ผู้ประกอบการท่องเที่ยวอันดามัน อธิบายโครงการ “ภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์” จำนวนนักท่องเที่ยวอาจไม่มากนักในช่วงแรก แต่คาดหวังทดลองระบบต่างๆ ที่จะส่งผลดีในระยะยาว หากทำสำเร็จอาจทำได้ในจังหวัดอันดามันทั้งหมด
รายงานพิเศษ
1 กรกฎาคม 2564 จะเป็นวันแรกที่เริ่มโครงการ “ภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์” (Phuket Sandbox) ให้จังหวัดภูเก็ต เป็นพื้นที่ต้นแบบในการเปิดรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่ฉีดวัคซีนแล้ว เข้ามาโดยไม่ต้องกักตัว
แต่ก็ยังมีคำถามว่า ด้วยข้อจำกัดที่มากมายเช่น ต้องอาศัยอยู่เฉพาะในจังหวัดภูเก็ตเป็นเวลา 14 วัน ก่อนจะไปพื้นที่อื่น ซึ่งก็จำกัดพื้นที่เช่นกันได้ จะทำให้นักท่องเที่ยวไม่เดินทางมาหรือไม่?
มีคำอธิบายจากผู้ประกอบการท่องเที่ยวอันดามันว่า จำนวนนักท่องเที่ยวที่อาจไม่มากนักในช่วงแรกของการเปิด “ภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์” ไม่ใช่ประเด็นที่พวกเขาเป็นห่วง แต่เป็นสิ่งที่คาดการณ์ไว้อยู่แล้ว
เพราะการริเริ่มทำโครงการนี้ ถือเป็นการทดลองระบบต่างๆ ที่จะส่งผลดีในระยะยาวต่อธุรกิจท่องเที่ยว
นายอมฤต ศิริพรจุฑากุล ที่ปรึกษาสภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว จ.กระบี่ ประเมินว่า ช่วงแรกของการเปิดโครงการ “ภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์” จะมีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเข้ามาไม่มากนัก และสามารถระบุได้เลยว่า กลุ่มที่เข้ามา จะเป็นกลุ่มลูกค้าเก่าที่เคยมาพักผ่อนนานๆ ในพื้นที่นี้อยู่แล้ว บางคนมีครอบครัว หรือมีบ้านพักที่ซื้อไว้
เป็นกลุ่มที่ไม่ได้ต้องการมาเพื่อตระเวณท่องเที่ยวไปหลายจุด แต่ต้องการเข้ามาพักผ่อนอย่างสงบมากกว่า ทำให้ข้อจำกัดเรื่องการต้องอยู่ในภูเก็ตเป็นเวลาอย่างน้อย 14 วัน ไม่ใช่ปัญหาของนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ แต่ผลดีของการเริ่มโครงการนี้ได้ คือ ทั้งหน่วยงานรัฐและผู้ประกอบการ จะได้ทดลองระบบต่างๆ ในการรับนักท่องเที่ยวในสถานการณ์ที่โควิด-19 ยังไม่คลี่คลาย
สำหรับกติกาของโครงการ “ภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์” คือ นักท่องเที่ยวที่เข้ามาจะต้องผ่านการฉีดวัคซีนมาแล้ว 1 หรือ 2 เข็ม ตามยี่ห้อของวัคซีน (ซิโนแวค (Sinovac) 2 เข็ม หรือ แอสตร้าเซนเนก้า (Astrazeneca) 1 เข็ม)
เมื่อเข้ามาต้องตรวจหาเชื้อ 1 รอบ และต้องอาศัยอยู่ในเขตจังหวัดภูเก็ตเท่านั้น เป็นเวลาอย่างน้อย 14 วัน โดยไม่สามารถออกไปเที่ยวตามเกาะที่อยู่ในเขตจังหวัดอื่นๆ ได้
เมื่ออยู่ครบ 14 วันแล้ว จะต้องตรวจหาเชื่อโควิดเป็นรอบที่สอง จึงจะสามารถเดินทางออกไปได้ โดยจำกัดว่าถ้าไปในพื้นที่ จ.กระบี่ จะไปได้เฉพาะ เกาะพีพี เกาะไหง และหาดไร่เลย์ ส่วนในพื้นที่ จ.พังงา จะไปได้แค่เกาะยาวเท่านั้น
ส่วนเหตุผลที่เริ่มต้นทดลองเฉพาะใน จ.ภูเก็ต ก่อน เพราะภูเก็ตมีภูมิประเทศเป็นเกาะ การเข้า-ออกจังหวัดโดยทางบกทำได้ทางเดียวเท่านั้น คือ ต้องผ่านสะพานสารสิน ส่วนจังหวัดพังงาและกระบี่ มีเส้นทางเชื่อมต่อไปยังจังหวัดอื่นมากเกินไป
นายอมฤต ระบุว่า นี่เป็นข้อตกลงที่เกิดจากการพูดคุยกันของผู้ประกอบการทั้งภูเก็ต พังงา และกระบี่ โดยโครงการนี้เกิดขึ้นจากการที่กลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวฝั่งทะเลอันดามัน หารือร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต และร่วมกันออกแบบแนวทางการรับนักท่องเที่ยวด้วยแนวคิด “แซนด์บ็อกซ์” โดยให้ผู้ว่าฯ เป็นแม่งาน และนำแนวคิดนี้ไปผลักดันกับทางรัฐบาล
จนกระทั่งรัฐบาลยอมรับ และเริ่มดำเนินการ ด้วยการให้ภูเก็ตเป็นพื้นที่นำร่อง และฉีดวัคซีนให้ประชาชนในพื้นที่ จ.ภูเก็ตไปแล้วมากกว่า 70% ซึ่งจากการหารือกันบ่อยๆ ทำให้มีความเชื่อมั่นว่า ระบบที่ออกแบบขึ้นมาเป็นระบบที่ดี
และถ้าทำสำเร็จที่ภูเก็ต ก็จะสามารถขยายผลไปเปิดการท่องเที่ยวใน จ.พังงา และ จ.กระบี่ได้ด้วย ในช่วงไฮซีซั่นที่จะมาถึงนี้ กลายเป็น “อันดามัน แซนด์บ็อกซ์”
“ผู้ประกอบการทั้ง 3 จังหวัด (ภูเก็ต พังงา กระบี่) นั่งคุยกันบ่อยผ่าน Zoom เพราะโครงการนี้เป็นการดึงหลายภาคส่วนเข้ามาร่วมมือกันออกแบบให้มันเกิดขึ้นได้ ซึ่งต้องยอมรับท่านผู้ว่าฯ ภูเก็ต ที่ทำหน้าที่เป็นแม่ทัพ มีวิสัยทัศน์ที่ดีมาก เน้นฟังมากกว่าพูด และผลักดันจนสำเร็จ ทำให้เราต่างก็เชื่อมั่นในระบบที่ออกแบบมา และพร้อมจะนำไปสู่การเริ่มทดลองระบบในช่วงแรก เช่น ระบบไอที (IT) การติดตามตัวนักท่องเที่ยวที่มีประสิทธิภาพมาก
ถ้าเขาพยายามออกนอกพื้นที่ที่กำหนดไว้ เจ้าหน้าที่จะรู้ได้ทันทีเลย ดังนั้นถ้าเราทำที่ภูเก็ตสำเร็จในเดือนกรกฎาคม ก็อาจลดระยะเวลาอยู่ที่ภูเก็ตเหลือแค่ 7 วันได้ในเดือนสิงหาคม และเมื่อไปถึงช่วงเดือนตุลาคม ซึ่งเป็นฤดูกาลท่องเที่ยวจริงๆ เราก็อาจใช้ระบบนี้ทำได้ในจังหวัดอันดามันทั้งหมด” นายอมฤต กล่าว
ส่วนข้อสงสัยว่า กลุ่มธุรกิจกลางคืนใน จ.ภูเก็ต จะสามารถเปิดให้บริการได้ในโครงการ “ภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์” หรือไม่ นายอมฤต เปิดเผยว่า จากที่คุยกัน จะยังไม่เปิดให้บริการกิจการผับ-บาร์ แต่ให้เปิดร้านอาหารได้ จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้านอาหารได้ เพราะผู้ประกอบการเองก็ไม่ต้องการให้มีความเสี่ยงมากเกินไป ที่จะทำให้เกิดการติดเชื้อ ซึ่งอาจทำให้เกิดผลกระทบรุนแรงกับโครงการที่ออกแบบมา
และด้วยหลักคิดเดียวกันนี้ ก็อธิบายได้ด้วยว่า จริงๆ แล้วในช่วงแรกของ “ภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์” จึงไม่ได้ต้องการจำนวนนักท่องเที่ยวมากเกินไป เพราะเป็นช่วงที่ต้องการทดลองระบบ มากกว่าที่จะไปวัดผลเรื่องจำนวนนักท่องเที่ยว