xs
xsm
sm
md
lg

ทำความรู้จักอาการ “ลิ่มเลือดอุดตันในปอด” อันตรายแค่ไหนก่อนฉีดวัคซีน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นพ.พงศกร จินดาวัฒนะ ผู้อำนวยการอาวุโสด้านการสื่อสารโรงพยาบาลกรุงเทพ โพสต์เฟซบุ๊กระบุถึงลักษณะอาการของ "ภาวะลิ่มเลือดอุดตันในปอด" และมีความอันตรายมาก-น้อยแค่ไหนก่อนฉีดวัคซีน เผยอาการดังกล่าวพบได้น้อยในคนเอเชีย

เมื่อวันที่ 30 พ.ค. นพ.พงศกร จินดาวัฒนะ ผู้อำนวยการอาวุโสด้านการสื่อสาร โรงพยาบาลกรุงเทพ ได้โพสต์ข้อความผ่านเพจ "Pongsakorn Chindawatana" ให้ความรู้เกี่ยวกับอันตรายจากภาวะลิ่มเลือดอุดตันในปอดที่พบมากในช่วงหลังนี้ โดย นพ.พงศกรได้ระบุข้อความว่า

“สองสามเดือนมานี้พวกเราคงจะได้ยินเรื่องลิ่มเลือดอุดตันในปอดกันมาบ่อยๆ วันนี้ผมจะมาเล่าให้ฟังครับว่ามันคืออะไ รและมีอันตรายมากน้อยแค่ไหน

ก่อนอื่น เรามาทบทวนความรู้พื้นฐานกันนิดหน่อย ปกติเลือดที่ไหลเวียนอยู่ในตัวของเราเป็นของเหลวหนืดๆ สีแดงๆ เลือดมีหน้าที่สำคัญหลายอย่างโดยเฉพาะการเป็นพาหนะนำเอาสารอาหารและออกซิเจนไปเลี้ยงร่างกาย เลือดจะแข็งตัวเมื่อเกิดบาดแผลและเลือดไหล เกล็ดเลือดและโปรตีนบางตัวก็จะมาทำงานร่วมกัน ช่วยกันทำให้เลือดแข็งตัว แล้วไปอุดบริเวณที่เกิดแผลเลือดไหล เป็นกลไกธรรมชาติที่ช่วยให้คนเราปลอดภัยจากอุบัติเหตุครับ

แต่ทีนี้ถ้าเกิดความผิดปกติไป จู่ๆ เลือดก็เกิดแข็งตัวเป็นลิ่มอยู่ภายในร่างกาย แทนที่จะไปอุดแผล อุดรอยรั่ว แต่กลับไปอุดตันอวัยวะต่างๆ แทน ก็จะทำให้เกิดอันตรายตามมา ขึ้นอยู่กับว่าเลือดไปอุดตันที่อวัยวะไหน ถ้าอุดตันที่น่อง ก็อาจจะทำให้เท้าขาดเลือด เกิดเนื้อตายต้องตัดทิ้ง ถ้าไปอุดตันที่ปอด ก็จะทำให้ระบบการหายใจล้มเหลว ถ้ารักษาไม่ทันก็อาจทำให้เสียชีวิตได้ ลิ่มเลือดอุดตันในปอด เรียกภาษาแพทย์ว่า Pulmonary embolism ครับ ชื่อเรียกยาก ฟังเฉยๆ ไม่ต้องไปสนใจมันก็ได้ครับ ลิ่มเลือดเหล่านี้มีสาเหตุเกิดขึ้นได้อย่างไร ยังบอกไม่ได้ชัดเจน ส่วนมากลิ่มเลือดจะเกิดที่อื่นก่อน แล้วค่อยๆ ไหลไปตามเส้นเลือดจนถึงที่ปอด

เราเชื่อว่ามีกลไกการกระตุ้นบางอย่างของร่างกายทำให้เลือดเกิดจับตัวกันขึ้นมา และไหลไปตามหลอดเลือด จนไปถึงปอดแล้วอุดตันแถวนั้น เพราะปอดมีเส้นเลือดขนาดเล็กอยู่เป็นจำนวนมาก เพราะมีลิ่มเลือดไปอุดตัน ปอดก็จะทำงานได้ไม่เต็มที่ การแลกเปลี่ยนออกซิเจนก็ทำไม่ได้ ส่งผลเสียมากมายตามมา ลิ่มเลือดอุดตันในปอดเกิดขึ้นแก่เพศหญิงมากกว่าเพศชาย เกิดแก่คนยุโรปมากกว่าคนเอเชีย ปัจจัยกระตุ้นที่พบได้บ่อย คือ

- การผ่าตัด หรืออุบัติเหตุใหญ่ๆ ที่ทำให้ผู้ป่วยต้องนอนนิ่งเป็นเวลานาน

- การนั่งนิ่งๆ อยู่นานๆ ก็คือความเสี่ยง อย่างเช่น การต้องนั่งเครื่องบินเป็นระยะทางไกล โดยเฉพาะไฟลต์ที่ต้องนั่งนานกว่าแปดชั่วโมง เขาถึงมีการแนะนำให้ผู้โดยสารต้องลุกขึ้นมาขยับเคลื่อนไหวบ้างนั่นเอง

- การป่วยเป็นมะเร็งบางชนิด เช่น มะเร็งตับอ่อน มะเร็งรังไข่ เป็นต้น

- ยาบางประเภท หรือฮอร์โมนบางอย่าง

- น้ำหนักตัวเกิน หรือสูบบุหรี่ก็เป็นปัจจัยกระตุ้นความเสี่ยงเช่นกัน

- พันธุกรรม ถ้าเคยมีคนในครอบครัวเป็นโรคนี้ เราก็มีโอกาสสูงกว่าคนอื่นครับ

ภาวะลิ่มเลือดอุดตันในปอดค่อนข้างวินิจฉัยยากครับ อาการที่พบบ่อยคือ

- หายใจหอบเหนื่อย แน่นหน้าอก

- มีระดับออกซิเจนในเลือดต่ำ

- หัวใจเต้นเร็ว มีหลอดเลือดโป่งที่คอ

- บางคนอาจพบลิ่มเลือดอุดตันที่ขา มีเส้นเลือดขอด หรือเป็นผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงสูง เช่น มีอายุมากกว่า 60 ปี หรืออาจจะมีประวัติเคยเกิดลิ่มเลือดมาก่อน เพื่อการวินิจฉัยที่แม่นยำ ดูจากอาการเท่านั้นไม่พอ แพทย์มักต้องตรวจอย่างอื่นร่วมด้วย เช่น เอกซเรย์ ทำ MRI ฉีดสี เป็นต้น

ถ้าวินิจฉัยได้เร็วก็จะสามารถรักษาได้อย่างทันท่วงทีครับ ซึ่งการรักษานี้ก็มีหลายวิธี ตั้งแต่ให้ยาละลายลิ่มเลือด สอดท่อเข้าไปทางหลอดเลือดเพื่อดึงเอาลิ่มเลือดออกมา ไปจนถึงการผ่าตัดครับ ความน่ากังวลในช่วงนี้คือ เราพบว่ามีผู้ที่ได้รับวัคซีนโควิดบางคนเกิดมีอาการแบบนี้ ซึ่งทางการแพทย์เชื่อว่าเกิดเพราะการกระตุ้นภูมิคุ้มกันในร่างกายคนไข้มีความผิดปกติไป

อย่างไรก็ตาม ไม่อยากให้กังวลจนเกินไปครับ โอกาสเกิดลิ่มเลือดอุดตันในปอดมีได้ไหม ตอบว่ามีได้ แต่น้อยมาก วัคซีนที่พบว่ามีความสัมพันธ์กัน คือ Astra Zeneca แต่ก็มักจะเกิดกับคนยุโรปมากกว่าคนเอเชียและถ้าเราพบได้เร็วก็สามารถรักษาให้กลับมาเป็นปกติได้ครับ ดังนั้น ถ้าไปรับวัคซีน กลับบ้านก็คอยสังเกตอาการตัวเอง ถ้ารู้สึกเหนื่อย แน่นหน้าอก หายใจผิดปกติ ก็ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจให้สบายใจว่าเกิดจากอะไรกันแน่นะครับ ที่ผมมาเล่าเรื่องนี้ก็เพื่อให้ทราบถึงกลไกของโรค ไม่ได้เล่าเพื่อให้หวาดกลัวยิ่งขึ้น ผมมองว่าความรู้ความเข้าใจในตัวโรคและสาเหตุเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้เราไม่กังวลจนเกินไป ถ้าเรารู้แล้วว่าลิ่มเลือดในปอดเป็นแบบนี้ อาการแบบนี้เกิดจากสาเหตุแบบนี้ จะได้คอยสังเกตอาการของตัวเองเอาไว้ครับ

ส่วนที่ว่าฉีดวัคซีนแล้วจะเกิดขึ้นหรือไม่ ตอบแบบกำปั้นทุบดินว่า ทุกอย่างคือความเสี่ยง ทุกอย่างคือความน่าจะเป็น แต่ถ้าเราลองพิจารณาดีๆ แล้วจะพบว่าความน่าจะเป็นของการเกิดมีน้อยมากๆ นะครับ โดยเฉพาะกับคนเอเชียยิ่งโอกาสน้อยกว่าคนยุโรปหลายเท่า เตรียมตัวก่อนไปฉีดวัคซีนก็สำคัญมากเช่นกัน ทำใจให้สบาย อย่าวิตกจนเกินไป ดื่มน้ำมากๆ นอนพักผ่อนให้เพียงพอ งดกาแฟ จะได้ไม่ใจสั่น เพียงเท่านี้ร่างกายเราก็พร้อมสำหรับจะไปรับวัคซีนแล้วล่ะครับ”



กำลังโหลดความคิดเห็น