“มาตรฐานไฟฟ้าสาธารณะ” เป็นมาตรฐานของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย ที่กำหนดให้ท้องถิ่นต้องรับทราบว่า การติดตั้งเสาไฟฟ้าในที่สาธารณะจะต้องมีรูปแบบอย่างไรจึงจะถูกต้อง
รายงานพิเศษ
แหล่งข่าวระดับสูงในสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน หรือ สตง. บอกกับ MGR Online ว่า การจัดจ้างติดตั้ง เสาไฟฟ้าประติมากรรมกินรี พร้อมโคมไฟระบบพลังงานแสงอาทิตย์ ขององค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ราชาเทวะ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ ที่กำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าคุ้มค่าและมีความจำเป็นหรือไม่ หากดูเฉพาะใน TOR (ขอบเขตงาน) แทบจะไม่พบความปิดปกติใดๆ เลย
แต่เมื่อนำ TOR และภาพการติดตั้งเสาไฟ ไปเทียบกับมาตรฐานไฟฟ้าสาธารณะ จะพบความผิดปกติทันที
เมื่อตรวจสอบใน “มาตรฐานไฟฟ้าสาธารณะ” จะพบว่า ความกว้างของถนน มีผลต่อการติดตั้งเสาไฟฟ้า โดยในมาตรฐานข้อ 2.2 รูปแบบการติดตั้งไฟฟ้าสาธารณะตามแนวถนน ทางแยก วงเวียน สามารถเลือกชนิดของโคมไฟและดวงโคมที่จะใช้งานได้ตามความเหมาะสม และสอดคล้องกับภูมิทัศน์ของพื้นที่นั้นๆ แต่กำหยดรูปแบบการติดตั้งดังนี้
1. ติดตั้งฝั่งเดียวกันของถนน เหมาะสำหรับถนนเล็กๆ ในซอย หรือทางเท้า (รูป 2-2)
2. ติดตั้งสองฝั่งถนนสลับกัน เหมาะสำหรับถนนกว้างไม่เกิน 6 เมตร (รูป 2-3)
3. ติดตั้งสองฝั่งของถนน ตรงข้ามกัน เหมาะสำหรับถนนกว้าง 8 เมตรขึ้นไป (รูป 2-4)
4. ติดตั้งกลางถนน โดยแยกโคมไฟฟ้าเป็นสองทางในเสาต้นเดียวกัน เหมาะสำหรับถนนกว้าง 8 เมตรขึ้นไป และมีเกาะกลางถนน (รูป 2-5)
เมื่อใช้มาตรฐานนี้ไปเปรียบเทียบกับการติดตั้งเสาไฟประติมากรรมกินรีพร้อมระบบโคมไฟพลังงานแสงอาทิตย์ ของ อบต.ราชาเทวะ จะเห็นได้ว่า การติดตั้งส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่หมู่บ้าน ถนนหน้าบ้าน ในซอย ถนนลูกรัง วัดความกว้างถนนได้ประมาณ 3-4 เมตรเท่านั้น จึงมีความกว้างไม่ถึง 8 เมตร
ดังนั้น การติดตั้งเสาไฟ จึงควรเป็นไปตามข้อ 1 คือ ติดเสาไฟด้านเดียวก็เพียงพอ หรืออย่างมากก็เป็นไปตามข้อ 2 คือติดตั้ง 2 ฝั่งถนนสลับกัน ไม่สามารถติดตั้งเสาไฟตรงข้ามกันตรงๆได้
และเมื่อไปดูแนวทางการเว้นระยะห่างระหว่างเสาไฟแต่ละต้น ยังพบว่า กำหนดไว้ประมาณ 20 เมตร เป็นอย่างน้อย หรือ 40 และ 80 เมตร ขึ้นอยู่กับขนาดของสายไฟฟ้าที่พาดบนเสา
แต่เสาไฟที่ อบต.ราชาเทวะติดตั้ง มีระยะห่างระหว่างเสาเพียงบางช่วงเพียงประมาณ 5 เมตรเท่านั้น
เมื่อพิจารณาจากข้อเท็จจริงแล้ว แหล่งข่าวใน สตง. จึงเห็นว่า เสาไฟกินรี ของ อบต.ราชาเทวะ ทั้งติดตั้งไว้ถี่กว่าที่กำหนดในมาตรฐาน และติดตั้งเสาไฟฟ้าทั้ง 2 ฝั่งถนนทั้งที่ถนนแคบมาก
หมายความว่า มีเสาไฟจำนวนมากที่ไม่จำเป็นต้องติดตั้ง ซึ่งเมื่อตรวจสอบแล้ว อาจจะพบว่า เป็นการใช้งบประมาณที่ทำให้ภาครัฐต้องสูญเสียเงินเกินความจำเป็น
และจะตรวจสอบต่อไปถึงกระบวนการกำหนดขอบเขตงานและกระบวนการจัดหาผู้รับเหมาได้ว่าถูกต้องตามระเบียบราชการหรือไม่ เหตุใดจึงต้องกำหนดให้ใช้เสาไฟมากถึงขนาดนี้
ส่วนเรื่องราคาการจัดทำเสาไฟฟ้า แหล่งข่าวใน สตง. อ้างถึงฐานข้อมูลซึ่ง สตง.เคยตรวจสอบ เสาไฟฟ้าพร้อมแผงโซล่าเซลล์ตามมาตรฐานจะมีราคาต้นละ 31,000 บาท
จึงตั้งคำถามต่อว่า ค่าประติมากรรมที่เพิ่มมามีราคามากกว่า 6 หมื่นบาทเลยหรือ?
อีกประเด็นคือการติดตั้งเสาไฟฟ้าสาธารณะในที่เอกชน เช่น หมู่บ้านจัดสรร แหล่งข่าวรายนี้ระบุว่า ท้องถิ่นจะต้องทำเรื่องให้เอกชนโอนถนนมาจดทะเบียนให้เป็นของท้องถิ่นก่อน หรือหากจะติดตั้งบนถนนขอลกรมทางหลวง ก็ต้องได้รับความยินยอมจากแขวงการทางก่อน
นี่จึงเป็นอีกหนึ่งประเด็นที่ต้องตรวจสอบว่า การติดตั้งเสาไฟฟ้ากินรีตามหมู่บ้าน มีการโอนถนนในหมู่บ้านมาเป็นของท้องถิ่นหรือยัง?