xs
xsm
sm
md
lg

กฎหมายไทยฉบับแรกสมัย ร.๕ ทันสมัยทันโลก! ระดมนักกฎหมายชั้นนำ พิมพ์เป็น ๓ ภาษา!!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: โรม บุนนาค



กฎหมายไทยที่ใช้กันทุกวันนี้ ถือได้ว่าเป็นกฎหมายที่ทันสมัยฉบับหนึ่งของโลก โดยเริ่มใช้มาตั้งแต่วันที่ ๑ มิถุนายน ๒๔๕๑ ในสมัยรัชกาลที่ ๕ ก่อนหน้านั้นกฎหมายไทยอาศัยจารีตประเพณีเก่าและสามัญสำนึกแบบชาวบ้าน กับคัมภีร์พระธรรมศาสตร์ของอินเดียเป็นหลัก ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๔ เมื่อมีการเปิดประเทศ ชาวตะวันตกได้เข้ามาติดต่อค้าขายกับไทยเป็นจำนวนมาก ทำให้เกิดความรู้สึกว่ากฎหมายไทยนั้นไม่สอดคล้องกับความยุติธรรมในระดับสากล

มีคดีสนั่นเมืองเรื่องหนึ่งเกิดขึ้นในต้นรัชกาลที่ ๕ ซึ่งแสดงให้เห็นความแตกต่างในเรื่องนี้อย่างชัดเจน มีผู้พบศพกัปตันจอห์น สมิธ ผู้ทำหน้าที่นำร่องชาวอเมริกัน ลอยอืดขึ้นมาในแม่น้ำเจ้าพระยา มีร่องรอยว่าถูกฆ่าอย่างโหดร้ายทารุณ ต่อมาจับฆาตกรที่รุมสังหารได้ทั้งชุด ปรากฏว่าเป็นภรรยาคนไทยที่มีลูกกับเขาถึง ๔ คน สมคบกับชายชู้และทาสร่วมกันสังหาร ทุกคนยอมรับสารภาพเพราะจำนนต่อหลักฐาน ศาลสยามจึงตัดสินประหารชีวิตตามกฎหมายลักษณะผัวเมียซึ่งบัญญัติไว้ว่า

“หญิงที่ไม่ซื่อสัตย์ต่อผัวและมีชู้ ถ้าชู้กระทำฆาตกรรมผัวโดยตีหรือแทง ท่านว่าให้หญิงนั้นและชายชู้ตายตกไปตามกัน ถ้าผัวไม่ถึงแก่ความตายแต่ได้รับบาดแผลเจ็บป่วยลง ชู้จะถูกปรับเป็นสองเท่าของค่าปรับสำหรับความผิดร้ายแรงที่สุดต่อคดีผัวเมีย และจะเรียกปรับเพิ่มได้สำหรับบาดแผลและความเจ็บป่วยนั้น ส่วนเมียจะถูกประจานตามกฎหมาย”

คดีนี้นอกจากภรรยาคนไทยจะต้องถูกตัดหัวแล้ว ลูกๆของนางทั้ง ๔ คนรวมทั้งคนที่ ๕ ซึ่งคลอดในระหว่างถูกคุมขังระหว่างพิจารณาคดี จะต้องตกเป็นทาสด้วย อีกทั้งทรัพย์สมบัติทั้งหมดก็จะถูกริบเป็นของหลวง

ปรากฏว่าฝรั่งที่อยู่ในเมืองไทยจำนวนมากกลับเห็นใจจำเลย เพราะถูกผัวขี้เมาซ้อมอย่างรุนแรงอยู่เสมอ และเคยร้องต่อกงสุลอเมริกันหลายครั้งแล้วก็ช่วยนางไม่ได้ ชาวตะวัตกหลายชาติในบางกอก จึงกดดันกงสุลอเมริกันให้ช่วยนางให้รอดชีวิต

กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐหลีกเลี่ยงที่จะขัดแย้งกับรัฐบาลสยามในเรื่องนี้ แต่แนะนำกงสุลว่า ถ้าทางการสยามจะหาเหตุผลมาลดหย่อนผ่อนโทษให้นางได้ รัฐบาลสหรัฐก็จะพอใจมาก และให้ย้ำข้อเท็จจริงที่ว่า ไม่มีกรณีใดเลยที่กฎหมายสหรัฐจะโยนบาปของอาชญากรให้แก่บุตรซึ่งปราศจากความผิด รัฐบาลและประชาชนอเมริกันเห็นว่า เป็นสิ่งที่น่ารังเกียจมากที่บุตรจะต้องตกเป็นทาสเพราะความผิดของบิดามารดา ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม รัฐบาลอเมริกันแม้จะไม่มีสิทธิ์คัดค้าน แต่ก็ใคร่จะวิงวอนขอร้องว่า ถ้าจะเกิดผลร้ายแก่ลูกๆเช่นนั้น ถึงแม้จะต้องอภัยโทษทั้งหมดให้แก่มารดาก็ควรทำ
รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐยังบันทึกชี้ทางออกมาว่า

“เราอาจก่อให้เกิดความยุติธรรมทางอาญาได้ โดยการประกาศว่า ภรรยาหม้ายที่ต้องโทษของกัปตันสมิธ ได้ตายไปจากโลกทางกฎหมาย ทิ้งให้บุตรมีสิทธิ์บริบูรณ์ในทรัพย์สมบัติของบิดา เสมือนว่าบิดามารดาตายด้วยเหตุธรรมดาทั่วไป”

ในที่สุดผู้สำเร็จราชการแผ่นดินก็เห็นด้วยกับคำขอของกงสุลอเมริกัน และศาลกงสุลได้พิพากษาว่า ภรรยาของกัปตันชาวอเมริกันผู้ฆาตกรรมสามี เป็นผู้ที่ “ตายไปจากโลกนี้แล้วทางกฎหมาย” ซึ่งบุตรทั้ง ๕ ที่เกิดจากการสมรสให้ถือว่าเป็นทายาทโดยชอบธรรมในทรัพย์สินมรดกซึ่งมีประมาณสามพันดอลลาร์

(อ่านรายละเอียดเรื่องนี้ได้ใน “เรื่องเก่าเล่าสนุก” หัวข้อ “หญิงไทยเมียฝรั่งคบชู้ฆ่าผัว! แต่ฝรั่งทั้งบางกอกและรัฐบาลสหรัฐกลับช่วยเธอให้รอดตาย!!” )

คดีนี้น่าจะเป็นสาเหตุสำคัญให้มีการปรับปรุงกฎหมายไทยใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับสังคมที่เปลี่ยนไป พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯทรงมอบให้ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ พระราชโอรสที่สำเร็จวิชากฎหมายเกียรตินิยมมาจากมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด ทรงเป็นประธานคณะกรรมการการที่ประกอบด้วยนักกฎหมายหลายชาติ ตรวจพระราชกำหนดบทอัยการที่ใช้อยู่ และแก้ไขให้ทันสมัยขึ้น ทรงเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี ๒๔๔๐ จนประกาศใช้เป็น “กฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ.๑๒๗” ในวันที่ ๑ มิถุนายน ๒๔๕๑ เป็นประมวลกฎหมายฉบับแรกของไทย ซึ่งเป็นกฎหมายอาญาที่ทันสมัยมากในขณะนั้น เพราะได้นำหลักกฎหมายอาญาอันเป็นที่นิยมอยู่ในประเทศต่างๆ มาดัดแปลงให้เข้ากับสภาพแวดล้อมของสังคมไทย โดยร่างเป็นภาษาอังกฤษก่อนแล้วจึงค่อยแปลเป็นภาษาไทย จากนั้นได้พิมพ์เป็น ๓ ภาษา คือ ไทย อังกฤษ และฝรั่งเศส

“กฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ.๑๒๗” ใช้บังคับมาจนถึง พ.ศ.๒๔๘๖ จึงมีการปรับปรุงใหม่ เรียกว่า “กฎหมายลักษณะอาญา พ.ศ.๒๔๘๖” และใช้ต่อมาจนถึง พ.ศ.๒๔๙๙ จึงได้มีการปรับปรุงอีกครั้งเป็นประมวลกฎหมายอาญาฉบับที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ซึ่งเริ่มบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม พ.ศ.๒๕๐๐ เป็นต้นมา
กำลังโหลดความคิดเห็น