xs
xsm
sm
md
lg

เปลี่ยนเพื่อดีขึ้น หรือปล่อยให้กังขา เหตุเกิดที่ “ทุ่งดอนเมือง”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รายงานพิเศษ


เหตุการณ์คุกรุ่นย่านดอนเมือง โยงไปที่การรื้อ 3 โปรเจกต์ยักษ์ของกองทัพอากาศ (ทอ.) ที่ตั้งอยู่บนหลักการจัดหาพร้อมการพัฒนา (P&D หรือ Purchase and Development) ของอดีตผู้บัญชาการทหารอากาศ (ผบ.ทอ.) คนก่อน ทำให้เกิดข้อหาไม่โปร่งใส และพาลลามไปถึงวลี “รุ่นพี่เขียนด้วยมือ ฤารุ่นน้อง ลบด้วยเท้า” การกล่าวหาเรื่องผลประโยชน์และไม่นึกถึงบุญคุณรุ่นพี่

คนส่วนใหญ่เมื่อได้เห็นข้อมูลเพียงด้านเดียวก็มักจะเชื่อไปแล้ว ดังคำกล่าวทางการเมืองที่ว่า “ความเชื่อคือความจริง” ไม่แปลกที่ต่อยก่อนมักได้เปรียบ

แต่เมื่อเรียบเรียงดูข้อกังขาทั้งหมดจะรู้ว่าผูกปมไปที่หลักการ P&D ที่มัดแน่นกับระบบเชื่อมโยงข้อมูลทางยุทธวิธีแบบ Link-TH โดยผู้ที่รื้อ 3 โครงการยักษ์ตามข้อมูลที่ถูกกล่าวหา ไม่มีการตอบโต้ หรือให้ข้อมูลเลยว่า ทำไมต้องรื้อ และรื้อแล้วจะได้อะไร?

เมื่อมาลำดับเหตุการณ์ก็จะรู้ว่า ก่อนมีข่าวการรื้อ 3 โปรเจกต์ยักษ์นั้น มีข่าวแพร่สะพัดถึงสรุปผลการประชุมเรื่อง "การมีอยู่อย่างเป็นทางการของระบบเชื่อมโยงข้อมูลทางยุทธวิธีแบบ Link-TH" เมื่อต้นเดือนมีนาคม 2564 อันเป็นผลมาจากการประชุมเมื่อกลางเดือนกุมภาพันธ์ 2564 โดยได้กล่าวอ้างถึงระบบเชื่อมโยงข้อมูลทางยุทธวิธีตามหลักฐานเอกสารสัญญาที่เกี่ยวข้อง เช่น ระบบเชื่อมโยงข้อมูลทางยุทธวิธีต้นแบบของกองทัพอากาศ RTAF Link Prototype หรือระบบเชื่อมโยงข้อมูลทางยุทธวิธีของกองทัพอากาศแบบ LINK-T ที่พัฒนามาจากระบบ RTAF Link Prototype

ในสรุปผลการประชุมในครั้งนี้ ยังแจ้งผลการตรวจสอบจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในกองทัพอากาศ เกี่ยวกับระบบเชื่อมโยงข้อมูลทางยุทธวิธีแบบ Link-TH โดยอ้างว่าตามที่ระบุไว้ในเอกสารแนวความคิดในการพัฒนาระบบเชื่อมโยงข้อมูลทางยุทธวิธีของกองทัพอากาศ ฉบับอนุมัติ ผบ.ทอ. เมื่อ 24 กันยายน 2563 โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อสร้างความเข้าใจที่ตรงกัน เกี่ยวกับระบบเชื่อมโยงทางยุทธวิธี และกำหนดแนวทางการใช้งานระบบเชื่อมโยงข้อมูลทางยุทธวิธีของ ทอ. ให้สอดคล้องกับการพัฒนา ซึ่งในเอกสารได้กล่าวถึงระบบที่มีใช้อยู่ในปัจจุบัน และระบบที่อยู่ในแผนในอนาคต อาทิ ระบบ Link-11 ที่ใช้พร้อมกับกับการพัฒนาระบบป้องกันภัยทางอากาศอัตโนมัติ หรือระบบ Link-E ที่เสริมประสิทธิภาพการตรวจจับ เป็นต้น

สาระสำคัญของเอกสารนี้อยู่ที่ข้อมูลในย่อหน้าสุดท้าย ที่บอกว่าแนวความคิดในการพัฒนาระบบเชื่อมโยงข้อมูลทางยุทธวิธีของ ทอ. ตามอนุมัติ ผบ.ทอ. เมื่อ 24 กันยายน 2563 ที่กล่าวถึงระบบฯ Link-TH โดยมีเจตนาให้ ทอ. สามารถครอบครองกรรมสิทธิ์การใช้งานและการพัฒนาบนพื้นฐานของการพัฒนาด้วยตัวเองอย่างยั่งยืนนั้น โดยวางแผนพัฒนาให้ Link-TH เป็นระบบสื่อสารที่เชื่อมโยงโดย SECOS Waveform ของบริษัท Rhode & Schwarz ซึ่งเป็นระบบที่ ทอ. มีใช้งานอยู่ในปัจจุบัน

ก่อนจะสรุปว่า ในปัจจุบัน Link-TH จึงยังไม่มีอยู่และไม่มีการใช้งานกับอากาศยานแบบใดของ ทอ. นั่นแสดงว่าการกล่าวอ้างในทีโออาร์ (TOR) ต่างๆ ทางยุทธภัณฑ์ที่กองทัพอากาศมีขึ้น โดยการกล่าวอ้างถึง Link-TH จนกลายเป็นการจำเพาะเจาะจงเลือกบริษัทใดบริษัทหนึ่งเพียงรายเดียวจึงไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้อง


นั่นเป็นเหตุผลสำคัญในการให้รื้อ เปลี่ยนแปลงวัตถุประสงค์-สาระสำคัญ คือการยกเลิกข้อความต้องเชื่อมโยงข้อมูลทางยุทธวิธีกับกองทัพอากาศเพื่อพัฒนาการเชื่อมต่อข้อมูลของกองทัพอากาศ


หรือที่รับรู้กันว่าคือ LINK-TH ตามแนวทางจัดหาพร้อมการพัฒนา P&D ที่ถูกวางไว้ และ LINK-TH เป็นหนึ่งในข้อกำหนดอยู่ใน P&D ที่สัญญาซื้อขายยุทโธปกรณ์ระยะหลังรวมทั้งการจัดหาปี 2564 และปี 2565 งบเกือบหนึ่งหมื่นล้านบาท ใช้ระบบผูกเชื่อมโยงไว้กับการพัฒนา LINK-TH เป็นสาระสำคัญ


เมื่อ พล.อ.อ.แอร์บูล สุทธิวรรณ ผบ.ทอ. สั่งตรวจสอบว่า ที่ผ่านมาส่วนไหนของกองทัพอากาศที่มีการใช้งาน LINK-TH จึงพบความจริงที่ว่า ในปัจจุบัน LINK-TH ยังไม่มีการใช้งานกับอากาศยานแบบใดของกองทัพอากาศเลย และยังเป็นเพียงแค่แนวคิดยังไม่มีอยู่จริงเลยด้วยซ้ำ นั่นคือเหตุผลหลัก

ยิ่งการที่ระบบดังกล่าว มีบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง อ้างตนเองเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ และเคยใช้งานมาก่อนในกองทัพอากาศ ทำให้หากไม่ตัดวัตถุประสงค์–สาระสำคัญดังกล่าว จะเป็นการปิดโอกาสผู้เสนอรายอื่นไม่สามารถเสนอราคาได้ ทำให้กองทัพอากาศเสียโอกาสในการได้ยุทธโรปกรณ์ที่ดีและมีคุณภาพได้

นอกจากนั้น ยังได้สั่งแก้ไขเพิ่มเติม P&D โดยให้กองทัพอากาศเป็นคู่สัญญาแทนบริษัทเอกชน และเข้าร่วมพัฒนารับการถ่ายทอดเทคโนโลยีโดยตรงจากบริษัทผู้ผลิต ซึ่งแต่เดิมกองทัพอากาศไม่ได้เข้าร่วมพัฒนา แต่ยอมให้บริษัทเอกชนแห่งนี้พัฒนาแทน ทำให้กองทัพอากาศได้รับเพียงการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากบริษัทเอกชนนี้ และได้รับสิทธิ์การใช้งานเท่านั้น ไม่ได้รับลิขสิทธิ์ทางปัญญาแต่อย่างใด

หลังการรับทราบข้อมูลนำมาสู่การรื้อ 3 โปรเจกต์ยักษ์นั้น ส่งผลให้ได้รับก้อนหินจำนวนมาก ทั้งข้อครหาต่างๆ แต่หากมองเรื่องความโปร่งใสก็ต้องแบข้อมูลมาดูกันว่า ทีโออาร์ของทั้ง 3 โปรเจกต์นี้และอีกหลายๆ โปรเจกต์ในอนาคต

หากยังผูกติดกับระบบใดระบบหนึ่ง หรือบริษัทใดบริษัทหนึ่งนั้น จะแก้ความสงสัยกังขาของทุกคนได้อย่างไรว่าโปร่งใส โดยอาศัยหลักการแค่ว่า ส่งเสริมบริษัทของคนไทยกระนั้นหรือ?

ที่สำคัญ การถูกตราหน้าว่าไม่มีความกตัญญูนั้น หากต้องทดแทนบุญคุณส่วนตัว ด้วยผลประโยชน์ของชาตินั้น ใช่สิ่งที่ถูกต้องหรือไม่?

กาลเวลาจะให้คำตอบในเรื่องนี้

กำลังโหลดความคิดเห็น