็คือความตายครับ
ด้วยความที่เป็นหนังเรื่องแรกของทั้งคู่ด้วย มีการเตรียมตัวยังไงบ้างครับ
เค : ด้วยความที่เป็นหนังเรื่องแรกของเรา เราก็รู้สึกว่าอยากให้มันออกมาดีเหมือนกับซีรีส์ที่เคยเล่นมาก่อน เราก็มีการทำการบ้าน ทั้งเรื่องบท หรือว่า เรื่องของตัวละคร เราก็มีการทำเวิร์คช็อป ไปเรียนในเรื่องการแสดงทั้งหมด เราทำการเวิร์คช็อปกันเป็นกลุ่ม ซึ่งละครหลักทั้ง 4 คน ได้แก่ ผม พี่กิต พี่เฟิร์น แล้วก็แคลร์ เราต้องอยู่ด้วยกัน แล้วก็เข้าถึงตัวละครที่ได้รับของแต่ละคน
กิต : เคก็พูดแทนผมหมดแล้ว (หัวเราะ) จริงๆ คือ ก็เช่นเดียวกับเคนะครับ แต่ในส่วนของผมนั้น เรียกว่าทำการบ้านหนัก เพราะว่า อย่างเคเขาเป็นนักแสดงอาชีพอยู่แล้ว แถมได้บทที่ใกล้เคียงกับคาแรกเตอร์ด้วย ส่วนเราจะได้บทที่แตกต่างจากตัวเอง คือตรงข้ามจากตัวเองเลย อย่างบท ‘พีท’ จะเป็นคนที่พูดน้อย เพื่อนน้อย ขี้อาย ไม่กล้าแสดงออก ซึ่งตรงข้ามกับตัวผมเลย (เค : คือใครได้ดูพี่กิตในหนังจะรู้เลยว่าแตกต่างเลย แล้วก็เป็นการแสดงที่สุดยอดของพี่กิต)
อย่างแรกเลย เราก็รู้สึกเกรงใจกับเพื่อนๆ นักแสดงนำ เพราะว่าทุกคนเคยมีประสบการณ์ในด้านนี้มาก่อน ส่วนเราด้วยความที่มาลองแสดงเป็นครั้งแรก ก็มีความรู้สึกคิดในใจในตอนนั้นว่า เราจะเป็นตัวถ่วงหรือทำให้การทำงานมันช้าลงมั้ย เราก็พยายามทำออกมาให้เต็มที่ที่สุด เราไม่อยากให้แบบว่า เล่นใหม่เพราะเรา (เค : สรุปพี่กิตเล่นโอเค แต่คนที่เอาใหม่ น่าจะเป็นผมมากกว่า)
แล้วการที่ต้องมารับบทเป็นนักศึกษาแพทย์มันมีการเปลี่ยนคาแรกเตอร์ให้เข้ากับตัวหนังยังไงบ้าง
กิต : อย่างผมเอง ในช่วงที่เรียนมัธยมฯ เราจะมีกลุ่มเพื่อนที่จะสอบไปเรียนแพทยศาสตร์เยอะ ผมเลยใช้วิธีว่า นัดเพื่อนๆ กลุ่มนั้น ไปกินข้าวด้วยกัน ทีละคนๆ แล้วก็คอยสังเกตมองเพื่อนๆ เหล่านั้นว่าเป็นยังไง แล้วเราก็ก็อปปี้บุคลิกเหล่านั้นเลย อย่างบุคลิกบางอย่างที่เป็นเอกลักษณ์ของคนที่เรียนหนัก เราก็จดจำและสังเกตมาเพื่อนำมาใช้ตาม อันนี้คือเทคนิคของผมครับ
เค : ส่วนตัวละคร ‘วิน’ ที่เป็นคนที่เฟรนด์ลี่ แล้วเป็นคนที่ชอบปาร์ตี้ทุกวัน แถมเจ้าชู้ด้วย แต่จะเป็นที่ฉลาด แม้ว่าไม่เรียนก็ตาม ไม่ค่อยอ่านหนังสือ เลยอาจจะรู้สึกว่าไม่ค่อยยากเท่าไหร่
จากที่กิตบอกมาเมื่อกี้ เราได้อะไรเพิ่มเติมบ้าง
กิต : คือผมพยายามนึก วิธีการพูด จังหวะการพูด การหายใจ หรือการขยิบตา ที่มาจากการอ่านหนังสือหนัก เราก็จะไปจำๆ มา แล้วก็สังเกตว่ามือเขาทำยังไง วิธีคิดก่อนพูด บางคนพูดตะกุกตะกัก บางคนที่พูดเร็วเกินไป หรือบางคนที่พูดติดอ่าง ผมก็พยายามซึมซับมา มันก็ทำให้เรานำมาประยุกต์ใช้กับการแสดงได้ง่ายขึ้น ซึ่งคิดว่าจะมีจุดเดียว เพราะว่า เราไม่สามารถที่จะเข้าไปในความคิดเขาได้ ซึ่งเราก็ไม่ได้บอกพวกเขานะว่ามาก็อปปี้คุณนะ แค่ชวนไปกินข้าวเฉยๆ
เค : จริงๆ การแสดงออกของแต่ละคน มันไม่เหมือนกันอยู่แล้ว มันอยู่ที่ว่าเราเข้าใจแบบไหน มีการทำการบ้านประมาณไหน แล้วนำมาตีความในบทของเราเอง กับตัวละครและพื้นหลังที่เราได้รับ
ถามมาที่เค พอเราชยับการแสดงจากซีรีส์มาที่หนังแล้ว มันมีความแตกต่างกันยังไง
เค : คือการเล่นหนังกับเล่นซีรีส์ มันต่างกันชัดเจนอยู่แล้วครับ อย่างซีรีส์มันแบ่งเป็นอีพี แล้วแต่ขนาดของตัวเรื่อง ส่วนภาพยนตร์มันต้องเล่าให้จบภายในระยะเวลาประมาณ 2 ชั่วโมง ผมว่ามันต่างกัน อย่างซีรีส์ มันมีการถ่ายเฉลี่ยวันละประมาณ 20-30 ซีน เป็นเรื่องปกติ แต่หนังมันเป็นการปั้นซีน แล้วใช้เป็นหล้องตัวเดียวบ้าง หรือ 2 ตัวบ้าง แล้วมันถ่ายกันไม่เกิน 10 ซีนต่อวัน ซึ่งเราเห็นข้อแตกต่างตรงนี้อย่างชัดเจน คือการทำการบ้าน เท่ากับเรารเน้นแต่ละซีน แล้วมีเวลาในแต่ละซีน อยู่ในช่วงจังหวะตรงนั้นมากกว่า ผมก็ลยรู้ สึกว่า รายละเอียดของหนังมันควรจะละเอียดว่า แล้วให้คนได้ detail ทุกอย่าง ไม่เกิน 2 ชั่วโมงที่หนังได้ฉายไป
แล้วในมุมของกิตล่ะ จากภาคนักร้อง-นักดนตรี มาเป็นภาคนักแสดง
กิต : ผมว่าในเชิงการทำงานมันเปลี่ยนนะครับ จากการร้องเพลงมาเป็นการแสดง สำหรับผมเอง ถ้าเป็นเรื่องของ messege ผมว่ามันคล้ายๆ กัน ก็คือการส่งสิ่งนี้ออกไป ผ่านสิ่งที่เราทำ ส่วนถ้าเป็นการแสดง เราส่งสารที่ผู้กำกับ ผ่านการแสดงของเรา ไปถึงผู้ชม การร้องเพลงก็ส่งสิ่งนี้ไปที่ผู้ฟังผ่านการร้องเพลง ใช้อารมณ์ที่คล้ายๆ กัน แต่ไม่เหมือนกันซะทีเดียว
แสดงว่าในส่วนของกิตเอง ต้องมีการปรับพอสมควร เมื่อเทียบกับเค
กิต : ใช่ครับ มันปรับการทำงานเยอะมากๆ ครับ แต่ถ้าในเรื่องของอารมณ์มันไม่เยอะ อย่างในเรื่องอารมณ์เศร้า ผมก็จะใช้วิธีการเดียวกับการร้องเพลงที่มีเนื้อหาเศร้าเหมือนกัน แต่แค่การทำงานกับการส่งสารออกไป แต่ว่าแค่การทำงานกับการส่งสารออกไปมันต่างกันเท่านั้นเอง
แล้วพอมาทำงานร่วมกันแล้วเป็นยังไงบ้างครับ
กิต : ก็เป็นแบบนี้เลยครับ พี่รับเองน้องรัก
เค : ในกองเป็นแบบนี้ตลอดเวลา ผมจะเป็นคนชงให้พี่กิตตลอด ก็บรรยากาศก็จะประมาณนี้ครับ ด้วยความที่เรามีช่วงอายุที่ไล่เลี่ยกันทั้ง 4 คน บรรยากาศของกองถ่าย ก็เหมือนกับพี่ๆ น้องๆ กันเลย ก็มีอะไรกันคุยกันได้หมด
ในหนังเรื่องนี้ คิดว่าฉากไหนที่ถือว่าเป็นการเข้าถึงการแสดงมากที่สุด
เค : สำหรับผมคิดว่าฉากแอ๊คชั่นคือเหนื่อยสุด เพราะว่าทั้งในเรื่องการทำ CPR ปั๊มหัวใจ หรือว่า การชกต่อย ก็ตะมีคิวบู๊ รวมถึงต้องไปเวิร์คช็อปด้วย เป็นแบบวันนี้วันเดียวเลย ตั้งแต่เช้ายันเย็นเลยเจ็บตัวมาก ถึงแม้ว่าเราจะมีอุปกรณ์เซฟตี้ก็จริง แต่เราก็ต้องการให้ออกมาแบบสมบูรณ์แบบ คือเราก็บอกพี่ๆ เขาเลยว่า เจ็บไม่เป็นไร แต่ขอให้ออกมาดี
กิต : ถ้าเข้าถึงการแสดงที่สุด น่าจะเป็นฉากที่เดินง้อ ‘ซิน’ ที่เล่นโดยพี่เฟิร์น (ศุภนารี สุทธิวิจิตรวงษ์) ฉากนี้อยู่ในมหาวิทยาลัย แล้วตัวพีทก็วิ่งตามไปง้อเขา ซึ่งผมรู้สึกว่าอินกับการแสดงที่สุดแล้ว หมายถึงว่า มันได้พูดในสิ่งที่ตัวละครได้พูดออกมาหมดแล้ว ซึ่งโดยส่วนตัวถ้าเรานึกกับตัวเอง เราก็มีความรู้สึกว่า ถ้าเราได้พูดในช่วงวินาทีแค่นี้กับคนที่เราชอบมากๆ เราต้องรู้สึกยังไง เราก็เลยมีประสบการณ์ร่วม ผมเลยนึกประสบกาณณ์ร่วมออกมา คือมันเป็นลักษณะที่ว่า ‘ซิน’ เขาไม่ฟัง ‘พีช’ แล้ว เราทำผิดต่อเขา เราต้องทำทุกอย่าง เพื่อให้รวบรัดและเร็วที่สุด ให้เขาเข้าใจ และขอโทษเขา มันอาจจะเป็นอะไรที่เกิดขึ้นได้ในชีวิตเราบ่อยครั้ง มันก็เลยอินมาก ส่วนฉากที่เหนื่อยที่สุด ก็คือตามที่เคบอกเลยครับ คือ ฉากต่อยกัน ใช้เวลา 8 ชั่วโมงได้ ซัดกันจนแขนขาช้ำไปหมดเลย
เค : แล้วประเด็นก็คือ ใส่เสื้อสเวทเวอร์
กิต : คือฉากนั้น ทุกคนใส่แบบหน้าร้อน แต่ผมใส่ชุดหน้าหนาวอยู่คนเดียว แล้วในตัวเรามีเหงื่อแบบไม่ไหวแล้ว แต่โดยรวมคือประทับใจในหลายซีนเหมือนกัน ในหนังเริ่องนี้
ทั้ง 2 คน ได้รับคำแนะนำจากเหล่าผู้กำกับยังไงบ้าง
เค : ด้วยความที่พี่ๆ เขาเป็น 4 ผู้กำกับใหม่ไฟแรง ซึ่งก็มีหลากความคิดกัน และในบางครั้ง เขาก็มาขอไอเดียจากเราเพิ่มเติมด้วย เช่น เขาจะรับมอบหมายให้เป็นตัวละครนั้น บางครั้งเขาก็จะมาถามเหมือนกันนะ ประมาณว่า ‘ถ้าพี่เป็นตัวละครนี้ พี่คิดเห็นยังไง’ หรือ ‘บทนี้ พี่มองยังไง’ แล้วเขาจะฟังความคิดเรา ซึ่งถ้าเขาโอเค เขาก็จะให้เราเล่นแบบนั้น ก็จะมีการแลกเปลี่ยนความคิดกันตลอด
ทั้งคู่กำลังจะบอกว่า ในแต่ละฉาก แต่ละการถ่ายทำ ก็จะมีการแลกเปลี่ยนกันตลอด
เค : มีบ้างครับ แต่ก็อยู่ที่ผู้กำกับอยากให้ออกมาเป็นยังไง เพราะว่าเราก็ต้องเคารพการตัดสินใจของทางผู้กำกับฯ อยู่แล้ว เขาว่ายังไง เราว่าอย่างงั้น แต่ในบางครั้ง เขาก็มาคอยถามเหมือนกันอย่างที่บอก เพราะอาจจะเป็นลักษณะที่ว่า ‘คิดว่าแบบนี้ดีกว่า’ หรือว่า ‘มันฝืนไปมั้ย’ แล้วตอนที่เรากำลังรับผิดชอบในตัวละครนั้นๆ เราว่าถ้าเราเป็นตัวละครนั้นๆ เราอาจจะไม่พูดแบบนี้ เขาก็จะรับฟัง และให้เปลี่ยนทรรศนะประมาณว่า ตัวละครนั้นจะให้พูดยังไงดี จนแบบว่า ฉากนั้นออกมามันดีกับทั้งตัวนักแสดงและทางทีมงานครับ
แน่นอนว่าหนังเรื่องนี้ ว่าด้วยเรื่องของการอดนอน อยากให้ทั้งคู่ช่วยเล่าประสบกาณ์ในส่วนี้ของแต่ละคนหน่อยครับ
เค : ของผมจะเป็นช่วงที่ทำธีสิสจบครับ รวมระยะเวลานั่นคือ 2 วัน แต่ส่วนใหญ่จะไม่อดนอนแบบ 24 ชั่วโมงนะ จะเป็นแบบนอนน้อยมากกว่า นอนน้อยที่สุดก็คือ 2 ชั่วโมง แต่จะมีการพักผ่อนบ่าง ส่วนใหญ่จะเป็นแบบกลับมาจากการถ่ายทำซีรีส์ครับ แบบกลับไปพักนิดหน่อย 2-3 ชั่วโมง แล้วกลับมาถ่ายทำใหม่ แต่ถ้าแบบอยู่ยาวไม่หลับไม่นอนเลย ก็ตามที่บอกเลยครับ ส่วนอาการก็จะมีแค่ง่วงเท่านั้นละครับ แต่เราก็เป็นคนหลับง่ายด้วย แต่เฉพาะที่เตียงนอนนะครับ หัวถึงหมอนแล้วหลับเลย ถ้าเป็นเก้าอี้ อาจจะไม่ค่อยหลับ
กิต : ส่วนของผมจะเป็นแบบสายไม่นอนเลยดีกว่า ถ้าจะนอนแค่ชั่วโมงเดียว จะไม่นอนดีกว่า ซึ่งเคยมีแบบว่า ในช่วงทำธีสิส ก็จะเป็นเดียวกับน้องเค ซึ่งต้องใช้เวลาเยอะ ผมเคยอดนอนได้ประมาณ 60 ชั่วโมง แต่ถ้าล่าสุดเลย ก็คือเคยไปเล่นคอนเสิร์ตที่จังหวัดตาก ซึ่งออกาจากที่นั่นตอนตีสอง ขึ้นไปเชียงใหม่ แต่ช่วงระหว่างนั้นคือได้นอน จากตีสองถึงตีห้า พอถึงเชียงใหม่ปุ๊บ ลงจากรถมาก็ถ่ายเอ็มวี ซึ่งถ่ายตั้งแต่ 6 โมงเช้า ไปจนถึง 6 โมงเย็น นั่งรถกลับมาเล่นในงานเชียงใหญ่ เฟสติวัล เล่นถึง 3 ทุ่ม พอเล่นเสร็จ ก็นั่งรถกลับไปถ่ายเอ็มวีต่อจนถึงตี 4 กลับโรงแรม อาบน้ำ แล้วมีนัดกองอีกตอน 6 โมงเช้า ถ่ายถึงเที่ยงวัน เพื่อเอาแสงในตอนกลางวัน นั่งเครื่องบินกลับมา เล่นในงานแคท เอ็กซ์โป ตอน 6 โมงเย็น แล้วขึ้นเครื่องบินตอน 2 ทุ่ม ไปถ่ายเอ็มวีต่ออีกวันนึง อันนี้คือนานที่สุดในชีวิตผมแล้ว รวมเวลาได้ก็ประมาณ 4 วันได้
จาก 4 วันที่ผ่านมา กิตในตอนนั้น เป็นยังไงบ้างครับ
กิต : คือตอนที่ผมอ่านบทของหนังเรื่องนี้ เขาได้เขียนอาการออกมาว่า ในแต่ละช่วงเวลาจะมีอาการแบบนี้ ผมรู้สึกถึงความเข้าใจในอาการเลย เพราะว่าผ่านมาหมดแล้ว เลยเข้าใจในอาการว่า การไม่ได้นอนนั้นจะมีความรู้สึกยังไง คือถ้าคนเราไม่ได้นอนซักวันนึงนะ มันจะเริ่มได้ยินเสียงที่ดังขึ้นนะ อันนี้คือจากอาการที่ผมรู้สึกได้นะ มันไม่ได้รำคาญนะ แต่มันหนวกหู แล้วมันจะหงุดหงิดมากๆ เหมือนเราเพิ่งตื่นตอนเช้าน่ะ ได้ยินเสียงอะไรแล้วมันหงุดหงิด อารมณ์ประมาณนั้น แต่ว่าเป็นทั้งวัน แล้วถ้าผ่าน 3 วัน ถ้าใครมาแตะตัว มันจะสะเทือนทั้งตัวเลย ผมเป็นแบบนั้น คือตั้งแต่หลังจากงานแคท เอ็กซโป ผมไม่คุยกับใครเลย มันแบบไม่ไหวเลย
แล้วจากประสบการณ์การอดนอนส่วนตัวของแต่ละคน คิดว่ามันได้ให้กับทั้งคู่บ้าง
กิต : เอาจริงๆ ก็รู้คุณค่าของการนอนมากงาน คือทั้งผมและเคเป็นคนที่บ้างานมากๆ ชอบทำงานตลอดเวลา ก่อนหน้านี้ก็ไม่ได้คิดถึงการพักผ่อนมาก่อนเลย จนเริ่มมาถ่ายหนังเรื่องนี้ ก็มีช่วงที่ overload มากๆ ครับ ซึ่งก็ทำให้เรารู้สึกว่า เราต้องแบ่งเวลาพักผ่อนให้กับตัวเองแล้วเหมือนกัน เพราะอายุเราก็เริ่มเพิ่งขึ้น ผมกลัวว่า ร่างกายมันจะแย่ลง
เค : ส่วนผม ผมก็เริ่มเห็นด้วยเหมือนกับพี่กิตเกี่ยวกับในเรื่องการนอนเช่นกัน ซึ่งเราก็รู้เหมือนกันนะว่าการนอนมันก็สำคัญ แต่ก็ทำไม่ได้ซักที (หัวเราะเบาๆ) คือก็เริ่มรู้สึกว่าจะต้องมาจัดการในเรื่องเวลาให้ดีขึ้นกับเรื่องพักผ่อน
จากสถิติการอดนอนนานที่สุดในโลกอยู่ที่ 11 วัน ถ้าสมมุติว่าตัวเองอยู่ในสภาวะแบบนั้น คิดว่าจะเป็นยังไง
เค : ถ้าผมอยู่ในสภาวะแบบนั้นคงรู้สึกว่าหลอนนะ เพราะขนาดอดนอนไป 1-2 วัน สมองมันตื้อไปหมด เริ่มคิด content ไม่ออกแล้ว คือถ้าเป็น 11 วัน คงจินตนาการไม่ออกจริงๆ แต่คิดว่าน่าจะช้าไปทุกอย่าง คงคุยกับใครซักคน คุยไม่รู้เรื่องแน่นอน เหมือนคอมพิวเตอร์ที่เปิดทำงานตลอดเวลา
กิต : สมองไม่มีออกซิเจน ไม่ได้รับการพักผ่อนที่เพีรยงพอ มันน่าจะประมวลผลไม่ทัน แรมต่ำ
สมมุติว่าถ้าตัดเรื่องนอนออกไปจากชีวิตได้ คิดว่าจะเอาเวลาตรงนี้ไปทำอะไร
กิต : ดีมากเลยครับ (ตอบทันที) ผมเลือกทำงานเลยครับ อาจจะเจียดเวลาไปดูหนังบ้าง เพราะปีทื่ผ่านมา ผมแทบไม่ได้ดูหนังเลย
เค : อย่างวัยพวกเราเป็นวัยที่ทำงานอยู่แล้ว แล้วด้วยทั้งผมและพี่เค เป็นคนที่ทำงานที่ตัวเองชอบอยู่แล้ว เราก็เลยทุ่มเทไปกับมัน ผมมองว่า ผมก็เลือกทำงานเหมือนกัน
หลังจากที่ถ่ายหนังเรื่องนี้จบ คิดว่าทั้งคู่มีมุมมองต่อในเรื่องการนอนที่เปลี่ยนไปยังไงบ้างครับ
เค : ผมรู้สึกว่าทำให้เห็นถึงความสำคัญในการพักผ่อน ไม่ว่าจะทำงานมาหนักหรือไม่หนักก็ตาม คือเงิน มันซื้อทุกอย่างได้ ยกเว้นเรื่องเวลา ซึ่งถ้าเราไม่พักผ่อน เราไม่สามารถมาซื้อเวลาในส่วนตรงนี้ได้ คือการที่จะนอน มันคือการนอนจริงๆ มันเหมือนเราเห็นคุณค่าแหละ ถึงแม้ว่าเราจะทำงานหนักขนาดไหน เราก็ต้องทำอย่างที่บอก ไม่งั้นร่างกายไม่ไหวแน่นอน
กิต : การนอนที่ดี ควรจะนอนที่บ้านบนเตียงของเราเอง การถ่ายหนังเรื่องนี้ มันทำให้ผมรู้ตัวเองเลยว่า การนอนที่ดีคือการนอนที่บ้านตัวเอง เพราะว่าตลอดเวลาที่ถ่ายหนังเรื่องนี้ ผมแทบที่จะไม่ได้นอนที่บ้านเลย นอนแต่บ้านคนอื่น คือหนังเรื่องนี้มันเหมือนการทดสอบของเราด้วยในเรื่องการนอน เพราะว่า อย่างเคก็ต้องมาถ่ายหนังตอนกลางคืน แล้วจากนั้นก็กลับไปตัดคลิปคอนเทนต์ที่ถ่ายมาต่อ ส่วนผมก็มีคอนเสิร์ตในแต่ละที่ แล้วก็มาถ่ายหนังต่อ ตัวละครในเรื่อง มันก็เห็นคุณค่าในการนอน เลยทำให้ตัวละครในชีวิตจริง ก็เห็นคุณค่าในการนอนไปด้วยเลย เลยทำให้ผมมีการวางแผนการนอนที่ดีขึ้น
เรื่อง : สรวัจน์ ศิลปโรจนพาณิช
ภาพ : ณัฐชนน หล้าแหล่ง, นพดล ลังกลาง, ณัฐพล ด่านรักษา และ Netflix Thailand