มีคำถามที่ย้อนแย้งเกิดขึ้นว่า เหตุใดประเทศที่มีความมั่นคงด้านสาธารณสุข และมีฐานะทางเศรษฐกิจร่ำรวย จึงมีจำนวนผู้เสียชีวิตและติดเชื้อโควิดในสัดส่วนที่สูงกว่าประเทศที่ยากจนและมีความเปราะบางทางด้านสาธารณสุขเสียอีก
ส่วนหนึ่งจากถ้อยความของ ศาสตราจารย์ชีลา ยาซานอฟฟ์ นักวิชาการจาก Harvard University's John F. Kennedy School of Government ที่ได้นำเสนอการถอดบทเรียนเพื่อรับมือสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ของประเทศต่างๆ ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ในเวทีเสวนาคู่ขนานของการประชุมทางวิชาการระดับชาติว่าด้วยงานยุติธรรม ครั้งที่ 18 (The 18th National Symposium) ที่จัดขึ้นเมื่อช่วงกลางเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา
งานนี้มีผู้เชี่ยวชาญและผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมเสวนา ซึ่งแต่ละท่านได้นำเสนอข้อมูลจากการติดตามสถานการณ์ การกำหนดนโยบายจากประเทศต่างๆ เพื่อรับมือกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ล้วนเป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้การดำเนินงานให้บรรลุตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ SDGs ไม่สามารถทำได้ง่ายนัก นอกจากนี้ ยังกล่าวถึงแนวโน้มอาชญากรรมในภาพรวมระดับโลก และแนวโน้มอาชญากรรมระหว่างประเทศ พร้อมเสนอแนวทางการรับมือกับปัญหาด้วย
ศาสตราจารย์ ชีลา นักวิชาการจาก Harvard University's John F. Kennedy School of Government ได้นำเสนอผลการศึกษาเชิงนโยบายเปรียบเทียบที่เธอทำร่วมกับสถาบันวิจัยหลายประเทศ โดยชี้ให้เห็นถึงความแตกต่างการกำหนดนโยบายในแต่ละประเทศเพื่อรับมือและจัดการกับโรคโควิด-19 สาเหตุที่ศึกษาเชิงเปรียบเทียบ เพราะเธอมองว่า วิกฤตการระบาดโควิด-19 ทำทุกประเทศได้รับผลกระทบ และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรม จำเป็นต้องพิจารณาเรื่องพรมแดนที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการควบคุมการแพร่ระบาด
ข้อสังเกตสำคัญ คือ สหรัฐอเมริกาเป็นเบอร์หนึ่งใน Global Health Security Index Map แต่เพราะเหตุใดจึงควบคุมการระบาดได้แย่มาก หรืออย่างอินเดียที่มีการระบาดมาก แต่เมื่อเทียบกับประเทศแถบยุโรป หรือ ไทย ก็ถือว่าการควบคุมโรคระบาดของอินเดียดีกว่า ดังนั้น สิ่งที่ต้องพิจารณาเป็นอันดับแรก คือ “เราจะใช้อะไรในการวัดความฉุกเฉิน”
ผลการศึกษายังชี้ให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับประชาชนในแต่ละประเทศที่แตกต่างกัน เช่น ประเทศญี่ปุ่น ส่วนใหญ่จะมีเรื่องการตีตรา ทำให้คนไม่กล้ามาออกบอกว่าเป็นโรคโควิด-19 ขณะที่ในสิงคโปร์ ประชาชนส่วนใหญ่เชื่อมั่นในรัฐบาลเพราะรัฐดูแลประชาชนมาเป็นอย่างดีมายาวนานแล้ว เป็นต้น
ขณะที่เมื่อพิจารณาที่ระบบสาธารณสุข พบว่า ประเทศที่มีปัญหาอยู่ก่อนแล้ว โควิด-19 จะยิ่งซ้ำเติมปัญหาในระบบที่เป็นจุดอ่อนมากขึ้น เช่น ในอเมริกา การระบาดระลอกแรกได้โจมตีผู้สูงอายุที่มีจำนวนมาก ทำให้เห็นชัดว่า สังคมในอเมริกาละเลยการดูแลผู้สูงอายุ ดังนั้น กลุ่มที่มีความเปราะบางก็จะได้รับผลกระทบมากกว่า
ศาสตราจารย์ ชีลา จึงได้นำเสนอสรุปการถอดบทเรียนเพื่อรับมือสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ของประเทศต่างๆ ตั้งแต่เดือนมกราคม 2564 ที่มองใน 3 มิติ เกี่ยวกับ สุขภาพ เศรษฐกิจ และการเมือง โดยแบ่งประเทศที่รับมือกับโควิด-19 ไว้เป็น 3 กลุ่ม ดังนี้
รูปแบบแรก กลุ่มประเทศที่มีการควบคุมสถานการณ์ได้ในทุกมิติ (Control) เช่น ไต้หวัน ที่อาศัยบทเรียนจากโรคระบาดครั้งก่อนทั้งโรคซาร์ส และไข้หวัด 2009 (ไวรัส H1N1) ด้วยระบบสาธารณสุขที่มีประสิทธิภาพสูง ไม่มีการล็อคดาวน์ และพยายามดำเนินธุรกิจโดยมีการพักหรือหยุดภาคธุรกิจให้น้อยที่สุด
รูปแบบที่สอง แบบที่ประชาชนให้ความร่วมมือกับรัฐ (Consensus) ในการจัดการกับโรคระบาด เช่น สหพันธรัฐเยอรมนี ประชาชนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ มีระบบงานวิจัย เป็นผู้ผลิตยาได้เอง ขณะที่ระบบเศรษฐกิจภายในประเทศมีเสถียรภาพสูง มีการประกันการว่างงาน
รูปแบบที่สาม ความสับสนอลหม่าน (Chaos) ที่ส่งผลให้มีจำนวนผู้ติดเชื้อและคนตายจำนวนมาก ไม่มีฉันทามติ เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกา มีความอลหม่านในทุกมิติ ทั้งด้านสาธารณสุขที่ขาดอธิปไตยด้านสุขภาพ
รูปแบบต่างๆ นี้มีผลต่อการกำหนดนโยบาย เพราะถ้าหากไม่สามารถควบคุมโรคไว้ได้แต่แรก ก็จะมีผลที่ตามมา คือ เชื้อโรคสายพันธุ์ใหม่ก็จะเกิดเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน
ประเด็นสำคัญที่ศาสตราจารย์ชีลาถ่ายทอดระหว่างเสวนา คือ หลายประเทศมีความเข้าใจผิด ในการดำเนินนโยบายเพื่อจัดการกับโควิด-19 เช่น
1. ความเข้าใจผิดที่ว่า “เราต้องเรียนรู้และทำเป็นคู่มือออกมา”
2. ความเข้าใจผิดที่ว่า “ในกรณีฉุกเฉิน การเมืองจะนำนโยบาย” ประเด็นนี้ ชีล่า กล่าวว่า เป็น
ความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง เพราะถ้าต้องการทำให้นโยบายมีประสิทธิภาพ ต้องพิจารณาเรื่องการเมืองด้วย
3. ความเข้าใจผิดที่ว่า “ตัวชี้วัดความสำเร็จและความล้มเหลวชัดเจนอยู่แล้ว” แต่ชีล่ามองว่า ตัวชี้วัดมีมากมาย ขึ้นกับว่าจะใช้มาตรการอะไรมาวัด
4. ความเข้าใจผิดที่ว่า “ผู้ที่ให้คำแนะนำทางวิทยาศาสตร์ไม่สามารถแยกการเมืองออกจากระบบได้” แต่ในความเป็นจริง คือ คำแนะนำของสาธารณสุขมักถูกละเลย เพราะนักการเมืองอยากให้เกิดผลลัพธ์ที่ต่างกันออกไป
5. ความเข้าใจผิดที่ว่า “การที่คนไม่เชื่อใจสาธารณสุข คือ คนเหล่านั้นไม่รู้เรื่องอะไร” ประเด็นนี้ ชีล่า มองว่า การที่คนไม่เชื่อใจสาธารณสุข สะท้อนให้เห็นความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจต่อระบบการปกครอง ซึ่งถือเป็นปัญหาใหญ่มาก
จากผลการศึกษา หลายประเทศรับมือกับโควิด-19 โดยเน้นการแข่งขันกระตุ้นตลาด การแจกเงินเยียวยา และแผนการช่วยเหลือจากรัฐบาลที่ไม่ได้รับการยอมรับจากประชาชน การแบ่งขั้วความคิดเห็นทางการเมืองสูง ประชาชนไม่เชื่อมั่นในผู้เชี่ยวชาญ (ไม่เชื่อคำเตือนของแพทย์และนักการสาธารณสุข) และมีการจัดการที่ขัดแย้งกันระหว่างรัฐบาลกลางกับรัฐบาลท้องถิ่นระดับรัฐต่าง ๆ แบบต่างคนต่างทำไม่สอดคล้องกัน
สอดคล้องกับที่ โลวิตา รามกุตตี (Ms.Lovita Ramguttee) รองผู้อำนวยการผู้แทนโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ประจำประเทศไทย กล่าวถึงการต่อสู้กับภาวะวิกฤติปัจจุบันว่า ความอลหม่านเกิดขึ้นทั่วโลก มีการประท้วงต่อต้านสังคม งานภาครัฐและหน่วยงานสาธารณสุขส่วนกลาง และปัญหาความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศเพิ่มขึ้น มีการกดขี่ การลุกฮือต่อต้าน
อย่างไรก็ดี โลวิตา กล่าวว่า สิ่งแรกที่เห็น คือ การร่วมแรงร่วมใจกันในการสู้กับโรคระบาด เพราะทรัพยากรภายในประเทศเริ่มร่อยหรอลง เราได้เห็นประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศ ได้ปรับเปลี่ยนจุดประสงค์ในการใช้ทรัพยากรของพวกเขาทั้งด้านงบประมาณเงินทุน (fiscal resources) ในประเทศรายได้ปานกลาง (ไทยอยู่ในกลุ่มนี้) ที่ผันงบมา 4 เปอร์เซนต์ของรายได้มวลรวมของประชาชาติ และประเทศรายได้น้อย 2 เปอร์เซนต์ ซึ่งทำให้เห็นช่องว่างระหว่างเงินงบประมาณนี้อยู่ และชี้ให้เห็นว่า การลงทุนด้านการพัฒนาควรเป็นศูนย์กลางของแผนการฟื้นฟูประเทศหลังโควิด-19 ในทุกประเทศ” ดังนั้น รองผู้อำนวยการโครงการ UNDP จึงได้นำเสนอทางออกสำหรับประเทศไทย เป็น 3 ระยะ คือ
(1) ระยะสั้น ต้องดูแลกลุ่มเปราะบาง (เด็กเยาวชน คนพิการ กลุ่มหลากหลายเพศ และกลุ่มชาติพันธุ์) ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 และการสนับสนุนภาคธุรกิจให้เกิดการจ้างงานได้ให้เร็วที่สุด
(2) ระยะกลาง ไทยควรยกระดับการบริการสาธารณะเพื่อสามารถคุ้มครองประชากรกลุ่มเปราะบางในการรับมือกับวิกฤติต่าง ๆ โดยเฉพาะการขยายระบบการคุ้มครองด้านสวัสดิการสังคมต่างๆ ให้ครอบคลุม และตระหนักถึงความไม่เท่าเทียมทางเพศในสังคม และส่งเสริมเศรษฐกิจท้องถิ่นด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม
(3) ระยะยาว ควรจะยกระดับสู่เศรษฐกิจสีเขียว หรือเศรษฐกิจยั่งยืน ด้วยการส่งเสริมการเติบโตของเศรษฐกิจในระดับท้องถิ่น
ในส่วนของ UNDP ได้มีส่วนร่วมกับประเทศสมาชิกรวมถึงไทย เพื่อผลักดันวาระ SDGs มีแผนผลักดันแบบครอบคลุม ที่เรียกว่า a broader SDGs push ซึ่งมุ่งเน้นที่การสร้าง Inclusive Green Globe โดยสนับสนุนให้กลุ่มผู้ปฏิบัติงานทั้งภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวเนื่องด้านเทคโนโลยีดิจิทัลปรับให้เป็นเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) และเน้นการคุ้มครองทางสังคม (Social Protection) เพื่อช่วยเหลือประเทศต่าง ๆ พลิกฟื้นสภาวะเลวร้ายจากสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19
แนวโน้มอาชญากรรมในช่วงโควิด-19 ตามสถิติงานวิจัยของ UNODC ล่าสุด พบว่า ในช่วงที่หลายประเทศใช้มาตรการล็อกดาวน์ อาชญากรรมบางประเภทเกิดขึ้นลดลง เช่น คดีปล้นชิงทรัพย์ คดีลักลอบขนยาเสพติด
เอนริโก้ บิซอญโญ่ (Mr. Enrico Bisogno) ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาข้อมูลและการเผยแพร่ประจำสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ กรุงเวียนนา (UNODC Vienna) สาธารณรัฐออสเตรีย ตั้งข้อสังเกตถึง สาเหตุที่ทำให้สถิติอาชญากรรมลดลง ดังนี้ (1) โอกาสในการก่อคดีในที่สาธารณะน้อยลง คนอยู่บ้านมากขึ้น ถูกจำกัดการเดินทางข้ามพื้นที่ (2) มีการปิดพรมแดนป้องกันการแพร่ระบาด ทำให้การเข้าถึงแหล่งผลิตยาเสพติดยากขึ้น (3) มาตรการล็อกดาวน์ทำให้เหยื่อหรือผู้ประสบเหตุ เดินทางไปแจ้งความ หรือ เข้าถึงเจ้าหน้าที่รัฐได้ยากขึ้น
อย่างไรก็ตาม การล็อกดาวน์กลับไม่ได้มีผลต่อการเพิ่มหรือลดกับคดีฆาตกรรม (Homicide) มากนัก และจากสถิติพบว่า คดีฆาตกรรมนี้มักเกิดกับผู้หญิงมากที่สุด เช่นเดียวกันกับ การเกิดคดีข่มขืน (rape) และคดีกระทำชำเราทางเพศ (sexual assault) ที่เมื่อพิจารณาจากสถิติกว่า 36 ประเทศทั่วโลก พบว่า คดีดังกล่าวลดลงต่ำสุด ในช่วงล็อกดาวน์ที่เข้มงวด เดือนเมษายน 2563 ก็จริง แต่กลับเกิดคดีเพิ่มขึ้นอีกเมื่อผ่อนคลายมาตรการล็อคดาวน์ ในเดือนกรกฎาคมและสิงหาคม 2563
ส่วนอาชญากรรมที่เพิ่มขึ้นในช่วงล็อกดาวน์ คือ คดีอาชญากรรมที่จัดตั้งในลักษณะองค์กร (organized crime) การกระทำผิดกฎหมายโดยกระทำเป็นกลุ่มองค์กรเพื่อผลประโยชน์ เช่น การลักลอบหรือทุจริตในการค้าขายวัสดุทางการแพทย์ที่จำเป็นและขาดแคลน อย่าง ชุด PPE, เครื่องมือตรวจหาเชื้อ(test kits) และยาฆ่าเชื้อ เป็นต้น และ อาชญากรรมที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากผลกระทบของการแพร่ระบาดโควิด-19 ที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจ คือ อาชญากรรมการลักลอบขนแรงงานอพยพผิดกฎหมายเข้าเมือง (Immigrant Smuggling)
ประเด็นนี้ ผู้อำนวยการฝ่ายข้อมูลฯ UNODC ให้เหตุผลว่า ประเทศเศรษฐกิจยากจนจะมีปัญหาว่างงานมากขึ้นอีก ซึ่งทำให้ประเทศเหลานั้นมีแนวโน้มกระทำผิด โดยการค้าแรงงานผิดกฎหมายเดินทางอพยพ ค้าแรงงานไปยังประเทศที่มีฐานะทางเศรษฐกิจดีกว่า ซึ่งทำให้กลุ่มอาชญากร เช่น กลุ่มค้ามนุษย์ อาศัยจังหวะในการหาประโยชน์จากกลุ่มคนเหล่านี้มากขึ้น
ผลพวงจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ไม่ได้สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจ ที่ส่งผลให้แนวโน้มอาชญากรรมเพิ่มสูงขึ้นเท่านั้น แต่ยังส่งผลลบต่อกระบวนการยุติธรรมทั้งในแง่การเยียวยาและการป้องกัน ที่มักมีข้อจำกัดทั้งเงินทุนและการปฏิบัติงาน นอกจากนี้ สถานการณ์ดังกล่าวยังทำให้เห็นความเหลื่อมล้ำที่ส่งผลกระทบต่อ กลุ่มเปราะบางหลายกลุ่ม เช่น กลุ่มคนผู้ใช้แรงงาน ผู้หญิงที่มักตกเป็นเหยื่อ กลุ่มผู้มีรายได้น้อย ที่มักถูกละเลยในสถานการณ์นี้ ซึ่งนี่เป็นปัญหาสำคัญที่ทำให้การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนยากขึ้น
อีกหนึ่งปัญหาสำคัญที่หลายประเทศต้องประสบเหมือนๆ กัน คือ ปัญหาคนล้นคุก ซึ่งประเด็นนี้ ผู้อำนวยการฝ่ายข้อมูลฯ UNDOC ได้แลกเปลี่ยนข้อมูลในงานเสวนาว่า ปัญหาจำนวนผู้ต้องขังแออัดในเรือนจำมี ทั่วโลก ปี 2561 จำนวนผู้ถูกคุมขังในเรือนจำแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงประเทศไทย มีอัตราความแออัดในเรือนจำสูงสุด (Occupancy Rate) เมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่นของโลก ทั้งจำนวนผู้ต้องโทษ (Convicted Prisoners) และผู้ต้องขังที่รอการพิจารณาคดี (Unsentenced Prisoners) โดยมีปริมาณนักโทษเกินความจุของเรือนจำที่รับได้คิดเป็นร้อยละ 240 หมายถึง ล้นความจุของเรือนจำไปถึงเกือบเท่าตัว
กรณีของไทยมีการดำเนินการแก้ปัญหาลดความแออัดในเรือนจำ ช่วงเดือนตุลาคม 2562 ถึงมีนาคม 2563 โดยกรมราชทัณฑ์ เปิดเผยตัวเลขเมื่อเดือนเมษายนปี 2563 ว่าได้มีการดำเนินมาตรการพักโทษให้แก่นักโทษราว 8,000 คน โดยกำหนดมาตรการลดวันสำหรับนักโทษที่มีความประพฤติดีและได้รับโทษมาแล้ว 2 ใน 3 ของโทษทั้งหมด ได้รับการพิจารณาปล่อยตัวออกจากเรือนจำเพื่อลดความแออัดและป้องกันการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด19 ในเรือนจำ (ข้อมูลอ้างอิงจาก เว็บไซต์ https://ilaw.or.th/node/5664)
ตามข้อมูลจาก UNODC เมื่อปี 2562 สถานการณ์ในเรือนจำไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ดีกว่า ในนิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย และประเทศในแถบเอเชียใต้ อย่างอินเดีย ศรีลังกา ที่ยังครองอันดับ 1 ของเรือนจำที่มีจำนวนผู้ต้องขังที่รอการพิจารณาคดีในอัตราส่วนมากสุด จากตัวเลขปี 2562 ทำให้เห็นว่าในเรือนจำประเทศไทยรวมกับประเทศภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั้งหมด จำนวนผู้ต้องขังที่รอการพิจารณาคดีมีร้อยละ 30 ของจำนวนผู้ต้องขังในเรือนจำทั้งหมด
เมื่อแนวโน้มอาชญากรรมหลายประเภทเพิ่มสูงขึ้นในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ขณะที่โทษทางอาญาส่วนใหญ่ คือ การจำคุก ยิ่งซ้ำเติมปัญหาคนล้นคุกที่มีอยู่เดิมให้หนักขึ้น ปัญหานี้ถือเป็นอุปสรรคสำคัญในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน
ผู้อำนวยการฝ่ายข้อมูลฯ UNDOC จึงสรุปแนวทางแก้ปัญหา ดังนี้ (1) ในสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด-19 นอกจากการลดความแออัดในเรือนจำแล้ว การป้องกันปัญหาการทุจริตติดสินบนเจ้าหน้าที่รัฐ ก็ถือเป็นองค์ประกอบสำคัญ ในการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนเป้าหมายที่ 16 ให้สำเร็จ (2) “โครงการฟื้นฟูผู้ต้องขัง คืนคนดีสู่สังคม เพื่อลดจำนวนผู้ต้องขัง (Rehabilitation) มีความจำเป็นอย่างมากในการดำเนินการแก้ปัญหานักโทษล้นคุก”
กล่าวได้ว่า ทุกประเทศล้วนกำลังเผชิญกับวิกฤตการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ทั้งด้านเศรษฐกิจ การเมือง สังคม อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้น การรับมือ และ การปรับตัวจากทุกภาคส่วน ด้วยความร่วมมือร่วมใจ จึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ดังที่ ดร.พิเศษ สอาดเย็น ผู้อำนวยการสถาบันยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) ผู้ดำเนินรายการเสวนา กล่าวสรุปทิ้งท้ายว่า “ผมเชื่อว่าการรับมือสถานการณ์โควิดต้องทำในระดับโลก เพราะสถานะของพวกเราตอนนี้เปราะบางมาก ท่ามกลางวิกฤตินี้ เราคงต้องปฏิบัติงานภายใต้ความมุ่งมั่นทุ่มเทที่ยิ่งใหญ่ เราจะสามารถติดอาวุธและปรับตัวรับมือกับสถานการณ์อย่างแข็งขัน และบรรลุเป้าหมายเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ทุกคนจะไม่ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง เพื่อประโยชน์ของทุกคนในสังคม”
ผู้สนใจสามารถติดตามชมบันทึกการประชุมเสวนาย้อนหลังออนไลน์ได้ทาง
https://www.facebook.com/watch/live/?v=179246547315822&ref=watch_permalink