พบชาวเน็ตแห่แชร์ข้อเขียนจากเฟซบุ๊กนักเขียนอิสระ กรณีบริษัทใหญ่ทำน้ำจิ้มเลียนแบบร้านบาร์บีคิวพลาซ่า ชี้ ถ้าสูตรน้ำจิ้มหลุดไปก็คือจบ เพราะอาหารไม่มีจุดขายอะไรเลย ถามระหว่างให้ลูกค้ามากินที่ร้านกับซื้อน้ำจิ้มอะไรดีกับธุรกิจตัวเองมากกว่ากัน ชี้รายใหญ่อ้างชื่อบาร์บิก้อนเพราะรู้ว่าแบรนด์แข็งแกร่ง เรื่องทางธุรกิจการเลียนแบบทำแบบนี้มานานแล้ว แต่โลกธุรกิจไม่ได้มีแค่ผลประโยชน์ แต่มีมโนธรรมที่ให้ผู้อื่นต่อยอดจนดีที่สุด
วันนี้ (26 มิ.ย.) ในโลกโซเชียลฯ พากันแชร์ข้อความจากเฟซบุ๊ก Pathompong Chaikhuankhan ของนายปฐมพงษ์ ชัยเขื่อนขันธ์ นักเขียนอิสระ กล่าวแสดงความคิดเห็นกรณีที่เพจรีวิวสินค้าในร้านสะดวกซื้อชื่อดังแห่งหนึ่ง รีวิวน้ำจิ้มบาร์บีคิวยี่ห้อผลิตภัณฑ์อาหารชื่อดัง พร้อมพาดพิงไปว่าเหมือนน้ำจิ้มก้อน (มาจากคำว่าบาร์บิก้อน มาสตอตประจำร้านบาร์บีคิวพลาซ่า) ทำให้ น.ส.บุณย์ญานุช บุญบำรุงทรัพย์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ฟู้ดแพชชั่น จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารร้านบาร์บีคิวพลาซ่า แคปภาพหน้าจอ พร้อมออกมาชี้่ว่า การที่กลุ่มทุนใหญ่ชวนเราทำแล้วเราไม่ทำ นี่คือผลตอบแทนของการไม่ศิโรราบพี่ใหญ่ ย้ำว่าอะไรที่ไม่ใช่ก็คือไม่ใช่ อะไรที่ไม่จริงเรียกว่าปลอม กลายเป็นที่วิจารณ์ในโซเชียลฯ
อ่านประกอบ : รีวิวยังไงให้ฉิบหาย ผู้บริหาร “บาร์บีคิวพลาซ่า” จวกยับเพจอวยน้ำจิ้มบาร์บีคิวในร้านสะดวกซื้อดัง “นี่มันพี่ก้อนชัดๆ”
สาระสำคัญก็คือ นายปฐมพงษ์ กล่าวว่า ร้านบาร์บีคิวพลาซาถ้าสูตรน้ำจิ้มหลุดไปก็คือจบ เพราะอาหารไม่มีจุดขายอะไร เป็นสินค้าทดแทนได้ เช่น เนื้อวัว เนื้อหมู ผัก ที่คนมากินร้านนี้เพราะชอบน้ำจิ้มมากกว่า หากทำน้ำจิ้มขายเองจะกลายเป็นการดิสรัปธุรกิจร้านอาหารตัวเองซึ่งกำไรดีกว่า เพราะหากขายน้ำจิ้มจะกินกำไรจากน้ำจิ้มต่อขวด แต่ร้านอาหารจะกินกำไรจากวัตถุดิบและเครื่องดื่มมากมาย เป็นเหตุผลหนึ่งที่บาร์บีคิวพลาซ่าไม่ทำน้ำจิ้มขายมาโดยตลอด
ส่วนการทำน้ำจิ้มได้เหมือนหรือไม่ เชื่อว่า บาร์บีคิวพลาซ่าสร้างแบรนด์ตัวเองจนแข็งแกร่งแล้ว กินแล้วเหมือนแค่ไหนก็ไม่เท่า เปรียบเหมือนกางเกงยีนส์ลีวายส์ครองความเป็นออริจินัล ซึ่งน้ำจิ้มบาร์บีคิวพลาซามีเอกลักษณ์มาก ไม่เหมือนน้ำจิ้มสุกี้ที่เอกลักษณ์ไม่ชัดเท่า
“ผมตลกนะ ที่มีคนบอกว่าก้อนไม่ทำน้ำจิ้มขายเอง เป็นช่องว่างให้คนอื่นมาตีตลาด เค้าไม่ได้โง่จนคิดเรื่องนี้ไม่ได้หรอก แต่ระหว่างให้ลูกค้ามากินที่ร้านกับซื้อหมูซื้อผักมาเองจากตลาด แล้วสาดน้ำจิ้มก้อนใส่ อันไหนดีกับธุรกิจตัวเองกว่ากัน”
นายปฐมพงษ์ ตั้งข้อสังเกตว่า บริษัทผลิตภัณฑ์อาหารรายใหญ่แห่งหนึ่ง ทำน้ำจิ้มเลียนแบบแล้วอ้างชื่อบาร์บิก้อน เหมือนไม่ตั้งใจแต่ได้ผล การใช้ชื่อคนอื่นเพื่อการโฆษณาเพราะรู้ว่าแบรนด์นั้นแข็งแกร่ง ในทางหนึ่งยอมรับในตัวแล้วว่า การอิงแบรนด์ที่แข็งแกร่งกว่า มีเอกลักษณ์มากกว่า จะขายได้มากกว่า เรื่องทางธุรกิจการเลียนแบบ (Copycat) ทำแบบนี้มานานแล้ว แรกๆ สั่งของเจ้าอื่นๆ มาขายในร้าน แล้วก็ทำของเลียนแบบวางเนียนๆ บนเชลป์ จากนั้นก็บีบจนลูกค้ารายอื่นค่อยๆ หายไปจนเหลือสินค้าตัวเอง จะว่าเป็นการทำธุรกิจก็ใช่ แต่บางทีมันก็ดูหน้าด้านแปลกๆ
“โลกธุรกิจมันไม่ได้มีแค่ผลประโยชน์นะ มันมีมโนธรรมของมันอยู่ระดับหนึ่ง ถ้าใครไม่รู้ นิลส์ โบห์ลิน วิศวกรของวอลโว่ คิดค้นเข็มขัดนิรภัย 3 จุดเป็นคนแรกของโลก แต่เขาไม่ยอมจดสิทธิบัตรเป็นของตนเองหรือแบรนด์ เนื่องจากเขาต้องการให้แบรนด์อื่นๆ สามารถเอาไปใช้ได้ด้วย ผลก็คือ รถทุกยี่ห้อสามารถเอาไปพัฒนาและใช้ได้ จนเกิดความปลอดภัยขึ้นทั่วโลก เพราะนวัตกรรมนี้มันดีเกินกว่าจะถูกจำกัดด้วยคำว่าผลประโยชน์”
นอกจากนี้ เขากล่าวเสริมว่า เคยได้ยินว่ากำไรของร้านเหล้าคือน้ำแข็งกับน้ำเปล่า เพราะราคาน้ำแข็งในร้านเหล้าขายแพงกว่าข้างนอก กว่า 100% รวมถึงน้ำอัดลมและน้ำเปล่า ดังนั้น สำหรับโมเดลธุรกิจร้านเหล้า จะได้กำไรก็ต่อเมื่อคนมากินที่ร้าน เลยต้องสร้างสถานที่ บรรยากาศ ให้คนมากินที่ร้านให้ได้ แต่ในมุมคนขายน้ำแข็ง ขายเหล้า หรือน้ำอัดลม เป็นสินค้าเน้นปริมาณ (Volume) คือ กำไรได้จากปริมาณหรือยอดขาย ดังนั้น การมองโมเดลธุรกิจของแต่ละแบรนด์หรือแต่ละสินค้าจะใช้คอนเซปต์เดียวกันไม่ได้
ข้อความดังกล่าวมีสมาชิกเฟซบุ๊กแชร์ไปมากกว่า 6,900 ครั้ง และแสดงความคิดเห็นที่หลากหลาย บางคนมองว่าเป็นเรื่องที่ผู้ประกอบการรายใหญ่ตีกัน บางคนมองว่าทุกอาชีพมีจรรยาบรรณ แต่ก็มีคนเห็นแย้งว่า จริยธรรมในการทำธุรกิจอาจไม่สามารถนำมาใช้ได้ เพราะการทำธุรกิจเป้าหมายหลักคือการสร้างกำไรโดยไม่สนว่าจะมาด้วยวิธีอะไรก็ตาม
หนึ่งในความเห็นที่น่าสนใจก็คือ บริษัทใหญ่นั้นไม่ได้ขโมยสูตร แต่แกะสูตรน้ำจิ้มที่ได้ชื่อว่าอร่อยที่สุด แล้วผลิตขายรสชาติที่เกิดจากวัตถุดิบธรรมชาติ และสารสังเคราห์บนโลกที่ใครก็เข้าถึงได้ เป็นการทำให้คนที่มีอำนาจซื้อไม่สูงเพิ่มโอกาสเข้าถึงรสชาติร้านปิ้งย่างชื่อดังได้บ่อยขึ้น บาร์บีคิวพลาซ่ามีโอกาสก่อนแต่ไม่เล่นตลาดนี้เอง เพราะเหมือนไปดิสรัปตัวเอง ซึ่งโลกทุนนิยมก็เป็นแบบนี้ กลยุทธต่างๆ ในธุรกิจ ฟาดฟันกันตั้งแต่แผงค้าในตลาด ผู้บริโภคมีหน้าที่เก็บเกี่ยวอรรถประโยชน์สูงสุดจากการแข่งขันนี้ ไม่ได้มีหน้าที่ปกป้องให้บริษัทไหนในตลาดแข่งขันสมบูรณ์ ที่น่าสนใจคือ ที่ผ่านมาบาร์บีคิวพลาซ่า มีรายยิบย่อยพยายามแกะสูตรน้ำจิ้มทำขายเลียนแบบมาตลอด แต่ไม่ใกล้เคียงและศักยภาพไม่ถึง จึงไม่หวั่นไหวต่อการคุกคามเช่นครั้งนี้ ถึงขนาดผู้บริหารต้องโพสต์เล่นกระแสจริยธรรมเองเลย บริษัทใหญ่นั้นไม่ได้ทำผิดทุกเรื่อง และจริยธรรมไม่ใช่ข้ออ้างของผู้เล่นในตลาดที่เป็นบริษัทที่มีศักยภาพแข่งขันกันด้วยเครื่องมือกลไกตลาด