ฝรั่งที่มีบทบาทในประวัติศาสตร์ไทยสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ปรากฏชื่อ “หมอสมิธ” อยู่ ๒ คน คนหนึ่งคือ นายแพทย์มัลคอล์ม อาเทอร์ สมิธ แพทย์หลวงประจำพระองค์สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงในรัชกาลที่ ๖ ซึ่งเป็นผู้เขียนหนังสือ “หมอฝรั่งในวังสยาม” กับ มิสเตอร์แซมมวล ยอห์น สมิธ มิสชันนารีอเมริกันในสมัยรัชกาลที่ ๔ ซึ่งคนทั่วไปเรียกกันว่า “หมอสมิธ” เหมือนกัน เพราะเป็นหมอสอนศาสนา แต่หมอสมิธคนนี้เรียกตัวเองว่า “ครูสมิธ” เพราะเรียนจบมาทางด้านอักษรศาสตร์ ทั้งยังรับจ้างสอนหนังสือ และเป็นมิชชันนารีคนเดียวที่มีหัวทางการค้า ตั้งโรงพิมพ์บุกเบิกการพิมพ์หนังสือวรรณคดีไทยออกขาย จนถูกฝรั่งด้วยกันฟ้องศาลกงสุลว่าผิดวิสัยมิชชันนารี แทนที่จะพิมพ์หนังสือศีลธรรมออกเผยแพร่ กลับพิมพ์หนังสือประโลมโลกนิทานจักรๆวงศ์ๆ จนถึงเข้าขั้นโป๊ อย่าง “ขุนช้างขุนแผน” ตอนเข้าห้องมีบทสังวาส
แซมมวล ยอห์น สมิธ มีบิดาเป็นทหารอังกฤษ มารดาเป็นคนโปรตุเกส แต่ไปเกิดที่ฮินดูสตานในอินเดีย เมื่ออายุได้ ๑๒ ขวบ มิสเตอร์ยอห์น เทเลอร์ โยนส์ มิชชันนารีอเมริกันได้ขอไปเป็นบุตรบุญธรรม และเมื่อมิสเตอร์โยนส์ถูกส่งเข้ามาสอนศาสนาในเมืองไทย จึงติดตามมาอยู่ที่กรุงเทพฯด้วยเป็นเวลา ๒ ปีก่อนถูกส่งไปเรียนที่อเมริกา โดยอาศัยอยู่กับเจ้าของโรงพิมพ์รายหนึ่ง “ครูสมิธ” ได้ฝึกงานอยู่ที่โรงพิมพ์นี้ถึง ๖ ปีเศษ ก่อนจะได้เข้าเรียนในมหาวิทยาลัยจนได้ปริญญาดุษฎีบัณฑิตทางอักษรศาสตร์ และได้รับคัดเลือกจากคณะอเมริกันแบบติสต์ มิชชันนารียูเนียนให้เข้ามาสอนศาสนาในเมืองไทย โดยเข้ามาพร้อมคณะของ โยเซฟ บัลเลศเตีย ทูตอเมริกันในสมัยรัชกาลที่ ๓ และรับหน้าที่เป็นล่ามของคณะทูตด้วย
ในช่วงที่ครูสมิธเข้ามาทำหน้าที่มิชชันนารีในประเทศไทยนั้น เป็นยุคเริ่มต้นของการมีโรงพิมพ์ในสยาม หมอบรัดเลย์ได้ตั้งโรงพิมพ์มิชชันนารีขึ้นในปี ๒๓๗๙ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตั้งโรงพิมพ์ขึ้นในวัดบวรในราวปี ๒๓๘๕ ขณะที่ยังทรงผนวชอยู่ และตั้งโรงพิมพ์อักษรพิมพการขึ้นในพระบรมมหาราชวังในราวปี ๒๓๙๔ เมื่อขึ้นครองราชย์แล้ว ส่วนครูสมิธซึ่งมีประสบการณ์ด้านโรงพิมพ์มาจากอเมริกา จึงตั้งโรงพิมพ์ขึ้นมาบ้างในปี ๒๔๑๑ ที่บางคอแหลม พิมพ์หนังสือขายแข่งกับหมอบรัดเลย์ โดยหมอบรัดเลย์ออกหนังสือพิมพ์ “บางกอกรีคอร์เดอร์” และพิมพ์หนังสือกฎหมาย หนังสือพงศาวดารออกขาย ส่วนใหญ่เป็นปกแข็งสวยงาม ส่วนครูสมิธออกหนังสือพิมพ์ “จดหมายเหตุสยามไสมย” และพิมพ์หนังสือทั้งปกแข็งปกอ่อน ส่วนใหญ่เป็นหนังสือประโลมโลก ปกอ่อนขายเล่มละสลึง ซึ่งก็เป็นราคาสูงในยุคนั้น
ทั้งหมอบรัดเลย์และครูสมิธต่างก็ไปขอต้นฉบับจากสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ ซึ่งเป็นนักอ่านตัวยง สะสมวรรณคดีไทยและพงศาวดารจีนไว้มาก
สมเด็จเจ้าพระยาจึงตัดสินให้หมอบรัดเลย์พิมพ์หนังสือที่เป็นร้อยแก้ว เช่นพงศาวดารจีนไป ส่วนครูสมิธพิมพ์บทร้อยกรองซึ่งเป็นหนังสือประโลมโลกเรื่องจักรๆวงศ์ๆ เช่น หลวิชัยคาวี จันทโครพ อิเหนา รามเกียรติ์ สังข์ทอง ขุนช้างขุนแผน พระอภัยมณี ฯลฯ
แค่พระอภัยมณีของสุนทรภู่เล่มเดียว ครูสมิธแยกเป็นเล่มเล็กๆมีแค่ ๒๓ หน้าได้หลายสิบเล่ม ขายดีเป็นเทน้ำเทท่า แค่เรื่องเดียวก็สร้างตึกอยู่แล้ว ทั้งยังสั่งแท่นพิมพ์เข้ามาขายด้วย ทำให้เกิดโรงพิมพ์ขึ้นมากในสมัยนั้นซึ่งมีทั้งไทย จีน ฝรั่ง เป็นเจ้าของ
ครูสมิธได้พิมพ์พระอภัยมณีเป็นหนังสือแจกในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯก่อน โดยมีแจ้งความบอกคนอ่านไว้ว่า
“ข้าพเจ้า ครูสมิธ ขอแจ้งความมายังท่านให้ได้ทราบว่า หนังสือพระอะไภมะณีที่พิมพ์ขึ้นในครั้งนี้ พิมพ์ตามความปรารถนาของสมเด็จพระพุทธิเจ้าหลวงอยู่หัวที่สี่ ซึ่งพระองค์ทรงต้องการเห็นหนังสือได้ถูกพิมพ์ขึ้นทั่วไปสำหรับคนไทยในสยาม จะได้มีหนังสืออย่างไทยไว้อ่านเล่น ซึ่งก็จะเป็นหนังสืออย่างไทยครั้งแรกที่ได้จัดพิมพ์ขึ้น แลในการพิมพ์ขึ้นนั้นได้พิมพ์ขึ้นครั้งเดียวไปจนจบเล่มที่แปดสิบสมุดไทย ได้พิมพ์ขึ้นหนึ่งร้อยยี่สิบจบ แลให้บริบูรณ์สำเร็จลงทันเป็นหนังสือแจกในงานพระเมรุสมเด็จพระพุทธิเจ้าอยู่หัวที่สี่ แห่งกรุงสยาม แลจึงหวังว่าในเบื้องข้างหน้าได้หาโอกาสพิมพ์จำหน่ายทั่วไป
ที่โรงพิมพ์บางคอแหลม จุลศักราช ๑๒๓๐”
หนังสือของครูสมิธได้ปลุกให้นักอ่านชาวไทยที่กระหายต่อการอ่านติดตามกันเป็นจำนวนมาก สร้างความร่ำรวยให้ครูสมิธทันตาเห็น จนกระทั่งฝรั่งกลุ่มหนึ่งในเมืองไทยเห็นว่าครูสมิธทำตัวไม่สมกับเป็นมิชชันนารี ไม่สนใจการเผยแพร่ศาสนา พิมพ์หนังสือเกี่ยวกับศาสนาออกมาเพียง ๒ เล่มเท่านั้น นอกนั้นมุ่งแต่การค้าพิมพ์หนังสือที่ผิดศีลธรรม จนถึงขั้นหยาบโลนลามก จึงได้ยื่นฟ้องต่อศาลกงสุลอังกฤษ โดยได้นำหนังสือขุนช้างขุนแผนตอนเข้าห้อง ซึ่งมีบทสังวาสเป็นหลักฐานมาแปลให้ศาลฟัง ศาลจึงสั่งห้ามครูสมิธพิมพ์หนังสือประเภทประโลมโลกอีกต่อไป
เมื่อครูสมิธถูกสั่งให้หยุดพิมพ์ จึงได้ขายต้นฉบับให้คนอื่นเอาไปพิมพ์ต่อ มีผู้รุมซื้อไปจนเกลี้ยง หนึ่งในจำนวนนี้ก็คือ นายสิน คนจังหวัดสิงห์บุรีที่เข้ามาเปิดร้านขายเครื่องแก้วอยู่แถววัดเกาะ หรือวัดสัมพันธวงศ์ และรับหนังสือของครูสมิธมาวางขายด้วย ได้ซื้อเรื่องจากครูสมิธมาตั้งโรงพิมพ์ พิมพ์เองขายเอง จนเป็นตำนาน “โรงพิมพ์วัดเกาะ” พิมพ์นิทานพื้นบ้านและวรรณคดีไทยขายในราคาเล่มละ ๑ สลึงเช่นเดียวกับครูสมิธ และยั่งยืนอยู่นานจนเป็นตำนวนกล่าวขานกันในเรื่องนิทานประเภทจักรๆวงศ์ๆ ผู้เขียนเคยสร้างภาพยนตร์จากนิทานพื้นบ้านเรื่อง “โสนน้อยเรือนงาม” ก็ไปค้นหาหนังสือเรื่องนี้ได้ที่โรงพิมพ์วัดเกาะเมื่อเลิกกิจการไปแล้ว
คำโฆษณาของโรงพิมพ์วัดเกาะตอนรุ่งเรืองมีอยู่ว่า
“ยี่สิบห้าสตางค์ต่างรู้ท่านผู้ซื้อ
ร้านหนังสือหน้าวัดเกาะเพราะนักหนา
ราษเจริญโรงพิมพ์ริมมรรคา
เชิญท่านมาซื้อดูคงรู้ดี
ได้ลงพิมพ์คราวแรกแปลกๆเรื่อง
อ่านแล้วเปลื้องความทุกข์เป็นสุกขี
ท่านซื้อไปอ่านฟังให้มั่งมี
เจริญศรีศิริสวัสดิ์พิพัฒน์เอย”