xs
xsm
sm
md
lg

เมื่อน่านฟ้าปิด! ไทยแอร์เอเชีย ฝ่าวิกฤตการบินอย่างไร? คุยกับ น.ต.ดำรงค์ ภาสน์พิพัฒน์กุล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

จากอดีตนักบินกองทัพอากาศ ที่หันเหก้าวเข้าสู่สายการบินพาณิชย์ โดยเริ่มจากนักบินผู้ช่วยกระทั่งเติบโตก้าวขึ้นเป็น ผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการบิน สายการบินไทยแอร์เอเชีย ซึ่งต้องบริหารจัดการพนักงานในฝ่ายฯ ที่มีอยู่มากกว่า 2,000 คน ใน 4 แผนกใหญ่ อีกทั้งยังเข้ารับหน้าที่ประจวบเหมาะกับวิกฤติโควิดครั้งใหญ่ ยิ่งนับเป็นความท้าทายใหญ่หลวง


ผู้จัดการออนไลน์ สัมภาษณ์พิเศษ “นาวาอากาศตรี ดำรงค์ ภาสน์พิพัฒน์กุล” ผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการบิน ไทยแอร์เอเชีย ถึงการรับมือเมื่อเผชิญกับความท้าทายในห้วงสถานการณ์วิกฤติโควิดที่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจการบิน ซึ่งแนวทางการแก้ไขปัญหา ทัศนคติในการทำงาน รวมถึงประสบการณ์การทำงานในอดีตที่ผ่านมา ล้วนช่วยให้กัปตันดำรงค์สามารถคาดการณ์ ประเมินทั้งภาพรวมของปัญหาที่เกิดขึ้น เพื่อแก้ไขได้อย่างตรงจุด เมื่อรวมกับ ประสบการณ์การทำงาน มุมมอง ทัศนคติในการใช้ชีวิตของกัปตันดำรงค์ จึงนับว่าน่าสนใจยิ่ง

>>> จาก Co pilot สู่ผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการบิน

สำหรับประวัติ ความเป็นมาในการทำงานที่ผ่านมา กระทั่ง เป็นผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการบิน ไทยแอร์เอเชีย

นาวาอากาศตรี ดำรงค์ หรือ กัปตันดำรงค์ เล่าว่า “ผมเคยเป็นอดีตนักบินของกองทัพอากาศมาก่อน จากนั้นก็ได้มีโอกาสมาทำงานกับบริษัทไทยแอร์เอเชียตั้งแต่บริษัทฯ ก่อตั้งมาเลย ตั้งแต่ปี 2546 โดยเราเริ่มงานตั้งแต่กลางปี แต่ผมบรรจุเข้าเป็นพนักงานในเดือนธันวาคม 2546 ในตำแหน่งนักบินผู้ช่วย หรือ Co pilot ของเครื่องบินแบบโบอิ้ง 737”

หลังจากเป็น Co pilot ได้ประมาณสองปี ได้รับการโปรโมตเป็นนักบินที่หนึ่งหรือกัปตัน ของเครื่องบินโบอิ้ง 737 ซึ่งในช่วงที่ปฏิบัติหน้าที่เป็นนักบิน ยังได้รับความไว้วางใจจากหัวหน้า ให้ดูแลในส่วนงานต่าง ๆ ของฝ่ายปฏิบัติการบินเพิ่มเติมจากหน้าที่นักบิน ตั้งแต่การเป็นผู้ช่วยผู้จัดการแผนกนิรภัยการบิน, ผู้ช่วยหัวหน้าแผนกฝึกอบรมนักบิน, ผู้จัดการแผนกนิรภัยการบิน, ผู้จัดการแผนกประกันคุณภาพของฝ่ายปฏิบัติการการบิน

“แล้วจังหวะช่วงนั้น มีเครื่องบินแบบใหม่เข้ามาประจำการ คือเครื่องบินแอร์บัส 320 ป้ายแดงเลย ผมก็ได้เปลี่ยนแบบเครื่องบินเป็นแอร์บัส 320 ในช่วงจังหวะนั้นสำนักงานการบินพลเรือนฯ ได้รับธงแดง ทุกสายการบินในประเทศไทยต้องทำมาตรฐานใหม่ทั้งหมด เพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น ผมก็ได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชาระดับสูง ให้มาดูแลเรื่องการทำใบรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศใหม่ ของสายการบินไทยแอร์เอเชีย หลังจากนั้นก็ได้รับมอบหมาย ให้มาปฏิบัติหน้าที่ผู้จัดการแผนกประกันคุณภาพของบริษัทฯ โดยย้ายจากฝ่ายปฏิบัติการบินมาอยู่ที่แผนกประกันคุณภาพขึ้นตรงกับประธานเจ้าหน้าที่บริหาร โดยเซ็ตอัพระบบประกันคุณภาพให้เกิดประสิทธิภาพการทำงานตามมาตรฐานที่สำนักงานการบินพลเรือนฯ กำหนดไว้ทั้งหมด

จนกระทั่งปัจจุบันนี้ ก็ได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชาระดับสูง ให้มารับตำแหน่งของผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการบิน รวมทั้งยังทำหน้าที่เป็นฝ่ายตรวจสอบการบิน, ครูการบิน และเป็นนักบินลองเครื่องอีกด้วย

เมื่อถามว่าทุกวันนี้เมื่อนักท่องเที่ยวเดินทาง จะยังมีโอกาสที่มีกัปตันดำรงค์เป็นผู้นำพาเหินฟ้าอยู่ใช่หรือไม่

กัปตันดำรงค์ตอบว่า “มีครับ มีแน่นอนครับ เพราะผมยังต้องรักษาความเป็นนักบินอยู่ หากเราจะกำกับดูแลนักบินและลูกเรือ เราต้องปฏิบัติงานจริงๆ ไม่เช่นนั้น เวลาเขามีปัญหาอะไรเราไม่สามารถแนะนำและช่วยเหลือเขาได้” กัปตันดำรงค์กล่าวถึงความเป็นมาก่อนมาสู่ตำแหน่งปัจจุบัน


>>> อดีตนักบินกองทัพอากาศ

เมื่อขอให้ช่วยเล่าย้อน การเป็นนักบินของกองทัพอากาศ และการจบจากโรงเรียนนายเรืออากาศ (ชื่อปัจจุบัน คือโรงเรียนนายเรืออากาศนวมินทกษัตริยาธิราช ) สาขาวิศวกรรมอากาศยาน กัปตันดำรงค์เล่าว่า ตนจบโรงเรียนนายเรืออากาศ รุ่น 36 คือปี 2536 แล้วก็ได้รับคัดเลือกให้เป็นนักบินของกองทัพอากาศ อยู่ในส่วนของนักบินลำเลียง

“หลังจากที่จบจากโรงเรียนการบิน ผมได้บรรจุเป็นนักบิน ฝูงบิน 461 กองบิน 46 ที่พิษณุโลก อยู่ได้สัก 2-3 ปี ได้รับเลือกไปเป็นครูการบิน ที่โรงเรียนการบินกองทัพอากาศ เพื่อสร้างนักบินใหม่ๆ ให้กองทัพอากาศ เมื่อครบวาระการเป็นครูการบิน ประมาณ 3 ปี ผมก็ขอกลับมาที่ฝูงบินเดิม โดยตำแหน่งของนายทหารนิรภัยกองบิน ดูแลเรื่องนิรภัยการบินและนิรภัยภาคพื้น อีกทั้งยังเป็นนักบินลองเครื่องอีกด้วย มันก็จะดูขัดกันหน่อย เพราะนักบินลองเครื่องมีความเสี่ยง แต่เรื่องนิรภัยการบินต้องทำให้ความเสี่ยงเกิดขึ้น”

>>> ก้าวเข้าเป็นส่วนหนึ่งของแอร์เอเชีย

ประมาณ 20 ปีที่แล้ว มีการขยายตัวของธุรกิจการบินเป็นอย่างมาก จึงเห็นว่าเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่จะเปลี่ยนนักบินกองทัพอากาศไปเป็นนักบินพาณิชย์ เพราะเมื่อถึง จุด ๆ หนึ่ง การทำงานเป็นฝ่ายอำนวยการ การปฏิบัติการบินลดลง แต่เรายังรักการบินอยู่ เมื่อเห็นว่าช่วงนั้นสายการบินเริ่มเปิดโอกาสให้บุคคลภายนอกเข้าไปเป็นนักบิน เราจึงเข้าหาโอกาสนั้น

“ผมไปสมัครนักบินที่สายการบินหนึ่ง โดยคนที่ดูแลหรือคัดเลือกผม เขาเป็นผู้ที่ร่วมก่อตั้งสายการบินไทยแอร์เอเชียในยุคนั้น พี่เขาชักชวนผมมาอยู่ด้วยกันที่ไทยแอร์เอเชีย ตอนนั้น เราก็ไม่รู้ว่าแอร์เอเชียเป็นยังไงเพราะเป็นสายการบินใหม่ ไม่มีใครรู้จัก แต่เราก็ตัดสินใจมาและช่วยเหลือพี่เขาในการก่อตั้งสายการบินมาตั้งแต่ต้น

“พี่ท่านนั้น ได้ดูประวัติเราก็สนใจ แต่การที่เข้ามาที่สายการบินต้องมีประสบการณ์ ต้องเป็นนักบินผู้ช่วย หรือ Co pilot ก่อน เพราะประสบการณ์ด้านสายการบินยังไม่มี ซึ่งสำหรับผมแล้วไม่เป็นไร เพราะว่าเราต้องการประสบการณ์”

กัปตันดำรงค์เล่าว่า ช่วงแรกออฟฟิศไทยแอร์เอเชียอยู่ที่ตึกช้าง เราเริ่มต้นจากพื้นที่น้อยมาก มี Call Center ห้องประชุมมีอยู่ห้องเดียวมีเก้าอี้ประมาณ 5-6 ตัว ห้องประชุมนั้นก็ยังเป็นห้องทำงานของซีอีโออีกด้วย มีการฝึกอบรมพนักงานต้อนรับอยู่บริเวณนั้นอีก เวลาไปทำงานผมต้องนั่งกับพื้นทำงาน พอนึกย้อนไปแล้ว กลับมาที่ปัจจุบันนี้ ผมก็มองว่ามันต่างกันเยอะมาก

“เรามีโน๊ตบุ๊คของเราเองแล้วก็นั่งกับพื้นทำงาน ระหว่างรอการฝึกอบรม ผมได้มีโอกาสช่วยงานกัปตัน ธนภัทร ( นาวาอากาศเอกธนภัทร งามปลั่ง ผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการบินคนแรกของไทยแอร์เอเชีย) ในการประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ จัดทำฐานข้อมูลของนักบิน เพราะผมมีความชำนาญด้านคอมพิวเตอร์”

เมื่อถามถึงในปัจจุบันว่า เป็น ผอ.ฝ่ายปฏิบัติการบิน ต้องทำอะไรบ้าง

กัปตันดำรงค์ตอบว่า “ สำหรับผมคือการนำเอาความรู้ทั้งหมด ไม่ว่าเรื่องกฏข้อบังคับ นิรภัยการบิน มาตรฐาน การประกันคุณภาพ ( Regulation, Safety, Standard, Quality Assurance ) มาผสมผสานเพื่อให้เห็นภาพรวมชัดที่สุด ผนวกกับการจัดสรรทรัพยากรบุคคลให้ลงตัว ผมอาจจะโชคดี ที่มีประสบการณ์ ได้ทำงานทั้งด้านนิรภัย และ ประกันคุณภาพ ดังนั้น การได้เข้ามาอยู่ในฝ่ายปฏิบัติการบินนี้ มันก็ช่วยทำให้งานของผมง่ายขึ้น ผมสามารถมองเห็นภาพว่าเป็นยังไง ซึ่งเวลาเราทำงานด้วยวัฒนธรรมองค์กรของไทยแอร์เอเชีย เราไม่ได้ทำงานได้ตัวของเราเอง เราต้องทำงานเป็นทีม ปรึกษาหารือแล้วมาหาทางออกร่วมกัน ไม่ใช่แค่พูดคุยภายในแผนกของตนเอง ต้องคุยกับฝ่าย/แผนกอื่น ๆ เช่น ฝ่ายวิศวกรรม, ฝ่ายสนับสนุนอุปกรณ์ภาคพื้น, ฝ่ายต้อนรับภาคพื้น ฝ่ายนิรภัย ฝ่ายมาตรฐานต่าง ๆ รวมถึงหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เราต้องคุยกันและทำงานเป็นทีม”


>>> รับตำแหน่ง ต้อนรับ ‘โควิด’ อุปสรรคที่ท้าทาย

กัปตันดำรงค์กล่าวว่า ฝ่ายปฏิบัติการบิน มีอยู่ด้วยกันทั้งหมด 4 แผนกใหญ่ มีพนักงานอยู่ถึง 2,000 กว่าคน ทั้ง 4 แผนกนี้ ประกอบไปด้วย แผนกนักบิน, แผนกลูกเรือ (พนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน), แผนกฝึกอบรมนักบิน และแผนกที่ผมเชื่อว่าคนไม่ค่อยคุ้นเคยคือ แผนกควบคุมปฏิบัติการบิน แผนกนี้คือมีหน้าที่จัดบินให้กับนักบินและลูกเรือ รวมถึงช่วยเหลือเรื่องแผนการบินและพิธีการบินต่าง ๆ

“ในภาวะปกติ ไม่ค่อยมีปัญหามากนัก เนื่องจากบริษัทเราก่อตั้งมาย่างเข้าปีที่ 20 ซึ่งฝ่ายปฏิบัติการบินได้รับการพัฒนามาเรื่อย ๆ จนมาถึงผมซึ่งเป็นรุ่นที่ 3 และเมื่อผมรับตำแหน่งได้ปีกว่า ๆ ก็เริ่มมีโควิด ผมมองว่ามันไม่เป็นความท้าทายในการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ เพราะโควิดทำให้เราได้คิดและแก้ปัญหามากมายที่เราไม่เคยคิดว่าจะได้ทำ เพราะเมื่อพูดถึงโควิด ตอนแรกเราไม่รู้เลยว่ามันคืออะไร มันคือโรคระบาดประเภทไหน เมื่อก่อนเราเคยมีซาส์ มีไข้หวัดนก มีปัญหาต่าง ๆ แต่มันไม่ได้ยาวนานขนาดนี้ ส่วนใหญ่ส่งผลกระทบระยะสั้น แต่โควิดนี่ปีกว่า ๆ แล้ว ยังไม่รู้ว่าจะสิ้นสุดเมื่อไหร่ ดังนั้นเราต้องเตรียมพร้อมให้มากที่สุด วางแผน ประเมินสถานการณ์ และปรับตัวอยู่ตลอดเวลา คาดการว่าอนาคตมันจะเป็นยังไง ถ้ามันดีขึ้นเราจะทำยังไง ถ้ามันแย่ลงเราจะทำยังไง นี่คือความท้าทายเป็นอย่างมาก”

กัปตันดำรงค์กล่าวว่า อุปสรรคอย่างหนึ่ง คือการบริหารจัดการทรัพยากร ทุกสายการบินได้รับผลกระทบคือ ลดจำนวนเที่ยวบินอย่างมากและต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน เราต้องตามทันข้อมูลข่าวสารที่มาจากรัฐบาล ข้อมูลข่าวสารที่น่าเชื่อถือผ่านการคัดกรองแล้ว เช่น สถิติ ผู้ติดเชื้อโควิด ข้อกำหนด ข้อบังคับต่างๆ ซึ่งทุกอย่างล้วนส่งผลต่อการปฏิบัติงานทั้งสิ้น เราต้องใช้ข้อมูลทุกอย่างมาหารือร่วมกันในการวางแผนให้ดีที่สุด

“เริ่มที่ความเป็นอยู่ เราต้องดูว่าเพื่อนร่วมงานของเรา ได้รับผลกระทบอะไรบ้าง ชั่วโมงบินและรายได้ของเขาลดลงขนาดไหน ตัวผมเองต้องประชุมร่วมกันกับแผนกต่างๆและมาระดมสมอง ดูว่าผลกระทบเกิดขึ้นยังไงบ้าง การควบคุมค่าใช้จ่ายและจัดสรรทรัพยากรบุคคล รวมถึงนโยบายบริษัท และสุดท้ายต้องชี้แจงให้กับพนักงานในแผนกฯ ให้ทราบอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งเป็นอุปสรรคที่ค่อนข้างหนักมาก แต่เราต้องมีเตรียมการและวางแผนที่ดีหรือแม้กระทั่งต้องปรับตัวให้ทันท่วงที”


>>> ผลกระทบต่อลูกเรือ นักบิน และเที่ยวบิน

เมื่อถามถึงการรับมือปัญหาในภาวะวิกฤติอย่างโควิด ว่าลูกเรือและนักบิน เที่ยวบิน มีการแก้ไขอย่างไร กัปตันดำรงค์ตอบว่า อันดับแรก มองภาพรวมให้ได้ พวกเราต้องวางแผนสถานการณ์ทั้งหมดที่อาจเกิดขึ้น พร้อมวางแผนและแนวทางแก้ไข ผมต้องติดตามข่าวสารและประเมินไว้ว่ามันเป็นยังไงบ้าง ต้องมีการคาดการณ์ ว่าเหตุการณ์ตรงนี้ จะเกิดอะไรขึ้นในอนาคต ถ้าแย่กว่านี้จะทำอย่างไร ซึ่งทุกวันนี้เราปรับเพิ่มและลดเที่ยวบินให้สอดคล้องกับสถานการณ์

กัปตันดำรงค์กล่าวว่า จริง ๆ เราอยากจะบินเยอะ แต่ต้องคำนึงถึงทั้ง ดีมานด์ ซัพพลาย และข้อกำหนดที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ช่วงนี้ความต้องการเดินทางและผู้โดยสารลดน้อยลง เราก็ต้องปรับลดเที่ยวบิน แต่อย่างไรก็ตามเราก็ตั้งใจเปิดเที่ยวบิน ให้ ครอบคลุมความต้องการของผู้โดยสารมากที่สุด มันอาจไม่เหมือนเดิม แต่เราก็ปรับตัวไปด้วยกันได้

“นักบินและลูกเรือเรายังอยู่ครบ เพียงแต่เราจะบริหารจัดการอย่างไร ผมก็ทำงานเป็นทีม มีผู้จัดการในแต่ละแผนกมาช่วยกันคิดและช่วยกันทำ แบ่งหน้าที่กันชัดเจน ในแต่ละเดือนเรามีเรื่องที่ต้องคิดวางแผน แก้ปัญหาไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ แต่เราก็ต้องปรับให้สอดคล้องกับสถานการณ์ให้มากที่สุดในแต่ละเดือน

ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเดือนนี้ เที่ยวบิดลดลงเหลือ 30% นักบินและลูกเรือเราก็ต้องปรับลง 30% แล้วอีก 70% เราก็จำเป็นให้หยุดพัก เดือนต่อไป กลุ่มที่ได้บินก็มาพัก กลุ่มที่ได้พักก่อนหน้านี้ ก็ไปบิน สลับกันไป เพราะฉะนั้น นักบิน และลูกเรือเรายังบริหารจัดการได้

อีกข้อที่สายการบินของเราได้เปรียบ คือ เราเป็นสายการบินที่พร้อมปรับตัวและรับการเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา แล้วเราก็เปิดใจให้พี่น้องทุกคนในสายบังคับบัญชา มาหาผม ปรึกษาและข้อเสนอแนะได้ หรือแม้กระทั่งการเข้าหาซีอีโอก็ไม่ใช่เรื่องยาก ทำให้เราสื่อสารเข้าใจกันเป็นอย่างดี”

เมื่อถามว่า นับแต่มีโควิดระลอกแรก ถึงโควิดระลอกสาม เที่ยวบิน ลดลงกี่เปอร์เซ็นต์ และต่างกันอย่างไร

กัปตันดำรงค์ตอบว่า “ตั้งแต่ระลอกแรก ปีที่แล้ว เราไม่รู้อะไรเลย เที่ยวบินบินเราลดลงเรื่อยๆ จนไม่มีเที่ยวบินในเมษายนปีที่แล้ว โดยต้องปฏิบัติตามนโยบายของรัฐบาล ในการป้องกันการแพร่ระบาด โดยการประกาศล็อคดาวน์ นั่นคือจุดต่ำสุดเลย เราก็จำเป็นต้องพักหนึ่งเดือน”

อุปสรรคคือ เมื่อเราจำเป็นต้องหยุดบิน แต่นักบินเราต้องรักษามาตรฐาน โดยต้องฝึกบินทบทวน เราก็ต้องขอคำปรึกษาจากสำนักงานการบินพลเรือนฯ เพื่อคุยถึงข้อกำหนดต่างๆ ว่าเราจะทำอย่างไรได้บ้างที่ยังคงรักษาความปลอดภัยการบิน ซึ่งก็ได้รับคำแนะนำที่ดีมาโดยตลอด

หลังจากนั้น เดือนพฤษภาคมปีที่แล้ว เราก็สามารถกลับมาให้บริการได้อีกครั้ง มีเที่ยวบินที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนพีคสุดเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ซึ่งแบ่งเป็นสองช่วง สองสัปดาห์แรก 100% สำหรับเที่ยวบินภายในประเทศ แต่เมื่อต่อมามีประกาศล็อคดาวน์ สัปดาห์ต่อมาเที่ยวบินลดเหลือไม่ถึง 20% เลย

“นั่นคือระลอกสอง แล้วยิ่งพอระลอกสามกราฟก็ตกอีก แต่ผมยังมีความเชื่อมั่นว่า เมื่อวัคซีนเข้ามาและการกระจายฉีดกันมากขึ้น หน่วยงานรัฐมีโครงการสนับสนุนหรือช่วยเหลือธุกกิจการบิน ผมว่าเราก็จะกลับมาได้ แต่เราต้องบริหารจัดการให้ดีและเตรียมความพร้อมเสมอ สถานการณ์นี้กระทบกับทุกคน โดยเฉพาะธุรกิจท่องเที่ยวและสายการบินกระทบเป็นอย่างมากเพราะเป็นหน้าด่าน รวมถึงส่งผลกระทบกับธุรกิจประเภทอื่นอีด้วย เพราะบ้านเราธุรกิจการท่องเที่ยวเป็นที่หนึ่ง ธุรกิจการบินเป็นสะพานเชื่อมระหว่างการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจในทุกภูมิภาค

ทางด้าน สายการบินไทยแอร์เอเชียเองเราเคยผ่านวิกฤติมามากมาย ไม่ว่าเรื่อง น้ำท่วม การเมือง เศรษฐกิจ และก็ครั้งนี้ ผมยอมรับว่าตั้งแต่อยู่แอร์เอเชียมา ก็ไม่เคยหนักเท่านี้มาก่อน สุดท้าย แต่ผมเชื่อมั่นมากๆ ว่า ทุกฝ่ายจะผ่านไปได้”

กัปตันดำรงค์เน้นย้ำว่า ทุกวันนี้ เที่ยวบินของแอร์เอเชียยังมีอยู่

“เรายังให้บริการในเส้นทางการบินต่างๆ อยู่ แต่ลดน้อยลง และอาจไม่ครบทุกเส้นทางที่เราเคยบินในสถานการณ์ปกติ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ ตามช่วงเวลา เช่น ยอดผู้ติดเชื้อสะสมและนโยบายในแต่ละพื้นที่ สถานการณ์ช่วงนี้ทำให้เราวางแผนระยะยาวลำบากขึ้น ซึ่งเราก็พยายามให้เกิดผลกระทบต่อผู้โดยสารน้อยที่สุด”



>>> เชื่อมั่น ปลายปีนี้การท่องเที่ยวในประเทศไทยฟื้นตัว

เมื่อขอให้ช่วยประเมินภาพรวม อุตสาหกรรมการบิน หลังวิกฤตโควิด ว่าจะฟื้นกลับมาเร็วหรือไม่ กัปตันดำรงค์กล่าวว่า “ใช้เวลาอีกนานแค่ไหน เราก็ตอบไม่ได้ แต่อุตสาหกรรมท่องเที่ยว ตอนนี้เรารู้ว่าทุกคนอยากจะเที่ยว อยากจะปลดล็อกจากตัวเอง แต่ตอนนี้ ทุกคนกลัวโควิดและจำเป็นต้องชะลอการเดินทาง แต่เมื่อไหร่ ที่ฟ้าเปิด แม้อาจยังไม่เปิด 100% ยังมีเมฆบังสลัวๆ แต่ผมก็มองว่ามีโอกาสกลับมาได้เร็วมาก ผู้โดยสารก็อยากเดินทาง ธุรกิจโรงแรม ธุรกิจท่องเที่ยว ที่มาซัพพอร์ต เรื่องเกี่ยวกับท่องเที่ยว ผมมองว่าเขาพร้อมรวมพลังและก้าวไปข้างหน้าด้วยกัน

ผมเชื่อมั่นว่า ปลายปีนี้ การท่องเที่ยวในประเทศไทยจะกลับมา อาจจะยังไม่ได้ 100% แต่มีปัจจัยบวกคือวัคซีนมาแล้ว ทุกคนทยอยเข้าถึงวัคซีน ผมก็ประเมินจากต่างประเทศ ที่บางประเทศ ประชากรเขาฉีดวัคซีนเยอะ ๆ แล้ว เขาก็เริ่มเปิดประเทศบางส่วนแล้ว

ส่วนภูเก็ตแซนด์บ๊อกซ์ (Phuket Sandbox) ผมมอง ว่าเป็นการเริ่มต้นที่ดี ที่จะทำให้ต่างประเทศได้เข้ามาประเทศไทย ส่วนภายในประเทศถ้าเราได้รับวัคซีนกันมากขึ้นเรื่อยๆ เวลาเราฟื้นตัวผมเชื่อมั่นว่า เราฟื้นกลับคืนมาได้เร็วมากเช่นกัน”

เช่นเดียวกับอุตสาหกรรมการบินเลย กัปตันดำรงก็เชื่อมั่นว่าจะฟื้นกลับมาได้เร็ว

“ผมมองว่าภายในประเทศ ในปลายปีนี้จะสามารถฟื้นกลับมาได้ค่อนข้างเยอะ ยิ่งเมื่อภูเก็ตแซนด์บ๊อกซ์ (Phuket Sandbox) เกิดขึ้น จังหวัดต่างๆ ที่เป็นจังหวัดท่องเที่ยว ก็จะตามมา ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นในทิศทางที่ดี ผมให้คำแนะนำแค่ว่า อดทนไว้ก่อน ถ้าฟ้ามันเปิด อุตสาหกรรมการบินจะกลับมาได้ดี แล้วผมก็คิดว่า ยังไงในอนาคตอาชีพที่เกี่ยวข้องกับสายการบิน ทั้งนักบินและลูกเรือ ยังเป็นที่ต้องการในตลาดอยู่ดี” กัปตันดำรงค์ระบุ

เมื่อถามถึง แนวคิด ทัศนคติ หลักการทำงาน กัปตันดำรงกล่าวว่า

“ถ้าจะทำอะไร ให้ทำสิ่งนั้นให้ดีที่สุด ผมจะใช้เป็นสโลแกนประจำตัวผม ดังนั้น เวลาผมจะทำอะไร ผมจะศึกษากับสิ่งนั้นให้ถ่องแท้ และเรียนรู้จากมัน เข้าใจมันให้ได้ แล้วนำมาใช้งาน”

>>> ไลฟ์สไตล์ยามว่าง ครอบครัวคือสิ่งสำคัญที่สุด

สำหรับไลฟ์สไตล์ หรืองานอดิเรกยามว่างของกัปตันดำรงค์ก็น่าสนใจไม่แพ้เนื้องาน

กัปตันดำรงค์ตอบว่า “ส่วนมาก ผมจะดูหนังฟังเพลง ผมเล่นดนตรีไม่เป็นนะครับแต่ผมชอบฟังเพลงและเอาเพลงมาตัดต่อกันคล้ายๆ ดีเจ ในยามว่าง แล้วก็ดูหนัง เมื่อก่อนผมดูหนังตามโรงหนัง แต่ทุกวันนี้มีโฮมเธียเตอร์อยู่ในบ้าน เวลาเราเครียด หรืออยากผ่อนคลาย เราก็พักผ่อนด้วยสิ่งนี้

นอกจากนี้ ผมเองอายุมากขึ้นก็ต้องหันมาดูแลสุขภาพตัวเอง เริ่มตั้งแต่ 3-4 ปีที่แล้ว ผมเคยท้วมกว่านี้ ผมพยายามออกกำลังกายประมาณ 3 วันต่อสัปดาห์ ด้วยการวิ่ง ผมเคยผ่านฟูลมาราธอนมาแล้วหนึ่งครั้ง ผมเองจะบาลานซ์ระหว่างสุขภาพ งาน และครอบครัว ผมทำอะไรมาทั้งหมดเพื่อครอบครัว

“ครอบครัวคือสิ่งสำคัญที่สุด ผมค่อนข้างให้ความสำคัญกับครอบครัว” คือคำตอบทิ้งท้าย ที่สะท้อนตัวตนได้อย่างรอบด้าน ของผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการบินผู้นี้


กำลังโหลดความคิดเห็น