xs
xsm
sm
md
lg

ราคาหน้าฟาร์ม...จุดตัดลมหายใจคนเลี้ยงหมู

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ในวิกฤตโควิด-19 ที่ทั้งโลกต่างต้องเผชิญหน้า แต่ละประเทศพยายามควบคุมโรคนี้ให้ได้ ในโลกของอุตสาหกรรมการเลี้ยงหมู ก็กำลังระดมทุกสรรพกำลังกับการควบคุมโรค ASF เช่นกัน แม้โรคนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับอุตสาหกรรมการเลี้ยงหมูของโลก เพราะพบการระบาดของโรคมานานกว่า 100 ปี แต่จนถึงวันนี้ก็ยังไม่มีวัคซีนป้องกันหรือยารักษาที่เฉพาะเจาะจง หากพบโรคนี้ในฟาร์มใดให้ทำใจไว้เลยว่าความเสียหายที่ต้องรับนั้นเกิดขึ้นแน่ 100%

ASF เริ่มกลับมาเป็นที่จับตาอีกครั้ง เมื่อระบาดเข้าทำลายอุตสาหกรรมหมูของจีนที่ถือเป็นประเทศผู้ผลิตหมูรายใหญ่อันดับ 1 ของโลก ซึ่งเคยมีปริมาณการผลิตเนื้อหมูมากถึง 54,518,000 ตัน เมื่อปี 2560 กระทั่งโรคร้ายนี้เข้าทำลายหมูทั้งประเทศ ทำให้ผลผลิตลดลงอย่างต่อเนื่อง พบว่า ปี 2563 ปริมาณการผลิตเนื้อหมูของจีนลดลง เหลือเพียง 38,000,000 ตัน สวนทางการบริโภคที่สูงถึง 42,700,000 ตัน จึงจำเป็นต้องนำเข้าเนื้อหมูมาทดแทน ผลกระทบอย่างหนักและต่อเนื่องในปี 2561- 2562 ทำให้อุตสาหกรรมหมูของจีนมีขนาดลดลงมากกว่า 50% ราคาหมูมีชีวิตและเนื้อหมูเคยดีดตัวขึ้นไปถึง 2-3 เท่า กระทั่งสามารถควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดได้ หลังต้องต่อสู้มานานเกือบ 3 ปี ราคาจึงกลับมาใกล้กับภาวะปกติ

โรคนี้ลุกลามเข้าสู่หลายประเทศในแถบเอเชีย ทั้งเวียดนาม รัสเซีย กัมพูชา มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อินเดีย ลาว เกาหลีใต้ ไต้หวัน และเมียนมา ทำให้ราคาหมูในทุกประเทศดีดตัวสูงขึ้นอย่างมาก เช่น ฟิลิปปินส์ราคาหมูมีชีวิตทะยานขึ้นไปถึงกิโลกรัมละ 134 -147 บาท, กัมพูชา 108-112 บาท, จีน 84-95 บาท เวียดนาม 83-92 บาท เมียนมา 80-82 บาท

แล้วประเทศไทยอยู่ตรงไหนของแผนที่โรค ASF คำตอบคือไทยอยู่ตรงกลางไข่แดง ที่โรคนี้ยังเจาะเข้ามาทำลายไม่ได้ กลายเป็นประเทศเดียวในภูมิภาคนี้ที่รอดพ้นจากการระบาดของโรค ทำให้คนไทยไม่เคยขาดแคลนเนื้อหมูบริโภค แถมยังกลายเป็นพระเอกของสินค้าปศุสัตว์ จากความสามารถในการส่งออกไปยังต่างประเทศนำเงินตราเข้าพัฒนาประเทศได้มหาศาล ปี 2563 ไทยมียอดส่งออกหมูมีชีวิตเป็นจำนวนรวม 2.45 ล้านตัว เพิ่มขึ้นถึง 340% จากปีก่อนหน้า สร้างมูลค่าการส่งออกสูงถึง 16,814 ล้านบาท ส่วนการส่งออกหมูแช่แข็งและแปรรูปมีมูลค่า 3,420 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 265% จากปี 2562 จากความเชื่อมั่นของประเทศคู่ค้า ในแนวทางการป้องกันและเฝ้าระวังโรค ASF ที่ทุกฝ่ายร่วมกันดำเนินการเข้มงวดมาอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้เกษตรกรไทย กำลังเผชิญหน้ากับโรค PRRS และ PED ที่เกิดในทุกภูมิภาค ทำให้เกิดความเสียหายกว่า 20% ของทั้งประเทศ ทำให้เกษตรกรกังวลและส่งผลต่อการตัดสินใจเลี้ยงหมูของเกษตรกร ซึ่งพบว่าเกษตรกรมากถึง 20% ตัดสินใจหยุดเลี้ยงหรือชะลอการเลี้ยงออกไปก่อนเพื่อรอดูสถานการณ์ ส่วนอีกปัจจัยที่กระทบกับเกษตรกร คือต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น ทั้งจากความเสียหายจากภาวะโรค PRRS และ PED ต้นทุนด้านการป้องกันโรคด้วยระบบความปลอดภัยชีวภาพ (Biosecurity) ที่สูงขึ้นถึง 500 บาทต่อตัว ตลอดจน ต้นทุนราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่เพิ่มสูงขึ้น ทั้งข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ราคาพุ่งขึ้นไปถึง 9.40 บาทต่อกิโลกรัม กากถั่วเหลือง ราคากิโลกรัมละ 19.40 บาท รวมถึง รำ ปลายข้าว และมันสำปะหลัง ที่แนวโน้มราคาอยู่ในแดนบวกทุกตัว

ต้นทุนการเลี้ยงหมูโดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เดือนพฤษภาคม 2564 สำหรับเกษตรกรที่ซื้อลูกหมูเข้าเลี้ยงมีต้นทุนสูงถึง 78 บาทต่อกิโลกรัม ขณะที่ราคาประกาศหมูขุนมีชีวิตหน้าฟาร์ม โดยสมาคมผู้เลี้ยงหมูแห่งชาติ ล่าสุด อยู่ที่ 68-80 บาทต่อกิโลกรัม เท่ากับเกษตรกรต้องแบกภาระขาดทุน หรือกำไรเล็กน้อยเพียงแค่พอใช้หนี้เก่า กับเข้าเลี้ยงหมูรอบใหม่ได้เท่านั้น เพื่อประคับประคองอาชีพให้มีผลผลิตหมูป้อนความต้องการของคนไทย ไม่ให้ขาดแคลน

วันนี้ ราคาหมูที่เกษตรกรตกลงไว้กับกรมการค้าภายใน ที่กำหนดให้หมูมีชีวิตหน้าฟาร์มขายไม่เกิน 80 บาทต่อกิโลกรัม เพื่อให้ราคาเนื้อหมูขายปลีกหน้าเขียงไม่เกิน 150-160 บาทต่อกิโลกรัมนั้น ยังคงเป็นสัญญาลูกผู้ชายที่ต้องปฏิบัติ แต่อีกไม่นานอาจไม่เหลือเกษตรกรเลี้ยงหมูที่เสียสละให้คนไทยบริโภคหมู “ราคาต่ำที่สุดในอาเซียน” อีกต่อไป หากยังต้องแบกต้นทุนสูงลิ่ว แต่ราคาต่ำเตี้ยเช่นนี้!!


กำลังโหลดความคิดเห็น